มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษา ระหว่าง วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3
ดร.สุกิจ นิตินัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ สถาบันที่มุ่งเน้นการผลิตบุคลกรด้านวิชาชีพป้อนตลาดแรงงานของประเทศ มองความท้าทายของการจัดการการศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษายุคปัจจุบันว่า จำนวนนักศึกษาที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน โดยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด บางแห่งต้องปิดหลักสูตรลงไป ขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อปรับตัวตามกลไกที่มีอยู่
โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปของประเทศไทย ทำให้เห็นว่า ผู้เรียนคือปัจจัยขับเคลื่อนการศึกษาในปัจจุบัน สิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือหลักสูตรที่เปิดสอนในปัจจุบันบางหลักสูตรไม่ตรงตามความต้องการของผู้เรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาบันและคณาจารย์จะต้องนำไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนรุ่นใหม่
“สมัยก่อนอาจจะพูดว่า อาจารย์อยากสอน มหาวิทยาลัยก็จะเปิดหลักสูตรตามที่อาจารย์อยากจะสอน สมัยก่อนทำได้เพราะนักศึกษามีจำนวนมาก สถาบันการศึกษามีจำนวนน้อย แต่ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชน และจำนวนนักศึกษาลดลงเนื่องมาจากประชากรและนโยบายของรัฐบาลที่คุมกำเนิดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ส่งผลกระทบถึงปัจจุบันที่จำนวนนักศึกษาที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลงไปอย่างเป็นนัยสำคัญ เราจะทำอย่างไร นักศึกษาเป็นคนเลือกสถานที่ที่จะเรียน เลือกวิชาที่เขาต้องการเรียน ความรู้ที่เขาต้องการรู้ มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวตรงนี้จะทำอย่างไร”
ดร.สุกิจ มองในมุมของมหาวิทยาลัยราชมงคลว่า เป็นมหาวิทยาลัยด้านวิชาชีพซึ่งมีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ จากตัวเลขการมีงานทำของบัณฑิตที่เรียนจบไปกว่า 85-90 เปอร์เซ็นต์ บ่งบอกได้ว่า กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคลสามารถตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามมีบางกลุ่มวิชาที่ได้รับผลกระทบเรื่องจำนวนนักศึกษาที่ลดลง เนื่องจากผู้เรียนให้ความสนใจในบางวิชาชีพลดลง
“เพราะเขาไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นในสื่อ ในชีวิตประจำวัน วิชาชีพบางวิชาชีพเขาไม่รู้จัก เช่น วิชาชีพทางด้าน เทคโนโลยีเครื่องเรือน ชื่อเดิมคือ เคหะภัณฑ์ วิชาชีพนี้มีมาแต่แรก ซึ่งถ้าใช้คำว่าเคหะภัณฑ์กับนักศึกษาทุกวันนี้บอกได้เลยว่าไม่รู้จัก คืออะไร ไม่เลือกแน่นอน จนเราปรับเป็นเทคโนโลยีเครื่องเรือน เด็กรุ่นใหม่บางคนคำว่าเครื่องเรือนก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน บางคนคิดว่าเป็นหม้อหุงข้าว จาน ชาม ผมยังบอกไปว่า แล้วจะสื่ออย่างไร จริงๆ ก็คือเฟอร์นิเจอร์นั่นเอง พอบอกเฟอร์นิเจอร์เขาเข้าใจ เพราะทุกวันเขาต้องใช้อยู่แล้ว โต๊ะ เตียงตู้ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาและอาจารย์ที่ดูแลต้องทำให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่จะเข้ามาเรียน วิชาชีพนี้มีอยู่ มหาวิทยาลัยของเรามี 52 หลักสูตร 52 วิชาชีพ เป็นวิชาชีพที่เขาต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เขาต้องเกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากนักศึกษาไม่รู้ว่า วิชาชีพนี้เกี่ยวกับเขาตรงไหน ชื่ออาจจะไม่สื่อ เขาอาจจะไม่เห็น ตรงนี้ผมจึงมีนโยบายบอกไปยังผู้บริหารทุกหลักสูตรว่า ท่านจะต้องประชาสัมพันธ์ รวมถึงมหาวิทยาลัยจะช่วยด้วย ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อให้เกิดความเข้าใจกับคนยุคใหม่ ท่านก็ต้องทำ มิฉะนั้นแล้วหลักสูตรของท่านก็จะต้องหายไป วิชาชีพไม่ได้หายไป เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาวิชาชีพให้ตามทันเทคโนโลยีสมัยปัจจุบัน”
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพยกตัวอย่างการพัฒนาการเรียนการสอนในด้านหลักสูตร โดยยกเรื่องเฟอร์นิเจอร์ที่ปัจจุบันการใช้งานมีรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไป เช่นเครื่องเรือนไม่เพียงแต่มีประโยชน์ใช้งานตามหน้าที่เดิมหากยังต้องมาช่วยเสริมการใช้ชีวิตของผู้ที่ใช้งาน การที่เก้าอี้ตัวหนึ่งมีราคาตั้งแต่ 500 บาทถึง 50,000 บาท เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความต้องการที่มีหลากหลายของมนุษย์ โต๊ะทำงานในยุคปัจจุบันก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็นโต๊ะที่สามารถวางอุปกรณ์สนับสนุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
อีกตัวอย่างคือวิชาชีพการพิมพ์ ที่หลายคนมองว่า เป็นอาชีพที่ตายไปแล้วเพราะคนเลิกอ่านหนังสือในกระดาษ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การพิมพ์ยังคงอยู่กับการใช้ชีวิตของมนุษย์ ตราบเท่าที่ยังมีการใช้สิ่งของที่จับต้องได้ การพิมพ์ยังอยู่กับบรรจุภัณฑ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว แสดงให้เห็นว่าวิชาชีพการพิมพ์ไม่ได้หายไปเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ
ที่มหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพจึงเร่งพัฒนาคณาจารย์ให้เข้าใจและพัฒนาความคิดด้านการพัฒนาวิชาชีพที่สอนให้เหมาะสมกับยุคสมัย ปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
“อย่าไปคิดว่าวิชาชีพของเราเปลี่ยนไม่ได้ สักวันหนึ่งจะช้าหรือเร็ว ท่านไม่รีบเปลี่ยนท่านถูกบังคับให้เปลี่ยนท่านจะต้องตามหลัง ท่านจะเปลี่ยนเป็นคนสุดท้ายหรือ นี่คือที่ราชมงคลกรุงเทพเราพยายาม ขณะนี้ก็เร่งพัฒนาอาจารย์ และพัฒนาผู้บริหารทุกระดับให้เข้าใจจุดนี้ว่ามหาวิทยาลัยจะพัฒนาและให้ความสนใจกับนักศึกษารุ่นใหม่ที่จะเข้ามา ว่าวิชาชีพไม่ได้ตายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ รวมถึงการจัดการเรียนการสอนที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันเทคโนโลยี” ดร.สุกิจกล่าว
อีกทางหนึ่งความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย นักศึกษามีความสนใจทำงานอิสระมากขึ้น หลักสูตรจึงต้องช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถเป็นผู้ประกอบการอิสระมากยิ่งขึ้น โดยมีรายวิชาที่เกี่ยวข้องในทุกหลักสูตร ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเสริมสร้างผู้ประกอบการอิสระให้เกิดขึ้นในประเทศ
วิชาใหม่สนองโลกใหม่
โลกที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อการศึกษาไม่เพียงหลักสูตรเดิมที่มีอยู่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของเทคโนโลยี แต่ยังรวมถึงการเตรียมพร้อมสร้างบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมใหม่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในยุคต่อไป
ดร.สุกิจให้ข้อมูลว่า “อุตสาหกรรมใหม่ที่ราชมงคลกรุงเทพตอบสนองนโยบายรัฐบาลอยู่ คือ หนึ่ง อุตสาหกรรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน หลักสูตรของเราได้รับการรับรองมาตรฐาน EASA มาตรฐานความปลอดภัยของยุโรป และเรายังมีความร่วมมือจัดการเรียนการสอนหลักสูตรเฉพาะทางด้านการบำรุงอากาศยานกับไทยแอร์เอเชียด้วย ซึ่งขณะนี้จะเปิดรุ่นที่ 2 หลักสูตรช่างซ่อมบำรุงมาตรฐาน EASA ขณะนี้เราดำเนินการถึงรุ่นที่ 4 แล้ว กำลังจะเปิดรับรุ่นใหม่ มีผู้สมัครเข้ามาจำนวนมากแต่เรารับได้ไม่มากเพราะในเรื่องของมาตรฐาน EASA เขากำหนดสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาไม่เกิน 25 คน เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะทำฮับการบิน แต่ราชมงคลกรุงเทพที่เดียวคงไม่มีศักยภาพทำได้ทั้งหมด เรายังต้องการเพื่อนร่วมวิชาชีพมาทำให้มากๆ ซึ่งตอนนี้ในกลุ่มราชมงคลก็พยายามจะเสริมสร้างกันอยู่ เพราะตามมาตรฐานปีหนึ่งผลิตได้อย่างมากไม่เกิน 200 คน ซึ่งความต้องการของรัฐบาลใน 5 ปี 6,000 คนซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เราจะผลิตทัน
“อีกหลักสูตรคือการท่องเที่ยวขณะนี้เราก็มีโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ นักศึกษารุ่นใหม่เรามีวิชาการท่องเที่ยวอยู่ นักศึกษาจะต้องเข้าใจในบริบทนี้ ท่องเที่ยวแล้วจะต้องทำให้เกิดคุณภาพที่ดี ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือหนึ่งท่องเที่ยวแล้ว ต้องทำให้สิ่งแวดล้อมคงสภาพเดิม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สองผู้ที่ท่องเที่ยวได้รับผลประโยชน์อื่นตามมา เช่นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือเข้ามาดูแลรักษาสุขภาพตัวเองและท่องเที่ยวไปด้วย ง่ายๆ คือยกระดับกลุ่มผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวให้เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น นั่นก็จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศมากขึ้นนั่นเอง”
อีกหลักสูตรที่น่าสนใจมากสำหรับการจะก้าวสู่ยุค 4.0 คือ หลักสูตรวิศวกรรมการผลิตความแม่นยำสูง
“นี่คือต้นกำเนิดอุตสาหกรรม 4.0 เลย เพราะอุตสาหกรรมทุกอย่างถ้าไม่มีความแม่นยำสูงชิ้นส่วนเล็กๆ มากๆ ระดับไมครอน ระดับนาโน ทำอย่างไร เรื่องนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วจะปกปิดเทคโนโลยีอย่างมาก ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนหุ่นยนต์ตัวเล็กๆ ทั้งหลาย เราจะพยายามถ่ายทอดจะหาเทคโนโลยีมาให้ประเทศของเราพัฒนา ให้เรียนรู้ จะเป็นต้นกำเนิดอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งรัฐบาลก็ได้ให้การสนับสนุน ให้งบประมาณมาส่วนหนึ่งพัฒนาหลักสูตรและอุปกรณ์เพื่อถ่ายทอดให้นักศึกษาที่จะจบไปเป็นวิศวกรการผลิตความแม่นยำสูง เรื่องนี้จำเป็นมาก ว่าต้องใช้เครื่องมือประเภทไหนทำอย่างไร ในปีนี้จะเข้าปีที่ 2 ที่จัดทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา”
อีกหลักสูตรที่อยู่ระหว่างการพัฒนาคือ หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ที่จะเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ โดยหลักสูตรอยู่ระหว่างการพัฒนาตามความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งเป้าหมายการผลิตบุคลากรที่สามารถปฏิบัติงานได้จริง สามารถทำงานได้ทันทีตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ
ว่าด้วยความเป็นผู้นำ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ มองว่าการจะรักษาความเป็นผู้นำด้านการศึกษา การบริหารบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งบุคลากรในสายสอนและหน่วยงานสนับสนุน ที่จะต้องทำให้เข้าใจเป้าหมายขององค์กรในการผลิตคนที่มีวิชาชีพติตตัว สามารถออกไปประกอบอาชีพให้กับสังคมและประเทศชาติ
“การพัฒนาคนต้องมีจิตวิญญาณในการอุทิศตน ให้กับการพัฒนาการศึกษา ซึ่งแน่นอนผลกระทบเหล่านี้จะตกไปสู่นักศึกษาซึ่งคือลูกหลานของเรา เราอยากให้ลูกหลานเรามีความรู้ความสามารถอย่างไร ก็ทำให้นักศึกษาอย่างนั้น“
ในส่วนของสังคมไทย ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดี บางครั้งเป็นเรื่องการตัดสินใจที่ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และอนาคตขององค์กรเป็นสิ่งแรก