การจ้างบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI นั้นเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับนายจ้างชาวไทยกว่า 9 ใน 10 ราย แต่ 64% กลับประสบปัญหาในการสรรหาบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI ที่เพียงพอ สื่อให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนทักษะด้าน AI ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย

 อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) บริษัทในเครือ Amazon.com ได้เผยแพร่การศึกษาล่าสุด ที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ถูกนำมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ บุคลากรไทยที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้าน AI มีโอกาสเห็นการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างมากกว่า 41% โดยสองหมวดที่มีโอกาสเพิ่มรายได้สูงที่สุดคือพนักงานด้าน IT (54%) และด้านการดำเนินธุรกิจ (51%)

AWS ได้ร่วมมือกับบริษัท Access Partnership เพื่อทำการศึกษาในระดับภูมิภาคหัวข้อ “การยกระดับทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI): การเตรียมความพร้อมบุคลากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสู่งานแห่งอนาคต” เพื่อให้เข้าใจถึงแนวโน้มการใช้งาน AI ที่กำลังเกิดขึ้นและทักษะที่เป็นที่ต้องการในองค์กรต่าง ๆ ในภูมิภาค APAC ได้ดียิ่งขึ้น โดยได้มีการสำรวจพนักงานกว่า 1,600 คนและนายจ้าง 500 รายในประเทศไทย

 นอกจากโอกาสในการเพิ่มค่าจ้าง บุคลากรในประเทศไทยอีก 98% คาดว่าการเพิ่มทักษะด้าน AI จะส่งผลให้พวกเขามีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การเพิ่มความมั่นคงในอาชีพ และส่งเสริมความใฝ่รู้ให้แก่พวกเขา บุคลากรในประเทศไทย 95% ระบุถึงความสนใจในการพัฒนาทักษะ AI เพื่อโอกาสในการก้าวหน้าในสายงานอาชีพไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มอายุรุ่นไหน ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าบุคลากร 93% ในกลุ่ม Gen Z 95% ในกลุ่ม Gen Y และอีก 95% ในกลุ่ม Gen X รายงานถึงความต้องการเรียนรู้ทักษะด้าน AI ในขณะที่ 97% ในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มักอยู่ในช่วงเกษียณอายุแล้ว กลับรายงานว่าพวกเขาสนใจจะลงทะเบียนในหลักสูตรเพื่อยกระดับทักษะด้าน AI หากได้รับโอกาส

ผลการศึกษายังพบว่าประสิทธิผลที่ได้รับจากบุคลากรไทยที่มีความพร้อมด้านทักษะ AI นั้นอาจมีมากอย่างมหาศาล ผลสำรวจจากนายจ้างคาดว่าประสิทธิภาพขององค์กรจะเพิ่มขึ้น 58% เนื่องจากเทคโนโลยี AI สามารถพัฒนาการสื่อสารได้ถึง 66% ปรับงานซ้ำซ้อนให้เป็นระบบอัตโนมัติได้ 65% และส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้ถึง 60% นอกจากนี้ จากผลสำรวจบุคลากรเชื่อว่า AI สามารถยกระดับประสิทธิผลในการทำงานของตนเองได้มากถึง 56% อีกด้วย

องค์กรในประเทศไทยเดินหน้าเต็มที่กับ AI

พัฒนาการของ AI ในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 98% ของนายจ้างมองว่าบริษัทของตนจะปรับเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย AI ภายในปี 2571 ในขณะที่นายจ้างส่วนใหญ่ (97%) เชื่อว่าแผนก IT จะได้รับประโยชน์มากที่สุด พวกเขายังมองว่าแผนกอื่น ๆ นั้นสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้ด้วยเช่นกัน รวมไปถึงฝ่ายวิจัยและพัฒนา (95%) ฝ่ายการเงิน (95%) ฝ่ายการดำเนินธุรกิจ (94%) ฝ่ายขายและการตลาด (93%) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (91%) และฝ่ายกฎหมาย (90%)

อภินิต คาอุล ผู้อำนวยการบริษัท Access Partnership กล่าวว่า “คลื่นยุคใหม่แห่ง AI กำลังขยายตัวทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมไปถึงประเทศไทย และกำลังเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจและวิธีการทำงานในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ผลการศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่าสังคมโดยรวมจะได้รับผลประโยชน์จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นสำหรับบุคลากรในไทยที่มีทักษะ และด้วยจำนวนองค์กรที่คาดว่าจะใช้โซลูชันและเครื่องมือ AI เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้นายจ้างและภาครัฐต้องให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ พร้อมรับมือกับความก้าวหน้าของ AI ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

Generative AI เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของ AI ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์เนื้อหาและไอเดียใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนา นิยาย รูปภาพ วิดีโอ เพลง และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยเทคโนโลยีนี้ได้พลิกโฉมการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 98% ของนายจ้างและลูกจ้างในผลสำรวจคาดว่าจะมีการนำเครื่องมือด้าน Generative AI มาใช้ในที่ทำงานภายในห้าปีข้างหน้า โดยมีนายจ้างจำนวน 74% มองว่าการ ‘เพิ่มนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์’ จะเป็นประโยชน์อันดับแรกที่องค์กรจะได้รับ ตามด้วยการปรับงานซ้ำซ้อนให้เป็นระบบอัตโนมัติอีก 66% และการสนับสนุนการเรียนรู้อีก 62%

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ประจำ AWS ประเทศไทย กล่าวว่า “Generative AI มอบโอกาสพลิกโฉมธุรกิจในประเทศไทยแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และผลการศึกษาในครั้งนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในอนาคตด้านทักษะ AI สำหรับพนักงานอย่างชัดเจน อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ปรับตัวใช้ AI อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่บริการทางการเงินไปจนถึงการก่อสร้าง การค้าปลีก หรือแม้แต่ภาครัฐที่มุ่งเน้นพัฒนานโยบายด้านการส่งเสริม AI จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพนักงานที่มีทักษะด้าน AI ถึงมีความสำคัญในการเสริมสร้างวัฒนธรรมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและขับเคลื่อนประสิทธิภาพการทำงานในประเทศไทย ที่ AWS เราได้ช่วยองค์กรต่าง ๆ เช่น DailiTech ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย ในการฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากร เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตแห่งยุค Generative AI”

 ดร.วิชญ์ เนียรนาทตระกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท DailiTech กล่าวว่า "การฝึกอบรมบุคลากรของเราให้มีความพร้อมด้านทักษะ AI และ Generative AI เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้มาใช้ในธุรกิจของเราให้เกิด transformation อย่างแท้จริง ที่ DailiTech เราได้พัฒนา framework ในการนำ Generative AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยลูกค้าของเรา launch นวัตกรรมใหม่ ๆ สู่ตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น"

ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนด้านทักษะ AI ในประเทศไทย

ผลการศึกษานี้เปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาขาดแคลนทักษะด้าน AI ในบุคลากรไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อปลดล็อกศักยภาพและประโยชน์ของ AI ได้อย่างเต็มรูปแบบ การจ้างบุคลากรที่มีความพร้อมในทักษะ AI ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ในกลุ่มนายจ้างไทยเก้าในสิบราย (94%) โดย 64% ในนี้ระบุว่าไม่สามารถหาบุคลากรที่มีทักษะ AI ตามที่พวกเขาต้องการได้ นอกจากนี้ ผลการศึกษายังเผยให้เห็นถึงช่องว่างด้านการฝึกอบรม โดย 89% ของนายจ้างระบุว่าพวกเขาไม่รู้วิธีการดำเนินโครงการฝึกอบรมบุคลากรด้าน AI และพนักงานอีก 81% กล่าวว่าพวกเขาไม่แน่ใจว่าทักษะด้าน AI จะเป็นประโยชน์แก่สายอาชีพใดได้บ้าง

ผลการศึกษาเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงผู้ให้บริการทางการศึกษา เพื่อช่วยให้นายจ้างไทยสามารถดำเนินโครงการฝึกอบรม AI และแนะแนวทางให้แก่พนักงานของตนได้ เพื่อจับคู่ทักษะและความสามารถด้าน AI ของบุคลากรกับตำแหน่งที่เหมาะสมภายในองค์กรได้

เจฟฟ์ เพย์น กรรมการผู้จัดการ Asia Internet Coalition กล่าวว่า “ผลรายงานนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพของ AI ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจต่าง ๆ ยังคงนำพลังแห่งเทคโนโลยี AI มาปรับใช้อยู่เรื่อย ๆ ในการพลิกโฉมวิธีการทำงานและดัดแปลงให้เข้ากับชีวิตประจำวัน ภาครัฐเองก็มีโอกาสในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าผ่านนโยบายที่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในอนาคต

ดร. รูพา ชาญดา ผู้อำนวยการกองการค้า การลงทุน และนวัตกรรม คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) กล่าวว่า “ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การฝึกอบรมบุคลากรในด้าน AI ที่ตั้งอยู่บนกรอบและหลักการที่มีจรรยาบรรณไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกเชิงกลยุทธ์ แต่เป็นภารกิจสำคัญสำหรับภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิก รายงานนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมบุคลากรให้มีความพร้อมด้านทักษะ AI เพื่อรองรับงานในอนาคตที่มีความท้าทายใหม่ ๆ รวมไปถึงความพร้อมเปิดรับโอกาสในการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเสมอภาค ตลอดจนนวัตกรรมที่ครอบคลุม”

 เร่งการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลในประเทศไทย

AWS ได้ฝึกอบรมผู้คนมาแล้วกว่า 50,000 คนในประเทศไทย ในทักษะด้านคลาวด์นับตั้งแต่ปี 2560 แต่ด้วยการนำเทคโนโลยีที่พึ่งพาระบบคลาวด์ในการใช้งานเช่น AI มาใช้อย่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะบุคลากรในวงกว้าง เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและเติบโตได้ในอนาคตแห่งยุค AI

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 บริษัท Amazon ได้เปิดตัวโครงการ ‘AI Ready’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่ AWS มี ในการฝึกอบรมทักษะด้านคลาวด์ให้กับผู้คนจำนวน 29 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2568 แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย โครงการ ‘AI Ready’ มอบหลักสูตรฝึกอบรมด้าน AI และ Generative AI แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่เหมาะกับผู้เรียนไม่ว่าจะต้องการเน้นทักษะเทคนิคเฉพาะทางหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเสริมสร้างทักษะด้าน AI ในแบบที่ต้องการ โครงการนี้ยังไม่รวมหลักสูตรอบรมและเนื้อหาการเรียนการสอนด้าน AI แมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning : ML) และ Generative AI อีกกว่า 100 รายการที่ AWS มอบให้ผ่านช่องทาง AWS Skills Builder และ AWS Educate ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้บนระบบดิจิทัลของเรา เหมาะสำหรับการเรียนรู้ในทุกระดับตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงขั้นสูง ล่าสุด AWS ได้มีการประกาศนวัตกรรม Generative AI ใหม่ ภายในงาน AWS re:Invent 2023 อย่าง Amazon Q ซึ่งเป็นผู้ช่วยรูปแบบ Generative AI ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของแต่ละธุรกิจได้อย่างง่ายดาย

 

กรุงเทพฯ 24 พฤษภาคม 2566 – วันนี้อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) บริษัทในเครือ Amazon.com ประกาศเปิดตัวโครงการ AWS re/Start ในประเทศไทย โปรแกรม AWS re/Start เป็นโปรแกรมพัฒนาทักษะบุคลากรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ว่างงานหรือบุคคลที่ประกอบอาชีพไม่เต็มเวลา ให้มีความพร้อมสำหรับอาชีพใหม่ในด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง และมอบโอกาสในการสัมภาษณ์งานกับผู้ว่าจ้างที่สนใจให้แก่ผู้เรียน โปรแกรมนี้เปิดสอนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีมาก่อนในการสมัคร

การวิจัยของ Gallup ซึ่งดำเนินการโดย AWS แสดงให้เห็นว่า 94% ของพนักงานที่ไม่ได้ทำงานด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย มีความสนใจอย่างมากหรือมากที่สุดในการรับการฝึกอบรมในทักษะดิจิทัลอย่างน้อยหนึ่งทักษะ เช่น ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (cybersecurity) ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) และวิทยาการหุ่นยนต์ (robotics) อย่างไรก็ตาม 53% ของพนักงานที่ไม่ได้ทำงานด้านเทคโนโลยีกล่าวถึงอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการไม่มี เพื่อแก้ไขอุปสรรคนี้ AWS re/Start ให้การฝึกอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งแบบเข้าห้องเรียนหรือแบบออนไลน์เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ และสนับสนุนผู้เรียนในช่วงเริ่มต้นอาชีพใหม่ด้านคลาวด์

โปรแกรมนี้ครอบคลุมทักษะพื้นฐานด้านคลาวด์ของ AWS และทักษะอาชีพที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น เทคนิคการเขียนประวัติส่วนบุคคลและการสัมภาษณ์งาน ผ่านการฝึกปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สถานการณ์จำลอง การนำไปใช้งานจริง การเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการและผ่านหลักสูตร ให้ผู้เรียนสร้างความรู้และทักษะเกี่ยวกับ Linux, Python, ระบบเครือข่าย, ความปลอดภัย และฐานข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน โปรแกรมนี้จะเตรียมความพร้อมให้พวกเขาเข้าสู่บทบาทในงานด้านคลาวด์ในระดับเริ่มต้น เช่น การใช้งาน ความเสถียรของเว็บไซต์ การดูแลโครงสร้างพื้นฐาน และอื่น ๆ

โปรแกรม AWS re/Start ยังครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เข้าร่วมในการสอบใบรับรอง AWS Certified Cloud Practitioner เพื่อให้พวกเขาสามารถรับรองทักษะด้านคลาวด์ของตนเองด้วยประกาศนียบัตรที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรม ตามข้อมูลจาก Gallup มีองค์กรผู้ว่าจ้างในประเทศไทย 92% กล่าวว่าการรับรองด้านดิจิทัลหรือหลักสูตรการฝึกอบรมเป็นทางเลือกที่ยอมรับและสามารถทดแทนปริญญาตรีได้

โปรแกรม AWS re/Start ในประเทศไทย จะเปิดรับไปทั่วประเทศโดยความร่วมมือขององค์กร xLab ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ บริษัทนี้เป็นที่รู้จักในด้านการช่วยให้ธุรกิจไทยแบบดั้งเดิมค้นพบโอกาสทางดิจิทัล และเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล AWS re/Start จะทำงานร่วมงานกับ xLab เพื่อเชื่อมโยงผู้เรียนที่สำเร็จการฝึกอบรมในโปรแกรมกับผู้จ้างงานที่มีความสนใจ

 

คุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ของ AWS ประเทศไทย กล่าวว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยขยายตัวมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ความต้องการในการนำคลาวด์มาใช้งานยังคงเพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนบุคลากรใหม่ ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคลาวด์ ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ มีความยากลำบากในการหาบุคคลากรที่มีความรู้และทักษะในการใช้คลาวด์ ผลการศึกษาของ Gallup เปิดเผยว่า 94% ของธุรกิจในประเทศไทย กล่าวว่าการว่าจ้างพนักงานด้านดิจิทัลที่ต้องการนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งโปรแกรม AWS re/Start จะนำผู้ที่มีความสามารถใหม่ ๆ จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาพัฒนาความรู้และทักษะให้กับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีหรือมีประสบการณ์เพียงเล็กน้อย และช่วยให้พวกเขาเริ่มต้นอาชีพด้านคลาวด์ เรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับ xLab ในการมอบโอกาสนี้ให้แก่คนไทยได้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมที่น่าตื่นเต้นและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง”

 

คุณลอยด์ วัฒนโฆวรุณ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ xLab กล่าวว่า “เป้าหมายสูงสุดของ xLab คือการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทยด้วยการบ่มเพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่มีทักษะมากพอที่จะรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทักษะในปัจจุบันได้ เรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับโปรแกรม AWS re/Start ในการฝึกอบรมทักษะด้านคลาวด์ ให้การสนับสนุน และโอกาสในการจ้างงานแก่คนไทยที่มีความสามารถทั่วประเทศ”

G-Able และ NTT Thailand ซึ่งเป็น AWS Partners มีแผนที่จะสัมภาษณ์และว่าจ้างผู้สำเร็จการศึกษาจากโปรแกรม AWS re/Start เข้ามาทำงานในตำแหน่งงานต่าง ๆ บริษัททั้งสองจะร่วมมือกับ xLab เพื่อมองหาผู้มีความสามารถและหาโอกาสในการจ้างงานให้พวกเขา

 

คุณฐิติกานต์ กฤษณวิภาคพร รองประธานบริหารอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ G-Able กล่าวว่า “เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในประเทศไทย เราจึงมุ่งมั่นที่จะมอบโอกาสในการพัฒนาทักษะให้กับผู้ที่มีความสามารถที่หลากหลาย และเชื่อว่าโปรแกรมอย่าง AWS re/Start จะช่วยเร่งการเติบโตและเป็นแนวทางสู่อนาคตของเทคโนโลยีและระบบคลาวด์ เราตั้งตารอที่จะร่วมมือกับ AWS เพื่อสร้างกลุ่มบุคลากรที่มีความสามารถในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต”

คุณสุทัศน์ คงดำรงเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NTT ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ที่ NTT (Thailand) Limited เราทราบดีว่าเราต้องมุ่งเน้นการระบุและสนับสนุนผู้ที่ต้องการเปลี่ยนมาทำงานในด้านคลาวด์ เพื่อเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมคลาวด์ เรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับ AWS เพื่อช่วยลดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลในประเทศไทย โปรแกรม AWS re/Start เป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดผู้ที่มีความสามารถจากกลุ่มที่ขาดโอกาสและนำพาพวกเขาไปสู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี”

ปัจจุบันโปรแกรม AWS re/Start ได้เปิดตัวไปแล้วในกว่า 180 เมืองใน 60 ประเทศทั่วโลก ในช่วงระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา AWS ได้มุ่งเน้นไปที่การเติบโตของโปรแกรมในภูมิภาคอาเซียน และมีการเปิดตัวที่ประสบความสำเร็จในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ

 

คุณสุทธิกานต์ สุรนันท์ นักออกแบบกราฟิกและผู้ดูแลสำนักงานจากกรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันเป็นผู้ว่างงาน กล่าวว่า “ดิฉันสนใจที่จะเข้าร่วมโปรแกรม AWS re/Start เนื่องจากเป็นโอกาสสำหรับตัวเอง ที่ไม่ได้เรียนด้านไอทีหรือทำงานในสายงานด้านเทคนิคมา ที่จะได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ และมีโอกาสก้าวหน้าไปสู่การพัฒนาอาชีพในด้านคลาวด์ได้ ดิฉันมั่นใจว่างานในสายงานนี้เป็นที่ต้องการสูงและจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต สิ่งที่ดีที่สุดคือโปรแกรมนี้ให้การฝึกอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้นดิฉันจึงตัดสินใจใช้โอกาสนี้เพื่อเรียนรู้ทักษะด้านคลาวด์และลงทุนในตัวเอง”

ผู้เรียนที่เข้าร่วมในโปรแกรม AWS re/Start Thailand กลุ่มแรกในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม หลังจากการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ AWS Asia Pacific (Bangkok) Region เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ประกาศแผนการลงทุนในประเทศไทยประมาณ 190,000 ล้านบาท (5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในระยะเวลา 15 ปี การฝึกอบรมทักษะดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนครั้งนี้ด้วย เพื่อให้ผู้ว่าจ้างและบุคลากรทั้งในภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคลาวด์ได้อย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจและอาชีพ เพิ่มผลผลิตและนวัตกรรม และสนับสนุนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศในยุคดิจิทัล ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 เป็นต้นมา AWS ได้ฝึกอบรมทักษะด้านคลาวด์ให้แก่บุคลากรในประเทศไทยไปแล้วกว่า 50,000 คน และมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดช่องว่างด้านทักษะด้วยโปรแกรมการฝึกอบรมและการรับรองของ AWS

สามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ AWS re/Start หรือสมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้ในประเทศไทยได้ที่นี่

เอมิตี้ (Amity) เป็นคู่ค้าด้านเทคโนโลยีของอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) อีกทั้งยังเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ช่วยให้บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ บูรณาการโซเชียลฟีเจอร์ (social features) เข้ากับแอปพลิเคชันของตนเองได้อย่างง่ายดาย ในวันนี้ Amity ประกาศว่า Amity เป็นบริษัทผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระ (Independent Software Vendor: ISV) รายแรกของประเทศไทยที่เข้าไปอยู่ใน AWS Marketplace แค็ตตาล็อกดิจิทัลที่มีรายการซอฟต์แวร์กว่าพันรายการจาก ISV

X

Right Click

No right click