คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ส่ง “ธรรมศาสตร์โมเดล”  คว้ารางวัล Silver Award ด้าน "Best Lifelong Learning Initiative 2021" จาก Association of MBAs (AMBA) องค์กรรับรองคุณภาพระดับสากลจากสหราชอาณาจักร สำหรับหลักสูตรบริหารธุรกิจระดับบัณฑิตศึกษา และ Business Graduates Association (BGA) องค์กรรับรองคุณภาพระดับสากลของ Business School จากสหราชอาณาจักร  

ม.ธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาเพียงที่เดียวในไทยและอาเซียนที่ติด 1 ใน 6 ของผู้ท้าชิงรอบสุดท้าย คณะฯ ได้แสดงให้คณะกรรมการเห็นถึงการพลิกโฉมนวัตกรรมการเรียนการสอนที่แผ่ขยายประสิทธิผลไปมากกว่าเพียงแค่นักศึกษา แต่รวมไปถึงในระดับคณะ องค์กร และชุมชนภายนอก ช่วยส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ชุมชน เพื่อยกระดับอาชีพและคุณภาพชีวิตภายใต้แนวคิดของธรรมศาสตร์โมเดล และสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เราได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ชนะรางวัล Best Lifelong Learning Initiative ประจำปี 2021

ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เปิดเผยว่า คณะพาณิชย์ฯ ส่งเสริมให้นักศึกษาและบัณฑิตนำความรู้ออกไปพัฒนา ขับเคลื่อนสังคมโลก หล่อเลี้ยงธุรกิจในทุกแขนง รวมไปถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน เพื่อสร้าง impact ให้กับสังคมโลกอย่างทั่วถึงและยั่งยืน   ดังนั้นเราจึงได้จับมือกับธนาคารออมสิน และสมาคมเพื่อนชุมชน จังหวัดระยอง ร่วมกันสร้าง“ธรรมศาสตร์โมเดล” ขึ้นมาเพื่อเป็นแม่แบบและแนวทางในการยกระดับชีวิตของวิสาหกิจชุมชน โดยหัวใจสำคัญของโมเดลนี้คือการเรียนรู้ตลอดชีวิตและยั่งยืน แม้นักศึกษาจะจบโครงการไปแล้วชุมชนก็ยังต้องสามารถเลี้ยงตัวเองต่อไปได้  ปัจจุบัน เราได้ส่งนักศึกษาลงชุมชนมามากกว่า 170 โครงการแล้ว

“ผมภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์เป็นคณะแรกและคณะเดียวในไทยและภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ  Silver Award ด้าน "Best Lifelong Learning Initiative 2021" จาก Association of MBAs (AMBA) องค์กรรับรองคุณภาพระดับสากลจากสหราชอาณาจักร สำหรับหลักสูตรบริหารธุรกิจระดับบัณฑิตศึกษา และ Business Graduates Association (BGA) องค์กรรับรองคุณภาพระดับสากลจากสหราชอาณาจักร  ซึ่งเราได้รับการคัดเลือก ได้แสดงให้เห็นถึงการพลิกโฉมนวัตกรรมการเรียนการสอนที่แผ่ขยายประสิทธิผลไปมากกว่าเพียงแค่นักศึกษา แต่รวมไปถึงในระดับคณะ องค์กร และชุมชนภายนอกอีกด้วย” คณบดีกล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า

ตัว “ธรรมศาสตร์โมเดล” มีหัวใจหลัก 3 อย่าง ด้วยกัน หากปราศจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน 3 สิ่งนี้ ก็จะทำให้การพัฒนาชุมชนสะดุด ไม่ราบรื่น  ธรรมศาสตร์โมเดล เป็นหนึ่งในวิชาของโครงการ IBMP หรือหลักสูตร 5 ปี เราจะให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่มีความรู้ทักษะทางด้านธุรกิจและการบัญชีในระดับหนึ่งแล้วไปลงชุมชน โดยมีคณาจารย์เป็นที่ปรึกษาโครงการ  ส่วนนี้เองคือหัวใจส่วนแรก หรือก็คือทักษะความรู้จากนักศึกษาคณะพาณิชย์ นักศึกษาจะได้นำความรู้ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง ลงมือแก้ปัญหาจริง โดยมีชุมชนเป็นโจทย์ที่ท้าทายของพวกเขา

หัวใจที่สองก็คือชุมชน หรือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวคือทักษะและความชำนาญในด้านอาชีพ ตัวขุมชนเอง   ก็ต้องมีทักษะเชิงปฏิบัติที่พร้อมและทันสมัย ที่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างประสบผลสำเร็จเช่นกัน

และส่วนสุดท้าย ภาคอุตสาหกรรม คือการที่องค์กรภาคอุตสาหกรรมที่เป็นพันธมิตรกับคณะพาณิชย์ฯ จะได้นำความชำนาญและประสบการณ์ตรงในสายงานมาเผยแพร่และพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน

 

โครงการที่เราส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลคือ วิสาหกิจชุมชนคลองน้ำหู ผ้าหมักน้ำนมข้าว จ.ระยอง โดยสินค้าของชุมชนเริ่มต้นจากผ้าไทยหมักน้ำนมข้าว และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในระยะเวลา 6 เดือนที่นักศึกษาได้ลงชุมชน นักศึกษาได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ การตลาด ด้านบัญชีและช่องทางการจัดจำหน่าย นักศึกษาได้เข้าไปสร้างแบรนด์และแตกไลน์ผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยและกระเป๋าผ้าที่มีดีไซน์ที่ทันสมัยขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าที่อายุน้อยลง รวมถึงสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ และสอนชุมชนให้คำนวณต้นทุนและวางระบบบัญชี ที่น่าชื่นชมมาก ๆ ก็คือ ชุมชนได้มีการส่งหน้ากากผ้าไปขายที่เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยถือว่าเป็นครั้งแรกของชุมชนที่มีการส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศ

X

Right Click

No right click