November 23, 2024

CIBA DPU จับมือกับภาคธุรกิจ ปรับหลักสูตร นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล เรียนจบได้ภายใน 1 ปี เปิดโอกาสนักเรียนระดับ ปวส. ทุกคณะเทียบโอน ฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการวัดผลเป็นเกรดเฉลี่ย เน้นยืดหยุ่น เรียนจบเร็วพร้อมทำงานทันที

ดร.รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่มีรูปแบบใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่ง CIBA DPU ได้มีการปรับปรุง พัฒนาการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์และเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ เพิ่มเติมทักษะ และสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย

สำหรับ หลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล เป็นหลักสูตรที่ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการ ผ่านการ MOU ร่วมกัน โดยนักศึกษาจะทำงานไปด้วยระหว่างการเรียน ซึ่งสถานประกอบการจะมอบหมายภาระงานที่สอดคล้องกับรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียน จากนั้นอาจารย์และพี่เลี้ยงจะร่วมกันสอนงานทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เมื่อนักศึกษาปฏิบัติงานตามระยะเวลาที่กำหนด จะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานจากสถานประกอบการและอาจารย์ร่วมกัน ในรูปแบบเกรดและหน่วยกิตเช่นเดียวกับการเรียนที่มหาวิทยาลัย

ข้อดีของการเรียนในรูปแบบนี้คือ นักศึกษาสามารถทำงานไปด้วยและเรียนเพื่อได้ดีกรีไปพร้อมกัน นอกจากนั้นทางหลักสูตรได้อำนวยความสะดวกด้วยระบบการเรียนแบบออนไลน์ให้กับนักศึกษาอีกด้วย ซึ่งนักศึกษาสามารถเรียนผ่านระบบออนไซต์และออนไลน์ ที่มีความยืดหยุ่นเรื่องวันเรียนที่ไม่ชนกับวันทำงานได้ อีกทั้ง อาจารย์ยังจะไปเยี่ยมติดตามและให้ความรู้กับนักศึกษาถึงสถานประกอบการด้วย ดังนั้น หลักสูตรนี้จะเน้นการฝึกการทำงานอย่างเข้มข้น พร้อมกับได้วุฒิตามที่นักศึกษาต้องการ ปกติหลักสูตรนี้รับนักศึกษา จบ ปวส. มาเรียนต่อ ปริญญาตรี โดยใช้เวลาเรียน 2 ปี แต่ด้วยการเรียนในรูปแบบนี้ นักศึกษาจะสามารถเรียนจบได้ภายใน 1 ปี โดยยังคงคุณภาพการศึกษาไว้เช่นเดิม

“ก่อนหน้านี้ หลักสูตรดังกล่าวเป็นการเรียนระดับปริญญาตรีใช้เวลาเรียน 2 ปี จากระดับ ปวส. และทางหลักสูตรได้จัดการเรียนการสอนจนสามารถเรียนจบเร็วขึ้นภายในปีครึ่ง แต่ปีนี้จะเป็นปีแรกที่หลักสูตรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เน้นการบูรณาการการเรียนและการทำงาน ผ่านการ MOU ร่วมกับสถานประกอบการ จนสามารถนำผลการปฏิบัติการมาเป็นเกรด ทั้งนี้ นักเรียนนักศึกษาในระดับปวส. จะคุ้นเคยกับทำงานในระบบทวิภาคีอยู่แล้ว หรือปฏิบัติงานในสถานประกอบการประมาณ 8 ชั่วโมง เหมือนกับพนักงานจริง ๆ ดังนั้น ทางหลักสูตรจึงได้ใช้แนวทางดังกล่าว ผ่านความร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อทำให้ชั่วโมงการทำงานสามารถเทียบและประเมินได้เป็นหน่วยกิตการศึกษา เอื้อต่อการเรียนรู้ การเพิ่มทักษะ ให้แก่นักเรียนได้ อีกทั้งการเรียนดังกล่าวจะมีการเรียนออนไลน์มาสนับสนุนการเรียนรู้ นักศึกษาสามารถจัดสรรเวลาที่เหมาะสมกับตัวเอง เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย และจบได้เร็วขึ้น” ดร.รชฏ กล่าว

ทั้งนี้ “หลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล” เป็นการเรียนเพื่อให้นักศึกษามีความรู้ทั้งเรื่องธุรกิจ นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และดิจิทัล การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน โดยหลักสูตรนี้ได้ถูกแบ่งรายวิชาออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1. กลุ่มรายวิชาที่เกี่ยวกับนวัตกรรม เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมให้ผลิตภัณฑ์ บริการ และเพื่อสร้างมูลค่าให้กับองค์กร 2. กลุ่มรายวิชาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางด้านธุรกิจ และความเป็นผู้ประกอบการ เช่น การตลาด การบัญชี การเงิน และโลจิสติกส์ 3. กลุ่มรายวิชาที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้ในการพัฒนาธุรกิจ ได้แก่ การพัฒนาแอพพลิเคชั่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลลูกค้า เป็นต้น นอกเหนือจากนั้น ทางหลักสูตรยังได้นำเครื่องมือและแนวการสอนสมัยใหม่ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ เช่น การใช้ Chat GPT, การเล่นเกมจำลองธุรกิจ และการใช้ระบบหลังบ้าน ERP (Enterprise Resource Planning) เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจภาพรวมของธุรกิจได้มากขึ้น เป็นต้น

คณบดี CIBA DPU กล่าวต่อว่า หัวใจหลักของหลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัลนี้ คือ การบูรณาการหลักสูตรกับสถานประกอบการมากขึ้น ทำให้หลักสูตรต่างๆ ตอบโจทย์ทั้งผู้เรียน และความต้องการของสถานประกอบการ อีกทั้งรูปแบบการเรียน นักศึกษาสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนแบบ ออนไซต์ หรือ ออนไลน์ (e-learning) และเรียนแบบ ธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) หรือ การสะสมหน่วยการเรียนรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำประสบการณ์การทำงานจากสถานประกอบการชั้นนำที่ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย วัดผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) ผ่านชุดรายวิชา (Module) โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีโอกาสเชื่อมโยงการเรียนรู้กับประสบการณ์การทำงานสามารถพัฒนาตนเองให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

สำหรับการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เช่น นักศึกษาทำงานอยู่แผนกจัดซื้อ อาจารย์จะทำการสอนออนไลน์หรือออนไซต์ในด้านทฤษฎีของการจัดซื้อ โดยอาจใช้เวลาในช่วงเย็นเรียนออนไลน์ หรือ วันหยุดมาเรียนที่มหาวิทยาลัย จากนั้น เมื่อปฏิบัติงาน หัวหน้าหรือผู้ดูแลนักศึกษาฝึกงานจะสอนงานเพิ่มในเชิงการปฏิบัติงาน ในการประเมินองค์ความรู้ ทั้งอาจารย์และผู้ประกอบการจะร่วมประเมินจากความรู้และการปฏิบัติงาน และให้เกรดตามระดับผลงานที่เกิดขึ้นจริงในชุดรายวิชาของการจัดซื้อ เป็นต้น ส่วนรายวิชาอื่นนักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มเพื่อเก็บหน่วยกิตได้ตลอดเวลาตามที่นักศึกษาสะดวกตามกรอบเวลา

อย่างไรก็ตาม หลักสูตร "นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล" เป็นความร่วมมือระหว่าง CIBA DPU กับสถานประกอบการ เพื่อยกระดับทักษะแรงงานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจและการสร้างสรรค์นวัตกรรม อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่อุตสาหกรรมและประเทศ รวมถึงเป็นการผลิตบุคลากร แรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ลดการขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มทักษะด้านนวัตกรรมดิจิทัลให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศ ผู้สนใจหลักสูตรดังกล่าว สามารถสมัครเรียน ในระดับปริญญาตรี เทียบโอน ปวส. ภาคพิเศษ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://ciba.dpu.ac.th/ หรือ โทร. 02-954-7300

ฝึกทักษะ - แนวคิดการสร้างนวัตกรรมธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าปั้นบัณฑิตตอบโจทย์เทรนด์โลกธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

CIBA DPU จับมือ กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน นำร่องใน 5 บริษัท 4  อุตสาหกรรม เป็นที่ปรึกษาช่วยผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคในรูปแบบการค้าตลาดอีคอมเมิร์ซ

ดร. รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี  (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(DPU) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  ได้มอบหมายให้ CIBA  จัดโครงการเสริมสร้างความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าคงคลังเพื่อการค้าอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมศักยภาพองค์กรด้วยหลักการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ภายใต้กิจกรรมพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ โดยได้มีการให้คำปรึกษา ช่วยผู้ประกอบการ ตลอดระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 5 บริษัท ใน  4 อุตสาหกรรม ได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติก

“ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ จะมีการขายสินค้าเป็นล็อตใหญ่ๆ ให้แก่ห้างร้านใหญ่ ในลักษณะ B2B เพื่อส่งขายไปยังร้านขายปลีก แล้วจึงจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต่อไป แต่ในปัจจุบัน เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาซื้อสินค้าผ่านแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องหันมาขายในแพล็ตฟอร์มนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นในลักษณะ B2C คือขายสินค้าในลักษณะขายปลีก แบบแยกชิ้น ให้กับลูกค้าแต่ละราย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับกระบวนการหลังบ้าน ตั้งแต่ระบบจัดเก็บสินค้า ระบบแพ็คสินค้าและการขนส่ง ให้สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจประเภทนี้ นอกเหนือจากนั้น การที่แพล็ตฟอร์มออนไลน์ มีโปรโมชั่นเช่น 11/11, 12/12 บริษัทก็จะต้องมีระบบการทำงานที่ดีที่รองรับความต้องการในปริมาณมากๆ ได้ เพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ และในราคาที่เหมาะสมที่สุด”ดร.รชฏ กล่าว

 

นางนิสารัตน์ ศุภสวัสดิ์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมโลจิสติกส์องค์กร กองโลจิสติกส์ กล่าวถึงหัวใจหลักของการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่ดี คือ 1) การมีข้อมูลปริมาณสินค้าในคลังที่ถูกต้องแม่นยำ 2) การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ไปสู่หน่วยงานอื่นๆ เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายควบคุมคุณภาพ และทุกหน่วยงาน อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) การพยากรณ์ความต้องการของลูกค้าที่แม่นยำ ปัจจัยทั้ง 3 นี้ จะเป็นพื้นฐานของการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง สำหรับการค้าในรูปแบบออนไลน์ ปัญหาที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังขาดการพัฒนาระบบการจัดการพื้นฐานเหล่านี้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้บางครั้งไม่มีการจัดส่งสินค้าเพียงพอ ขาดสต็อก หรือบางครั้งของสต็อกมากเกินไป ทำให้ต้นทุนสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อที่จะทำให้การบริหารจัดการสินค้าคงคลังในรูปแบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยืดหยุ่น

นายธนรัตน์ บาลทิพย์ นักวิชาการ กองโลจิสติกส์ กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทราบจำนวนสินค้าที่คงเหลือและจัดการรายการสินค้าที่จะจำหน่ายในแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และจัดส่งไปยังลูกค้าได้อย่างรวดเร็วทันเวลา และลดการตีกลับของสินค้า สร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านการลดเวลาการดำเนินงาน และลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ถึง 15%

ดร. รชฏ กล่าวต่อว่า เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของผู้ประกอบการ จึงต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการบริหารจัดการสินค้าเพื่อการค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ดี โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กร ประกอบด้วยกิจกรรม การจัดซื้อจัดหาสินค้า การจัดการสต็อก ทาง CIBA DPU ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการให้คำปรึกษา และความรู้ในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และมีการติดตาม โดยตั้งทีมเข้าไปช่วยแนะนำ เครื่องมือพยากรณ์ความต้องการของลูกค้า  เครื่องมือการจัดการข้อมูลสินค้าคงคลัง การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาสินค้าคงคลัง ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ

สำหรับกิจกรรมในโครงการนี้ มีบริษัทที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 5 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท นิวสปอง จำกัด 2) บริษัท ศรีพิพัฒน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 3) บริษัท สยาม วอเตอร์ เฟลม จำกัด 4) บริษัท แสงรุ่งเรือง เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ 5) บริษัท เอื้ออารี ฟู้ดโปรดักท์ จำกัด โดยแต่ละบริษัทเลือกแนวทางและเครื่องมือในการปรับปรุงการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้บริหาร

การค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ ต้องการการขับเคลื่อนด้วยระบบ “โลจิสติกส์” ที่มีประสิทธิภาพ และต้องย้ำอีกครั้งว่า โลจิสติกส์ ไม่ใช่เพียงเรื่องการขนส่ง แต่รวมไปถึงการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง  การจัดหาสินค้า กระบวนการผลิต การเก็บสต็อกสินค้าและบริการ รวมถึงการส่งมอบลูกค้า ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ และการจัดทำฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อมาวิเคราะห์ต่อเนื่อง เพื่อทำให้ระบบหลังร้านตอบโจทย์กับระบบหน้าร้านแบบอีคอมเมิร์ช หากผู้ประกอบการธุรกิจใดสนใจเข้าร่วมการอบรม หรือ เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน CIBA  DPU

นอกจากนี้ CIBA DPU ยังเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสอนโดยคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ โดยเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 100% ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า บัณฑิตที่จบไปเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/program/bachelor/logistics/

X

Right Click

No right click