November 22, 2024

“พระราชวังพญาไท” มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ เคยเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโรงนาหลวง เป็นพระตำหนักของสมเด็จ พระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระราชวังของพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง และเป็นโรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า จวบจนปัจจุบัน พระราชวังพญาไท เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนเข้าชม ทั้งนี้ มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท จะจัดงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (NIGHT MUSEUM) ระหว่างวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จนถึง วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 - 21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท

เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ถนนราชวิถีเป็นเพียงถนนสายสั้น ๆ เริ่มต้นจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา มาสุดด้านหลังพระราชวังดุสิต ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามถนนสายนี้ว่า “ถนนซางฮี้” อันเป็นคำมงคลของจีน มีความหมายว่า “ยินดีอย่างยิ่ง” ภายหลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “ถนนราชวิถี” บริเวณปลายถนนซังฮี้ ตอนตัดใหม่นั้นเป็นสวนผักและไร่นา มีคลองสามเสนไหลผ่าน พื้นที่ยังโล่ง กว้าง อากาศโปร่งสบาย จึงเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยของพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินประมาณ 100 ไร่ เศษ จากชาวนาชาวสวนบริเวณนั้น เพื่อใช้ทดลองปลูกธัญพืช และเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถ

ในปี พ.ศ. 2452 ได้เริ่มก่อสร้าง “พระตำหนักพญาไท” ซึ่งชาวบ้านเรียกกันต่อมาว่า “วังพญาไท” โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระตำหนัก เป็นที่ประทับ รวมถึงพื้นที่บริเวณตรงข้ามกับพระตำหนัก ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพื้นที่สำหรับเสด็จ ฯ ทอดพระเนตรการทำนา ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ รวมทั้ง โรงนาที่ได้พระราชทานนามว่า “โรงนาหลวงคลองพญาไท” พร้อมกับตั้งการพระราชพิธีเริ่มนาขวัญ “พระตำหนักพญาไท” เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระยะเวลาเพียงอันสั้น และได้เสด็จสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้เป็นการถาวร ตราบจน เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2462 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักพญาไท พระราชทานแก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ คงไว้เพียง พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็น “พระราชวังพญาไท” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมชนกาธิราช และ สมเด็จพระบรมราชชนนี และให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ หลายองค์ด้วยกัน กระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งตามพระราชประเพณี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชวังสำคัญแห่งหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ไปโดยตลอดจนปีสุดท้ายแห่งรัชกาล อีกทั้ง พระราชวังพญาไท ยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เป็นที่ตั้งของ “ดุสิตธานี” เมืองจำลองประชาธิปไตย ตามพระราชดำริอีกด้วย

ต่อมารัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ กรมรถไฟหลวง ปรับปรุงพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งสำหรับให้ชาวต่างชาติ ตามที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ไว้ สำหรับรองรับพระราชดำริการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ “โฮเต็ลพญาไท” เริ่มดำเนินกิจการเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 โดยในระหว่างนั้นได้มีการใช้พระราชวังพญาไทเป็นที่ตั้งของ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของสยาม ออกอากาศเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 กรมรถไฟได้ดำเนินการ โฮเต็ลพญาไทไปจนถึง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 และปิดกิจการลง เนื่องจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลง การปกครอง ในเวลาต่อมากองทัพบกได้ปรับปรุงพระราชวังพญาไทให้เป็นสถานพยาบาล ได้มีการสร้างโรงพยาบาลทหารบกขึ้น ในบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวัง และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ขนานนามโรงพยาบาลเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า”

ตราบจนปัจจุบัน พระราชวังพญาไท คงเหลือพระที่นั่งที่สร้างครั้งรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เพียงองค์เดียว คือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ส่วนพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีนามคล้องจองกัน ได้แก่ ไวกูณฐ เทพยสถาน พิมานจักรี ศรีสุทธนิวาส เทวราชสภารมย์ อุดมวนาภรณ์ ตามลำดับ ลักษณะของสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของ พระราชวังพญาไท คือ หอคอยสูงและหลังคายอดแหลมของพระที่นั่งพิมานจักรี ภายในมีภาพเขียนแบบปูนเปียกเป็นลวดลายงดงามแบบตะวันตก

มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เปลี่ยนแปลงสถานะมาจาก ชมรมคนรักวัง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 รู้สึกสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณและคุณูปการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี) จึงดำริจัดงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (NIGHT MUSEUM) เพื่อเฉลิมฉลอง พระราชวังพญาไท ครบรอบ 101 ปี ถือเป็นหมุดหมายสำคัญยิ่ง ที่ศิลปินผู้ออกแบบจะได้แสดงสถานที่อันทรงคุณค่าสู่สายตาประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เข้ามาชื่นชมความงดงามของ พระราชวังพญาไท

คณะดำเนินงาน ได้ทำการออกแบบสร้างสรรค์ระบบแสงสีเสียงให้กับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (NIGHT MUSEUM) อันเป็นเอกลักษณ์ที่รังสรรค์ออกมาเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ที่จะเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะได้รับชมความงามของพระราชวังพญาไทในรูปแบบแสงสีเสียงแห่งราตรี พิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน ตื่นตาตื่นใจกับความงามอันทรงพลัง ให้ผู้คนได้ชื่นชมงานศิลปะที่สร้างจากการฉายแสงภาพศิลปะบนอาคารเคลื่อนไหวเสมือนเข้าสู่ภาพศิลปะนั้นไม่ว่าจะเป็น พระที่นั่งพิมานจักรี, พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน, พระที่นั่งเทวราชสภารมย์, ห้องธารกำนัล หรือ ห้องรับแขก, สวนโรมัน และสถานที่สักการะท้าวหิรัญพนาสูร ส่งแสงสีเสียง อันอลังการ อย่างวิจิตร ตราตรึงอยู่ในใจ ด้วยเป้าหมายในการพัฒนางานสมโภชที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยให้ทัดเทียม งานสมโภชระดับโลก

การจัดงานครบรอบ “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ในครั้งนี้ จะมีการจัดงานแสดง แสง สี เสียง สื่อผสม รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ระหว่าง วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จนถึง วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 รวมเป็นเวลา 32 วัน ตั้งแต่เวลา 18.00 - 21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท เลขที่ 315 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท คณะผู้จัดงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM เริ่มจำหน่ายบัตรเข้าชมงานฯ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ผ่าน 3 ช่องทาง คือ Agoda, KKday, Zipevent

โดยจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (NIGHT MUSEUM) ท่านจะได้พบกับ ...

FREE AREA

โซนที่ 1 ARCHITECTURE LIGHTING & PROJECTION MAPPING : การฉายภาพแสง กับงานออกแบบภาพเคลื่อนไหวภายใต้จุดกำเนิด พระราชวังพญาไท ร่วมกับการแสดงศิลปะสถาปัตยกรรมบนตัวอาคาร พระที่นั่งพิมานจักรี และ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน

โซนที่ 2 ARCHITECTURE LIGHTING & INTERIOR LIGHTING : นิทรรศการจัดแสดงแสงไฟเพื่อชื่นชมสถาปัตยกรรมภายใน อันงดงาม ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

TICKET AREA

LIGHTING INSPIRATIONS พบกับแรงบันดาลใจจากผลงานบทพระราชนิพนธ์ของ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ในการสร้างสรรค์ผลงานไฟที่วิจิตรตระการตา บนพื้นที่ประวัติศาสตร์

โซนที่ 3 PROJECTION MAPPING : โดยได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากบทพระราชนิพนธ์ ของ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ภายใน ห้องธารกำนัล หรือ ห้องรับแขก

โซนที่ 4 PROJECTION MAPPING & LIGHTING INSTALLATION : สัมผัสจินตนาการ งานศิลปะเคลื่อนไหวในโลกของพระราชวังโบราณผสานจินตนาการ ของงานจัดแสดงแสง สี เสียงที่น่าอัศจรรย์ พร้อมนำ บทพระราชนิพนธ์ “มัทนะพาธา” ที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดแห่งบทละครพูด คำฉันท์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ ของ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยโซนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ในการจัดแสดงไฟ โดยจะมีการยิง PROJECTION MAPPING เข้าตัวอาคารพระราชวังด้านหลัง ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง

โซนที่ 5 LIGHTING INSTALLATION & MAPPING ON THE BIG GIANT TREE WITH THE GLASS SCREENS : สัมผัสงานอาร์ตกับการจัดแสดงแสงไฟนับพันดวงที่ประดับประดาบริเวณสนามหญ้า และ ต้นไม้ยักษ์ ตื่นตากับเทคนิค Glass Screens สวยงามมีมิติ

โซนที่ 6 LIGHTING INSTALLATION : เปิดประสบการณ์และดื่มด่ำไปกับความงดงามของดอกบัวนับพันดอก ด้วยเทคนิคไฟย้อมสี ณ เส้นทางเดินไปสักการะ “ท้าวหิรัญพนาสูร”

พร้อมพักผ่อน และ ดื่มด่ำไปกับเครื่องดื่มไทยแท้ที่ร้านกาแฟนรสิงห์ ร้านคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในอาคาร เทียบรถพระที่นั่ง ณ บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งพิมานจักรี โดยจะเปิดให้บริการเป็นพิเศษในช่วงเวลา 16.00 - 20.30 น. ตลอดค่ำคืนแห่งการแสดงแสงเสียงของการเฉลิมฉลอง “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM

เนื่องจาก “พระราชวังพญาไท” อยู่ภายในรั้วเดียวกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี การเดินทางมายังพระราชวังพญาไทจึงสามารถเลือกการเดินทางได้หลายวิธี อาทิ

รถยนต์ส่วนบุคคล : เดินทางโดยรถยนต์ เลี้ยวเข้าถนนราชวิถีและขับตรงไปประมาณ 500 เมตร จะเห็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอยู่ทางขวามือ ให้เลี้ยวขวาเพื่อจอดรถภายในโรงพยาบาล

รถโดยสารประจำทางสาย : เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ สาย 8, 12, 14, 18, 28, 92, 97, 108, ปอ.92, 509, 522, 536, ปอ.พ.4

รถไฟฟ้าบีทีเอส : เดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ลงที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ออกทางออกที่ 3 (ลงฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี) ข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้ามแล้วเดินทางเท้าตรงมาเรื่อยๆ ทางแยกตึกชัย จนถึงโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ร่วมภาคภูมิใจกับ งาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ด้วยกาลเวลา อันทรงคุณค่า ก้าวสู่เรื่องเล่าบทบาทมิติใหม่ในพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (NIGHT MUSEUM) กับประวัติศาสตร์ ที่มีชีวิต ได้ตั้งแต่วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จนถึง วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 - 21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท

อัปเดตงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM เพิ่มเติม ผ่านออฟฟิเชียล เฟซบุ๊กแฟนเพจ และ อินสตาแกรม 101wangphyathai

 

X

Right Click

No right click