December 23, 2024

นายชูฉัตร  ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จัดงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2567 ภายใต้ชื่องาน “ทุนหมุนเวียน สร้างโอกาสความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 โดยได้รับเกียรติจากนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัลดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ ห้องแซฟไฟร์ 204 - 205 อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจให้ทุนหมุนเวียนพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ สามารถสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐในการสร้างความเสมอภาคทางสังคม และการสร้างโอกาสให้กับประชาชน ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างทุนหมุนเวียนในการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการในภาพรวม และตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับการมอบรางวัลการประเมินทุนหมุนเวียนดีเด่นในปีนี้แบ่งออกเป็น 5 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย 1. รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น 2. รางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น 3. รางวัลการพัฒนาดีเด่น 4. รางวัลเกียรติยศ และ 5. รางวัลผู้บริหารทุนหมุนเวียนดีเด่น โดยมีทุนหมุนเวียนที่เข้ารับการประเมินผลการดำเนินงานจากกรมบัญชีกลาง จำนวน 98 ทุนหมุนเวียน และมีทุนหมุนเวียนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้จำนวน 9 รางวัล จาก 6 ทุนหมุนเวียน

       

โดยกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้เข้าสู่ระบบการประเมินผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียน ของกรมบัญชีกลางตั้งแต่ 2558 -2567โดยในปี 2564 กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น ประจำปี 2564 ด้วยคะแนนการประเมินภาพรวม 4.3414 คะแนน ดังนั้นกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจึงได้นำผลและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินมาปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องทำให้ผลการดำเนินงานประจำปี 2566 ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สำนักงาน คปภ. ได้รับคะแนนการประเมินภาพรวม 4.5888 คะแนน และเป็นคะแนนการประเมินสูงสุดที่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเคยได้รับการประเมินจากกรมบัญชีกลาง จึงได้รับรางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น ประจำปี 2567

“กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย มีความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น ประจำปี 2567 อันเป็นผลจากความมุ่งมั่นในการยกระดับการให้บริการและเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถอย่างรวดเร็ว ด้วยการนำเทคโนโลยีและหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประสบภัยจากรถ และยังคงมุ่งมั่นสร้างมาตรฐานในการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้เป็นเลิศอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เป็นประธานเปิดงาน “Emerging Technologies and Risks for the Insurance Industry: What You Need to Know สำหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจประกันภัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจในทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจประกันภัยไปสู่ Digital Insurance รวมทั้งทิศทางการดำเนินงานสำคัญในด้านเทคโนโลยีของสำนักงาน คปภ. ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แนวทางในการกำกับดูแลด้าน AI Governance ทิศทางในการส่งเสริม เรื่อง Open Data การปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องและเท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และความคาดหวังในบทบาทหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในการกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ

สำหรับเวทีการสัมมนาในครั้งนี้มีหัวข้อที่น่าสนใจ คือ การกำหนดทิศทางและนโยบายของสำนักงาน คปภ. ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะขับเคลื่อนในปี 2568 แนวปฏิบัติ IT 3rd party risk management guideline การกำกับดูแล เรื่อง AI Governance และแนวทางในการส่งเสริม เรื่อง Open Data  บรรยายโดยนายสมเกียรติ วัฒนาประสบสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ สายเทคโนโลยีสารสนเทศ หัวข้อ Maximizing Board Effectiveness : Building A Cyber Resilient Culture The Role of Lead Cyber Resilience in an Insurance Company บรรยายโดยนายประเสริฐ จารุศรีพัฒน์ หุ้นส่วนสายงานบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบภายใน บริษัท PwC ประเทศไทย หัวข้อ Unlocking the potential of Open Data in Insurance Industry บรรยายโดยนายพันธ์ศักดิ์ เสตเสถียร หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย หัวข้อ Implementing AI Governance: Lesson Learned from the through real-world case studies บรรยายโดย นายศุภฤกษ์ เข็มเงิน  Assistant Managing Director - Technology Risk and Control Governance จาก กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) และหัวข้อ Key takeaway บรรยายโดยนายประทีป พึ่งวัฒนาพงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโครงสร้างระบบและความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงาน คปภ.

ในโอกาสนี้ รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี ได้กล่าวมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัด session ต่าง ๆ เพื่ออัพเดทความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้กับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทประกันภัย ซึ่งเป็นผู้กำหนดและควบคุมนโยบายของบริษัท เพื่อให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างมั่นคงและปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯ ได้ติดตามแนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งกระแสของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generative AI ที่กำลังได้รับความสนใจ เป็นหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงในทุกเวที สะท้อนให้เห็นว่า AI ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นแล้ว สำหรับธุรกิจประกันภัย ได้เริ่มนำ AI มาใช้เช่นกัน แม้ว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ท้ายที่สุด AI จะกลายมาเป็นอนาคตที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างกลยุทธ์ใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้ แนวโน้มในเรื่อง Open data เป็นเรื่องหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านข้อมูลดิจิทัลของภาคการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการวิเคราะห์ตลาดและพัฒนาบริการต่าง ๆ และสำหรับการประกันภัย Open Insurance จะช่วยให้บริษัทมีข้อมูลเพื่อสนับสนุนเสนอการประกันภัยที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการและความเสี่ยงของลูกค้า ในขณะที่ลูกค้าก็จะได้รับบริการที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับความต้องการของตนเองได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงต้องการเตรียมความพร้อมให้กับกรรมการและผู้บริหารของธุรกิจประกันภัย ในการตระหนักและกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีได้อย่างมั่นคง ปลอดภัย และรับผิดชอบ เนื่องจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ นอกจากจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจแล้ว การกำกับดูแลข้อมูล ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการกำกับดูแล AI ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยสำนักงาน คปภ. จะมีการพัฒนาหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์และสร้างความเข็มแข็งให้กับธุรกิจต่อไป

(ASEAN Insurance Regulators’ Meeting: 27th AIRM) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2567 ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี 2567 หรือ Thailand Insurance Symposium 2024 ภายใต้แนวคิด “สร้างโอกาสใหม่แห่งการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี เพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพอย่างยั่งยืน” (Redefining Insurance through Technology for Sustainable Life and Health Protection) จัดโดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ณ แกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพ ในรูปแบบ Hybrid ทั้ง Onsite และ Online มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งนักศึกษาจากหลักสูตรของสำนักงาน คปภ. อาทิ หลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) นักศึกษาหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) นักศึกษาหลักสูตรที่ปรึกษาด้านการประกันภัย (CIA) และสื่อมวลชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้รับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง และสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันภัย อีกทั้ง เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และรับฟังความคิดเห็น ระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนากับวิทยากร เพื่อนำไปสู่การวางแนวทางการพัฒนาการประกันภัย และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาระบบประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายบุคลากรในอุตสาหกรรมประกันภัยทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้บรรยายพิเศษมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการยกระดับการประกันชีวิตและสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้หากมีการนำเอาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดการตั้งราคาเบี้ยประกันภัยมีความเหมาะสม การพัฒนาแผนความคุ้มครองที่สนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนสามารถใช้เป็นข้อมูลในตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตและสุขภาพ รวมไปถึงการนำข้อมูลจาก Smart Watch หรืออุปกรณ์ที่สามารถติดตามการออกกำลังกายและข้อมูลสุขภาพของลูกค้ามาใช้ในการพิจารณาให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้และช่วยให้ภาคธุรกิจได้รับข้อมูลที่ทันสมัยของแต่ละบุคคลในการนำไปประเมินความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจประกันภัย จำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากเทคโนโลยี สถิติข้อมูล และงานวิจัยในเชิงลึกและนำไปใช้ต่อยอดได้ จึงเป็นที่มาของการยกระดับสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สู่การเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการประกันภัย (Research Development and Innovation Center) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้ และวิทยาการด้านการประกันภัยในระดับสากล รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาผลงานวิจัย และทดลองนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในธุรกิจประกันภัยเพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึงขับเคลื่อนและพัฒนาให้สำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรที่ทันสมัยที่สุด โดยศูนย์วิจัยแห่งนี้จะเป็นสถาบันชั้นนำในการพัฒนาบุคลากรในธุรกิจประกันภัย รวมถึงผู้นำและบุคลากรของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความรู้ด้านการประกันชีวิตและประกันวินาศภัย การนำประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ทิศทางในด้านกำกับดูแล และการดำเนินธุรกิจประกันภัย ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมของโลก ในปีหน้าจะมีการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม สำหรับทั้งบุคลากรของธุรกิจประกันภัยและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. รวมถึงหลักสูตรนานาชาติสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลและภาคธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของศูนย์วิจัยแห่งนี้ ก็คือ การเสริมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายความรู้และการแลกเปลี่ยนวิทยาการใหม่ ๆ นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการประกันภัย ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากรด้านการประกันภัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เสนอผลงานวิจัยและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้รับข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงปลายปีนี้ สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จะร่วมกันจัดอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ ก็คือ งาน Insure Mall สรรพสินค้าออนไลน์รวบรวมผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Insure Mall ครบทุกเรื่องประกัน จบทุกความต้องการ” โดย Insure Mall จะเป็นช่องทางที่สำคัญในการให้บริการประชาชนผู้สนใจประกันภัย สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างครบถ้วนในช่องทางเดียว สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัย สามารถเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันภัย บริษัทนายหน้าประกันภัย และธนาคารที่คัดสรรแบบประกันภัยที่มีความเหมาะสมต่อตัวท่านและครอบครัว ในรูปแบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา ตลอดจนเป็นแหล่งรวมความรู้พื้นฐานด้านการประกันภัยสำหรับประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาสู่ประเทศไทย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะมีกิจกรรมเปิดตัวโครงการซื้อประกันภัย รับส่วนลดสูงสุดถึง 30% และร่วมลุ้นรับของรางวัลมากมาย สามารถติดตามได้ทาง www.insuremallthailand.com 

นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ “Future Landscape in Digital Insurance” โดย ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงาน คปภ. ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และนายสัมฤทธิ์ ตรงตรานนท์ ผู้อำนวยการสายงาน บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ต่อจากนั้นเป็นการบรรยาย หัวข้อ “Innovating for Tomorrow: The Future of CX & Digital Workbench in Insurance” โดย Mr. Eugene Macey, Partner, PwC SEA & Global Insurance Customer & Digital Leader และหัวข้อ “Transforming Healthcare and Insurance with AI” โดย นพ.เดโชวัต พรมดา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Healthtag จำกัด และยังมีการมอบรางวัลผลงานวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 12 จำนวน 6 ผลงานได้แก่ รางวัลดีเด่น รางวัลดี และรางวัลชมเชย ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น ได้แก่ กลุ่ม GP 3 การพัฒนา Application เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในกรมธรรม์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ อย่างครบถ้วน : กรณีประกันภัยสุขภาพ และรางวัลดี ได้แก่ GP 2 การพัฒนากรอบธรรมาภิบาล AI สำหรับธุรกิจประกันภัย (AI Governance Framework for Thai Insurance Industry) อีกด้วย

“ในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัล รวมทั้งขอแสดงความชื่นชมผลงานวิชาการของทุกกลุ่ม ขอยอมรับว่าผลงานวิชาการของทุกกลุ่มในปีนี้น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดและพัฒนาระบบประกันภัยเป็นอย่างมาก ความตั้งใจของทุกท่านมีส่วนในการยกระดับคุณภาพผลงานวิจัยและการพัฒนาธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ปักหมุดหมาย..! ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านประกันภัยของภูมิภาคอาเซียน

Page 1 of 29
X

Right Click

No right click