เมื่อองค์กรแสวงหาคน “เก่ง” เพื่อมาร่วมทีม และบุคลากรมุ่งมั่นพัฒนาตนเองให้ "เก่ง" คำถามที่น่าสนใจ คือ "เก่ง" แบบไหนที่องค์กรต้องการ? บทความนี้จะวิเคราะห์มุมมอง "เก่งเพื่อเสริมทีม" และ "เก่งเพื่อเหนือทีม" พร้อมทั้งสะท้อนมุมมองสำคัญของ "ทีม" และผลลัพธ์ต่อองค์กร
"ความเก่ง" ไม่มีคำจำกัดความตายตัว ขึ้นอยู่กับระดับงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ บริบทองค์กร และเป้าหมายขององค์กร ในระดับหัวหน้างาน ความเก่ง อาจจะหมายถึง ความสามารถในการชี้นำ กระตุ้น พัฒนาทีม ตัดสินใจ แก้ปัญหา มองการณ์ไกล และสื่อสาร ในขณะที่ระดับปฏิบัติการ อาจจะหมายถึง ทักษะเฉพาะทาง ความเชี่ยวชาญ ความรับผิดชอบ ความอดทน ความตั้งใจ ความเก่งสำหรับงานบริการ อาจจะหมายถึง ทักษะการสื่อสาร การบริการลูกค้า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความอดทน ความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ในขณะที่ความเก่งสำหรับงานขาย อาจจะหมายถึง ทักษะการสื่อสาร การโน้มน้าว การเจรจาต่อรอง ความสัมพันธ์ ความเข้าใจลูกค้า โดยความเก่งที่เหมาะสมควรจะส่งผลลัพธ์เชิงบวกกับองค์กร มากกว่าการเป็นเพียงเครื่องประดับอวดอ้างให้คนอื่นเห็นความสำคัญของตนเอง
"ทีม" เปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย ทีมที่ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ผนึกกำลัง แบ่งปันความรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำงานคนเดียว ทีมเป็นแหล่งรวมความคิดสร้างสรรค์ มุมมองที่หลากหลาย ประสบการณ์ที่แตกต่าง กระตุ้นการคิดนอกกรอบ นำไปสู่ไอเดียใหม่ และนวัตกรรม นอกจากนี้ทีมยังเป็นกลไกแห่งการเรียนรู้ โดยสมาชิกในทีมจะได้เรียนรู้จากกันและกัน เกิดการพัฒนาทักษะ เพิ่มพูลความรู้ความสามารถ ทำให้สมาชิกภายในทีมเติบโตจากการทำงานร่วมกัน และส่งผลให้องค์กรเกิดการพัฒนาและก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
องค์กรเปรียบเสมือนเรือที่แล่นสู่จุดหมาย ทีมที่สร้างผลลัพธ์ จะมีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ทำงานด้วยความตั้งใจ ร่วมมือกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กร ในขณะที่ทีมที่เน้นการเมือง จะมุ่งแสวงหาอำนาจ ใช้ความสามารถที่ตัวเองมีเพื่อกดขี่คนที่มีความสามารถน้อยกว่า สร้างความขัดแย้ง แบ่งแยก ทำลายบรรยากาศการทำงาน ในทีมมักมีสมาชิกที่มีความสามารถ ทักษะ นิสัย หลากหลาย คนเก่งที่แท้จริงจะนำความรู้ ทักษะ มาเสริมสร้างทีม แบ่งปัน และช่วยเหลือเกื้อกูล มุ่งหวังที่จะเห็นองค์กรประสบความสำเร็จภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมงานทุกคน ในขณะที่คนไม่เก่ง สามารถเรียนรู้ พัฒนา เติบโต ด้วยโอกาส การสนับสนุน จากเพื่อนร่วมงาน ผู้นำ ในขณะที่คนดีจะมุ่งมั่น รับผิดชอบ สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี ไม่เอาความเก่งไปทำลายความตั้งใจในการทำงานของคนอื่น ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกองค์กรจะมีคนไม่ดีร่วมอยู่ด้วย คนเหล่านี้จะคอยสร้างปัญหา ขัดขวางแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความสนใจของตน และทำลายบรรยากาศการทำงาน ใช้เวลาไปกับการเล่นการเมือง สร้างกลุ่มก๊วนเพื่อนินทาคนที่มีความเห็นต่าง คอยจ้องจับผิดคนที่ไม่ใช่พวกพ้องตน
"เก่งเพื่อเสริมทีม" หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถ ทักษะ ความรู้ นำมาใช้เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาเพื่อนร่วมงาน และพัฒนาองค์กร "เก่งเพื่อเหนือทีม" หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถ ทักษะ ความรู้ นำมาใช้เพื่อเอาชนะ กดขี่เพื่อนร่วมงาน สร้างกลุ่มก้อนทางการเมืองเพื่อรักษาไว้ซึ่งความนิยมชมชอบตัวเอง "เก่งเพื่อเสริมทีม" เปรียบเสมือนแสงสว่าง นำทางองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ทีมที่ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ผนึกกำลัง แบ่งปันความรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำงานคนเดียว มุมมองที่หลากหลาย ประสบการณ์ที่แตกต่าง กระตุ้นการคิดนอกกรอบ นำไปสู่ไอเดียใหม่ และนวัตกรรม สมาชิกในทีมเรียนรู้จากกันและกัน แบ่งปันความรู้ พัฒนาทักษะ เติบโตทั้งส่วนตัวและองค์กร องค์กรที่มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม ส่งเสริมการทำงานของกันและกัน ให้คำแนะนำและแง่คิดด้วยความบริสุทธิ์ใจปราศจากอคติ "เก่งเพื่อเสริมทีม" จึงมีพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ และสร้างอนาคตที่ยิ่งใหญ่ คนที่มีจิตสำนึกต่อองค์กรไม่เพียงแต่บอกว่ารักองค์กร ทำอะไรเพื่อองค์กร แต่ต้องไม่ปล่อยให้ “อีโก้” ผนึกกำลังกับความลุ่มหลงมัวเมาใน “ตัวกู” มาทำลายองค์กรให้พังทลายเพียงเพราะแค่ต้องการแสดงอิทธิฤทธิ์ของความเก่งเพื่อเหนือทีม คนเก่งจริงไม่จำเป็นต้องเล่นการเมือง เพราะท้ายที่สุด การเมืองที่ทำลายพลังสร้างสรรค์อาจจะไม่มีที่ให้เก่งเพื่อเหนือทีมอีกต่อไป
----------------------------
วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ
ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร มจธ.