January 22, 2025

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นการบูรณาการแนวคิด Sustainability Trends เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STGs) เข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด High Value Added Services

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่จัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อแก้ปัญหาระดับโลกใน 17 เป้าหมายสำคัญในมิติต่าง ๆ เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายหลักให้สำเร็จภายในปี 2573 ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI( Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ แต่ยังมีข้อจำกัดที่ต้องพิจารณา เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล ฯลฯ

ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกวงการ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นทางคณะฯ จึงได้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับแนวโน้มดังกล่าว โดยเน้นการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักศึกษานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการแนวคิด SDGs สอดแทรกไปในทุกรายวิชา เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน

เสริมการเรียนรู้ผ่านชุมชน

ดร.ยุวรี  กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนมีทั้งหมด 3 สาขา ประกอบด้วย 1.สาขาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ ได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดรับกับรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ปรับเป็นการจัดทัวร์แบบกลุ่มเล็ก  เพื่อลดมลภาวะ ทั้งยังพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ โดยให้มีการจัดตั้งบริษัททัวร์จำลอง เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การจัดทัวร์ในรูปแบบที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีรายวิชาที่ส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น นักศึกษายังได้เรียนรู้การเป็นมัคคุเทศก์ที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนจะก้าวไปเป็นเจ้าของธุรกิจนำเที่ยวในอนาคต

ปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม

จากการขึ้นทะเบียน อุทยานธรณีโลก UNESCO (UGGP) ของประเทศไทย 2 แห่ง คือ อุทยานธรณีโลกสตูล และ อุทยานธรณีโลกโคราช รูปแบบการท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้ เน้นจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ โดยรูปแบบการท่องเที่ยวแบบใหม่ถูกนำมาสอดแทรกกับรายวิชาการท่องเที่ยวลดมลภาวะ  ที่ผ่านมาคณาจารย์ของทางคณะฯ ได้ทำวิจัย หัวข้อ “การสำรวจศักยภาพในการจัดกิจกรรมดูนกเพื่อการเรียนรู้โดยใช้พื้นที่สถานศึกษาขนาดกลางในเขตเมือง กรณีศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” พบว่ามีนกรวม 39 ชนิดในมหาวิทยาลัย งานวิจัยดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการสอนในรายวิชาท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ผ่านการเรียนรู้กิจกรรมดูนก โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมดูนกมาร่วมเป็นวิทยากร รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านโครงการรีไซเคิลที่นักศึกษาจะต้องคิดค้นร่วมกับอาจารย์ผู้สอน เช่น การเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการรวบรวมฝาขวดน้ำมอบให้กับบริษัท Qualy เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพลาสติก พร้อมกับเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรมาบรรยายความรู้ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้

นอกจากนี้ ยังได้รับนโยบายจากมหาวิทยาลัย โดยทางคณะฯ ได้ดำเนินการตาม SDGs เป้าหมายที่ 15 Life on Land ด้านการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก โดยกิจกรรมที่ผ่านมา นักศึกษาร่วมกับอาจารย์ทำโครงการอนุรักษ์ที่ ศูนย์อนุรักษ์นกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ผ่านกิจกรรมปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและในปีต่อมา คณะฯ ได้ขยายกิจกรรมไปยัง ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า จ.นครนายก โดยนักศึกษาได้ร่วมกิจกรรมทำความสะอาดและปรับปรุงกรงเสือ ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ถูกบูรณาการเข้าไปในหลักสูตรตั้งแต่ปี 1 เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เริ่มต้นการศึกษา

 

ปูพื้นความรู้ Green Hotel

ดร.ยุวรี  กล่าวเพิ่มเติมว่า 2.หลักสูตรสาขาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร ได้ร่วมมือกับโรงแรม 5 ดาว เช่น เครือแมริออท ผ่านโครงการ CWIE (Cooperative and Work-Integrated Education) เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกงานในสถานประกอบการจริง และยังได้เรียนรู้แนวคิด Green Hotel ผ่านโครงการนำ Food Waste หรือเศษอาหารเหลือใช้มาแปรรูปให้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ นักศึกษายังนำแนวคิดนี้มาต่อยอดเป็น Project ของการฝึกงานในสถานประกอบการ ภายใต้โครงการ “การศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากขยะอาหารจากอาหารมื้อเช้าโรงแรม” โดยมีแนวทางแก้ไขโดย นำอาหาร Food Waste มาแปรรูปเป็นคุกกี้เบคอนสำหรับสุนัข ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยประเภทโปสเตอร์จากโครงการ CWIE ปีการศึกษา 2566

 ทั้งนี้ ก่อนฝึกงาน นักศึกษาได้เรียนรู้แนวคิด Green Hotel จากการเรียนการสอนที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับ โรงแรมขนาดเล็กและโฮมสเตย์ โดยเรียนรู้จากการได้ฝึกประสบการณ์จริงในโรงแรม DPU Park Hotel ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของคณะฯ และเปิดให้บริการกับบุคคลทั่วไป อีกทั้งยังได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาของอาจารย์ในหลักสูตร ที่มีการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพด้านการโรงแรมและการบริการ รวมถึงแนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงที่พักให้ได้มาตรฐาน ให้เหมาะสมกับแนวคิดการท่องเที่ยวยั่งยืน

ปั้นเชฟมืออาชีพ-สร้างมูลค่าเพิ่ม Food Waste

และ 3.สาขาวิชาศิลปะการประกอบอาหาร นักศึกษาจะได้ฝึกทักษะระดับเชฟในโรงแรมและร้านอาหารมิชลินสตาร์ โดยนอกจากเรียนรู้การทำอาหารแล้ว ยังต้องเข้าใจการจัดการ Food Waste ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะอาหารและสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบเหลือทิ้ง เพื่อลดมลพิษจากขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสนับสนุน SDGs เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production ด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน

นำ AI มาประยุกต์ใช้   

ในปีการศึกษา 2567 ทางคณะฯ รับนโยบายจากมหาวิทยาลัย และ Academic Group 1 กำหนดให้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาสนับสนุนการเรียนการสอน เช่น นำ ChatGPT มาช่วยจำลองสถานการณ์บริการในงานโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยมีที่ปรึกษาด้านไอทีคอยแนะนำการเขียน ChatGPT Prompts เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ โดยคาดหวังให้นักศึกษาสามารถออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว สร้างโปรแกรมนำเที่ยว และตอบคำถามของลูกค้าได้เสมือนจริง สำหรับ AI ในงานบริการ ยังมีบทบาทสำคัญในโรงแรม เช่น การเก็บข้อมูลประวัติลูกค้า เพื่อนำไปใช้วางแผนบริการที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น โดยในภาคเรียนถัดไปจะเริ่มนำ AI เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม

“ทั้งนี้ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมยังเน้นปลูกฝังแนวคิด High Value Added Services หรือ การบริการมูลค่าสูง ให้กับนักศึกษา โดยมุ่งสร้างบัณฑิตที่ไม่เพียงแค่มีความรู้ด้านงานบริการ แต่ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการให้บริการมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการที่เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ของโลก”ดร.ยุวรี  กล่าวในตอนท้าย

X

Right Click

No right click