November 22, 2024

ในงาน Tencent Global Digital Ecosystem Summit ซึ่งจัดขึ้นที่ Shenzhen World Exhibition & Convention Center ระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน ได้มีการเปิดตัวบริการด้านปัญญาประดิษฐ์ ( Artificial Intelligence หรือ AI) หลายตัว รวมทั้งนำเสนอนวัตกรรมที่เทนเซ็นต์ คิดค้นและเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท และโซลูชั่นระดับโลก เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล 

มร. ดาวสัน ตง รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส  และซีอีโอ ของกลุ่มธุรกิจ Cloud and Smart Industries Group (CSIG) บริษัท เทนเซ็นต์ ได้ตอกย้ำถึงแรงผลักดันที่สำคัญที่ลูกค้าองค์กรต้องเผชิญ  “หลายองค์กรกำลังมองหาแนวทางในการพลิกโฉมรูปแบบการทำธุรกิจของตน และด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ใช้ประโยชน์จากแนวโน้มและทิศทางใหม่ที่เกิดขึ้น และขยายธุรกิจสู่ระดับโลก ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถปลดล็อกศักยภาพใหม่ในการเติบโตและนวัตกรรม” 

เทนเซ็นต์ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์หลายชุดที่ได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้าน AI ของพันธมิตรและลูกค้าองค์กรต่าง ๆ  การเปิดตัวใหม่ของ "AI Infra" (腾讯云智算) ซึ่งเป็นโซลูชันที่ประกอบด้วย การประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล และเครือข่ายแบบครบวงจร ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน และช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ที่มีความต้องการที่จะพัฒนาและเทรนโมเดลขนาดใหญ่  ในขณะเดียวกัน เทนเซ็นต์  ได้เปิดตัว ฮุ่นหยวน-เทอร์โบ (Hunyuan-Turbo หรือ “混元Turbo”) ซึ่งเป็นบริการโมเดลเอไอที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบ Mixture of Experts (MoE) ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเทรนโมเดลถึงสองเท่า และลดค่าใช้จ่ายในการประมวลผลลง 50%  

ปัจจุบัน AI Coding Assistant ของ Tencent Cloud ซึ่งขับเคลื่อนโดยโมเดลพื้นฐาน Hunyuan ได้ถูกใช้งานโดยโปรแกรมเมอร์ของ Tencent กว่า 50% ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาได้ถึง 40% นอกจากนี้ Tencent Meeting ยังมีฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น การบันทึกอัจฉริยะ, ผู้ช่วย AI, การแปลหลายภาษา และอื่น ๆ โดยมีผู้ใช้งานมากกว่า 15 ล้านคนต่อเดือน 

 โซลูชัน AI ล้ำสมัยสำหรับองค์กรระดับโลก

ในตลาดต่างประเทศ Tencent Cloud กำลังขยายการลงทุนและเพิ่มทรัพยากร เพื่อสร้างความร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรในการบรรลุภารกิจของบริษัทที่จะ ‘สร้างนวัตกรรม, เชื่อมต่อ, และขยายสู่ระดับโลก’ 

นอกเหนือจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการชุดใหม่สำหรับ AI และการเทรนโมเดลในประเทศจีนแล้ว Tencent Cloud International ยังได้เปิดตัวเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนผ่านฝ่ามือ (Palm Verification) ที่ล้ำสมัย และแผนการสร้างระบบนิเวศที่รองรับเทคโนโลยีนี้ในตลาดต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการนำการยืนยันตัวตนที่ปลอดภัยและใช้ AI มาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น 

มร. โพชู เยือง รองประธานอาวุโสของ Tencent Cloud International กล่าวว่า โซลูชัน Cloud Palm Verification ของบริษัท ได้มีการทดลองใช้งานทั่วโลกแล้วโดยบริษัทชั้นนำหลายแห่ง รวมถึง Telkomsel เพื่อสนับสนุนการใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่ระบบการชำระเงินไปจนถึงการจัดการด้านการเข้าถึงความปลอดภัย 

มร. เยือง กล่าวเสริมว่า “แผนในการสร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับ Palm Verification ของเราได้มีการรวมเอาชุดเครื่องมือเทคโนโลยีหลายตัว ที่จะช่วยให้พันธมิตรทั่วโลกสามารถนำและบูรณาการเทคโนโลยีระดับโลกนี้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อการนำไปใช้ในตลาด โครงการนี้ช่วยให้พันธมิตรของเรามีอิสระในการสร้างสรรค์และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ในสถานการณ์ธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก” 

 ในงานนี้ ยังมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้ AI สำหรับตลาดต่างประเทศ เช่น Knowledge Engine Platform, Digital Human, e-KYC และอื่น ๆ เพื่อเสริมศักยภาพให้กับองค์กรในยุค AI การขยายตลาดทั่วโลกเติบโตขึ้นด้วยการมุ่งเน้นที่ตลาดสำคัญและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้ AI เหล่านี้ ธุรกิจระหว่างประเทศของ เทนเซ็นต์  คลาวด์ เตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 10,000 ธุรกิจใน 30 อุตสาหกรรมที่ให้บริการในกว่า 80 ตลาดและภูมิภาค 

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา เทนเซ็นต์  คลาวด์ ได้รับการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับสองหลักในตลาดต่างประเทศ สร้างความแข็งแกร่งในเอเชีย, ยุโรป, อเมริกา, และตะวันออกกลาง โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตอย่างน้อย 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

มร. ตง กล่าวเพิ่มเติมว่า การเติบโตนี้เป็นผลมาจาก จากความต้องการของระบบนิเวศของ เทนเซ็นต์  คลาวด์ ที่มีความโดดเด่น, บริการเทคโนโลยีด้านสื่อระดับโลก, และโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั่วโลก “องค์กรต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม, สื่อ, และบริการสาธารณะ ใช้โซลูชันหลักของเรา เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์ม Mini Program, การสื่อสารแบบเรียลไทม์, การไลฟ์สตรีม, และโซลูชันด้านสื่อ” 

เทนเซ็นต์  คลาวด์ ยังมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับในการสนับสนุนธุรกิจในการขยายตลาดระดับโลก โดยได้ช่วยบริษัทในกลุ่ม Fortune 500 หลายแห่ง เช่น AstraZeneca, Mercedes-Benz, Toyota, และ Walmart China ให้สามารถขยายการดำเนินงานในจีนแผ่นดินใหญ่และทั่วโลกได้อย่างสำเร็จ 

ในงานนี้ Tencent Cloud International ยังประกาศความร่วมมือสำคัญกับหลายบริษัท ได้แก่ Aladdin Cybersecurity, Avatara, MFEC Public Company, Siemens, S.M.A.R.T Entrepreneurship Club, UnionCloud และอื่น ๆ เพื่อสำรวจโอกาสใหม่ ๆ ในด้าน AI โดยเฉพาะในโซลูชัน Digital Human บริษัทเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Global Partner Ecosystem ของ เทนเซ็นต์  คลาวด์ ที่ป้จจุบันมีมากกว่า 11,000 พันธมิตร มีส่วนสร้าง 80% ของรายได้จากนอกประเทศจีน รวมทั้งยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของธุรกิจระหว่างประเทศของ เทนเซ็นต์  คลาวด์ อีกด้วยเพื่อการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งของสนับสนุนพันธมิตรและลูกค้าทั่วโลกได้ดียิ่งขึ้น เทนเซ็นต์  คลาวด์ ยังได้จัดตั้งเครือข่ายศูนย์สนับสนุนทางเทคนิคทั่วโลก จำนวน 9 แห่ง ในประเทศอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ซึ่งทั้งหมดจะให้บริการและสนับสนุนทางเทคนิคตลอด 24 ชั่วโมง 

 

 

 

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าระดับสากล เผยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ปี 2567 เป็นที่น่าพอใจ โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,659 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 4,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 995 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน* พร้อมเริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar มีกำหนดเริ่มดำเนินการเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งยังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Gemeng International Energy เพื่อขยายการเติบโตของพลังงานสะอาดในจีน

 

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า “โรงไฟฟ้าของ BPP สามารถรักษาเสถียรภาพการผลิตและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต จึงสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ยั่งยืน ผ่านการขยายพอร์ตให้ครอบคลุมมากไปกว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ตามแนวทาง ‘Beyond Megawatts Portfolio’ ทั้งการขยายกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energy Infrastructure) และการพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System: BESS)”

ภาพรวมครึ่งปีแรก BPP มีผลการดำเนินงานที่ดี ส่วนสำคัญเกิดจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นของโรงไฟฟ้าแฝด Temple l และ Temple ll ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการรับรู้รายได้จากการเดินเครื่องที่มีประสิทธิภาพและมีค่าความพร้อมจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีนยังรายงานผลการดำเนินงานที่ดีจากการบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ

*หมายเหตุ: เทียบกับ EBITDA ที่ไม่รวมกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนใหม่ในปี 2566

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้ติดตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ บาร์เนตต์ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2567 นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ BPP ในสหรัฐฯ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ BPP ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Gemeng International Energy ในการร่วมพัฒนาธุรกิจพลังงานในรูปแบบใหม่ ธุรกิจระบบจัดเก็บพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพื่อขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน

 

ด้านธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานซึ่ง BPP ได้ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ ในสัดส่วนร้อยละ 50 มีความคืบหน้าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ได้ลงนามสัญญาเพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน เริ่มสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้กับผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย ขณะที่โครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าในการก่อสร้างถึง 97% ธุรกิจอีโมบิลิตี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi เดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน ได้ลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญาให้แก่ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ต และ SB Design Square CDC ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ หน่วยงาน Corporate Venture Capital ยังได้ลงทุนใน enspired ผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI ที่จะยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจแบตเตอรี่และการซื้อขายพลังงานของบ้านปู เน็กซ์

“BPP จะยังคงเดินหน้าขยายกำลังผลิตไฟฟ้าคุณภาพจากโรงไฟฟ้าที่มีก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคง และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่า เราคือพันธมิตรที่แข็งแกร่งในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ESG ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ที่มุ่งส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” นายอิศรา กล่าวปิดท้าย

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com

เฟดเอ็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (Federal Express Corporation) หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าด่วนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดตัวคู่มืออีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน 2 ฉบับ เพื่อส่งเสริมลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) ในประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซในประเทศจีนและญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

ในปัจจุบัน ประเทศจีนและญี่ปุ่นถือเป็นตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก1 ด้วยการนำเข้าและส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่แข็งแกร่ง มอบโอกาสทางธุรกิจที่กว้างขวางให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs โดยผู้ประกอบการต่างชาติที่ต้องการประสบความสำเร็จในตลาดจีนและญี่ปุ่น จำเป็นต้องทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของพฤติกรรมผู้บริโภคในโลกดิจิทัล ความนิยมของผู้บริโภค และการขนส่งของตลาดแต่ละประเทศ เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจของตนอย่างยั่งยืน 

FedEx มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศจีนและญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง พร้อมนำความรู้และประสบการณ์มาพัฒนาคู่มืออันเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ทางเว็บไซต์ FedEx โดยภายในคู่มือประกอบด้วย: 

  • ภาพรวมภูมิทัศน์ของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เพื่อชี้แนะผู้ค้าปลีกออนไลน์ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมและมีศักยภาพให้กับธุรกิจของตน 
  • หมวดหมู่สินค้าอีคอมเมิร์ซที่สำคัญที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าใจถึงการแข่งขันในแต่ละตลาด โดยระบุหมวดหมู่สินค้าที่มีการแข่งขันสูง และหมวดหมู่สินค้าที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต 
  • โปรไฟล์ธุรกิจและเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในแต่ละประเทศ ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากที่สุด 
  • พฤติกรรมและความนิยมของผู้บริโภคเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านการตลาด เช่น การถ่ายทอดสด (Livestreaming) วิดีโอสั้น (Short Video) และการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Commerce) 
  • เทศกาลที่เป็นที่นิยมในแต่ละประเทศ เช่น วันวาเลนไทน์ (Valentines Day) วันคนโสด (Single Day) และวันคนมีคู่ (Couples Day) ในประเทศจีน รวมถึง วันปีใหม่ (Oshougatsu New Year Holidays) และสัปดาห์ทอง (Golden Week) ในประเทศญี่ปุ่น  
  • การชำระเงินและการขนส่งที่ผู้บริโภคแต่ละประเทศเลือกใช้ 

“การค้นหาและเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ในตลาดระดับนานาชาติถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองให้ดึงดูดผู้บริโภคและสร้างผลประกอบการให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน สื่อดิจิทัลช่วยลดอุปสรรคและเปิดโอกาสในการเข้าถึงตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเข้าใจข้อมูลเชิงลึกและพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดและขาดไม่ได้ในการบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางบทบาทของอีคอมเมิร์ซที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” คาวาล พรีท ประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเฟดเอ็กซ์ กล่าว “ประเทศจีนและญี่ปุ่นนับเป็นตลาดที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทางบริษัทฯ ได้ต่อยอดประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการดำเนินกิจการภายในประเทศเหล่านี้มาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งนับเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับอีคอมเมิร์ซ ไม่เพียงเท่านี้ เรายังเชื่อมต่อแพลตฟอร์มและขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ ผลักดันการส่งมอบแนวความรู้และช้อมูลเชิงลึกที่เป็นเอกลักษณ์ สนับสนุนให้ร้านค้าปลีกสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” 

“กลุ่มธุรกิจ SMEs ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจภายในประเทศไทย เรามุ่งมั่นสานต่อเจตนารมณ์ในการผลักดันกลุ่มธุรกิจ SMEs ในประเทศให้เข้าใจและสามารถขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ ๆ คู่มืออีคอมเมิร์ซ 2 ฉบับนี้ รวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึกมากมายเกี่ยวกับการแข่งขันและลักษณะเฉพาะที่สำคัญภายในตลาดประเทศจีนและญี่ปุ่นอย่างครอบคลุม เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ในประเทศสามารถดำเนินธุรกิจในตลาดอีคอมเมิร์ซระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายศศธร ภาสภิญโญ กรรมการผู้จัดการ เฟดเอ็กซ์ ประเทศไทย กล่าว “เจตนารมณ์ในการผลักดันผู้ประกอบการ SMEs นี้ สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลไทยในการขยายตลาดสู่ประเทศจีน ส่งเสริมการค้าไร้พรมแดน พร้อมเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง” 

“ในปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจในประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตและประสบความสำเร็จภายในตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศจีนและญี่ปุ่นอย่างมาก” นายศศธร ภาสภิญโญ กรรมการผู้จัดการ เฟดเอ็กซ์ ประเทศไทย กล่าว “เราเชื่อมั่นว่ากลุ่มธุรกิจ SMEs ในประเทศจะสามารถเติบโตภายในตลาดเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืนด้วยคู่มืออีคอมเมิร์ซที่เป็นประโยชน์ โดยคู่มือนี้รวบรวมข้อมูลและการบริการจากความรู้ความชำนาญ รวมถึงเครือข่ายทั่วโลก สะท้อนบทบาทของเฟดเอ็กซ์ในฐานะหนึ่งในพาร์ทเนอร์สำหรับกลุ่มธุรกิจในการขยายตลาดสู่ระดับสากล” 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในระดับภูมิภาคเอเชียและระดับสากล โดยผู้ประกอบการ SMEs ชาวไทยซึ่งคิดเป็น 99% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศไทย2  ต่างมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านตลาดสินค้าส่งออก อันได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการเกษตร รถยนต์ และเครื่องจักรกล ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศจีนและญี่ปุ่นถือเป็นตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรกของประเทศที่สำคัญและน่าจับตามอง ส่งเสริมโอกาสที่ดีสำหรับกลุ่มธุรกิจ SME ในไทย ให้สามารถก้าวขึ้นสู่เวทีการค้าระดับโลกได้อย่างสมบูรณ์ 

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ทาง: คู่มือการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซไร้พรมแดนสู่ประเทศจีนและญี่ปุ่น 

SCB CIO วิเคราะห์หากทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.นี้ คาดจะมีนโยบายที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่าไบเดน จากการบริโภคที่ได้รับแรงหนุนนโยบายต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ส่วนจีนจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าหนักขึ้น ด้านค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า เช่น วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวันและเงินบาท อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกได้ พร้อมแนะนำลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีน A-Share บนพอร์ตลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป แต่ต้องจับตาความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง พร้อมลงทุนตลาดหุ้นจีน H-Share บนพอร์ตระยะสั้นรับแรงหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางการจีน

น.ส.เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากการติดตามผลสำรวจคะแนนความนิยมของนายโจ ไบเดน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. 2567 นี้ ผ่านเว็บไซต์ผลสำรวจ realclearpolitics พบว่า ล่าสุด คะแนนความนิยมของทรัมป์ อยู่ที่ 47.5 นำเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคะแนนนิยมของไบเดน ซึ่งอยู่ที่ 46.4 และในสภาคองเกรส ผลสำรวจระบุว่า พรรค Republican มีคะแนนนำเล็กน้อยในสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง ส่วนวุฒิสภา หรือสภาบน คะแนนทั้งสองพรรคใกล้เคียงกันมาก

ทั้งนี้ SCB CIO วิเคราะห์ผลกระทบเปรียบเทียบระหว่างทรัมป์หรือไบเดน เป็นประธานาธิบดีสมัยหน้า โดยมองว่า หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดีจะมีนโยบายที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าไบเดน เนื่องจากการบริโภคจะได้รับแรงหนุน จากนโยบายต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะหมดอายุลงในปี 2568 ขณะที่ไบเดนมีแผนเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง แต่การบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ อาจได้รับผลกระทบบ้างจากนโยบายของทรัมป์ ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากจีนมากกว่า 60% และสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าอื่น 10% ส่วนการส่งออกสุทธิ อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนนำเข้าสินค้าทุนที่แพงขึ้น และจากการตอบโต้กลับของประเทศอื่น ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน ต่างจากไบเดนที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นโดยพุ่งเป้าเฉพาะสินค้ายุทธศาสตร์ของจีนเป็นหลักทำให้ไม่ส่งผลกระทบมากนัก

ด้านการลงทุน จะคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ที่ 21% หรืออาจปรับลดเพิ่มเติม รวมทั้งมีนโยบาย American First เพิ่มการผลิตในประเทศ ทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ส่วนการคลังจะขาดดุลการคลังมากขึ้น ทำให้ต้องออกพันธบัตรรัฐบาล (Bond) เพิ่มขึ้น และอาจเผชิญข้อจำกัด เนื่องจากยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงโควิด ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานงบประมาณรัฐสภา (CBO) ในปี 2567 คาดว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ 99% ต่างจากเมื่อปี 2559 ที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ซึ่งอยู่ที่ 77% และสหรัฐฯ จะมีปัญหาชนเพดานหนี้อีกครั้ง จากที่ได้ขยายเวลาเพดานหนี้ไปถึงช่วงต้นปี 2568

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพราะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนและประเทศคู่ค้าอื่น จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และอาจเกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก (Supply Chain Disruption) นอกจากนี้ ยังเผชิญแรงกดดันจากการเพิ่มการขาดดุลการคลัง รวมทั้งการจำกัดการอพยพย้ายถิ่นฐานที่จะไปกดดันอุปทานแรงงาน ต่างจากไบเดนที่อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นน้อยกว่า เนื่องจากมีการกระตุ้นทางการคลัง และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าน้อยกว่า

ขณะที่ทิศทางนโยบายการเงิน เราคาดว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และยังมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Yield Curve) มีแนวโน้มชันมากขึ้น จากเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการออกบอนด์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ Bond Yield ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น (Yield Curve ชันมากขึ้น) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เผชิญข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะกรณีไม่สามารถครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา ทรัมป์อาจจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ Bond Yield ระยะสั้นปรับลดลง และทำให้ Yield Curve มีความชันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงบนความต่อเนื่องของนโยบายการเงินได้ โดยมีแนวโน้มที่จะไม่ต่ออายุนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ที่จะครบวาระในวันที่ 15 พ.ค. 2569 และน่าจะแต่งตั้งประธานเฟดคนใหม่ ที่มีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจทำให้มีการผ่อนคลายทางการเงินมากเกินไป ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้า จากความเสี่ยงการปรับขึ้นภาษีนำเข้า และสงครามการค้าโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมทั้งยังมีแรงหนุนจากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การออกบอนด์เพิ่มขึ้น ที่จะทำให้ Bond Yield เพิ่มขึ้นด้วย ตรงกันข้ามกับไบเดน เป็นประธานาธิบดี ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวถึงอ่อนค่า ตามทิศทางการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ในส่วนของผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น จากสถิติในอดีต พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักผันผวนเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว ความผันผวนจะปรับลดลง ทั้งนี้ หากทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี จะเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ มากกว่าไบเดน จากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะส่งผลให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จะช่วยหนุนให้กิจการมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นภาษีนำเข้าอาจกระทบปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้น โดยเฉพาะผู้ที่นำเข้าสินค้ามาเพื่อผลิตต่อ ขณะที่ผู้ส่งออก ยังมีแนวโน้มเผชิญการตอบโต้กลับด้านภาษีการค้าของประเทศอื่นๆ ส่วน Valuation มีแนวโน้มปรับลดลง จากการที่ Bond Yield ระยะยาว มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่ Valuation อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพงมากกว่าในอดีต นอกจากนี้ เรามองว่า การที่ ทรัมป์ได้รับชัยชนะจะทำให้ความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสื่อสารนโยบายผ่านช่องทางต่างๆ เข่น Twitter (X) และการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นต้องการผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยง (Equity Risk Premium) สูงขึ้น กดดัน Valuation ของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้

ส่วนกรณีที่ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี จะเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ น้อยกว่า โดยแนวโน้มกำไรต่อหุ้น (EPS) มีความเสี่ยงจะได้รับแรงกดดันจากการปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการเก็บภาษีการซื้อหุ้นคืนด้วย ขณะที่ ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากการที่ Bond Yield มีแนวโน้มเป็นขาลง และความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่างๆ ปรับลดลง

น.ส.เกษรี กล่าวว่า สำหรับผลที่มีต่อประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน จากนโยบายของ ทรัมป์ และ ไบเดนนั้น ถือว่าเป็นลบกับจีนทั้งคู่ แต่นโยบายของทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อจีนมากกว่า เพราะนอกจากเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมดแล้ว ยังมีแนวโน้มลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ยกเลิกการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากจีน ตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ไปจนถึงยา ภายใน 4 ปี ทั้งยังขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีนที่ผลิตในเม็กซิโกในอัตรา 100% กำหนด

ข้อจำกัดการถือครอง (ownership) ของจีน ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสหรัฐฯ เช่น พลังงาน เทคโนโลยี การแพทย์ และการสื่อสาร และยังออกกฎใหม่เพื่อหยุดการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ในจีนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาจีนมีการเตรียมการรับมือเอาไว้แล้ว ด้วยการปรับห่วงโซ่อุปทานและปรับช่องทางการค้า โดยกระจายความเสี่ยงส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งจะช่วยจำกัดผลลบต่อเศรษฐกิจจีนได้ ประกอบกับธนาคารกลางจีน (PBoC) อาจยอมปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในระดับที่ไม่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเงินทุนไหลออก ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาผลลบจากกำแพงภาษีได้อีกทาง

ในส่วนของผลกระทบต่อประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียนั้น เรามองว่า การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความไม่แน่นอนของตลาดที่มากขึ้น อาจส่งผลให้ค่าเงินในเอเชียผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะสกุลเงินที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง และเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก เช่น วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวัน และเงินบาท ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลออกได้ ขณะที่ค่าเงินรูปีอินเดีย รูเปียห์อินโดนีเซีย และเปโซฟิลิปปินส์ อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนค่อนข้างต่ำ

สำหรับคำแนะนำการลงทุนของ SCB CIO ในปัจจุบัน เราแนะนำให้ลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ บน Core Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนหลัก สำหรับการลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป โดยเรามองว่า จะเริ่มเห็นการขยายตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนไปยังหุ้นอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาด 7 ตัว (Magnificent 7) มากขึ้น รวมทั้งเห็นการกระจายตัวของกำไรในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจบริการสำหรับผู้บริโภค และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งจะช่วยประคอง Valuation ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้อยู่ในระดับสูงได้

ส่วนตลาดหุ้นจีน A-Share เราแนะนำลงทุนบน Core Portfolio เช่นกัน เนื่องจากมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ตามความคาดหวังของนักลงทุนบนการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ในการประชุม 3rd Plenum และการประชุม Politburo ช่วงเดือนก.ค. นี้ แม้เมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดัชนีตลาดหุ้นจีน A-Share อาจมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนเพิ่มมากขึ้น จากท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของทางสหรัฐฯ ก็ตาม

ในส่วนของตลาดหุ้นจีน H-Share เราแนะนำให้ลงทุนบน Opportunistic Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตเสริมโอกาสระยะสั้น เฉพาะนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง เนื่องจาก มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 1) การออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของทางการจีน โดยเฉพาะบนมาตรการเยียวยาภาคอสังหาริมทรัพย์ 2) เงินลงทุนไหลเข้า (Inflows) ผ่านช่องทาง Southbound stock connect ที่มีแนวโน้มมากขึ้น ตามการผ่อนคลายที่สนับสนุนตลาดทุน 3) การซื้อหุ้นคืนเพิ่มขึ้น และการเพิ่มเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนจีนที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น H-Share (offshore) โดยเฉพาะกลุ่มอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ ซึ่งอาจช่วยหนุนอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) และ valuation และ 4) การคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาด H-Share ที่มีแนวโน้มทรงตัวถึงถูกปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับคู่ค้าต่างๆ และประเด็นข้อพิพาทช่องแคบไต้หวัน โดยล่าสุด จีนซ้อมรบใหญ่รอบไต้หวัน อ้างว่าเป็นการลงโทษท่าทีแบ่งแยกดินแดนของประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ อาจเพิ่มความผันผวนแก่ตลาดได้

ฉากแรก คือประมาณปลายปี 2540 ณ กลางซอยทองหล่อ คลาคล่ำไปด้วยผู้ซื้อผู้ขายที่นำรถยนต์ของตัวเองมาเปิดท้ายขายของดีๆ

ที่ขนมาจากบ้าน เพื่อต้องการลดภาระผ่อนบ้านผ่อนรถและนำเงินสดไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะตัวเองเพิ่งจะตกงานทั้งผัวทั้งเมีย

 

ใช่แล้ว “ตลาดนัดคนเคยรวย”
สื่อมวลชนทั่วโลกพากันมาทำข่าวและสัมภาษณ์ผู้ขายเหล่านั้นซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น “มนุษย์ทองคำ” อยู่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เงินเดือนสูงและโบนัสมากกว่า 24 เดือนต่อเนื่องกันหลายปี
การสั่งปิด 56 ไฟแนนซ์ ตามคำแนะนำของ IMF เจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลขณะนั้น ทำให้พวกเขาตกงานแบบฉับพลัน

 

มูลเหตุสำคัญคือวิกฤติหนี้ต่างประเทศ (ภาคเอกชนก่อหนี้ต่างประเทศมาก) และการเก็งกำไรทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจมาเป็นเวลายาวนาน

 

ทว่า ไม้ขีดไฟก้านแรกที่จุดชนวนระเบิด เกิดจากการที่แบงก์ชาตินำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปปกป้องค่าเงินบาทแต่ขาดทุนเกือบหมดหน้าตัก

จนรัฐบาลต้องลอยค่าเงินบาทเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม และเข้าพึ่งพิง IMF ส่งผลให้หนี้สินต่างประเทศของภาคเอกชนซึ่งมีจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ สูงขึ้นกว่าเท่าตัว 

แล้วทุกอย่างก็เหมือนถูกเบรก ราคาสินทรัพย์ตกลงฮวบฮาบ ดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างมหาโหด เงินหายไปจากระบบ ภาคเอกชนทยอยเจ๊ง ติดต่อกันไปในแทบทุกอุตสาหกรรม

 

เหมือนกับปาร์ตี้ที่กำลังเฮฮาอู้ฟู้ อาหารเครื่องดื่มหรูหราไม่อั้น ทุกคนสนุกสนานมัวเมา จู่ๆ ก็ถูกถอดปลั๊ก สะดุดหยุดลงดื้อๆ

ลูกโป่งที่ประดับประดาสวยงาม พากันแตกโป้ง ต่อหน้าต่อตา เหลือไว้แต่ขยะกับหนี้สิน ที่ต้องช่วยกันเก็บกวาด

 

อีกนานกว่าชีวิตจะกลับมาเหมือนเดิม
ขณะที่คนไทยทั้งประเทศกำลังช็อกอยู่นั้น วิกฤติที่รุนแรงแบบเดียวกันก็ได้ลุกลานไปยัง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย แล้วต่อไปยังรัสเซีย บลาซิล อาร์เจนตินา ฯลฯ

 

เกิดความโกลาหลไปทั่วทั้งโลก มากบ้างน้อยบ้างตามแต่จำนวนหนี้ที่ตนก่อไว้
ฉากต่อมา คือวันที่ 15 กันยายน 2551 ที่ผู้คนเป็นร้อย พากันเดินออกจากอาคารพร้อมกับกล่องใส่ของใช้ส่วนตัว ลงไปที่ถนน William Street ในแมนฮัตตัน
พวกเขาคืออดีตพนักงานของวานิชธนกิจเก่าแก่และมีชื่อเสียง Lehman Brother ที่ยื่นขอเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย

 

พนักงานกว่า 25,000 คนทั่วโลก ต้องตกงานพร้อมกัน เพราะความโลภของ Lehman ที่เข้าไปเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ที่เรียกกันว่า “Sup Prime”
วิกฤติ Lehman ได้จุดชนวนให้วิกฤติเศรษฐกิจลุกลามอย่างรวดเร็ว จนรัฐบาลต้องเข้าอุ้มสถาบันการเงินทั้งระบบและกิจการขนาดใหญ่ ด้วยแพ็คเกจช่วยเหลือจำนวนมหาศาล และต้องออกนโยบาย QE และกดดอกเบี้ยให้ต่ำจนผิดปกติไว้ต่อมาอีกนานมาก

 

“วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ครั้งนั้น ไม่ได้จำกัดตัวอยู่เฉพาะอเมริกา แต่ได้ติดต่อไปยังญี่ปุ่น จีน และยุโรป
ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่โลกเศร้าหมอง และต้องมารับกรรมกับสิ่งที่พวก Wall Street ก่อไว้ โดยหาตัวคนรับผิดชอบมาลงโทษไม่ได้เลย

 

ทั้ง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” และ “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” พิสูจน์ให้เราเห็นกับตามาแล้วว่า เมื่อเกิดวิกฤติทำนองนี้ขึ้น ความเสียหายมันจะไม่จำกัดขอบเขตอยู่เป็นเอกเทศ
มันมักจะลุกลามเป็นวงกว้าง
ฉากสุดท้าย ที่กำลังดำเนินอยู่ ณ ขณะนี้ เกิดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

ทุกคนล้วนทราบดีว่า Evergrande บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ก่อหนี้จำนวนมากที่สุดในโลก (มูลหนี้ประมาณ 330,000 ล้านเหรียญฯ) ถูกทางการเข้าสอบสวนมาได้สักพักใหญ่ และเจ้าของซึ่งมีฐานะระดับอภิมหาเศรษฐีเพิ่งถูกรัฐบาลจับตัวไป
ที่สำคัญ Evergrande ได้ยื่นศาลในสหรัฐฯ ขอคุ้มครองในกระบวนการล้มละลาย ภายใต้มาตรา 15 หรือ Chapter 15 เมื่อเดือนที่ผ่านมา และตำรวจสหรัฐฯ ก็ได้เข้าจับกุมพนักงานของ Evergrande Wealth Management จำนวนหนึ่ง

 

Evergrande นั้นเป็นกิจการอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ที่ทำโครงการกว่า 1,300 โครงการใน 280 เมือง และมีหนี้สินถึง 330,000 เหรียญฯ เท่ากับประมาณ 2% ของ GDP จีน
ตั้งแต่ปี 2564 Evergrande เริ่มผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ และต่อมาก็ทยอยเบี้ยวหนี้ที่ถึงกำหนดแทบทุกก้อน

 

ความใหญ่และเครื่อข่ายที่กว้างขวางของ Evergrande ส่งผลให้เกิดโรคติดต่อขึ้นในแวดวงอสังหาฯ คือตั้งแต่ 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 40% ของกิจการอสังหาฯ ในจีนก็ผิดนัดชำระหนี้บ้าง มากบ้างน้อยบ้าง

 

ที่ทุกคนเป็นห่วงมากคือ Country Garden ซึ่งปุบปับก็ผิดนัดชำระหนี้ด้วย มันไม่เหมือน Evergrande ซึ่งถูกสอบสวนมานานแล้ว แต่กรณี Country Garden นั้นมันค่อนข้าง Surprise
แม้เจ้าหนี้จะร่วมกันแก้ปัญหาผ่อนผันเตะถ่วงไปให้ แต่ในระยะยาวก็ยังคงน่าเป็นห่วง

ว่ากันว่า Country Garden นั้นมีโครงการก่อสร้างในมือมากกว่า Evergrande ถึง 4 เท่า และเป็นกิจการอสังหาฯ ที่ทำรายได้มากที่สุดในจีน แม้มูลหนี้จะน้อยกว่า เพียง 190,000 ล้านเหรียญฯ
ข้อมูลที่เปิดเผย บอกว่า Country Garden มีอพาร์ทเม้นต์ที่กำลังก่อสร้างในมือถึง 1 ล้านยูนิต
มันควรจะเป็นกิจการที่มีเงินสดตุนไว้มาก และสุขภาพดี แต่การที่มันผิดนัดชำระหนี้เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ย่อมสร้างความกังวลให้รัฐบาลและทุกคนที่จับตาดูจีนอยู่

 

Country Garden ประเมินตอนต้นปีว่าจะสามารถส่งมอบยูนิตสร้างเสร็จในปีนี้ 7 แสนยูนิต แต่ถึงขณะนี้ บริษัทเพิ่งส่งมอบจริงได้เพียงครึ่งเดียว
ราคาหุ้นของบริษัทลดลงจากตอนต้นปีกว่า 70% แล้ว
ความเสี่ยงที่ Country Garden จะผิดนัดชำระหนี้และถูกฟ้องล้มละลายนั้นยังไม่หมดไป

 

ด้วยฐานะของมัน ถ้ามันไปอีกราย อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน พังทลายลงในรอบนี้ก็ได้

 

และแน่นอน ผลกระทบย่อมลุกลามไปสู่สถาบันการเงินและบรรดาเจ้าหนี้ของกิจการเหล่านั้นทั่วโลก (การที่ Evergrande ยื่นศาลสหรัฐฯ คุ้มครองภายใต้ Chapter 15 แสดงว่าเจ้าหนี้ของกิจการจำนวนพอสมควรอยู่ในสหรัฐฯ)
นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมวิกฤติเศรษฐกิจจีนรอบนี้ จะไม่ใช่ปัญหาของจีนแต่เพียงลำพัง

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click