วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดโครงการแข่งขันเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ส่งเสริมการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ สำหรับนักเรียนและนักศึกษา 2.พัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การแก้ปัญหา การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยี และ3.เตรียมความพร้อมกำลังคนคุณภาพในการพัฒนาประเทศ
โครงการดังกล่าว เปิดรับสมัครนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ตั้งแต่วันนี้ - 17 มกราคม 2568 โดยมีกิจกรรมการแข่งขัน 4 เวทีหลัก ดังนี้:
1. โครงการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี "สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร" ครั้งที่ 10 เนื่องด้วยวิชาชีพบัญชี เป็นหนึ่งในสาขาวิชาชีพที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังเป็น 1 ใน 7 สาขาวิชาชีพ ที่มีการพัฒนาข้อตกลงในการโอนย้ายแรงงานเสรีในกรอบข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพนักบัญชีของประชาคมอาเซียน DPU เห็นความจำเป็นในการสร้างความเข้าใจเชิงลึก และความตระหนักรู้ในความรับผิดชอบทางวิชาชีพให้แก่นักเรียนสายวิชาชีพบัญชีในระดับอาชีวศึกษา ในการพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีศักยภาพในอนาคต
การจัดการแข่งขันครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาความรู้และทักษะของนักเรียน นักศึกษา ในสายวิชาชีพบัญชี โดยมีกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2568 เวลา 08.00 - 16.30 น. ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ชั้น 7อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์และสมัครได้ที่: https://forms.gle/nH5KR4WkhkrTQpWk6
2. โครงการเทรดหุ้น "GenZ Biz-Investor สู่โลกลงทุนเรียนรู้ตลาดหุ้นจริงกับ App เทรดของคน GenZ-Season2" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะการลงทุนในตลาดหุ้นจริง ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน "Finansia HERO" ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้มุ่งเน้นการนำความรู้ด้านการเงินและการลงทุนมาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีทางการเงินผ่านเครื่องมือการเทรดหุ้นจำลอง เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาการเรียนรู้ผ่านการลงทุนเสมือนจริง รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการประเมินจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม และการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่สำคัญในการลงทุน ได้แก่ ทักษะการทำงานกับผู้อื่น ทักษะการแก้ปัญหาและการวิเคราะห์ เป็นต้น โดยกำหนดการจัดกิจกรรมแข่งขัน ในวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2568 เวลา 08.00 - 17.30 น. ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ ชั้น 6 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และ สมัครได้ที่:https://forms.gle/2Zf5qhXaskx1UnRf8
3. โครงการประกวดโมเดลธุรกิจและสร้างแบรนด์ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 1 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา ผ่านการส่งเสริมทักษะผู้ประกอบการที่ครอบคลุม อาทิ การคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม และความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้นักเรียนและนักศึกษาสามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจที่มีความยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความสำเร็จทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพและมีวิสัยทัศน์ในอนาคต โดยกำหนดการจัดกิจกรรมแข่งขันในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2568 เวลา 08.00 - 16.30 น. น. ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ ชั้น 7 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และสมัครได้ที่: https://forms.gle/6CXQox2X2WXr3zzE9
4. โครงการแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน ครั้งที่ 3 ด้วยตระหนักถึงความท้าทายในโลกปัจจุบันที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การจัดโครงการแข่งขันเกมจำลองฯ จึงมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ผ่านแพลตฟอร์มเกมจำลองซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะสำคัญ อาทิ การทำงานร่วมกัน การแก้ปัญหา การสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์ โดยมุ่งหวังให้เยาวชนสามารถปรับตัวและสร้างนวัตกรรมท่ามกลางความท้าทายของโลก ด้วยการเรียนรู้การวางแผนธุรกิจ การสร้างแบรนด์ และคำนึงถึงความยั่งยืนอย่างรอบด้าน โดยกำหนดการจัดกิจกรรมแข่งขันในวันที่ศุกร์ 31 มกราคม 25668 เวลา 08.00 - 16.30 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และสมัครได้ที่ : https://forms.gle/aJkTsbKbHTjDskUT7 (จำกัด 66 ทีม)
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษาที่มีความมุ่งมั่น มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพัฒนาทักษะและแสดงศักยภาพผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ การทำงานร่วมกัน รวมทั้งพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับนักศึกษา เพื่อก้าวสู่การเป็นบุคลากร ที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 17 มกราคม 2568 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/
คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นการบูรณาการแนวคิด Sustainability Trends เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STGs) เข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด High Value Added Services
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่จัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อแก้ปัญหาระดับโลกใน 17 เป้าหมายสำคัญในมิติต่าง ๆ เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายหลักให้สำเร็จภายในปี 2573 ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI( Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ แต่ยังมีข้อจำกัดที่ต้องพิจารณา เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล ฯลฯ
ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกวงการ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นทางคณะฯ จึงได้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับแนวโน้มดังกล่าว โดยเน้นการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักศึกษานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการแนวคิด SDGs สอดแทรกไปในทุกรายวิชา เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน
เสริมการเรียนรู้ผ่านชุมชน
ดร.ยุวรี กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนมีทั้งหมด 3 สาขา ประกอบด้วย 1.สาขาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ ได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดรับกับรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ปรับเป็นการจัดทัวร์แบบกลุ่มเล็ก เพื่อลดมลภาวะ ทั้งยังพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ โดยให้มีการจัดตั้งบริษัททัวร์จำลอง เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การจัดทัวร์ในรูปแบบที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีรายวิชาที่ส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น นักศึกษายังได้เรียนรู้การเป็นมัคคุเทศก์ที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนจะก้าวไปเป็นเจ้าของธุรกิจนำเที่ยวในอนาคต
ปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม
จากการขึ้นทะเบียน อุทยานธรณีโลก UNESCO (UGGP) ของประเทศไทย 2 แห่ง คือ อุทยานธรณีโลกสตูล และ อุทยานธรณีโลกโคราช รูปแบบการท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้ เน้นจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ โดยรูปแบบการท่องเที่ยวแบบใหม่ถูกนำมาสอดแทรกกับรายวิชาการท่องเที่ยวลดมลภาวะ ที่ผ่านมาคณาจารย์ของทางคณะฯ ได้ทำวิจัย หัวข้อ “การสำรวจศักยภาพในการจัดกิจกรรมดูนกเพื่อการเรียนรู้โดยใช้พื้นที่สถานศึกษาขนาดกลางในเขตเมือง กรณีศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” พบว่ามีนกรวม 39 ชนิดในมหาวิทยาลัย งานวิจัยดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการสอนในรายวิชาท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ผ่านการเรียนรู้กิจกรรมดูนก โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมดูนกมาร่วมเป็นวิทยากร รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านโครงการรีไซเคิลที่นักศึกษาจะต้องคิดค้นร่วมกับอาจารย์ผู้สอน เช่น การเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการรวบรวมฝาขวดน้ำมอบให้กับบริษัท Qualy เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพลาสติก พร้อมกับเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรมาบรรยายความรู้ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้
นอกจากนี้ ยังได้รับนโยบายจากมหาวิทยาลัย โดยทางคณะฯ ได้ดำเนินการตาม SDGs เป้าหมายที่ 15 Life on Land ด้านการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก โดยกิจกรรมที่ผ่านมา นักศึกษาร่วมกับอาจารย์ทำโครงการอนุรักษ์ที่ ศูนย์อนุรักษ์นกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ผ่านกิจกรรมปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและในปีต่อมา คณะฯ ได้ขยายกิจกรรมไปยัง ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า จ.นครนายก โดยนักศึกษาได้ร่วมกิจกรรมทำความสะอาดและปรับปรุงกรงเสือ ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ถูกบูรณาการเข้าไปในหลักสูตรตั้งแต่ปี 1 เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เริ่มต้นการศึกษา
ปูพื้นความรู้ Green Hotel
ดร.ยุวรี กล่าวเพิ่มเติมว่า 2.หลักสูตรสาขาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร ได้ร่วมมือกับโรงแรม 5 ดาว เช่น เครือแมริออท ผ่านโครงการ CWIE (Cooperative and Work-Integrated Education) เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกงานในสถานประกอบการจริง และยังได้เรียนรู้แนวคิด Green Hotel ผ่านโครงการนำ Food Waste หรือเศษอาหารเหลือใช้มาแปรรูปให้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ นักศึกษายังนำแนวคิดนี้มาต่อยอดเป็น Project ของการฝึกงานในสถานประกอบการ ภายใต้โครงการ “การศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากขยะอาหารจากอาหารมื้อเช้าโรงแรม” โดยมีแนวทางแก้ไขโดย นำอาหาร Food Waste มาแปรรูปเป็นคุกกี้เบคอนสำหรับสุนัข ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยประเภทโปสเตอร์จากโครงการ CWIE ปีการศึกษา 2566
ทั้งนี้ ก่อนฝึกงาน นักศึกษาได้เรียนรู้แนวคิด Green Hotel จากการเรียนการสอนที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับ โรงแรมขนาดเล็กและโฮมสเตย์ โดยเรียนรู้จากการได้ฝึกประสบการณ์จริงในโรงแรม DPU Park Hotel ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของคณะฯ และเปิดให้บริการกับบุคคลทั่วไป อีกทั้งยังได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาของอาจารย์ในหลักสูตร ที่มีการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพด้านการโรงแรมและการบริการ รวมถึงแนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงที่พักให้ได้มาตรฐาน ให้เหมาะสมกับแนวคิดการท่องเที่ยวยั่งยืน
ปั้นเชฟมืออาชีพ-สร้างมูลค่าเพิ่ม Food Waste
และ 3.สาขาวิชาศิลปะการประกอบอาหาร นักศึกษาจะได้ฝึกทักษะระดับเชฟในโรงแรมและร้านอาหารมิชลินสตาร์ โดยนอกจากเรียนรู้การทำอาหารแล้ว ยังต้องเข้าใจการจัดการ Food Waste ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะอาหารและสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบเหลือทิ้ง เพื่อลดมลพิษจากขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสนับสนุน SDGs เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production ด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
นำ AI มาประยุกต์ใช้
ในปีการศึกษา 2567 ทางคณะฯ รับนโยบายจากมหาวิทยาลัย และ Academic Group 1 กำหนดให้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาสนับสนุนการเรียนการสอน เช่น นำ ChatGPT มาช่วยจำลองสถานการณ์บริการในงานโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยมีที่ปรึกษาด้านไอทีคอยแนะนำการเขียน ChatGPT Prompts เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ โดยคาดหวังให้นักศึกษาสามารถออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว สร้างโปรแกรมนำเที่ยว และตอบคำถามของลูกค้าได้เสมือนจริง สำหรับ AI ในงานบริการ ยังมีบทบาทสำคัญในโรงแรม เช่น การเก็บข้อมูลประวัติลูกค้า เพื่อนำไปใช้วางแผนบริการที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น โดยในภาคเรียนถัดไปจะเริ่มนำ AI เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม
“ทั้งนี้ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมยังเน้นปลูกฝังแนวคิด High Value Added Services หรือ การบริการมูลค่าสูง ให้กับนักศึกษา โดยมุ่งสร้างบัณฑิตที่ไม่เพียงแค่มีความรู้ด้านงานบริการ แต่ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการให้บริการมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการที่เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ของโลก”ดร.ยุวรี กล่าวในตอนท้าย
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มุ่งเน้นเสริมทักษะการเพิ่มการบริการมูลค่าสูง (High Value Added Services) ในทุกหลักสูตร โดยเฉพาะสาขาการโรงแรมที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 หวังเตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่การเป็นบุคลากรคุณภาพในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมระดับสูง รองรับตลาดนักท่องเที่ยว “กลุ่มไฮเอนด์” ที่มีกำลังซื้อสูง สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบัน
ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า การขาดแคลนบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการโรงแรม ประกอบกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารท่องเที่ยวทรงอิทธิพลในสหรัฐอเมริกาอย่าง Travel + Leisure ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแห่งปี 2568 (Destination of the Year 2025) ส่งผลให้ปีนี้มีผู้สนใจสมัครเข้าศึกษาในคณะฯ เพิ่มขึ้นกว่า 20% โดยสาขาการโรงแรมได้รับความนิยมอันดับ 1 ตามด้วยสาขาการท่องเที่ยวและศิลปะการประกอบอาหาร สำหรับรูปแบบการท่องเที่ยวในปัจจุบันมีแนวโน้มเป็นการท่องเที่ยวแบบอิสระและกลุ่มเล็ก โดยนักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นกลุ่มหลัก และมีการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวสเปน ส่งผลให้ตลาดท่องเที่ยวมีความต้องการไกด์ภาษาสเปนเพิ่มขึ้น ทางคณะฯเล็งเห็นโอกาสนี้ จึงได้เปิดหลักสูตรอบรมมัคคุเทศก์ทั่วไป (ต่างประเทศ) สำหรับบุคคลทั่วไประยะเวลา 6 เดือน โดยปัจจุบันดำเนินการเป็นรุ่นที่ 2 และได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าอบรมและนักศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อสร้างความเข้าใจในวิชาชีพมัคคุเทศก์อย่างกว้างขวาง
ในปีการศึกษา 2567 ได้ปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรในระดับปริญญาตรีจากเดิมมี 2 สาขาวิชา ได้แก่ 1.การท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ และ 2. การโรงแรมและธุรกิจอาหาร เป็น 3 สาขาวิชา โดยเพิ่มสาขาวิชาศิลปะการประกอบอาหาร เป็นสาขาใหม่ล่าสุด ทั้งนี้ ทุกสาขาวิชาได้เพิ่มแนวคิดการเพิ่มการบริการมูลค่าสูง (High Value Added Services) เข้าไปในหลักสูตร ทั้งนี้นักศึกษาแต่ละหลักสูตรมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน โดยนักศึกษาสาขาการท่องเที่ยวจะเข้าใจกระบวนการจัดการและระบบการทำงาน นักศึกษาสาขาการโรงแรมจะมีความเชี่ยวชาญด้านงานบริการ และนักศึกษาสาขาอาหารจะมีความโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบอาหาร ดังนั้นทางคณะฯ จึงเน้นส่งเสริมให้นักศึกษาทั้ง 3 หลักสูตรได้ฝึกปฏิบัติงานร่วมกันในพื้นที่จริง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาทักษะให้ครอบคลุมทุกด้าน
ดร.ยุวรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการพัฒนาหลักสูตรการท่องเที่ยว จะมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านมัคคุเทศก์และความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม พร้อมเสริมการให้บริการมูลค่าสูงสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวชุมชน ผ่านความร่วมมือกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยล่าสุดได้รับเกียรติจากททท.สำนักงานนครนายก ในฐานะสถาบันการศึกษาเพียงแห่งเดียวที่ได้รับเชิญให้ร่วมทดสอบและให้คำแนะนำเส้นทางการท่องเที่ยว อีกทั้งยังร่วมมือกับ ททท. สำนักงานจันทบุรี ในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงชุมชนบางสระเก้า ผู้ผลิตเสื่อกกจันทบูร กับชุมชนหนองบัว หรือชุมชนขนมแปลก ผ่านการท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน
ในส่วนของหลักสูตรศิลปะการประกอบอาหารนั้น ปัจจุบันตลาดแรงงานมีความต้องการบุคลากรด้านการทำอาหารสูง ทางคณะฯจึงได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญและเชฟมืออาชีพมาถ่ายทอดความรู้ พร้อมผนวกแนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มและการบริการที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทในทุกสายอาชีพ แต่งานด้านการบริการยังคงต้องอาศัยทักษะความเข้าใจมนุษย์เป็นสำคัญ สำหรับจุดเด่นของคณะฯ คือ การมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีชื่อเสียงระดับสากล เพื่อเพิ่มโอกาสในการฝึกงานและการประกอบอาชีพในอนาคต
นอกจากนี้ทางคณะฯ ยังได้รับการยอมรับจากภาคธุรกิจ หลังจากได้รับเชิญให้เป็นผู้ฝึกสอนมารยาทบนโต๊ะอาหาร (Table Manners) ให้แก่ทีมงานผู้ผลิตซีรีส์ "สืบสันดาน" ของ Netflix ส่งผลให้ได้รับความไว้วางใจในการบริการจัดเลี้ยง ลูกค้า VIP และผู้บริหารระดับสูง จากบริษัทต่างๆ อาทิ จูเลียส แบร์ ,สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น
“เรายังได้พัฒนาความร่วมมือกับโรงแรมระดับ 5 ดาว โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับโรงแรมแมริออท พร้อมส่งนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ Fast Track จำนวน 4 คน ซึ่งโครงการนี้ได้คัดเลือกนักศึกษาตามความสมัครใจและความพร้อม โดยนักศึกษาจะต้องเรียนภาคทฤษฎีอย่างเข้มข้น 3 ปี และปฏิบัติงานจริง 1 ปี และเป็นการฝึกงานแบบ CWIE (Cooperative and Work Integrated Education) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงานในทุกแผนก และยังมีความร่วมมือกับโรงแรมระดับ 5 ดาวอื่น ๆ อาทิ โรงแรมเซ็นทารา และโรงแรมบันยันทรี ซึ่งมีมาตรฐานการบริการระดับสากล เพื่อเพิ่มโอกาสการในการฝึกงานในโรงแรมระดับนานาชาติให้แก่นักศึกษาในอนาคต”ดร.ยุวรี กล่าวในตอนท้าย
สถาบันการบิน (DAA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พัฒนาหลักสูตรด้านการบิน ‘ภาษาอังกฤษ-พรีเมียม เซอร์วิส-Human Factor’ and CRM ยกระดับทักษะคนการบิน เจาะลึกวิธีมัดใจลูกค้ากลุ่ม VIP VVIP กำลังซื้อสูง นำร่องยกทีมผู้เชี่ยวชาญ รุกตลาดสายการบินต่างประเทศครั้งแรก LANEXANG AIRWAYS INTERNATIONAL สปป.ลาว เตรียมลุยต่ออุตสาหกรรมค้าปลีก
นางสาวสุนันทา พาสุนันท์ ผู้จัดการแผนกลยุทธ์และการตลาด สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU Aviation Academy : DAA) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการบินในไทย และภูมิภาคเอเชียขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น และการเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นช่วงตุลาคม 2566-มีนาคม 2567 มากเป็น 367,032 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 16.86% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 203,731 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 163,301 เที่ยวบิน ขณะที่จำนวนผู้โดยสารรวม 61.22 ล้านคน เพิ่มขึ้น 23.78% แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 36.82 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 24.40 ล้านคน (ข้อมูลจาก บมจ. ท่าอากาศยานไทย) ส่งผลให้แผนการพัฒนาบุคลากรของแต่ละสายการบินต่อจากนี้จะดำเนินไปอย่างเข้มข้นเพื่อรับมือกับธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
“ทางสถาบันฯ มองเห็นถึงโอกาสด้านการพัฒนาบุคลากรด้านงานบริการของอุตสาหกรรมการบิน จึงนำศักยภาพของทีมผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาหลักสูตรอบรม เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการยกระดับทักษะบุคลากรที่มีอยู่แล้ว และการคัดสรรบุคลากรใหม่ที่มีความสามารถไปร่วมงานได้อย่างตรงความต้องการมากที่สุด” นางสาวสุนันทา กล่าว
เปิดหลักสูตรเข้มข้น DAA
นางสาวสุนันทา กล่าวว่า การบริการที่ดีจำเป็นต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี ทาง DAA ได้พัฒนาหลักสูตร English for Aviation personnel โดย อาจารย์ศศิธร นวมมณีรัตน์ ประสบการณ์พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบินเอมิเรตส์ แอร์ไลน์ (Emirates airline) มากกว่า 7 ปี และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง หัวหน้าหลักสูตรธุรกิจการบิน วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CADT DPU) มีเป้าหมายของการอบรมเป็นการพัฒนาความสามารถทางภาษาอังกฤษในบริบทการบิน ศัพท์เฉพาะทางการบิน รวมถึงทักษะการสื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ความแม่นยำและชัดเจน โดยผู้ร่วมอบรมมาจากแต่ละส่วนงาน ได้แก่ นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน รวมไปถึง ฝ่ายประกันคุณภาพ(Quality Assurance), ฝ่ายการเงิน (Finance), ฝ่ายบุคคล (Human Resource) และ ฝ่ายการตลาด (Marketing)
อีกหลักสูตรก็คือ HUMAN FACTORS and Crew Resource Management (CRM) โดย นางสาวสุนันทา พาสุนันท์ ประสบการณ์พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ (Japan Airlines) และสายการบิน ไทยไลอ้อนแอร์ (Thai Lion air) มากกว่า 14 ปี โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการ DAA โดยหลักสูตรนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดจากกรมการบินพลเรือนสากล ( International Civil Aviation Organization : ICAO) ที่เน้นการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเรียนรู้จะมุ่งเน้นการเข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่น เรียนรู้การทำงานเป็นทีม และคำนึงถึงความปลอดภัยต้องมาก่อน รวมถึงทักษะในการประเมินสถานการณ์ และลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจากมนุษย์ ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการให้บริการ ตัวอย่างเช่น ผู้โดยสารกอดอก อาจสื่อได้หลายแนวทาง ทั้งเบื่อ หนาว หรือ กำลังโกรธ ดังนั้นผู้ให้บริการควรหมั่นสังเกต และเรียนรู้วิธีการรับมืออย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความประทับใจในการให้บริการ
บริการขั้นกว่า มัดใจ VIP
หลักสูตร Premium Inflight Service โดย ดร.วิลาศ ดวงกำเนิด อดีตผู้จัดการกองฝึกอบรมระดับพื้นฐานฝ่าย ฝึกอบรมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัทการบินไทยจากัด(มหาชน) ประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบินมากกว่า 35 ปี โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อาจารย์ประจำหลักสูตรธุรกิจการบิน วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CADT DPU) หลักสูตรนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มมาตรฐานการให้บริการบนเครื่องบินให้กับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความเชี่ยวชาญในด้านการบริการระดับพรีเมียม เพื่อมอบประสบการณ์ที่เหนือระดับให้แก่ผู้โดยสาร นอกจากนี้ หลักสูตรยังเน้นการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม การบริหารจัดการสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน และการบริการที่เน้นความประทับใจและความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า
การฝึกอบรมนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานสากลและยกระดับคุณภาพการบริการบนเครื่องบิน เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสายการบินให้เป็นที่จดจำในระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยหลักสูตรนี้ เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่ DAA พร้อมให้บริการอบรมกับธุรกิจการบิน และต่อยอดถึงธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับงานบริการในปี 2568 เช่น ธุรกิจค้าปลีก
ทั้งสามหลักสูตรนี้ DAA ได้ให้บริการอบรมกับทาง LANEXANG AIRWAYS INTERNATIONAL สปป.ลาว อย่างต่อเนื่องระหว่างเดือน สิงหาคม - ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา และนอกเหนือจากนั้น DAA DPU ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากกรมการบินพลเรือนของ สปป.ลาว (Department of Civil Aviation of LAO P.D.R) ในการจัดอบรมให้กับสายการบิน LANEXANG AIRWAYS INTERNATIONAL การได้รับโอกาสไปร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การทำงานในครั้งนี้ได้สร้างผลตอบรับที่น่าประทับใจกับทั้งสองหน่วยงาน คาดว่าจะมีความร่วมมือครั้งใหม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรการบินในภูมิภาคต่อไป
“ลูกค้าจะมีความคาดหวังถึงการบริการที่ดี โดยเฉพาะลูกค้าระดับ VIP ด้วยแล้วก็จะยิ่งความคาดหวังสูงขึ้นไปอีก ดังนั้นการเรียนรู้ในหลักสูตรนี้จะว่าด้วยเรื่องของการประเมินสถานการณ์ การรับมือปัญหา การแก้ไขสถานการณ์ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการรับมือเมื่อต้องอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ตัวอย่างเช่น การปฏิเสธและขอโทษ แบบไหนที่ผู้ฟังสามารถเข้าใจและยอมรับได้ แต่หากมีการสื่อสารที่ผิดพลาดออกไป อาจเป็นการขยายความไม่พอใจให้มากกว่าเดิม รวมไปถึงการเจรจาในภาวะไม่ปกติ เช่น ผู้โดยสารมีอาการมึนเมา เป็นต้น” นางสาวสุนันทา กล่าวในตอนท้าย
วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) คว้าโอกาสอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกเติบโตดีต่อเนื่อง เร่งติวเข้มเซอร์วิสระดับลักซ์ชัวรีผ่านหลักสูตรและโครงการจัดอบรม เพิ่มศักยภาพบุคลากรรุ่นใหม่ด้วยเสน่ห์จากบริการที่เหนือชั้น พร้อมเติมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม วางเป้าดึงดูดคนรุ่นใหม่เดินเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินมากขึ้นในอนาคต
อาจารย์ปวรรัตน์ สุภิมารส รักษาการคณบดี วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชีย และทั่วโลกฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัยสนับสนุน ทั้งตัวเลขผลประกอบการของธุรกิจสายการบินที่เติบโตเป็นบวก การเปิดเส้นทางบินใหม่ พร้อมกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในจุดท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่น ไต้หวันและฮ่องกง ไปจนถึงการเปิดรับบุคลากรเข้าทำงานในหลายตำแหน่งงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ ส่งผลให้ในภาพรวมทุกอย่างเริ่มกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยสอดรับกับรายงานการวิจัยตลาดของ Data Bridge Market Research ที่คาดการณ์อุตสาหกรรมการบินในเอเชียแปซิฟิก (APAC) ว่าเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดจากจำนวนผู้โดยสารทางอากาศเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มขนาดฝูงบินของสายการบินต่าง ๆ โดยคาดว่าการเติบโตขึ้นนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องถึงปี 2028
ติดปีก ‘ลักซ์ชัวรี เซอร์วิส’ คนธุรกิจการบิน
อาจารย์ปวรรัตน์ กล่าวว่า นอกจากการแข่งขันกันเปิดเส้นทางบิน และเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้นของธุรกิจสายการบินแล้ว อีกหนึ่งแนวโน้มที่เกิดขึ้นเป็นการแข่งขันกันนำเสนอบริการที่แตกต่างและเป็นพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งทาง CADT DPU มองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นนี้พร้อมทั้งได้ยกระดับการเรียนการสอนไปในแนวทางที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการบิน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการให้บริการในระดับลักซ์ชัวรีให้กับนักศึกษาและบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน
โดยวิทยาลัยฯ และ DAA สถาบันฝึกอบรมด้านการบินที่ได้รับรองให้เป็น Authorized Training Center (ATC) ของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เตรียมนำเสนอความเป็น “ลักซ์ชัวรี เซอร์วิส” เข้าไปในการเรียนการสอน และจัดอบรม เพื่อยกระดับงานบริการที่มีความเป็นพิเศษและแตกต่างในทุกมิติ ตั้งแต่ท่าทาง การแต่งกาย บุคลิก การสื่อสาร และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรม และนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรปริญญาตรีทั้ง 2 สาขา ได้แก่ สาขาธุรกิจการบิน และสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีและการอำนวยการบิน
“การให้บริการเป็นจุดเด่นคนไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากชาวต่างชาติอยู่แล้ว เมื่อเพิ่มการอบรมและพัฒนา พร้อมสร้างทัศนคติที่ดีด้านบริการเข้าไปจะยิ่งทำให้เป็นข้อได้เปรียบ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน และนักศึกษา ได้มีทักษะที่โดดเด่น และเป็นที่ต้องการของตลาดงานทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต อีกทั้งยังเป็นทักษะที่เอไอ หรือ Artificial Intelligence ไม่สามารถสัมผัสความรู้สึกระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ได้ดีเท่ากับการบริการโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเพิ่มมุมมองด้านลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษาตามแนวทางของอุตสาหกรรมการบินที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี ค.ศ.2050” อาจารย์ปวรรัตน์ กล่าว
ชูจุดแข็ง-ผนึกพันธมิตร ปูทางความสำเร็จสายอาชีพ
นอกจากการเพิ่มทักษะด้านบริการที่เหนือชั้นแล้ว CADT DPU ได้ให้ความสำคัญการสร้างอุปกรณ์การเรียน และสิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) เช่น อุปกรณ์ฝึกการอพยพจากเครื่องบินกรณีฉุกเฉิน (Slide Drill), ห้องฝึกปฏิบัติการบนเครื่องบิน (Airbus300-600) และ เครื่องช่วยฝึกบินจำลอง Flight Simulator (Cessna 172 และ Boeing 737-800NG) เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในอุตสาหกรรมการบินที่มากขึ้น
ในขณะเดียวกันได้พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับการเรียนการสอน และเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาไปฝึกงานในสถานที่ปฏิบัติงานจริง โดยล่าสุดมีการลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพกับบริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต็อค จำกัด (เวียตเจ็ทไทยแลนด์) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงานปฏิบัติงานจริงในตำแหน่งต่าง ๆ ของทางสายการบินเวียตเจ็ทไทยแลนด์
ทั้งนี้ CADT DPU ได้วางเป้าหมายการเติบโตไปพร้อมอุตสาหกรรมบินของไทยและทั่วโลก ด้วยการผลิตบุคลากรที่มีทักษะสูง และมีความพร้อมสำหรับการทำงานในสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดงาน เช่น กราวด์ เซอร์วิส และ นักบิน เป็นต้น รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://cadt.dpu.ac.th/ และ https://www.daatraining.com/