ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการวิทยาเขตปัตตานี รับมอบเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 6,199 บาท จากการเปิดประมูลภาพวาด ผลงาน อิ่ม – สุข ด้วยเทคนิคสีอะคริลิค โดย ด.ช.รัฏฐ์ชยากร เทพสุวรรณ (น้องปัณณ์) นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ฝ่ายประถมศึกษา) จากแนวความคิด บ้าน คือ ศูนย์กลางของความสุข เป็นพลังแห่งชีวิตที่เชื่อมต่อทุกคนในสังคมให้เกิดความรัก ความเข้าใจ การให้อภัย และเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งเข้ากับสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ ที่เจ้าของผลงานปรารถนาจะส่งพลังใจจากเด็กตัวเล็ก ๆ ที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ ผลงานชิ้นนี้ได้รับการประมูล โดย ผศ.ดร.ศมลพรรณ ธนะสุข สาขาวิชานวัตกรรมการออกแบบ คณะวิทยาการสื่อสาร โดยเงินรายได้ทั้งหมด นำมาสมทบร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
.
ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือสังคมไม่ได้จำกัดเพียงการบริจาคเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงการใช้ความสามารถและทักษะที่มี ทั้งนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร นำความสามารถความแตกต่างของแต่ละคนมาเติมเต็มเพื่อช่วยสังคม อย่างเช่นภารกิจวันนี้ที่เห็นได้ชัดเจนจาก การเปิดประมูลผลงานศิลปะ จากนักเรียนของโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และการบริจาคเงินสนับสนุนผ่านผลงานภาพสีน้ำ โดยอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขอส่งมอบกำลังใจให้กับทุกท่าน ให้รอดพ้นฝ่าฟันวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไปด้วยกัน และขอแสดงความขอบคุณต่อผู้มีจิตศรัทธาและจิตอาสาที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นการทำเพื่อสังคมด้วยพลังน้ำใจ นำเอาความรู้ความสามารถและทักษะช่วยกันสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ทั้งหมดนี้สะท้อนถึง “พระราชปณิธานของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”
ด.ช.รัฏฐ์ชยากร เทพสุวรรณ หรือ “น้องปัณณ์” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ฝ่ายประถมศึกษา) เปิดเผยว่า ตนเองมีความรักในงานศิลปะและสร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเคยส่งภาพวาดเข้าประกวดในระดับโรงเรียนและระดับประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วมในจังหวัดปัตตานี ต้องการมีส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัย แม้จะมีข้อจำกัดในฐานะเด็กที่ไม่สามารถลงพื้นที่ช่วยงานได้โดยตรง จึงเลือกนำความสามารถด้านศิลปะมาประมูลภาพวาด เพื่อระดมทุนช่วยเหลือพี่น้องผู้เดือดร้อน โดยมีแรงบันดาลใจว่า "ผมอยากทำสิ่งที่ช่วยสังคมได้ และเหตุผลเดียวที่ทำคือ ทำแล้วมีความสุข"
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเชิญชวนร่วมบริจาคเงินสนับสนุนผ่านผลงานภาพสีน้ำ โดย รศ.ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ภาพวาดสีน้ำเกี่ยวกับวิธีชีวิต สถานที่สวยงามในปัตตานี ขนาด 27 X 38 เซนติเมตร ไม่มีกรอบ จำนวน 29 ภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพิ่มเติม กิจกรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังของศิลปะที่สามารถสร้างสรรค์ความสุขและความช่วยเหลือให้แก่สังคมได้อย่างแท้จริง ทั้งจากความตั้งใจของเยาวชนและความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในสังคม
รศ.ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ตนมีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม ด้วยการนำทักษะด้านศิลปะที่ถนัดมาใช้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยผลงานศิลปะภาพวาดสีน้ำที่สร้างขึ้นนั้นมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของจังหวัดปัตตานี ผ่านกระบวนการ Storytelling และการสื่อสารในรูปแบบ Soft Power
"ผมหวังให้ทุกคนได้สัมผัสถึงคุณค่าและความสุนทรีย์ของงานศิลปะ พร้อมทั้งเห็นศักยภาพของศิลปะที่สามารถนำมาใช้ตอบแทนและช่วยเหลือสังคมได้ โดยขณะนี้มีผู้สนใจร่วมรับภาพและบริจาคเงินมาจากหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดปัตตานี จังหวัดสงขลา จังหวัดมหาสารคราม และจังหวัดขอนแก่น"
รศ.ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้ การสร้างผลงานดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ที่สนใจในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดปัตตานี จังหวัดสงขลา จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีผู้ร่วมสนับสนุนผ่านการรับผลงานศิลปะพร้อมทั้งบริจาคเงินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไป
สำหรับผู้มีจิตช่วยเหลือ สามารถร่วมสมทบเงิน โดยการแสดงความคิดเห็นใต้ภาพที่ต้องการรับ พร้อมแนบสลิปการโอนเงิน และแจ้งที่อยู่ในการจัดส่ง ระหว่างวันที่ 2-10 ธันวาคม 2567 ผ่านช่องทาง FB : ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ รายได้ทั้งหมดร่วมสมทบทุนช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผ่านศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำนวัตกรรมเครื่องกรองน้ำเคลื่อนที่พลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในการกรองน้ำดื่มเพื่อปรุงอาหารในครัวเฉพาะกิจ และบรรจุน้ำดื่มเพื่อใช้ในสถานการณ์น้ำท่วม
เครื่องกรองน้ำเคลื่อนที่ฯ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า สามารถใช้ระบบระบบโซล่าเซลล์ ซึ่งเหมาะสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินน้ำท่วมไฟฟ้าดับในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง สามารถผลิตน้ำดื่มที่สะอาดจจากน้ำประปาได้โดยตรง หรือหากไม่มีน้ำประปาจะใช้ระบบปั้มดูดน้ำคลองหรือน้ำท่วมเพื่อเป็นน้ำดิบผลิตน้ำดื่มได้
โดยเครื่องกรองน้ำเคลื่อนพลังงานแสงอาทิตย์ที่นี้ เป็นนวัตกรรมของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พัฒนาโดยนายพิสิฐ์พงษ์ หมื่นประเสริฐดี นายสมบัติ นพจนสุภาพ นางสาวปภัชญา กรธัชฐลิ้ม และนางฟารีดะห์ เจะอาลี ร่วมกันสร้างและพัฒนามาตั้งแต่ 2565 การันตีด้วย รางวัลชนะเลิศในงานมหกรรมการแสดงผลงานระดับชาติ ของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ที่จัด ณ จังหวัดภูเก็ตในปี 2565 และ รางวัลชนะเลิศ จากโครงการพัฒนาบุคลากรผ่านนวัตกรรม PSU Innovation Challenge 2023 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำเครื่องกรองน้ำนี้ มาใช้กรองน้ำช่วยเหลือชุมชนที่ขาดแคลนน้ำดื่มในปีที่แล้ว และบริการชุมชนในสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ซึ่งน้ำกรองผ่านระบบ RO และฆ่าเชื้อด้วยระบบ UV ทำให้ผ่านมาตรฐานการวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่ม โดยสามารถกรองน้ำได้ 120 ลิตร/ต่อชั่วโมง สามารถให้บริการน้ำดื่มสะอาดได้ได้มากถึง 60 ครัวเรือนต่อวัน
ทั้งนี้ หากชุมชน หรือหน่วยงานใด ต้องการใช้บริการเพื่อนำไปกรองน้ำดื่มสะอาดให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม สามารถติดต่อรับความช่วยเหลือได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 073-331303
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดโครงการประกวดออกแบบนวัตกรรม แก้ปัญหาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง The 8th Youth Innovation Competition on Lancang-Mekong Region’s Governance and Development (YICMG 2024) เวทีนานาชาติเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขงร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ Fudan University สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดโครงการประกวดนวัตกรรมเยาวชนด้านธรรมาภิบาลและการพัฒนาในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง ครั้งที่ 8 The 8th Youth Innovation Competition on Lancang-Mekong Region’s Governance and Development (YICMG 2024) โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Prof. Dr. Zhou Lei, Vice President, Fudan University กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย แขกผู้มีเกียรติ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกว่า 200 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเจ้าฟ้า สำนักงานวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567
การประกวดนวัตกรรมเยาวชนด้านธรรมาภิบาลและการพัฒนาในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง The Youth Innovation Competition on Lansang – Mekong Region’s Governance and Development (YICMG) เป็นการประกวดออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในมิติต่าง ๆ บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษา ไม่จำกัดคณะ ชั้นปี ของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงรวม 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรไทย และราชอาณาจักรกัมพูชา ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงานของจีน โดยมี Fudan University สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้ดำเนินการหลัก พร้อมกับมหาวิทยาลัย อีก 2 แห่งในจีน คือ Qinghai University และ Guangxi University of Finance and Economics ร่วมดำเนินโครงการ โดยได้จัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 2559 ณ เขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตอวี้ซู่ (Yushu Tibetan Autonomous Prefecture) มณฑลชิงไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับการประกวดนวัตกรรมเยาวชนด้านธรรมาภิบาลและการพัฒนาในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง ในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเกียรติร่วมเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เพื่อเป็นเวทีนานาชาติในการแลกเปลี่ยนความรู้ของนักศึกษาประเทศต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในลุ่มแม่น้ำโขง อันนำไปสู่การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีส่วนร่วมในการแข่งขันโครงการ YICMG ตั้งแต่การจัดการแข่งขันในครั้งที่ 1 โดยนักศึกษาให้ความสนใจและสมัครเข้าส่งผลงานในทุกปี และได้รับรางวัลต่าง ๆ อาทิ รางวัลชนะเลิศประเภท The Best Multi-national Team ในปี 2559 รางวัล The Best Incubation ในปี 2561 รางวัล The Best Creative Award ในปี 2564 และล่าสุดได้รับรางวัล The Most Valuable Question และ รางวัล The Most Creative Team จากการแข่งขันครั้งที่ 7 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
นอกจากการส่งนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันในทุก ๆ ปีแล้ว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังส่งอาจารย์เข้าร่วมโครงการ YICMG ในฐานะ Expert อีกด้วย โดยมีหน้าที่หลักในการให้ความรู้ คำแนะนำ ข้อคิดเห็นต่อผลงานของนักศึกษาจากทุกทีมและทุกประเภทที่เข้าร่วมการแข่งขัน อีกทั้งยังร่วมกับ Expert จากประเทศอื่น ๆ ในการลงคะแนนตัดสินผลงานของผู้เข้าประกวด
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังได้ร่วมลงนามใน MoU กับ Fudan University และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้ง 6 ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ณ Fudan University เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ YICMG โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการพิจารณาให้จัดตั้งศูนย์ YICMG ซึ่งจะเป็นศูนย์บริการในการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงของประเทศไทย โดยจัดตั้ง ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง อีกด้วย