December 22, 2024

ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการวิทยาเขตปัตตานี  รับมอบเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 6,199 บาท จากการเปิดประมูลภาพวาด ผลงาน อิ่ม – สุข ด้วยเทคนิคสีอะคริลิค โดย ด.ช.รัฏฐ์ชยากร เทพสุวรรณ (น้องปัณณ์) นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  (ฝ่ายประถมศึกษา) จากแนวความคิด บ้าน คือ ศูนย์กลางของความสุข เป็นพลังแห่งชีวิตที่เชื่อมต่อทุกคนในสังคมให้เกิดความรัก ความเข้าใจ การให้อภัย และเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งเข้ากับสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ ที่เจ้าของผลงานปรารถนาจะส่งพลังใจจากเด็กตัวเล็ก ๆ ที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ ผลงานชิ้นนี้ได้รับการประมูล โดย ผศ.ดร.ศมลพรรณ ธนะสุข สาขาวิชานวัตกรรมการออกแบบ คณะวิทยาการสื่อสาร โดยเงินรายได้ทั้งหมด นำมาสมทบร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี

 .

ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือสังคมไม่ได้จำกัดเพียงการบริจาคเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงการใช้ความสามารถและทักษะที่มี ทั้งนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร นำความสามารถความแตกต่างของแต่ละคนมาเติมเต็มเพื่อช่วยสังคม อย่างเช่นภารกิจวันนี้ที่เห็นได้ชัดเจนจาก การเปิดประมูลผลงานศิลปะ จากนักเรียนของโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และการบริจาคเงินสนับสนุนผ่านผลงานภาพสีน้ำ  โดยอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขอส่งมอบกำลังใจให้กับทุกท่าน ให้รอดพ้นฝ่าฟันวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไปด้วยกัน และขอแสดงความขอบคุณต่อผู้มีจิตศรัทธาและจิตอาสาที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นการทำเพื่อสังคมด้วยพลังน้ำใจ นำเอาความรู้ความสามารถและทักษะช่วยกันสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ทั้งหมดนี้สะท้อนถึง “พระราชปณิธานของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”

 

ด.ช.รัฏฐ์ชยากร เทพสุวรรณ หรือ “น้องปัณณ์” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ฝ่ายประถมศึกษา) เปิดเผยว่า ตนเองมีความรักในงานศิลปะและสร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเคยส่งภาพวาดเข้าประกวดในระดับโรงเรียนและระดับประเทศ  เมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วมในจังหวัดปัตตานี   ต้องการมีส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัย แม้จะมีข้อจำกัดในฐานะเด็กที่ไม่สามารถลงพื้นที่ช่วยงานได้โดยตรง จึงเลือกนำความสามารถด้านศิลปะมาประมูลภาพวาด เพื่อระดมทุนช่วยเหลือพี่น้องผู้เดือดร้อน โดยมีแรงบันดาลใจว่า "ผมอยากทำสิ่งที่ช่วยสังคมได้ และเหตุผลเดียวที่ทำคือ ทำแล้วมีความสุข"

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเชิญชวนร่วมบริจาคเงินสนับสนุนผ่านผลงานภาพสีน้ำ โดย รศ.ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ภาพวาดสีน้ำเกี่ยวกับวิธีชีวิต สถานที่สวยงามในปัตตานี ขนาด 27 X 38 เซนติเมตร ไม่มีกรอบ จำนวน 29 ภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม   เพิ่มเติม   กิจกรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังของศิลปะที่สามารถสร้างสรรค์ความสุขและความช่วยเหลือให้แก่สังคมได้อย่างแท้จริง ทั้งจากความตั้งใจของเยาวชนและความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในสังคม

 

รศ.ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ตนมีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม ด้วยการนำทักษะด้านศิลปะที่ถนัดมาใช้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยผลงานศิลปะภาพวาดสีน้ำที่สร้างขึ้นนั้นมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของจังหวัดปัตตานี ผ่านกระบวนการ Storytelling และการสื่อสารในรูปแบบ Soft Power

"ผมหวังให้ทุกคนได้สัมผัสถึงคุณค่าและความสุนทรีย์ของงานศิลปะ พร้อมทั้งเห็นศักยภาพของศิลปะที่สามารถนำมาใช้ตอบแทนและช่วยเหลือสังคมได้ โดยขณะนี้มีผู้สนใจร่วมรับภาพและบริจาคเงินมาจากหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดปัตตานี จังหวัดสงขลา จังหวัดมหาสารคราม และจังหวัดขอนแก่น"

รศ.ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้ การสร้างผลงานดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ที่สนใจในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดปัตตานี จังหวัดสงขลา จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีผู้ร่วมสนับสนุนผ่านการรับผลงานศิลปะพร้อมทั้งบริจาคเงินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไป

สำหรับผู้มีจิตช่วยเหลือ สามารถร่วมสมทบเงิน โดยการแสดงความคิดเห็นใต้ภาพที่ต้องการรับ พร้อมแนบสลิปการโอนเงิน และแจ้งที่อยู่ในการจัดส่ง ระหว่างวันที่ 2-10 ธันวาคม 2567 ผ่านช่องทาง FB : ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์ รายได้ทั้งหมดร่วมสมทบทุนช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผ่านศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำนวัตกรรมเครื่องกรองน้ำเคลื่อนที่พลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในการกรองน้ำดื่มเพื่อปรุงอาหารในครัวเฉพาะกิจ และบรรจุน้ำดื่มเพื่อใช้ในสถานการณ์น้ำท่วม

เครื่องกรองน้ำเคลื่อนที่ฯ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า สามารถใช้ระบบระบบโซล่าเซลล์ ซึ่งเหมาะสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินน้ำท่วมไฟฟ้าดับในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง สามารถผลิตน้ำดื่มที่สะอาดจจากน้ำประปาได้โดยตรง หรือหากไม่มีน้ำประปาจะใช้ระบบปั้มดูดน้ำคลองหรือน้ำท่วมเพื่อเป็นน้ำดิบผลิตน้ำดื่มได้

โดยเครื่องกรองน้ำเคลื่อนพลังงานแสงอาทิตย์ที่นี้ เป็นนวัตกรรมของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พัฒนาโดยนายพิสิฐ์พงษ์ หมื่นประเสริฐดี นายสมบัติ นพจนสุภาพ นางสาวปภัชญา กรธัชฐลิ้ม และนางฟารีดะห์ เจะอาลี ร่วมกันสร้างและพัฒนามาตั้งแต่ 2565  การันตีด้วย รางวัลชนะเลิศในงานมหกรรมการแสดงผลงานระดับชาติ ของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ที่จัด ณ จังหวัดภูเก็ตในปี 2565 และ รางวัลชนะเลิศ จากโครงการพัฒนาบุคลากรผ่านนวัตกรรม PSU Innovation Challenge 2023 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำเครื่องกรองน้ำนี้ มาใช้กรองน้ำช่วยเหลือชุมชนที่ขาดแคลนน้ำดื่มในปีที่แล้ว และบริการชุมชนในสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ซึ่งน้ำกรองผ่านระบบ RO และฆ่าเชื้อด้วยระบบ UV ทำให้ผ่านมาตรฐานการวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่ม โดยสามารถกรองน้ำได้ 120 ลิตร/ต่อชั่วโมง สามารถให้บริการน้ำดื่มสะอาดได้ได้มากถึง 60 ครัวเรือนต่อวัน

ทั้งนี้ หากชุมชน หรือหน่วยงานใด ต้องการใช้บริการเพื่อนำไปกรองน้ำดื่มสะอาดให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม สามารถติดต่อรับความช่วยเหลือได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 073-331303

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี และศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) และจังหวัดพัทลุง เปิดเทศกาลซากดึกดำบรรพ์พัทลุง ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2567 ณ อาคารซากดึกดำบรรพ์ 500 ล้านปี เทศบาลตำบลมะกอกเหนือ จังหวัดพัทลุง

นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณีให้ความสำคัญกับนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในเรื่องการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลการดำเนินงานและการศึกษาวิจัยในพื้นที่จังหวัดพัทลุงของกรมทรัพยากรธรณีมาต่อยอด ถ่ายทอด และทดลองใช้ประโยชน์ให้กับชุมชน หน่วยงานราชการ ท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน และประชาชน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวแบบบูรณาการที่เชื่อมโยงแหล่งมรดกธรณี กับแหล่งท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ ทั้งมิติด้านนิเวศวิทยา วิถีชีวิต วัฒนธรรมในพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาที่เชื่อมโยงกับวิถีชุมชนได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของแหล่งมรดกธรณี โดยเฉพาะทะเลน้อย ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่อยู่ตอนบนของทะเลสาบสงขลาที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และมีความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นของเขาลูกโดด ยุคไทรแอสซิก อายุราว 250 – 200 ล้านปี มีรายงานการค้นพบ ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลื้อยคลานในทะเลโบราณ จำพวกอิกธิโอซอรัส ชนิด Thaisaurus chonglakmanii (ไทยซอรัส จงลักษมณีอิ) พบบริเวณหลังวัดภูเขาทอง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลื้อยคลานที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และยังพบซากดึกดำบรรพ์กลุ่มแอมโมนอยด์ และโคโนดอนต์ เป็นจำนวนมาก มีการรายงานพบซากดึกดำบรรพ์ยุคไทรแอสซิกมากกว่า 174 ชนิด ในจำนวนนี้มี 3 สกุลใหม่ของโลก และ 10 ชนิดใหม่ของโลก” นายพิชิตกล่าว

ด้าน รศ. ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการเงิน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณีเรื่องการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง การจัดเทศกาลซากดึกดำบรรพ์พัทลุงในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยจะได้เผยแพร่ผลงานวิจัยให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การประชุมเสวนา เผยแพร่แนวทางการเชื่อมโยงแหล่งมรดกธรณีกับการบูรณาการการท่องเที่ยว งานแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมการเรียนรู้ด้านซากดึกดำบรรพ์พัทลุง และสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน และกิจกรรมทัศนศึกษา “ท่องเลน้อยสู่เลโบราณ” ศึกษาระบบนิเวศทะเลน้อย เยี่ยมชมแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญ รวมถึงสินค้าจากผลิตภัณฑ์ชุมชน

การจัดงานครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เทศบาลตำบลมะกอกเหนือ เทศบาลตำบลทะเลน้อย เทศบาลตำบลพนางตุง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช วิสาหกิจชุมชน และแกนนำชุมชนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยคาดว่ากิจกรรมนี้จะทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชน มีความรู้ ความเข้าใจ และการตระหนักรู้ถึงความสำคัญเกี่ยวกับทรัพยากรธรณีและซากดึกดำบรรพ์ในจังหวัดพัทลุง ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน มีความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากร และบริหารจัดการแหล่งมรดกธรณีและทรัพยากรด้วยองค์ความรู้อย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนากิจกรรมของเมืองพัทลุงอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย คณะวิทยาศาสตร์ เตรียมเปิดบ้านจัดกิจกรรม “สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2567” จัดเต็มกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ การแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ และนิทรรศการให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานภายนอกมาร่วมจัดแสดงกว่า 10 หน่วยงาน รวมถึงกิจกรรมการเรียนรู้ร่างกายมนุษย์ผ่านร่างอาจารย์ใหญ่ และกิจกรรมการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ โดยในปีจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2567 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ผศ. ดร.กิติพล นวลทอง รองคณบดีฝ่ายพันธกิจเพื่อสังคมและกิจการพิเศษ ประธานการจัดกิจกรรม กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ได้จัดกิจกรรมเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เรียน-เล่น-งาน-อาชีพ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย รัชกาลที่ 4 และร่วมเฉลิมฉลองวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ อีกทั้งเป็นการสร้างความตระหนักและสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่สังคมไทย

นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาของการจัดกิจกรรมดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยยังมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ งานนิทรรศการตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา และงานเกษตรภาคใต้ ซึ่งนักเรียน คณะครู และผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้หลากหลาย

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://sciweek.sci.psu.ac.th/ และติดตามข่าวสารหรือรายละเอียด “กิจกรรมเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2567” ได้ที่ Facebook : คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. หาดใหญ่

พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย นำโดย นายธงชัย ศิริธร (ที่ 5 จากซ้าย) กรรมการ นายนันทิวัต ธรรมหทัย (ที่ 2 จากซ้าย) กรรมการและเลขานุการ นายสยาม สุวรรณรัตน์ (ที่ 6 จากซ้าย) คณะทำงาน และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นำโดย อ.ดร.พนม วิญญายอง (ที่ 3 จากซ้าย) รองอธิการบดี ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ (ที่ 7 จากซ้าย) หัวหน้ากลุ่มวิจัยศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ พร้อมด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย ผศ.ดร. วศิน สุวรรณรัตน์ (ที่ 4 จากซ้าย) รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ และ ผศ.ดร. ชนิษฎา ชูสุข (ซ้ายสุด) อาจารย์ประจำคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม

กรุงเทพฯ – 12 ตุลาคม 2565 – มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย องค์กรด้านสาธารณกุศลและความยั่งยืนที่ก่อตั้งโดย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อจัดทำ โครงการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลบนพื้นที่เกาะอย่างยั่งยืนในระยะที่สอง ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้แผนงาน “เก็บ” ไทยให้สวยงาม (Keep Thailand Beautiful) ของทางมูลนิธิฯ โดยในระยะที่หนึ่ง (สิงหาคม 2564 - กรกฎาคม 2565) ที่ผ่านมานั้น เป็นการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และครอบคลุมพื้นที่เฉพาะเกาะสีชัง เกาะช้าง และเกาะหมากในภาคตะวันออก ส่วนในระยะที่สอง (สิงหาคม 2565 - กรกฎาคม 2566) นอกจากจะมีการเพิ่ม

พื้นที่เกาะล้าน เกาะเสม็ด และเกาะกูด ในภาคตะวันออกแล้ว ยังจะมีการขยายความรวมมือไปยังเกาะลิบง และเกาะหลีเป๊ะ ในภาคใต้ โดยการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกด้วย

ภายใต้ความร่วมมือนี้ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทยได้สนับสนุนเงินทุนในการศึกษาแนวทางการจัดการขยะบนพื้นที่เกาะซึ่งมีความท้าทายจากสภาพภูมิศาสตร์ ทำให้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการด้านการคัดแยกและขนส่งที่แตกต่างจากพื้นที่บนฝั่งทั่วไป โดยเฉพาะมาตรการจูงใจให้เกิดการคัดแยกและนำวัสดุรีไซเคิลกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลบนแผ่นดินใหญ่ หากบริหารจัดการได้ไม่ดีพอ อาจเกิดเหตุปัญหาขยะตกค้างบนเกาะ อันจะเป็นการสูญเสียทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ตลอดจนเป็นการทำลายทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิโคคา-โคลาประเทศไทย จึงได้ริเริ่มทำงานร่วมกับทางศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (CEWT) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดำเนินโครงการนำร่องบนเกาะสีชัง เกาะหมาก และ เกาะช้าง ระหว่างเดือนสิงหาคม 2564 ถึง เดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยเน้นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบจัดเก็บ รวบรวมและขนส่งวัสดุ รีไซเคิลบนเกาะดังกล่าว พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน

ในโครงการระยะที่หนึ่ง คณะผู้วิจัยพบว่าค่าใช้จ่ายในการขนส่งวัสดุรีไซเคิลออกจากเกาะเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการส่งเสริมการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลบนเกาะ เนื่องจาก หากค่าขนส่งอยู่ในระดับที่สูง จะทำให้ผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิลต้องรับซื้อในราคาที่ต่ำเพื่อให้คุ้มต่อค่าขนส่ง และเมื่อราคารับซื้อต่ำจนเกินไป ก็จะทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการจัดเก็บและคัดแยกวัสดุเหล่านี้มากพอ โดยเฉพาะวัสดุที่มีราคาต่ำแต่มีน้ำหนักมาก เช่น เศษแก้ว อันส่งผลให้วัสดุเหล่านี้ตกค้างเป็นขยะอยู่บนเกาะ แทนที่จะถูกนำกลับเข้ามารีไซเคิลบนฝั่ง ฉะนั้น โครงการจึงศึกษาและทดลองให้เงินสนับสนุนค่าเรือขนส่งให้กับร้านรับซื้อของเก่าบนเกาะ เพื่อจูงใจให้มีการเก็บรวบรวมและขนส่งวัสดุรีไซเคิลออกจากเกาะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้จัดฝึกอบรมการแยกขยะให้กับผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวบนเกาะ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และรถรับจ้าง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและสื่อสารให้นักท่องเที่ยวช่วยกันรักษาความสะอาด ลดและคัดแยกขยะ ความสำเร็จของการดำเนินโครงการในระยะที่หนึ่ง ทำให้เกิดการต่อยอดไปยังพื้นที่เกาะท่องเที่ยวอื่น ๆ ในภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาไปสู่โมเดลการแก้ปัญหาขยะติดเกาะอย่างยั่งยืนต่อไป

นายนันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย กล่าวว่า “มูลนิธิ โคคา-โคลา ประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย อันเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และแหล่งรายได้ที่สำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เราจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ความสวยงามเหล่านี้ไว้ ผ่านการดำเนินการตามแผนงาน “เก็บ” ไทยให้สวยงาม (Keep Thailand Beautiful) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 จากการได้เข้ามาดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้ ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการกับปัญหาขยะติดเกาะ และเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความกรุณาและความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการดำเนินการโครงการฯนี้ ในระยะที่สองร่วมกัน เราหวังว่า โครงการฯ

นี้จะเป็นการจุดประกายให้มีการศึกษา พัฒนา และความร่วมมือในด้านนี้ต่อไปในวงกว้าง เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเก็บความสวยงามของประเทศไทยให้เป็นความภูมิใจของคนไทยและมรดกทางธรรมชาติที่ประเมินค่ามิได้ให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคต”

ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัย CEWT และหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เราพบปัญหาของระบบการรีไซเคิลในพื้นที่ห่างไกล เช่น เกาะต่าง ๆ ว่าการจะนำวัสดุรีไซเคิลเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลทำได้ยากเนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องค่าขนส่งที่ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาที่จำหน่ายได้ แต่ด้วยความร่วมมือจากมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย รวมทั้งความร่วมมือจากชุมชน หน่วยงาน และผู้ประกอบการในพื้นที่ ทำให้โครงการการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลบนพื้นที่เกาะอย่างยั่งยืน ในระยะที่หนึ่งบนเกาะนำร่องทั้ง 3 แห่งประสบความสำเร็จ โดยมีร้านรับซื้อวัสดุรีไซเคิลเข้าร่วมทั้งหมด 13 ราย สามารถขนส่งวัสดุรีไซเคิลในช่วงระยะเวลา 7 เดือนแรกของปี 2565 ออกจากเกาะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเศษแก้วที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาในการจัดการบนเกาะ เมื่อระบบการรีไซเคิลมีความสมบูรณ์ขึ้นแล้ว ในระยะที่สอง เราจะเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่น ที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นเตือนให้นักท่องเที่ยว มีส่วนร่วมในการแยกขยะอย่างถูกต้องเหมาะสมระหว่างที่ใช้เวลาท่องเที่ยวอยู่บนเกาะ พร้อมกับต่อยอดและขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่เกาะมากขึ้น เราเชื่อมั่นว่าโมเดลจัดการขยะบนเกาะของทางโครงการจะสามารถ นำไปประยุกต์กับพื้นที่เกาะอื่น ๆ ได้เพื่อให้เกิดรูปแบบการจัดการขยะติดเกาะที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่”

ผศ.ดร.ชนิษฎา ชูสุข อาจารย์ประจำคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยเองก็ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาขยะบนเกาะท่องเที่ยวในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาะหลีเป๊ะ ที่ถือได้ว่าเป็นเกาะท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ประสบปัญหาขยะล้นเกาะอย่างรุนแรง ด้วยอุปสรรคในการนำขยะออกจากเกาะรวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมาก ส่วนเกาะลิบงก็มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเกาะที่พยูน สัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธ์อาศัยอยู่มากที่สุดแล้ว ทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะและใต้ท้องทะเลที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับทั้งสองเกาะในการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลให้ถูกต้อง เพื่ออนุรักษ์เกาะท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์เช่นนี้ต่อไป”

ด้วยความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาขยะติดเกาะเพื่ออนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามของประเทศไทย โครงการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลบนพื้นที่เกาะอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ “เก็บ” ไทยให้สวยงาม (Keep Thailand Beautiful) ผสานร่วมมือในการทำงานกับร่วมกับชุมชน พร้อมเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะเชิงบูรณาการ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่จะช่วยลดปัญหาขยะติดเกาะได้อย่างยั่งยืน สามารถติดตามกิจกรรมของโครงการ ได้ที่ https://www.facebook.com/TidyHandsSaveIslands

Image previewImage preview

X

Right Click

No right click