×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

     พระราชดำรัสอำลาประชาชนในค่ำวันที่ 13 มิถุนายน 2503 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ เสด็จฯ เยือนฮาวายเป็นแห่งแรกของการเยือนสหรัฐอเมริกา ความตอนหนึ่งว่า

“...เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ในสมัยนี้ประเทศต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ จะว่าชนทุกชาติเป็นญาติพี่น้องกันก็ว่าได้ จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ทั้งผูกน้ำใจกันไว้ให้ดีด้วยการผูกน้ำใจกันไว้นั้น ธรรมดาญาติพี่น้องก็ไปเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน แต่สำหรับประเทศนั้น ประชาชนนับแสนนับล้านจะไปเยี่ยมเยียนกันยาก เขาจึงยกให้เป็นหน้าที่ประมุขของประเทศในการไปเยี่ยมประเทศต่างๆ ข้าพเจ้าก็จะแสดงต่อประชาชนของประเทศเหล่านั้น ว่าประชาชนชาวไทยมีมิตรจิตมิตรใจต่อเขา และข้าพเจ้าจะพยายามเต็มที่ เพื่อให้ฝ่ายเขารู้จักเมืองไทย และให้เกิดมีน้ำใจดีต่อชาวไทย...

     พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนต่างประเทศหรือที่เรียกว่า State Visit มีคุณประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล หากนึกย้อนไปถึงในช่วงต้นพุทธศักราช 2500 ที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรม หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริการายงานว่าไทยมีพื้นที่ประมาณ 200,000 ตารางไมล์ มีประชากรเพียง 18 ล้านคน ในด้านการท่องเที่ยวเราก็เพิ่งจะจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (อสท.) ในปี 2503 อาจกล่าวได้ว่าเรายังไม่เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกสักเท่าใดนัก

     การที่องค์พระประมุขของชาติเสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกัน แม้เป็นลักษณะของอาคันตุกะ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9และสมเด็จพระบรมราชินีนาถก็ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะทูตไปพร้อมกัน และด้วยพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ส่งผลสะท้อนทำให้ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยปรากฏสู่สายตาชาวโลก
       การเสด็จฯ เยือนต่างประเทศของพระองค์นอกจากเป็นการทำให้โลกได้รู้จัก Thai Royal Couple แล้ว ยังทำให้โลกได้รู้จักประเทศไทยในด้านต่างๆ ส่งผลให้ภายหลังจากการเสด็จฯ เยือน ธุรกิจการลงทุน รวมถึงความช่วยเหลือต่างๆ จากสหรัฐอเมริกาและยุโรปทยอยหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง    
     อีกทั้งสิ่งที่ทั้งสองพระองค์ได้ทอดพระเนตรในระหว่างการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศยังถูกนำมาพัฒนากลายเป็นโครงการพระราชดำริที่หลากหลายโดยเฉพาะด้านการเกษตร ส่งผลดีต่อความสุขของประชาชนในชาติมาจวบจนทุกวันนี้

    นิตยสาร MBA ประมวลภาพบางส่วนของพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนต่างประเทศไว้ ณ ที่นี้

 

ขบวนพาเหรด Ticker Tape จากโรงแรมแอสเทอเรียไปตามถนนบรอดเวย์ล่าง (lower broadway) ซึ่งประมาณการว่ามีประชาชนมาร่วมชื่นชมบารมีมากถึง 750,000 คน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงฉลองพระองค์ในเครื่องแบบจอมทัพชุดขาว และประทับในรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุน ทรงยืนโบกพระหัตถ์ให้แก่ประชาชนที่ปรบมือถวายการต้อนรับตลอดทาง

 

เสด็จฯ เยือนบริษัทไอบีเอ็ม

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ถึงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 โดยมีประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ถวายการต้อนรับ และตามเสด็จฯ ส่งทั้งสองพระองค์ไปยังที่ประทับแรม “แบลร์ เฮาส์” อันเป็นย่านที่ผู้ดีและดารามีชื่อพำนักกันคับคั่ง

 

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงฉายพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ท่ามกลางฝูงชนที่นิวยอร์ก

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมชมโรงกลั่นน้ำมัน ทอแรนซ์ ของบริษัท สแตนดาร์ด แวคคัม ออยล์ ซึ่งเป็นกิจการน้ำมันขนาดใหญ่ ก่อนที่จะถูกกฎหมาย Anti-Trust Law สหรัฐฯ ทำให้แยกเป็นสองบริษัท คือ เอกซอน และ โมบิล ออยล์ ซึ่งโมบิล ออยล์มาตั้งกิจการในไทยปี พ.ศ. 2510

 

ฉายพระรูปกับท่านประธานาธิบดีและภริยา ในงานเลี้ยงพระกระยาหารที่ทำเนียบขาว

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ฉายพระรูปกับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ณ ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ช้างที่เห็นนี้ เป็นช้างศึกไทย สลักด้วยไม้สักปิดทองที่เท้าทั้งสี่ ที่พระองค์พระราชทานแก่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ฝ่ายประธานาธิบดีได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Legion of Merit ชั้นจอมทัพแด่พระองค์

 

ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับนักร้องชื่อก้อง เอลวิส เพรสลีย์ ขณะทรงเยี่ยมชมโรงละครพาราเมาต์

 

เสด็จฯ เยี่ยมชมเรือดำน้ำ U.S.S. Growler ของสหรัฐฯ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงบังคับเรือด้วยพระองค์เองทั้งขณะที่ลอยและดำน้ำ

 

19 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ประทับรถม้าคู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จากสถานีรถไฟวิกตอเรียไปสู่พระราชวังบักกิงแฮม ท่ามกลางทหารกองเกียรติยศและประชาชนชาวอังกฤษ ที่มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จทั้งสองพระองค์

 

21 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งสู่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินฯ ตรวจพลแถวทหารกองเกียรติยศ ร่วมกับประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ ที่หน้าตึกรัฐสภา

 

 สมเด็จพระบรม-ราชินีนาถทรงสัมผัสพระหัตถ์ด้วยดวงพระพักตร์เปี่ยมด้วยไมตรีจิต

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าแก่ไฮนริช ลุบเกประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภรรยา

 

ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราช-ดำเนินเยี่ยมโรงเรียนนายเรือโปรตุเกส

 

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมบริษัทอีสต์เอเซียติก ประเทศเดนมาร์ก

 

เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของโรงงานผลิตเครื่องเฟอร์นิเจอร์ ทางทิศเหนือของนครโคเปนเฮเกน

 

ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีอิงกริด และเจ้าฟ้าหญิงแห่งราชวงศ์เดนมาร์กทั้งสองพระองค์ เสด็จฯ ลงสู่ชั้นล่างของเรือยุตแลนเดีย

 

ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ทรงพระราชปฏิสันถารกับพระสันตะปาปา ประมุขของคริสตจักรกันพอสมควรแก่เวลาแล้วได้ทรงอำลาเสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับ

 

     “...การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล หากสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนในทุกๆ ด้านแล้ว สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถดำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปโดยตลอด...”

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 88 ปีก่อน ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เวลา 08.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงพยาบาลเมานต์ ออร์เบิร์น เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือหากนับตามเวลาประเทศไทย คือ 20.45 น. ตรงกับวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ

เป็นช่วงเวลาที่พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรม-ราชชนนี (สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์) ทรงพระนามว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ โดยมีนายแพทย์ดับเบิลยู. สจวร์ต วิตมอร์ เป็นผู้ถวายการประสูติ โดยเหตุที่ทรงประสูติ ณ ที่แห่งนี้ เนื่องจากช่วงนั้น สมเด็จพระบรมราชชนกกำลังทรงศึกษาวิชาการแพทย์ และสมเด็จพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการพยาบาลและเศรษฐกิจการเรือนอยู่ที่นั่นพอดี

ทั้งนี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิ-วัฒนา และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพล-อดุลยเดช ทรงพระราชสมภพในราชสกุล “มหิดล” อันเป็นเชื้อพระวงศ์สายหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยพระบรมราชชนก ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 69 จากจำนวน 77 พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 7 จากจำนวน 8 พระองค์ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี) โดยเมื่อแรกประสูติได้เฉลิมพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ทว่า หลังจากพิธีโสกันต์แล้วทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงพระยศเป็น “กรมหลวงสงขลา-นครินทร์” ในที่สุด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 หลังจากที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์จากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว สมเด็จ-พระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีได้พาพระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จนิวัตประเทศไทย ทว่า หลังจากนั้นไม่ถึงปี  พลันเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2472 โดยในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมิน- ทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษาเพียง 1 พรรษากับอีก 9 เดือนเท่านั้น

 

 

 

การสวรรคตของพระบรมราชชนก ไม่เพียงแต่ยังความเศร้าโศกเสียใจมาให้ทุกพระองค์เท่านั้น หากแต่สำหรับสมเด็จพระศรีนครินทรา-บรมราชชนนี ยังนำมาซึ่งภาระหน้าที่อันใหญ่ยิ่งในการที่จะทรงอภิบาลหน่อเนื้อกษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์เพียงลำพังโดยในการอภิบาล พระ-ราชโอรสและพระราชธิดาให้ทรงเจริญเติบโต เพียบพร้อมด้วยพระราชจริยาวัตรอันงดงาม สมบูรณ์ด้วยสติปัญญา สมเด็จพระบรมราชชนนี มีพระราชดำริว่า การเลี้ยงดูอบรมบุตรธิดานั้น มีหลักปฏิบัติสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ เด็กต้องมีพลานามัยสมบูรณ์ และต้องอยู่ในระเบียบวินัย ภายใต้การเลี้ยงดูที่ไม่บังคับหรือเข้มงวดจนเกินไป

ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมายุ 5 พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์แดอี กรุงเทพมหานคร ซึ่งในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่แปรเปลี่ยน ทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายขึ้น เพราะมีความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 กับรัฐบาลของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้เป็นหัวหน้าคณะราษฎรมากยิ่งขึ้น จนไม่อาจประนีประนอมได้ วิกฤตบ้านเมืองในครั้งนั้น นับว่าส่งผลต่อพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมเชษฐาธิราช และพระเชษฐภคินี ไม่น้อย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อราวต้นปี พ.ศ. 2476 สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พาพระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จฯ ไปประทับ ณ เมืองโลซาน (Lausanne) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เวลาล่วงไปจนกระทั่งในปี พ.ศ.2481 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จนิวัตพระนครเป็นครั้งแรก แม้การเสด็จนิวัตครั้งนั้นจะไม่นานนัก หน่อเนื้อกษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ ทรงมีโอกาสได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของประชาชน ภูมิประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย เมื่อเสด็จฯ กลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงทรงซึมซับและผูกพันกับเมืองไทยและคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับทางรัฐบาลก็ได้ส่งอาจารย์ชาวไทยไปถวายพระอักษรไทย ศึกษาภาษาไทย และประวัติศาสตร์ไทยด้วย

 

 

ครั้นเสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียงไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างสงคราม สมเด็จพระบรมราช-ชนนีตัดสินใจที่จะประทับที่เมืองโลซานพร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดา ด้วยทรงเล็งเห็นว่า หากอพยพลี้ภัยไปที่อื่นจะส่งผลกระทบต่อการศึกษาเล่าเรียนของทุกพระองค์ โดยในช่วงเวลานั้น สมเด็จพระราชชนนีได้ทรงมอบบทเรียนการดำรงชีวิตอย่างมัธยัสถ์และพอเพียงให้แก่พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ เพราะในห้วงเวลานั้น ค่าครองชีพขยับสูงขึ้น เครื่องอุปโภค บริโภค ขาดแคลน พระองค์จึงทรงใช้ชีวิตอย่างประหยัดในทุกทาง

และแล้วสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยุติลงเมื่อ พ.ศ. 2488 รัฐบาลไทยจึงกราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้เสด็จ-นิวัตพระนคร เพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ เนื่องด้วยเห็นว่าพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนีได้เสด็จฯ กลับประเทศไทยพร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2488 เพียงไม่นานหลังจากที่เสด็จฯ กลับมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระนามรัชกาลที่ 9 ในขณะนั้น) ทรงเริ่มปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตพระนครและจังหวัดใกล้เคียงทันที

“ร้อยโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช นายทหารพิเศษ” คือพระยศทางทหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-อานันทมหิดลได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

แต่แล้วความชื่นชมโสมนัสของปวงชนชาวไทยก็ดำรงอยู่ได้เพียงไม่นาน ความทุกข์ระทมแสนสาหัสก็เข้ามาแทนที่อย่างไม่ทันตั้งตัว เมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สี่วันก่อนวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จพระราชดำเนินจากประเทศไทยเพื่อกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนและเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง

ท่ามกลางความเศร้าโศกาอาดูรในพระราชหฤทัยอย่างหนักของสมเด็จพระบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลย-เดช สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ลำดับที่ 9 ทรงพระนามว่า 

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถ-บพิตร”

ซึ่งในเวลานั้น พระองค์มีพระชนมายุ 18 พรรษา จึงยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ด้วยพระองค์เอง ทางรัฐสภาจึงแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขึ้นเพื่อบริหารราชการแผ่นดินในช่วงนั้น

 

 

หลังจากนั้น ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังคงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องเสด็จฯ กลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 โดยพระองค์ทรงตระหนักดีว่าจะต้องกลับไปเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องปกครอง      พสกนิกรชาวไทยให้ร่มเย็นเป็นสุข พระองค์จึงเปลี่ยนแนวทางการศึกษาใหม่ จากที่ได้เลือกศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ทรงเปลี่ยนมาศึกษาด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมเป็นกษัตริย์ที่ดี

ระหว่างศึกษาต่อในต่างแดน ยามว่างเว้นจากพระราชกิจในการศึกษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดการเสด็จประพาสไปยังสถานที่สำคัญตามเมืองในต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ และโปรดการเล่นกีฬาเพื่อออกกำลังพระวรกาย เช่นในฤดูหนาว พระองค์จะเสด็จฯ ไปทรงสกีอยู่บ่อยครั้ง ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการช่างและการดนตรีเป็นพิเศษ ในยามว่างจะทรงฝึกหัดเล่นแซกโซโฟน ทรัมเป็ต คลาริเน็ต สลับกับทรงประดิษฐ์แบบเรือจำลอง เครื่องรับวิทยุ อยู่เสมอ

และระหว่างประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นี้เอง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์    กิติยากร ธิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและหม่อมหลวงบัว กิติยากร ซึ่งหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีความสามารถและรักการเล่นดนตรีเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงต้องพระราชอัธยาศัยในหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ จากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร จึงได้เริ่มสานต่อและค่อยๆ พัฒนาเป็นความรักในที่สุด

จนกระทั่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2491 พสกนิกรชาวไทยก็ได้รับรู้ข่าวร้ายที่สร้างความสะเทือนใจอย่างหนักหนาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาท-สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ พระอาการสาหัส เนื่องจากรถยนต์พระที่นั่งได้ชนกับรถบรรทุกคันหนึ่ง บริเวณริมทะเลสาบเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประทับรักษาพระองค์่ ณ โรงพยาบาล ประมาณ 3 สัปดาห์ โดยพระอาการที่น่าเป็นห่วงที่สุดในตอนนั้นคือ ที่พระเนตรข้างขวา ซึ่งแพทย์ผู้ถวายการรักษาต้องนำเศษแก้วออกจากพระเนตร 2 ชิ้น ในช่วงนั้น คณะแพทย์ขอพระราชทานอนุญาตให้ทรงพักฟื้นพระวรกายเพื่อรอเวลาทรงเข้ารับการผ่าตัดพระเนตรข้างขวาอีกครั้ง จนกระทั่งในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 แพทย์ถวายการผ่าตัดพระเนตรข้างขวา แม้ว่าผลการผ่าตัดจะเป็นที่น่าพอใจแต่อุบัติเหตุในครั้งนั้นก็ทำให้หมายกำหนดการเสด็จนิวัตประเทศไทยต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยในระหว่างที่พระองค์รักษาพระวรกายอยู่ที่โรงพยาบาล      หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิด

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2492 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสรับสั่งเรื่องการขอหมั้นกับหม่อมราชวงศ์  สิริกิติ์ ซึ่งในการนี้ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ผู้เป็นบิดาก็เห็นด้วย พระราชพิธีหมั้นอันแสนเรียบง่ายจึงได้จัดขึ้น ณ โรงแรมวินเซอร์ นครโลซาน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 โดยพระธำมรงค์ที่ทรงใช้ในพระราชพิธีหมั้น เป็นพระธำมรงค์เพชรหนามเตยรูปหัวใจแบบเดียวกับที่สมเด็จพระราชบิดาพระราชทานแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีนั่นเอง

 

 

จากนั้น ในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2493 ทางรัฐบาลได้จัดให้มีพิธีสมโภชขึ้น ในโอกาสที่พระองค์เสด็จนิวัตประเทศไทย โดยในโอกาสเดียวกันนี้เองที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระพี่นางเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ให้ขึ้นเป็น

“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา”

หลังจากช่วงวันที่ 28-30 มีนาคม พ.ศ. 2493 อันเป็นช่วงเวลาแห่งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  อานันทมหิดล ผ่านไปราว 1 เดือน พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสก็ได้เกิดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ วังสระปทุม ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เสด็จฯ ขึ้นประทับยังห้องพระราชพิธีบน    พระตำหนัก เพื่อรับพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และทรงเจิมพระนลาฏจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตามพิธีโบราณราชประเพณี

ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ ขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี พระองค์ทรงเศวตพัสตร์ประทับผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก สรงพระมูรธาภิเษกเหนือพระอังสา หลังสรงแล้วทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับเหนือพระราชอาสน์บัลลังก์ทอง เฉลิมพระบรมนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

ณ เวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงครองราชย์ ปกครองพสกนิกรภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระองค์พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พร้อมกันนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ให้ดำรงราชฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์เสด็จฯ กลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งเพื่อรักษาพระวรกาย อันเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตามคำแนะนำของคณะแพทย์ที่เคยถวายการรักษา และในช่วงที่ประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระประสูติการ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่โรงพยาบาล ณ เมืองโลซานในวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2494 (ตามเวลาในประเทศไทยเป็นวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494)

ในเวลาต่อมา เมื่อทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับมาประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้มีพระ-ประสูติการพระราชโอรสและพระราชธิดาอีก 3 พระองค์ คือ

 

 

 

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์ สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร โดยต่อมาได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น

“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร”

พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร-เทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ โดยต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้าจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”

พระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

 

ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระ-ศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ซึ่งพระองค์ได้รับการถวายพระ-สมญานามทางธรรมว่า “ภูมิพโลภิกขุ” ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสมณเพศ พระองค์ประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยทรงบำเพ็ญวัตรปฏิบัติเช่นพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด

 

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงผนวชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม-ราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ครั้นเมื่อพระองค์ลาพระผนวชจึงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระบรมราชินี เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”

 

 

X

Right Click

No right click