ในชั้นเรียนภาษาอังกฤษปัจจุบัน โอกาสที่นักเรียนจะได้สื่อสารกับครูผู้สอนเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนนั้นมีค่อนข้างจำกัด หากนักเรียนมีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็น สื่อสารกับครูได้โดยตรง ถึงสิ่งที่นักเรียนสนใจ ความต้องการของนักเรียน รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนของครูซึ่งอาจมีส่วนทำให้นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสียงสะท้อนและความคิดเห็นของนักเรียนนั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยให้ครูได้กลับมาคิดไตร่ตรองถึงวิธีการสอนของตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาการสอนของครูในชั้นเรียนได้อย่างมากและช่วยแก้ปัญหาในชั้นเรียนได้ตรงจุด โดยการให้นักเรียนมามีส่วนร่วมในการพัฒนาการสอนของครูนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการการทำวิจัยในชั้นเรียน
ในปี 2565 บริติช เคานซิล ประเทศไทย ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาทักษะการทำวิจัยในชั้นเรียน หรือ โครงการ Exploratory Action Research (EAR) ด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สำนักงานฝ่ายโปรแกรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษประจำภูมิภาค (Regional English Language Office: RELO) สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย (Thailand TESOL) โดยโครงการนี้จะเน้นให้ความรู้ทักษะการทำวิจัยในชั้นเรียน และให้ครูลงมือทำวิจัยในชั้นเรียนจริงเป็นระยะเวลา 5 – 6 เดือน ควบคู่ไปกับการได้รับความช่วยเหลือแบบตัวต่อตัวจากครูพี่เลี้ยง (Mentor) ผู้มีประสบการณ์ด้าน EAR จากหลากหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้ครูที่เข้าร่วมสามารถพัฒนาด้านการสื่อสารงานวิจัยในชั้นเรียนของตนในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยในชั้นเรียนทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
มร.แดนนี่ ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า “ทักษะภาษาอังกฤษถือเป็นตัวแปรที่สำคัญสำหรับการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่หน้าที่การงานที่ดีขึ้น การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรามีความภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับคุณครู กระทรวงฯ และหน่วยงานที่สนับสนุนการศึกษาในประเทศไทยเพื่อพัฒนาการเรียน การสอน และการวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษอย่างทั่วภูมิภาคของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย และความฝันของพวกเขา”
โครงการวิจัยในชั้นเรียนจะทำให้ครูได้พิจารณาถึงวิธีการสอนของตนเอง และคิดค้นวิธีที่จะสามารถพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษเพื่อช่วยเหลือให้นักเรียนสามารถบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนดังกล่าวจะไม่ใช่การทำวิจัยเชิงวิชาการ แต่จะเป็นการลงมือปฏิบัติจริงโดยการลงมือทำวิจัยกับนักเรียนในชั้นเรียนของตนเอง ส่งเสริมให้ครูได้ฝึกกระบวนการสะท้อนความคิด (Reflective Thinking) รวมถึงการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และยังช่วยให้ครูมีทัศนคติที่ดีในการตั้งคำถามถึงการสอนของตัวเองว่า วิธีการใดที่ใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผลในห้องเรียนและเพราะสาเหตุที่ทำให้วิธีการนั้นได้ผลหรือไม่ได้ผลคืออะไร ซึ่งล้วนเป็นกระบวนการหาคำตอบผ่านการศึกษาอย่างเป็นระบบ เพื่อสรุปข้อค้นพบ (Findings) จัดทำแผนการสอนเพื่อแก้ไขปัญหาจากข้อค้นพบ นำแผนการสอนไปใช้สอนในห้องเรียน และนำผลมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงการสอนในจุดที่ยังเป็นปัญหาต่อไป ในขณะเดียวกันการรับฟังความเห็นจากนักเรียนยังทำให้ครูได้พัฒนาความสัมพันธ์กับที่ดีนักเรียน ทำให้ครูเข้าใจความต้องการและความสนใจของนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น นักเรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น บรรยากาศห้องเรียนภาษาอังกฤษดีขึ้น การวางแผนการศึกษาอย่างเป็นระบบในลักษณะนี้จะทำให้ครูมีพัฒนาการในการสอนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อนักเรียน
นอกจากเป้าหมายในการพัฒนาทักษะวิจัยในชั้นเรียนให้กับครูสอนภาษาอังกฤษแล้ว โครงการ EAR ยังมีเป้าหมายในการสร้างครูพี่เลี้ยงด้านวิจัยในชั้นเรียน โดยการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการให้เข้ารับการพัฒนาเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูคนอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนของประเทศไทย และสอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา โครงการวิจัยในชั้นเรียน (EAR) ในประเทศไทย ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยจำนวนผู้สมัครที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีจากทั่วประเทศ โดยในปัจจุบัน มีจำนวนครูผู้เข้าร่วมโครงการทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามากกว่า 100 คน ประกอบด้วยครูสอนภาษาอังกฤษ 80 คน และครูพี่เลี้ยง 25 คน
จิตติมา ดวงมณี คุณครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยในชั้นเรียน (EAR) ผู้ที่ทำวิจัยในหัวข้อ “การช่วยเหลือนักเรียนแก้ไขปัญหาการอ่านและทำความเข้าใจภาษาอังกฤษ” กล่าวว่า “ในการทำวิจัยครั้งนี้ มีจุดประสงค์ที่จะแก้ปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านการอ่าน ในกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเริ่มจากการสำรวจหาสาเหตุของปัญหาทั้งจากพฤติกรรมการสอนของครู พฤติกรรมการเรียนและเจตคติของผู้เรียน เพื่อให้ได้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ซึ่งข้อมูลที่ครูได้รับในขั้นสำรวจปัญหา คือ ผู้เรียนชื่นชอบและเห็นความสำคัญของทักษะการอ่าน แต่มีปัญหาเรื่องการไม่รู้ความหมายคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ขาดเทคนิคการอ่านที่ดี และไม่สามารถสรุปใจความเรื่องที่อ่านได้ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ได้นำไปสู่การ
ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนเพื่อแก้ปัญหา โดยครูผู้สอนได้เพิ่มกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเดาความหมายคำศัพท์จากบริบท ฝึกใช้เทคนิคการอ่าน และทำแบบฝึกหัดการสรุปเรื่องที่อ่าน นอกเหนือจากนี้มีการสร้างความมั่นใจให้ผู้เรียนโดยการเพิ่มกิจกรรมกลุ่มให้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ตรวจสอบคำตอบและแบ่งปันเทคนิคการอ่านกับเพื่อนในกลุ่มและในชั้นเรียน ซึ่งผลจากการดำเนินการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผู้เรียนมีทักษะการอ่านที่ดี มีความมั่นใจ และมีความสุขในการเรียนรู้”
จิตติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในฐานะครูผู้สอนประสบการณ์มากกว่า 20 ปี จากที่เคยตัดสินสถานการณ์การเรียนรู้ตามความเชื่อและประสบการณ์ของตัวเอง มากกว่าการศึกษาหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งส่วนใหญ่ครูจะมองว่าปัญหาเกิดจากผู้เรียน ไม่ใช่ที่ตัวครูหรือการสอนของครู แล้วครูก็ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่ครูเชื่อว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดี โดยไม่เคยสำรวจและพิจารณาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ดังนั้นการเข้าร่วมโครงการ EAR ในครั้งนี้ทำให้ครูมีมุมมองที่กว้างขึ้น และได้เรียนรู้วิธีการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหา ฝึกตั้งคำถามการวิจัย การออกแบบเครื่องมือการวิจัย การดำเนินการวิจัย การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล จนถึงขั้นการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชั้นเรียนของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังได้มีโอกาสแบ่งปันเรื่องราวของการวิจัยนี้ผ่านโปสเตอร์ บทความ และการประชุมวิชาการต่าง ๆ”
อีกหนึ่งผู้เข้าร่วมโครงการ อาตีกะห์ อาลีลาเต๊ะ คุณครูสอนภาษาอังกฤษจากโรงเรียนบ้านยือลาแป จังหวัดนราธิวาส ซึ่งทำการวิจัยในหัวข้อ “การช่วยเหลือนักเรียนให้จดจำและเขียนอักษรภาษาอังกฤษทั้งในตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็กได้” เนื่องจากเล็งเห็นว่าการจดจำตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นขั้นพื้นฐานของการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในลำดับถัดไป ซึ่งหากนักเรียนมีปัญหานี้จะส่งผลต่อการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ตามมา เช่น การสะกดคำ การสร้างประโยค ฯลฯ ซึ่งสถานการณ์ที่พบในชั้นเรียนคือ บางครั้งเวลาครูอ่านคำศัพท์ให้ฟังและลองถามตัวสะกด นักเรียนไม่สามารถตอบได้ว่าคำศัพท์นี้สะกดด้วยอักษรอะไร ซึ่งหากเด็กจำการออกเสียงไม่ได้ การสอน Phonics หรือวิธีการออกเสียงตัวอักษรภาษาอังกฤษ ในอนาคตก็จะทำได้ยาก”
“จากการทำวิจัย เมื่อรู้ปัญหา รวมถึงวิเคราะห์พฤติกรรมของนักเรียนที่มีมักมีสมาธิจดจ่อได้เพียง 10-15 นาทีแรกของการเรียน ก็ได้ทำโมเดลการสอนของตัวเองขึ้นมา นั่นคือโมเดล 4R – Review, Repeat, Rewrite และ Remember เพื่อใช้การสอนแต่ละครั้ง และช่วยให้ต่อยอดในการสร้างสื่อและกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมอีกด้วย เช่นการใช้ Flash Card การเล่นเกมส์ การขยับร่างกาย การฝึกเขียน ซึ่งหลังจากที่ได้ปรับปรุงรูปแบบการสอน มีการประเมิน เปรียบเทียบ ก็พบว่านักเรียนสามารถจดจำตัวอักษรได้ดีขึ้น”
“การทำวิจัย EAR ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณครูผู้สอนสามารถนำผลจากการวิจัยไปปรับปรุงการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง แต่เป็นการเจาะลึกถึงปัญหาจริง ๆ จากตัวของนักเรียนเอง ช่วยให้เราได้รับรู้ว่านักเรียนแต่ละคนอยากเรียนแบบไหน เพื่อหาวิธีการที่จะทำให้เด็กรู้สึกอยากเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ไม่ต่อต้าน และมีความพร้อมจะรับการสอนจากเรา สุดท้ายจะเป็นประโยชน์เพื่อการพัฒนาของนักเรียนได้อย่างถูกทางและเท่าทันเพื่อนร่วมชั้น”
“โครงการวิจัยในชั้นเรียน (EAR) นี้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สามารถสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของสหราชอาณาจักร ที่มุ่งมั่นเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยในการพัฒนายกระดับภาคการศึกษา เราภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับหน่วยงานด้านการศึกษาในประเทศไทยเพื่อพัฒนาการสอน การเรียนรู้ และการประเมินผลภาษาอังกฤษ ซึ่งจะช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้และช่วยให้เยาวชนมีอนาคตที่ดีขึ้น” มร.แดนนี่ กล่าวปิดท้าย
บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด สตาร์ทอัพ EdTech ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียน Live English Classroom ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เผยวิกฤตไวรัส ‘โควิด-19’ ระบาด ส่งผลกระทบนักเรียน-นักศึกษาทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยประกาศมาตรการให้ รร.รัฐและเอกชนหยุดเรียนจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ด้านสถาบันสอนพิเศษ – กวดวิชา งดการเรียการสอนด้วยเช่นกัน ส่งผลเด็กและเยาวชนขาดโอกาสการพัฒนาทักษะความรู้ Globish ผุดไอเดียพลิกวิกฤตโควิด เปิดโครงการ “Summer Class by Globish Kids” ภายใต้คอนเซ็ปต์ Summer ซัมเมอร์นี้ เด็กไทยต้องไม่หยุดพัฒนาภาษาอังกฤษ ให้เด็กไทยชั้นประถม- ม.ต้น เรียนฟรีทั้งประเทศ ชูจุดเด่น Live Interaction ให้ประสิทธิภาพในการสอนสูงกว่า E-Learning ถึง 3 เท่า รองรับผู้เข้าเรียนกว่า 100,000 คน ใน 100 คลาสรูม จากครูมากประสบการณ์จากทั่วโลก
นายธกานต์ อานันโทไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด เผยว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด-19’ กระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ซึ่งล่าสุด “UNESCO” ได้คาดการณ์ว่า ขณะนี้มีนักเรียน-นักศึกษากว่า 363 ล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัส ‘โควิด-19’ ระบาด และประมาณการณ์ว่ามีสถาบันการศึกษาใน 15 ประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ ต้องปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ซึ่งในประเทศไทยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของ ศธ. ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับสถาบันสอนพิเศษและสถาบันกวดวิชาได้งดการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กและเยาวชนปลอดภัยจากการโรคระบาด จึงส่งผลให้ขาดช่องทางในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะที่ต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ปกครองมีความกังวลในการหากิจกรรมที่ส่งเสริมความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก ล่าสุด Globish ได้จัดโครงการ Summer Class by Globish Kids ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ซัมเมอร์นี้ เด็กไทยต้องไม่หยุดพัฒนาภาษาอังกฤษ” โดยการเปิดคลาสรูเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นหลักสูตรที่มุ่งเสริมสร้างทักษะทางภาษาอังกฤษให้กับเด็กและเยาวชนไทยได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในบ้านที่ปลอดภัย ไร้ความเสี่ยง จากสถานการณ์การระบาดของโรคระบาด ‘โควิด-19’ โดยเป็นหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษผ่านระบบ Live Interaction ของ Globish Kids ซึ่งมีจุดเด่นด้านการสร้างประสบการณ์การเรียนออนไลน์ในรูปแบบ Live Interaction ซึ่งจากสถิติเป็นการเรียนที่ได้ประสิทธิภาพมากกว่าการเรียนแบบ E-Learning ถึง 3 เท่า
นางสาวชื่นชีวัน วงษ์เสรี เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด เผยว่า โครงการ Summer Class by Globish Kids ประกอบด้วยคลาสรูมที่พร้อมรองรับผู้เข้าเรียนกว่า 100,000 คน ได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษในเชิงพัฒนา จำนวนมากกว่า 100 คลาสภายในเดือนเมษายนนี้ โดย 1 คลาสรูมสามารถรองรับนักเรียนได้ 1,000 คน โดยจะมี 20 คลาสรูมภายในเดือนมีนาคม และจะขยายอีก 80 คลาสรูมในเดือนเมษายน หลักสูตรถูกออกแบบการเรียนมาให้เหมาะกับระดับภาษาของเด็กไทยส่วนมาก จึงไม่ได้เจาะจงระดับภาษาของผู้เรียน เป็นหลักสูตรสำหรับผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น มุ่งเสริมสร้างทักษะด้านภาษาอังกฤษที่รวบรวมคำศัพท์ และการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย ทักษะการพูด สนทนาตอบโต้ และทักษะการฟังให้เข้าใจ ในหัวข้อเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านเกมที่สนุกเพื่อไม่ให้น่าเบื่อ พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ด้วยโค้ช Globish Kids ผู้มีประสบการณ์สูงกว่า 70 ราย แบ่งเป็นครูชาวไทย 30 คน และครูชาวต่างชาติ 40 คน ซึ่งชาวต่างชาติเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาพื้นฐาน (Native Speaker) และ EU เป็นหลัก ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนแบบสดผ่านระบบ Live Interaction ที่ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับครูผู้สอนได้แบบเรียลไทม์ผ่าน Comment, Poll และ Q&A อีกทั้งครูผู้สอนยังสามารถเลือกนักเรียนในห้องเรียนตอบคำถาม หรือถามคำถามผ่านแพลตฟอร์มทั้งในรูปแบบ Live Video และแบบเสียงได้อีกด้วย ซึ่งทำให้นักเรียนสามารถตอบโต้กับครูผู้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการเรียน E-Learn อย่างมาก
“โครงการ Summer Class by Globish Kids เป็นห้องเรียนที่เน้นการสอนแบบสดผ่านระบบ Live Interaction ออนไลน์ ด้วยครูผู้สอน 1 คน กับผู้เรียนหลายคน (มากสุด 1,000 คนต่อ 1 คลาสรูม) ซึ่งจะแตกต่างจากการเรียนกับ Globish kids ในรูปแบบ 1 on 1 Class ที่เป็นครูผู้สอน 1 คน ต่อผู้เรียน 1 คน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผู้เรียนทุกคนต้องวัดระดับภาษาเพื่อค้นหาคอร์สเรียนที่เหมาะสมกับตัวนักเรียนมากที่สุด และในระหว่างเรียนสามารถโต้ตอบกับโค้ชได้ทันทีผ่าน VDO Call ออนไลน์ รองรับทุกเครื่องมือสื่อสารทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน” นางสาวชื่นชีวันกล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสมัครและเข้าเรียนออนไลน์กับโครงการ Summer Class by Globish Kids ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 เมษายน 2563 โดยลงทะเบียน และสร้างบัญชีผู้ใช้งานผ่านเว็บไซต์ Globish kids หรือ http://bit.ly/3d8oIcj จากนั้นสามารถจองคลาสเรียนที่ต้องการ และเข้าเรียนตามวัน เวลาที่จองไว้ได้เลย พร้อมสามารถติดตามอัพเดทข่าวสาร และกิจกรรมเพิ่มเติมได้จากทางโซเชียลมีเดีย เฟสบุ๊กแฟนเพจ @GlobishKids