“การท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด” เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก
จากการที่การท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาดของประเทศไทยมีความหลากหลายและความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยมีความน่าสนใจทั้งทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ รูปแบบการจัดกิจกรรมตามแนวชายหาด และแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงต่างๆ ซึ่งเป็นที่สนใจสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีหลากหลายและมีความต้องการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2567 อย่างต่อเนื่อง เกิดการสร้างรายได้ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและเกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่บนพื้นฐานบริบทด้านการท่องเที่ยวของประเทศ
โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญกับการท่องเที่ยวของประเทศ จึงได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561- 2580) มีวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก ที่เติบโตอย่างมีดุลยภาพบนพื้นฐานความเป็นไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกระจายรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับโลก
การที่จะบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายดังกล่าวนั้น วิธีการที่ทั่วโลกให้การยอมรับและเชื่อถือนั่นก็คือ การตรวจประเมินและรับรองคุณภาพมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้แหล่งท่องเที่ยวเกิดการพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพพื้นที่ท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในฐานะหน่วยรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย และกรมการท่องเที่ยว ได้ร่วมกันยกระดับแหล่งท่องเที่ยวประเภทชายหาดสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานที่สอดคล้องตามมาตรฐาน ISO เพื่อการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
โดยได้ดำเนินการ ตรวจประเมินและรับรองตามมาตรฐาน ISO 13009: 2015 Tourism and related services — Requirements and recommendations for beach operation ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานด้านการจัดการชายหาดเพื่อการท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่ที่มีหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมายหรือผู้ประกอบการเอกชนซึ่งมีพื้นที่ติดแนวชายหาดสาธารณะ
ทั้งนี้มาตรฐานดังกล่าว มุ่งเน้นการดำเนินงานด้านการบริการ ด้านความปลอดภัย ความถูกสุขลักษณะสำหรับนักท่องเที่ยวและเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมาตรฐานฉบับนี้ยังมีส่วนช่วยให้องค์กรที่ผ่านการรับรอง เกิดการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามเป้าหมายที่ 8, 11, 14 และ 15 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ช่วยให้การท่องเที่ยวประเภทชายหาดเกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ปัจจุบัน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ สามารถให้บริการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน ISO 13009 : 2015 สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่ชายหาดหรือผู้ประกอบการเอกชนที่มีพื้นที่บริการติดกับแนวชายหาดสาธารณะ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นสำหรับนักท่องเที่ยวและสร้างความน่าเชื่อถือในการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชายหาดสาธารณะ
ผลการดำเนินงานในปี 2567 มีแหล่งท่องเที่ยวประเภทชายหาดจำนวน 11 ชายหาด ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 13009 : 2015 เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ได้แก่
1.หาดพัทยา เมืองพัทยา
2.หาดน้ำใส หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ
3.หาดบิเละ (เกาะห้อง) อุทยานแห่งชาติแห่งชาติธารโบกขรณี
4.อ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
5.หาดป่าตอง เทศบาลเมืองป่าตอง
6.หาดเล็ก อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
7.หาดท้ายเหมือง (พื้นที่ลานพลับพลึงและปาง) อุทยานแห่งชาติหาดท้ายเหมือง-เขาลําปี
8.หาดเกาะสี่ อุทยานแห่งชาติสิมิลัน
9.หาดไม้งาม อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
10.หาดเกาะละวะใหญ่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
11.พื้นที่บริการนักท่องเที่ยวหลังแนวชายหาดสาธารณะ โรงแรมลองบีช การ์เด้น โฮเต็ล แอนด์ สปา พัทยา
จากการดำเนินงานของ สำนักรับรองระบบคุณภาพ วว. ที่กล่าวมาข้างต้น นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถยกระดับด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายหาด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมระดับโลก สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมให้กับคนในท้องถิ่น พร้อมๆ กับการส่งเสริมประสบการณ์ที่มีคุณค่ากับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอย่างเป็นรูปธรรม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก สำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) วว. ติดต่อได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 ต่อ 9373 (คุณธนกร สุขกลับ, คุณเอก เอื้อตระการวิวัฒน์) E-mail This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. และ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือที่ระบบบริการลูกค้า “วว. JUMP”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา (ศทม.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา ฟรี ! ในงาน Thailand Industrial Fair 2025 เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย ในธีม “ร่วมค้นหาเทคโนโลยีที่ใช่ แนวคิดทางธุรกิจที่ชอบ” โดยเป็นงานแสดงเครื่องจักรอัตโนมัติ เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ โซลาร์เซลล์ หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบจัดเก็บสินค้า บริการด้านโลจิสติกส์ อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ ณ ไบเทค บางนา จำนวน 2 หัวข้อ ดังนี้
ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายมนตรี แก้วดวง ผอ.สถานีวิจัยลำตะคอง (สลค.) พร้อมด้วยทีมนักวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ร่วมให้การต้อนรับ H.E. Renato U. Solidum, Jr. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Secretary of the Department of Science and Technology : DOST) และคณะผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในโอกาสศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จ.นครราชสีมา
ในการนี้ นายมนตรี แก้วดวง ได้นำเสนอภาพรวมภารกิจของสถานีฯ ที่มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ดังนี้
*การสาธิตการผลิตพืชผล
*การนำแนวทางปฏิบัติที่ดีทางการเกษตรมาช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับปรุงพันธุ์พืชและเพิ่มผลผลิต
*การส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์
*การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและแมลง
นอกจากนี้ นายเรวัตร จินดาเจี่ย นักวิจัย สลค. และ น.ส.บัณฑิตา เพ็ญสุริยะ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน และห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
ดร.คนึงนิจ บุศราคำ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญความหลากหลายทางชีวภาพ และน.ส.ภาวินี เขตร์นนท์ ได้บรรยายภารกิจศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน
การเยือนของคณะผู้แทนฯ ฟิลิปปินส์ ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทย-ฟิลิปปินส์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนางานวิจัยในอนาคต ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน
อนึ่ง วว. และหน่วยงาน Philippine Council for Agriculture, Aquatic and Natural Resources Research and Development (PCAARRD) ภายใต้ DOST ประเทศฟิลิปปินส์ มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการเกษตรในสาขา *การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ *การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ *การปรับปรุงและคัดเลือกสายพันธุ์พืช *การจัดการศัตรูพืช และ*เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อำเภอบ้านฉาง เทศบาลตำบลบ้านฉาง และสถาบันพลาสติก ร่วมลงนามพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะชุมชนอย่างมีส่วนร่วมในโครงการ “ต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร” ส่งเสริมการคัดแยกและยกระดับคุณภาพขยะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้ชุมชน ด้วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ด้วยงบสนับสนุนกว่า 20 ล้านบาท ตั้งเป้านำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้ประมาณปีละ 1,000 – 1,200 ตัน เตรียมเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น ๆ
โครงการดังกล่าวเป็นการขยายผลความร่วมมือที่ Dow และ วว. ได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาคุณภาพขยะพลาสติกในชุมชนอย่างยั่งยืน” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะบูรณาการองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของ 4 องค์กรพันธมิตร และส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดตั้งศูนย์ต้นแบบคัดแยกและแปรรูปวัสดุรีไซเคิล (Material Recovery Facility: MRF) คุณภาพสูงแห่งแรกของประเทศไทยที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อบริหารจัดการขยะชุมชน บรรจุภัณฑ์พลาสติก และของเหลือทิ้งในชุมชนแบบครบวงจรและยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่มต่อการจัดการขยะ ยกระดับคุณภาพของวัตถุดิบรอบสองตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน พัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะชุมชนและของเหลือทิ้งในพื้นที่อำเภอบ้านฉาง รวมถึงจัดการน้ำเสียและการผลิตพลังงานทดแทนชีวภาพ เมื่อดำเนินการสำเร็จจะนำรายได้เสริมมาสู่ชุมชนในขณะเดียวกับที่ช่วยลดปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อม
นายกิติพงศ์ อุระวัตร นายอำเภอบ้านฉาง กล่าวว่า “ในนามของชาวบ้านฉางและในฐานะคณะทำงาน เรายินดีให้การสนับสนุนโครงการฯ เพื่อผนึกกำลังสร้างชุมชนต้นแบบจัดการขยะยั่งยืน เพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการขยะภายในอำเภอ เสริมความรู้ สร้างความตระหนักและความร่วมมือในการเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนในชุมชน ส่งเสริมให้มีระบบการจัดการขยะและคัดแยกที่ดี เพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิลให้สูงขึ้นสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการแก้ไขปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม”
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงการสนับสนุนการจัดกิจกรรมว่า “ในสถานการณ์ที่โลกมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด แต่มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนจะต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ รวมทั้งต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้เราสามารถใช้ทรัพยากรที่มีค่าได้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้ซ้ำได้เป็นวงจรไม่รู้จบ โดยเฉพาะพลาสติกใช้แล้ว โครงการนี้สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ Dow ที่จะ ‘หยุดขยะพลาสติก’ โดยเราตั้งเป้าจะผลักดันให้พลาสติกใช้แล้วจำนวน 1 ล้านตันจากทั่วโลกถูกเก็บกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิล ทั้งผ่านกิจกรรมที่ Dow ดำเนินการเอง และโครงการความร่วมมือ”
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “งานวิจัยในด้านการจัดการขยะที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของ วว. มุ่งเน้นการจัดการวัสดุรีไซเคิลที่ต้นทางเพื่อสร้างโอกาสในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพ ขยายผลความสำเร็จสู่ภาคเอกชน ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy เชื่อมั่นว่าความร่วมมือเชิงบูรณาการของทั้ง 4 หน่วยงานในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร ขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การประยุกต์ใช้งานจริงในพื้นที่ เพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน”
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า “พลาสติกถือเป็นวัสดุที่มีคุณประโยชน์และความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงมีการนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย พร้อมทั้งสามารถปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย หากใช้งานอย่างคุ้มค่าและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพหลังใช้งาน ก็จะเป็นวัสดุหนึ่งที่สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ต้องอาศัยการให้ความรู้ ความเข้าใจ ความร่วมมือของชุมชนตลอดจนผู้อุปโภคบริโภคในการคัดแยกและจัดการกับขยะชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงพลาสติกใช้แล้วภายในชุมชน เกิดเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างอาชีพและธุรกิจของชุมชน จนสามารถเป็นแผนต้นแบบขยายสู่ระดับประเทศได้ ถือเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความลงตัวในทั้ง 3 มิติ คือ ชุมชนที่แข็งแรง ภาคธุรกิจที่เติบโต และเศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าและยั่งยืนได้นั่นเอง”
นายสุพจน์ ต่ออาจหาญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “การที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ห้างร้าน ผู้บริโภค และสิ่งสำคัญที่สุดในฐานะผู้บริโภค คือ การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่ครัวเรือนในชุมชน เพื่อให้ขยะแต่ละชนิดสามารถนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ขอขอบคุณ Dow วว. สถาบันพลาสติก และอำเภอบ้านฉาง รวมถึงทุกคนที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในครั้งนี้ ผมมั่นใจว่าจังหวัดระยองของเรามีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะผนึกกำลังสร้างและยกระดับให้บ้านของพวกเราเป็นต้นแบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน”
โครงการต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานกว่า 20 ล้านบาท จากสองหน่วยงานคือ กองทุน Dow Business Impact Fund จากบริษัท Dow และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)