January 22, 2025

Asia International Hemp Expo 2024’ พร้อมเปิดงานอุตสาหกรรมกัญชงที่ครบครับที่สุดของเอเชีย ด้วยความร่วมมือของ สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TiHTA) จับมือกับ นีโอ เดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงนักลงทุน นักอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนกัญชงไทยไปพร้อมกับอุตสาหกรรมเฮมป์ทั่วโลก พร้อมประกาศจับมือ 12 ชาติ ก่อตั้ง ‘สมาพันธ์กัญชงนานาชาติเอเชีย’ ขจัดอุปสรรคทางการค้า ส่งเสริม พัฒนาและสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกัญชงร่วมกัน

นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันพืชกัญชงได้รับการพัฒนาให้สามารถนำมาใช้ในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งบริบทสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในวงกว้างคือการเป็นพืชลดการปล่อยคาร์บอนและเน้นดูดซับมากกว่าการปล่อย (Carbon Negative) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเส้นใยจากกัญชงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและกำลังเติบโตในเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากเส้นใยมีคุณสมบัติพิเศษในด้านความแข็งแรง ทนทาน สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้จึงถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น อาทิ ผ้า เสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง รวมถึงการนำมาใช้ทดแทนพลาสติกและไนลอน ส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมเส้นใยกัญชงในอนาคตช่วยลดปริมาณขยะที่ไม่ย่อยสลาย ลดการตัดไม้ทำลายป่า เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้พืชกัญชง ถือเป็นพืชทางเลือกที่ต้องเร่งศึกษาและวิจัยนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเส้นใยที่มีมูลค่ามหาศาล ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตอบโจทย์ความต้องการของโลกในยุคปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ การพัฒนาการใช้วัตถุดิบกัญชงในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ มีแนวโน้มการเติบโตตามเทรนด์ Health & Wellness โดยในปี 2567 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 48,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 8.5% จากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism) ความนิยมผลิตภัณฑ์จากสารสกัดธรรมชาติที่มีมากขึ้น อีกทั้งในทางการแพทย์ผลิตภัณฑ์จากกัญชงสามารถลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs (non-communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สร้างขึ้นเองจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น

 

12 ชาติผนึกกำลัง จัดตั้ง ‘สมาพันธ์กัญชงนานาชาติเอเชีย’

สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ร่วมมือกับพันธมิตรนานาชาติรวมทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ปากีสถาน มองโกเลีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ยูเครน สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศ EU จัดตั้ง ‘สมาพันธ์กัญชงนานาชาติเอเชีย’ (Asia International Hemp Federation - AIHF) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมการค้าและพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบ และอุปสรรคทางการค้าในแต่ละประเทศ รวมถึงการจัดตั้งแพลตฟอร์มการค้าผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงผู้ซื้อ ผู้ขาย นำไปสู่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมและผู้จัดจำหน่าย

ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯได้วาง 4 พันธกิจในการดำเนินงาน ได้แก่ 1. ส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาอุตสาหกรรม ด้วยการสร้างเครือข่ายที่ครอบคลุมระหว่างเกษตรกร ผู้แปรรูป นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบาย โดยมีการตั้งมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับการผลิตและคุณภาพของเฮมป์ในเอเชีย และร่วมส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมกัญชง 2. สร้างความเข้าใจและการยอมรับ ผ่านองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเฮมป์ และร่วมกันจัดแคมเปญการตระหนักรู้เพื่อเน้นประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ 3. ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและนโยบาย โดยสมาพันธ์จะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนเฮมป์ในการหารือเรื่องนโยบาย ด้วยการส่งเสริมความสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐบาลเพื่อพัฒนานโยบายที่เป็นมิตรต่ออุตสาหกรรม รวมถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลในการกำหนดมาตรฐานการทดสอบ และความปลอดภัย รวมถึงขีดจำกัดของสารสกัด THC และ 4.ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้เฮมป์ในทุกด้านเพื่อลดปริมาณขยะ

‘กัญชง’ พืชเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมตอบโจทย์ความยั่งยืน

ขณะที่มูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมกัญชงทั่วโลก และนับรวมกับกัญชงเพื่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยมีมูลค่าประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 หรืออัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 15-20% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัสดุจากกัญชง (รวมพลาสติกชีวภาพและวัสดุก่อสร้าง) มีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีข้างหน้า สะท้อนถึงความต้องการวัสดุเพื่อความยั่งยืนและผู้บริโภคหันมาเลือกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งได้ปัจจัยบวกจากการสนับสนุนของรัฐบาลหลายประเทศในการออกนโยบายสนับสนุนการปลูกและการใช้กัญชงเพื่ออุตสาหกรรมมากขึ้น สร้างแรงผลักดันที่สำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมกัญชงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพในการขยายตัวสูง นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต

ปัจจุบันอุตสาหกรรมกัญชงเพื่อสิ่งแวดล้อมนานาประเทศกำลังขยายตัว และถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน อาทิ การใช้วัสดุทดแทนพลาสติก ด้วยการนำไปผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติในการผลิตบรรจุภัณฑ์และชิ้นส่วนยานยนต์, อุตสาหกรรมแฟชั่น โดยใช้เส้นใยกัญชงในการผลิตผ้าและเสื้อผ้า ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในตลาดที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, วัสดุก่อสร้าง นำมาผลิตเป็นคอนกรีตกัญชง สนับสนุนวัสดุก่อสร้างที่ลดการปล่อยคาร์บอนและสร้างความยั่งยืน, เกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยพืชกัญชงมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูดินและลดการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ช่วยส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน

นายสุรพล อุทินทุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) เปิดเผยว่า การจัดงาน Asia International Hemp Expo 2024 งานประจำปีของอุตสาหกรรมกัญชงที่ครบครันที่สุดในงานเดียว โดยในปีนี้ได้วางแนวทางในการเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงนักลงทุน ผู้ประกอบการ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกัญชง สร้างโอกาสแก่กัญชงไทยและอุตสาหกรรมกัญชง ผ่านการจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของกัญชงทั้ง 14 อุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำในกระบวนการปลูก จนถึงปลายน้ำที่นำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้า และนวัตกรรม โดยมีผู้จัดแสดงงานภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมงานกว่า 150 บริษัท ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 40 หน่วยงาน นอกจากนี้ได้เปิดเวทีสัมมนาประจำปีที่มีนักอุตสาหกรรมกัญชงจาก 40 ประเทศเข้าร่วมงาน เพื่อนำเสนอเทรนด์และแนวโน้มของอุตสาหกรรมกัญชงในปัจจุบันและอนาคต และสร้างพื้นที่เพื่อเจรจาในการมองหาโอกาสทางธุรกิจ

ขณะเดียวกันได้นำเสนอแนวคิดการจัดงาน ‘Hemp Inspires’ ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์กัญชงจากความร่วมมือของสมาคม Design and Object จัดแสดงผลงานเฟอร์นิเจอร์และสินค้าไลฟ์สไตล์ สำหรับกลุ่มนักออกแบบ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม กลุ่มธุรกิจคาร์บอนต่ำ และแฟชั่นโชว์ในช่วงพิธีเปิดงานด้วยคอลเลกชันเสื้อผ้าเส้นใยกัญชงของ Earthology Studio

 

“สำหรับงาน Asia International Hemp Expo 2024 ผมคาดว่าปีนี้ผู้เข้าชมงานจะอยู่ประมาณ 10,000 คน เม็ดเงินสะพัดจากการจัดงานราว 1,000 ล้านบาท สะท้อนว่าอุตสาหกรรมกัญชงยังคงได้รับความนิยมทั้งจากนักลงทุน ผู้ประกอบการ นักอุตสาหกรรมกัญชงทั้งจากในไทยและต่างประเทศ เชื่อว่างานจะเป็นเวทีและพื้นที่ในการสร้างโอกาสเพื่อก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมกัญชง สำหรับงานนี้จะมีการควบคุมผู้เข้าชมงาน โดยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงานได้ตั้งแต่วันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2567 ณ Hall 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” คุณสุรพล กล่าวทิ้งท้าย

เดินหน้าสร้าง Ecosystem Business ขยายศักยภาพอุตสาหกรรมกัญชงไทย ผนึกพันธมิตรมุ่งสู่ Wellness – Sustainable ตอบโจทย์ตลาดโลก

สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TIHTA) ผนึกกำลัง บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) เปิดงาน Asia International Hemp Expo and Forum 2023’ อย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

X

Right Click

No right click