December 23, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

สิงห์ผนึก 3 หน่วยงานรัฐ ผุด “World Food Valley Thailand”

July 07, 2017 4017

โดยลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ 3 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สถาบันอาหาร (สอห.) ธนาคารพัฒนาพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 

ภารกิจร่วมพัฒนานี้ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น เป็นเจ้าของพื้นที่และเปิดให้ทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อรองรับการเกิดใหม่ของภาคการผลิตและบริการภายใต้แนวคิด Eco-Industrial Estate

ซึ่งจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและแปรรูปอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาธุรกิจ การลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนสร้างเครือข่ายธุรกิจ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถให้แก่ผู้ผลิตอาหารไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารมีสัดส่วนคิดเป็น 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 14 ของโลก สำหรับปี 2558 ประเทศไทยส่งออกอาหารและสร้างรายได้ให้ประเทศสูงถึง 897,529 ล้านบาท แต่สินค้าส่วนใหญ่ยังไม่ได้แปรรูป หรือยังไม่มีการผลิตโดยนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมากนัก ส่งผลให้ราคาขายอยู่ในระดับต่ำ ต่างกับหลายประเทศในทวีปยุโรปที่ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าอาหารได้เป็นอย่างดี

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด อธิบายว่าโครงการ World Food Valley Thailand เกิดขึ้นเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยให้ก้าวไปสู่การผลิตและแปรรูปสินค้าด้วยนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าอาหารไทยแข่งขันในเวทีโลกได้มากขึ้น 

“บริษัทต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลาง (HUB) ระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนด้วย โดยโครงการจะให้บริการพื้นที่อุตสาหกรรมและบริการงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิ การกำกับดูแลการผลิตและการนำเข้าวัตถุดิบตลอดจนปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย บริการวิเคราะห์ทดสอบและการรับรองมาตรฐานของอาหารไทยสามารถเชื่อมโยงการบริการทางการเงิน เทคนิค พี่เลี้ยง ที่ปรึกษาด้านต่างๆ”

จุตินันท์เปิดเผยด้วยว่า พื้นที่ 2,000 ไร่ ในจังหวัดอ่างทอง ถูกแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาประมาณ 1,300 ไร่ และพื้นที่สำหรับทำโครงสร้างพื้นฐานกับระบบบำบัดน้ำเสียอีกประมาณ 800 ไร่ ทั้งนี้จะใช้เงินลงทุนกว่า 4,800 ล้านบาท โดยพื้นที่ที่จะทำนิคมนี้เป็นพื้นที่ใกล้แม่น้ำ การคมนาคมขนส่งสะดวก ส่วนพืชผลทางการเกษตรที่คาดว่าจะเข้าร่วมในโครงการเพื่อเพิ่มมูลค่า ได้แก่ ข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน และคาดว่าภายในปี 2560 จะมีความชัดเจนในรูปแบบการดำเนินงาน และภายใน 3 ปี จะก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารแล้วเสร็จ ทั้งนี้ บริษัทในเครือ 8 บริษัทจะมาร่วมลงทุน และมีผู้สนใจที่จะเช่าพื้นที่ลงทุนแล้วกว่า 100 ราย โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 

ในด้านความสำคัญของโครงการ อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการ World Food Valley Thailand นี้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในรูปแบบประชารัฐ และมีการมุ่งเป้าสู่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารสู่ยุค 4.0 ซึ่งให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและการแข่งขันของผู้ประกอบการอาหารไทยให้เข้าสู่ยุค 4.0 หรือให้เป็นนักรบรุ่นใหม่ เรื่องที่ 2 การจัดระบบการพัฒนาปัจจัยเอื้อต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นครัวของโลก เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย และเรื่องที่ 3 การพัฒนาตลาดอุตสาหกรรมอาหารอนาคตและช่องทางการค้าในเวทีสากล เพื่อให้เอสเอ็มอีได้มีโอกาสเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารโลก 

“นอกจากนี้ควรมีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนในระยะ 20 ปีข้างหน้าให้ชัดเจน ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ S Curve ในสาขาอาหารให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และการสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยในเวทีโลก โดยรวมน่าจะต้องมีจำนวนกว่า 20,000 ราย 2) การเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพให้มีอัตราการขยายตัวให้ได้ร้อยละ 2 ต่อปี โดยการพัฒนามาตรฐานสินค้าอาหารแปรรูปไทยทั้งรสชาติและมาตรฐานตามที่ตลาดต่างๆ ต้องการ และ 3) การสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถค้าขาย ส่งออกได้บนพื้นฐานของสินค้าที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มในตลาดเดิมและตลาดใหม่จนทำให้มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี และมุ่งสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารติดอันดับ TOP 5 ให้ได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า”

ด้านบทบาทของอีก 3 หน่วยงาน ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า สถาบันอาหารได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม ให้เป็นหน่วยงานสำนักงานอย่างเป็นทางการเพื่อประสานการพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมอาหารภายใต้แนวนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการผลิตอาหารแปรรูปมุ่งสู่อุตสาหกรรมอาหาร 4.0 โดยพร้อมส่งเสริมวิสาหกิจไทยในทุกระดับเพื่อไปสู่ตลาดการค้าโลก

สุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บอกว่า ธนาคารจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือในด้านการบริการทางการเงินและปัจจัยแวดล้อมให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในโครงการ World Food Valley Thailand ตลอดจนช่วยยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการอาหารให้มีศักยภาพมากขึ้น 

ขณะที่ สาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บอกว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวนมากกว่า 2.9 ล้านราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในสัดส่วนกว่า 40% จึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สสว. จึงร่วมสร้างเมืองนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตเพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล (Smart SME) และช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น 

 
X

Right Click

No right click