November 18, 2024

รมว.พิมพ์ภัทรา โชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อโลก เพื่อเรา

July 12, 2024 287

นำร่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 7.2 ล้านตันต่อปี

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา” ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาสงคราม และภาวะโลกเดือด ซึ่งมีสาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นจนเกินสมดุล กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะภาคการผลิตมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อโลก ซึ่งตนได้ให้นโยบายไปตั้งแต่วันที่เข้ามารับตำแหน่งว่า พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนทั้งเรื่องของความรู้และเงินทุน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในวันที่กติกาโลกเปลี่ยน เราก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้าไปด้วยกัน ผ่านกลไก 3 ด้าน คือ Green Productivity, Green Marketing และ Green Finance

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า ความท้าทายใหญ่ที่สุดของคนในกระทรวงอุตสาหกรรมเวลานี้ คือ เราจะทำอย่างไรให้พี่น้องผู้ประกอบการยังคงอยู่กับเรา ในช่วงที่ผ่านมา เรารับรู้ถึงข่าวสารการปิดตัวของกิจการต่าง ๆ รวมถึงเอสเอ็มอี เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเงินทุน ภาวะการแข่งขันอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนกติกาโลก เหล่านี้คือความท้าทายของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งหามาตรการในการช่วยเหลือและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ (EV) ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมและคลอดมาตรการ อีวี 3.5 โดยนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทอดทิ้งยานยนต์ดั้งเดิม (ICE) และได้มีการขยายเวลาบังคับใช้มาตรการมาตรฐานเครื่องยนต์ยูโร 5 และยูโร 6 ไปอีกสองปีข้างหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว

ส่วนการสนับสนุนพลังงานสะอาด กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังจะยื่นขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อปลดล็อคโซลาร์รูฟท็อป เพื่อรองรับนโยบายพลังงานสีเขียวได้อย่างเป็นรูปธรรม ใช้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้เรื่องของพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเฉพาะนักลงทุนในประเทศเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์นักลงทุนต่างประเทศที่กำลังตัดสินใจเข้ามาลงทุนและถามหาพลังงานสะอาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยให้สามารถตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนได้ ส่วนปัญหา PM 2.5 ที่เกิดจากการเผา ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อย มักจะตกเป็นจำเลยว่าเป็นต้นเหตุ ซึ่งเราได้ขอความร่วมมือไปยังจิสด้า และไทยคม เพื่อใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจจุดความร้อน (hot spot) หากพบที่ใดให้ตรวจสอบทันทีว่าเป็นเพราะการเผาของชาวไร่อ้อยหรือไม่ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบย้อนหลัง 3 ปี พบว่า การเผาของชาวไร่อ้อยลดลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการชดเชยการตัดอ้อยสดลดพีเอ็มที่กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนเงินทุนเพื่อดำเนินการ

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันก็ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถนำร่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้มากกว่า 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ด้านนายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ขานรับทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมทั้ง 3 ด้าน โดยเชื่อมกับนโยบาย RESHAPE THE FUTURE :โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต มุ่งยกระดับให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยเฉพาะในเรื่องของการดำเนินธุรกิจที่จะต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ผ่านการจัดกิจกรรม “Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา” ซึ่งภายในงานจะได้เรียนรู้เทรนด์ธุรกิจ องค์ความรู้ และมุมมองการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ครบทุกมิติ ทั้งการบรรยายและเสวนาจากองค์กรและบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรมสีเขียว พร้อมกับกิจกรรมคลินิกให้คำปรึกษาแนะนำจากหน่วยงานพันธมิตรที่มาจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การให้แนะนำสินเชื่อสำหรับธุรกิจรักษ์โลกจากสถาบันการเงิน นอกจากนี้ โครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังมีรูปแบบกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศจำนวนกว่า 1,800 ราย และคาดการณ์ว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,380 ล้านบาท ทั้งนี้ ดีพร้อม เชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

Related items

X

Right Click

No right click