January 15, 2025

ดีพร้อม ผนึกกำลัง GISTDA ติดปีกอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยเศรษฐกิจอวกาศ จับมือสองกระทรวงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่โลกอนาคต

August 08, 2024 228

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมติดปีกอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยเศรษฐกิจอวกาศ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ด้วยการเพิ่มโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ยกระดับมาตรฐานด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการทดสอบวัสดุ ชิ้นส่วนด้านอากาศยาน และอวกาศ เพื่อเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ โดยการเพิ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการนำทรัพยากรมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่โลกอนาคต

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ซึ่งอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และยังเป็น S-Curve ใหม่ ที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการต่อยอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ในอนาคต รวมทั้งเศรษฐกิจอวกาศยังเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีอวกาศ จึงช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก และก้าวนำประเทศคู่แข่งที่อยู่ในระดับเดียวกัน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้ามาสร้างโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจอวกาศให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยจะพัฒนาเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ และขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ในหลากหลายมิติ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาเติมเต็มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศอย่างยั่งยืนในอนาคต

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า หนึ่งในการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือการมุ่งเน้นด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ ตรงกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจกระแสหลักของประเทศ โดย อว. ตั้งเป้าขยายผลการใช้ประโยชน์ของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาต่อยอดการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญในการส่งเสริม การสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน Startup SMEs และบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นความร่วมมือระหว่างสองกระทรวงในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อก้าวสู่ภารกิจด้านกิจการอวกาศของไทย โดยได้มอบหมายให้ GISTDA เป็นกำลังหลักในการสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และเพื่อขยายระบบโครงสร้างอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ โดยหน่วยงานรัฐและเอกชนทุกภาคส่วนจะมีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งจะผลักดันให้ไทยเข้าสู่ Global Value Chain ด้านอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” ด้วยการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ผ่านลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมติดปีกอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยเศรษฐกิจอวกาศ กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในมิติต่าง ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตโดยการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจอวกาศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก พร้อมยกระดับมาตรฐานด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการทดสอบวัสดุและชิ้นส่วนด้านอากาศยานและอวกาศ สนับสนุนการเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อเพิ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาผู้ประกอบการร่วมกันแล้ว ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านองค์ความรู้ เครื่องมือ อุปกรณ์ กลไกต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมต่อไปอีกด้วย

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า GISTDA มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ด้วยการสนับสนุนข้อมูลจากดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันได้นำมาประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น การลงนามครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ GISTDA จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันการใช้ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน GISTDA ได้ตระหนักถึงความสำคัญและแนวโน้มของเศรษฐกิจอวกาศใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขพบว่าทั่วโลกมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 8.1 มูลค่าสูงราว 415 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกที่มีมูลค่าสูงกว่า 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากการศึกษาวิเคราะห์ของ GISTDA พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจที่ต่อยอดจากการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีอวกาศ มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี จึงสะท้อนได้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกมากในอนาคต ดังนั้น GISTDA จึงได้เตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์ บุคลากร ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ที่จะสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคเอกชน ตลอดจนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศใหม่ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศต่อไป ดร.ปกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

Related items

X

Right Click

No right click