November 22, 2024

เอสซีจี เผยแผนรุก สู้อนาคตท้าทาย เพิ่มความเข้มแข็งปิโตรเคมีเวียดนาม รับมือวัฏจักรปิโตรเคมีผันผวนยาว เร่งนวัตกรรมกรีนทุกธุรกิจ ตามแนวทาง Inclusive Green Growth

September 16, 2024 1496

เอสซีจี เผยแผนรุก Future Forward เร่งปรับตัว เสริมแกร่งธุรกิจ คล่องตัว ลดคาร์บอน ตามแนวทาง Inclusive Green Growth สร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว รับวัฏจักรปิโตรเคมีผันผวนยาว เตรียมเพิ่มออปชันวัตถุดิบปิโตรเคมีเวียดนาม LSP ด้วยก๊าซอีเทน ดันปูนคาร์บอนต่ำส่งนอก คว้าโอกาสจากนโยบายหนุนนวัตกรรมกรีน ดึงเทคโนโลยียกระดับการอยู่อาศัย สร้างชีวิตกรีน&สมาร์ท ขยายธุรกิจพลังงานสะอาดสู่อาเซียน สร้าง New S-curve พร้อมเดินหน้า ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เข้มข้น ดันเศรษฐกิจเติบโตแบบโลว์คาร์บอน

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เมื่อมองสถานการณ์โลกปัจจุบันและทิศทางอนาคต ในระยะ 2-5 ปี จะมีความผันผวนมากขึ้น ทั้งความท้าทายจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมทั้งกฎเกณฑ์และโอกาสใหม่ ๆ จากเทรนด์รักษ์โลก ทุกธุรกิจของเอสซีจีจึงเดินหน้าปรับกลยุทธ์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมลดคาร์บอนไดออกไซด์ ตามแนวทาง Inclusive Green Growth เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันระยะยาว

สำหรับ เอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ ร้อยละ 39 ของรายได้รวมเอสซีจี เร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง ธุรกิจจึงเตรียมแผนเพิ่มศักยภาพโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ให้มีความยืนหยุ่นด้านต้นทุนการผลิตมากขึ้น จากการเพิ่มทางเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิต เพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้เหมาะสมกับจังหวะตลาดและลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติอีเทน (Ethane) เป็นวัตถุดิบเพิ่มเติมจากการใช้แนฟทา (Naphtha) และก๊าซธรรมชาติโพรเพน (Propane) เนื่องจากราคาเฉลี่ยอีเทนต่ำกว่า ร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยราคาของแนฟทาและโพรเพนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การปรับเพิ่มการใช้ก๊าซอีเทนยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการเกิดผลิตภัณฑ์พลอยได้ (By-product)

การเสริมแกร่งครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจุดแข็งของ LSP ที่ถูกออกแบบให้สามารถรองรับวัตถุดิบประเภทก๊าซอยู่แล้ว โดยมีระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางที่มีความพร้อมในการติดตั้งถังเก็บวัตถุดิบและท่อนำส่งก๊าซอีเทน คาดการณ์ใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี เพื่อเดินหน้าการผลิตโอเลฟินส์ และพอลิโอเลฟินส์ อย่างพอลิเอทิลีน และพอลิโพรพิลีน ตอบโจทย์ความต้องการพลาสติกสำหรับผลิตสินค้าอุปโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันในตลาดเวียดนาม ซึ่งมีความต้องการสูง ภายใต้การบริหารต้นทุนที่เหมาะสม ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ LSP จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2567

นอกจากนี้ ความพร้อมของ LSP ยังสามารถรองรับการผลิตนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก SCGC GREEN POLYMERTM ในอนาคต ซึ่งเป็นนวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูงที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอบรับเทรนด์รักษ์โลก ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งในประเทศเวียดนามและภูมิภาคอาเซียนต่อไป

ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน มุ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้มาตรการภาษีคาร์บอนที่เริ่มบังคับใช้ในหลายประเทศ โดยธุรกิจได้ดำเนินการลดคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดกระบวนการของธุรกิจล่วงหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองกับทิศทางธุรกิจ และยังเป็นโอกาสสร้างการเติบโตจากนโยบายสนับสนุนการใช้ปูนคาร์บอนต่ำเป็นหลักในหลายโครงการทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมา เอสซีจีสามารถส่งออกปูนคาร์บอนต่ำไปสหรัฐอเมริกาได้แล้วมากกว่า 1 ล้านตัน รวมทั้งยังสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ ทั้งในอาเซียน ออสเตรเลีย และแคนาดา จึงเร่งผลักดันด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่อเนื่อง ปัจจุบันกำลังพัฒนาปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชัน 3 ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มสัดส่วนการทดแทนปูนเม็ดในการผลิต ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 40-50 เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ประเภทเดิม เพื่อตอบสนองความต้องการปูนคาร์บอนต่ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเร่งขยายกำลังการผลิตปูนคาร์บอนต่ำในเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถเป็นฐานการส่งออกในอนาคต

ทิศทางของ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า สินค้าหลักอย่างกลุ่มวัสดุก่อสร้างจะมุ่งพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำมากขึ้น ตอบโจทย์ตลาดรักษ์โลก เน้นการลดคาร์บอน พร้อมมีดีไซน์สวยและแข็งแรงทนทาน นอกจากนี้มีแผนใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพิ่มความรวดเร็วและปรับได้ตามความต้องการลูกค้า ควบคู่กับพัฒนากระบวนการผลิต เพิ่มหุ่นยนต์ เพื่อลดของเสีย บริหารต้นทุนให้แข่งขันได้กับผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่เข้ามา เช่น จีน และเตรียมขยายตลาดวัสดุก่อสร้างไปยังตลาดอินเดีย และตะวันออกกลางซึ่งเติบโตสูงมากขึ้น นอกจากนี้ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินค้างานระบบ ตอบโจทย์การก่อสร้างเร็วและใช้งานดีขึ้น โดยเฉพาะระบบผนังที่มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ช่วยกันร้อนและกันเสียง รวมไปถึงระบบหลังคา ดีไซน์หลากหลาย ปรับได้ตามความต้องการและแบบบ้าน พร้อมฟังก์ชันกันร้อน และช่วยประหยัดพลังงาน

เดินหน้าสมาร์ทโซลูชัน New S-curve จากแบรนด์ ‘ออนเนกซ์ (ONNEX)’ ที่ผสานความเชี่ยวชาญของเอสซีจีและเทคโนโลยีล้ำสมัย ยกระดับการอยู่อาศัยทุกมิติ ทั้งประหยัดพลังงาน ด้วยระบบบำบัดอากาศเสีย ‘Air Scrubber’ และโซลูชันพลังงานสะอาด ‘Solar Hybrid Solutions’ ดูแลคุณภาพอากาศในบ้านและอาคาร ‘Bi-on’ ในอนาคตจะเพิ่มโซลูชันดูแลผู้สูงอายุ ตอบเทรนด์สังคมผู้สูงอายุ พร้อมเตรียมเชื่อมต่อกับทุกโซลูชันของออนเนกซ์ให้สามารถบริหารจัดการได้ในแพลตฟอร์มเดียว ผ่าน ระบบปฏิบัติการดิจิทัล ‘Trinity’ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้งานมากขึ้น

เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและ AI ยกระดับระบบจัดจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าและคู่ค้าเข้าถึงสะดวกขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการเก็บสินค้าคงคลัง และสามารถคาดการณ์ความต้องการสินค้าในอนาคต ช่วยให้ธุรกิจแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นภายใต้ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น แอปพลิเคชัน ‘Prompt Plus’ สำหรับระบบค้าส่ง สามารถช่วยวิเคราะห์และนำเสนอสินค้าตามความต้องการ (Personalized Recommendations) เพื่อการบริหารจัดการสินค้าคงคลังของผู้แทนจำหน่ายและร้านค้ารายย่อยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกัน ขยายการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยรักษ์โลกสู่ตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง อาทิ นำเสนอคอนกรีตผสมแบบพร้อมใช้ ‘CPAC Ready Mix’ และ ‘CPAC 3D Printing Solution’ เข้าสู่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำในการก่อสร้าง ลดของเสียหน้างาน

ธุรกิจ New S-Curve เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เดินหน้าขยายสู่อาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มุ่งสู่เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,500 เมกะวัตต์ในปี 2573 ด้วยจุดแข็งด้านนวัตกรรมและโซลูชันพลังงานสะอาดครบวงจรระดับโลก ทั้งระบบบริหารจัดการ การผลิต การจัดเก็บ (Energy Storage System) และจำหน่ายไฟฟ้าจากแพลตฟอร์มพลังงานสะอาด ‘Smart Micro Grid’ ตลอดจน ‘แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจากพลังงานสะอาด (Heat Battery)’ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างยูนิตแรกของโลกสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่โรงงานปูนซีเมนต์ เอสซีจี จ.สระบุรี นอกจากนี้ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการลงทุนในบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง 'นวัตกรรมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Tandem Perovskite' โดยบริษัทนี้มีจำนวนสิทธิบัตรอันดับต้น ๆ ของโลก เพื่อช่วยผลิตเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 30 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงพลังงานสะอาดได้สะดวกยิ่งขึ้น

แผนรุกครั้งนี้ เอสซีจีเดินหน้าบนมาตรการคุมเข้มทางการเงิน โดยจะพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ภายใต้งบประมาณการลงทุนปีละ 40,000 ล้านบาท และมุ่งลดเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ ร้อยละ 10-15 จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งโฟกัสในธุรกิจที่มีศักยภาพ ปิดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร โดยหมุนทรัพยากรและกำลังคนมาโฟกัสในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต ครึ่งแรกของปี มีเงินสดคงเหลือ 78,907 ล้านบาท

นายธรรมศักดิ์ เสริมถึงทิศทางติดปีกธุรกิจต่อไปว่า เอสซีจีกำลังเร่งขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี นำ AI มาขับเคลื่อนธุรกิจทุกมิติ สนับสนุนให้พนักงานทุกคนทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างเข้าใจ ทำจริง และขยายผลต่อยอด เพื่อปูทางสู่ศักยภาพธุรกิจระยะยาว วันนี้มีหลายโครงการเริ่มเดินหน้าและอยู่ในแผนพัฒนา เช่น การดึง AI เป็นเพื่อนคู่คิดลูกค้าช้อปปิ้งเรื่องบ้านโดนใจ หรือ AI ดูแลเครื่องจักรและซ่อมบำรุงเพื่อการทำงานอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เอสซีจี ร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ขับเคลื่อน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 ด้าน ได้แก่ 1) เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด​จากศักยภาพพื้นที่​และสายส่ง​ด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid​ Modernization)  2) มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ผลิตสินค้ารักษ์โลกและคาร์บอนต่ำ 3) สร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือใช้ 4) การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ลดใช้น้ำ ลดคาร์บอน  5) เพิ่มพื้นที่สีเขียว ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมทั้งหาทุนสีเขียว (Green Funding) จากต่างประเทศมาพัฒนานวัตกรรมคาร์บอนต่ำ อาทิ เทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) เพื่อมุ่งสร้างเศรษฐกิจเติบโตแบบโลว์คาร์บอน ตั้งเป้าปี 2573 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดสระบุรี 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์บรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593​

“เอสซีจี ติดตามสถานการณ์ไทยและโลกทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม เพราะต่างส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันยังนำมาวิเคราะห์ล่วงหน้า จัดทำแผนที่เหมาะสมกับแต่ละจังหวะ และนำมาใช้ปรับตัวอย่างทันท่วงทีให้ธุรกิจดำเนินต่อเนื่องและมั่นคง นอกจากจะสร้างความสามารถทางการแข่งขันที่เข้มแข็งทั้งในระยะสั้น-กลาง-ยาว ยังรักษาเสถียรภาพทางการเงิน พร้อมขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง ตอบทุกโอกาสและความท้าทายที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง" กรรมการผู้จัดการใหญ่ สรุปปิดท้าย

X

Right Click

No right click