October 13, 2024

เคทีซีเปิดเวทีเสวนา “KTC FIT Talks 6"

March 16, 2020 1572

นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส – คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค เปิดเวทีเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ “KTC FIT Talks 6: เจาะลึก..อะไรจะเกิดขึ้น? เมื่อมาตรฐาน TFRS9 เข้ามา” โดยเชิญ ดร.ศุภมิตร  เตชะมนตรีกุล  หุ้นส่วนสำนักงานด้านการสอบบัญชี บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด ร่วมเป็นวิทยากรพิเศษ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (Thai Financial Reporting Standards: TFRS 9) เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 และการรับมือของสถาบันการเงินไทย ความเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้อง โดยคุณชุติเดชได้ยืนยันว่ามาตรฐาน TFRS9 ทำให้การรายงานตัวเลขทางการเงินของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่มีผลกระทบอย่างใดกับการปฏิบัติงานจริง งานดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องประชุมใหญ่ “เคทีซี”ชั้น 14 อาคารสมัชชาวาณิช 2 พร้อมออกอากาศสดผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ (Facebook Live) ทางเพจ #KtcCsrClub

 

ดร.ศุภมิตร กล่าวถึงสาระสำคัญของมาตรฐาน TFRS 9 ว่า “TFRS 9 คือ มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 : เครื่องมือทางการเงินที่ใช้ลงบัญชีของกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (PAEs: Publicly Accountable Entities) อันได้แก่ บริษัทมหาชน กิจการที่ต้องระดมเงินในวงกว้างโดยการออกตราสารหนี้ ตราสาร ทุน หรือเอกสารแสดงสิทธิ เช่น สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์และกองทุนรวม ฯลฯ รวมถึงกิจการที่กำลังขอจดทะเบียนออกตราสารในตลาดหลักทรัพย์ โดยได้มีการบังคับใช้มาตรฐาน TFRS9 ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา”  

 

มาตรฐาน TFRS9 ได้ปรับเปลี่ยนหลักการเกี่ยวกับการจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน และการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน โดยมีส่วนที่สำคัญคือ การกันเงินสำรองเพื่อรองรับผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสินทรัพย์และภาระผูกพัน เช่น เงินให้สินเชื่อ เงินลงทุนในตราสารหนี้ สัญญาค้ำประกันทางการเงิน วงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ จากแนวคิดเดิมที่กันเงินสำรองจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว (Incurred Loss) มาเป็นการกันสำรองเพื่อรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Expected Loss: EL) เพื่อให้เงินสำรองสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตตลอดอายุของลูกหนี้ โดยกำหนดให้พิจารณาจากข้อมูลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Forward-looking Information) โดยพิจารณากันเงินสำรองต่างกันตามสถานะหรือชั้น (Stage) ของลูกหนี้

ลูกหนี้ Stage 1 กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตไม่เปลี่ยนแปลงจากวันแรกของการให้สินเชื่อ ให้กันเงินสำรองเพื่อรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 1 ปีข้างหน้า (1-year EL)

ลูกหนี้ Stage 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ลูกหนี้Stage 3 กลุ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing loan: NPL) ให้กันเงินสำรองรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดอายุของลูกหนี้ (Lifetime EL) ทำให้สถาบันการเงินรับรู้เงินสำรองเร็วขึ้นตามสถานะของลูกหนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป และงบการเงินสะท้อนฐานะที่แท้จริงอย่างเป็นปัจจุบัน

“สำหรับงบการเงินจะเปลี่ยนแปลงการแสดงรายการแบบใหม่ ตามแนวทางการจัดประเภทและการวัดมูลค่าที่เปลี่ยนแปลง โดยจะเพิ่มบางรายการ เช่น สินทรัพย์ หนี้สินทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน (Fair value through PL: FVTPL) และงบกำไรขาดทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงบางรายการ เช่น กำไร (ขาดทุน) จากการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงินประเภทต่างๆ ผ่านกำไรขาดทุน (FVTPL) หรือกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (Fair Value through Other Comprehensive Income: FVOCI) และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินทราบถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจ และวัตถุประสงค์ในการถือครองสินทรัพย์ของกิจการ หากมีวัตถุประสงค์ในการถือครองสินทรัพย์เพื่อมุ่งหวังกำไรระยะสั้น จะรับรู้กำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเข้างบกำไรขาดทุน (FVTPL) แต่หากถือเพื่อมุ่งหวังกระแสเงินสดและขายในอนาคต จะรับรู้กำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเข้างบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (FVOCI) แต่หากถือเพื่อมุ่งหวังเพียงกระแสเงินสดตามสัญญา จะวัดมูลค่าด้วยวิธีราคาทุนตัดจำหน่ายและมีการกันสำรองตามที่กล่าวข้างต้น สำหรับอัตราส่วนทางการเงินบางรายการก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เช่น เงินให้สินเชื่อใน Stage 2 ratio อาจมากกว่า Special Mention (SM) ratio เดิม เนื่องจากขอบเขตการนับลูกหนี้ที่กว้างกว่า ในขณะที่ Net Interest Margin (NIM) อาจกว้างขึ้นแต่ไม่มาก เนื่องจากการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากส่วนที่คาดว่าจะได้รับคืนของลูกหนี้ NPL”

นายชุติเดช กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับเคทีซีบนมาตรฐาน TFRS 9 ว่า “การนำมาตรฐานบัญชี TFRS9 มาใช้สำหรับงบการเงินเคทีซีที่มีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไปนั้น จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในการรายงานตัวเลขทางการเงินมากกว่าที่จะเป็นผลกระทบต่อการปฏิบัติงานจริง ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดจะมาจากแนวทางการตัดหนี้สูญที่เข้มข้นกว่ามาตรฐานเดิม โดยรายงานตัวเลขทางการเงินตาม TFRS9 จะแตกต่างไปจากเดิม 5 เรื่องด้วยกัน ดังนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงการตัดหนี้สูญ (Write off) กับการบันทึกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระเกินกว่า 90 วัน โดยการตัดหนี้สูญจะทำได้ช้าลง เนื่องจากหนี้สูญที่ตัดออกเพื่อการใช้สิทธิทางภาษี จะยังไม่ถูกตัดออกจากรายงานจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ได้อีกต่อไป ดังนั้น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) บนมาตรฐานใหม่ TFRS9 จะเทียบเคียงได้กับ Write off + NPL ตามมาตรฐานเดิม เช่น เดิมบริษัท A ตัดหนี้สูญปีละประมาณ 7-8% คงเหลือ NPL ประมาณ 1% แต่ภายใต้ TFRS9 จะรายงานประมาณ 8-9% ทำให้เห็นว่าตัวเลข NPL ตามมาตรฐานใหม่ดูสูงขึ้น 
  2. การเปลี่ยนแปลงการบันทึก NPL กับตัวชี้วัดสำคัญทางการเงิน ด้วย NPL ที่รายงานภายใต้ TFRS9 มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราส่วนที่เกี่ยวข้องมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อลูกหนี้รวม (Allowance/Port) ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อลูกหนี้ที่อายุเกิน 90 วัน (NPL Coverage)  เช่น ภายใต้มาตรฐานใหม่อัตราส่วนของ Allowance/Port ตามตัวเลขฐานใหม่อาจจะอยู่ประมาณ 9%-11% และ NPL Coverage อาจจะเป็นประมาณ 100%-200% ทั้งนี้ เมื่อมีการนำ TFRS9 มาใช้เต็มรูปแบบ จะทำให้สามารถประมาณการอัตราส่วนดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น
  3. การเปลี่ยนแปลงการบันทึกรายได้ ภายใต้มาตรฐานใหม่ TFRS9 ที่กำหนดให้บริษัทยังคงต้องรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจาก NPL ไปจนกว่า NPL ดังกล่าวจะถูกตัดเป็นหนี้สูญ แม้ว่าจะอยู่ใน Stage 3 แล้วก็ตาม
  4. การบันทึกกำไรทางบัญชีเพิ่มขึ้น มาตรฐาน TFRS9 กำหนดให้บริษัทต้องตั้งสำรองสำหรับ NPL ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ตามจำนวนที่ได้จากการคำนวณตาม ECL Model (Expected Credit Loss Model) ซึ่งจะไม่ใช่การตั้งสำรองเต็ม 100% เหมือนเดิม และด้วยมาตรฐาน TFRS9 ที่กำหนดไว้ ในกรณีที่มีส่วนต่างของรายได้ดอกเบี้ยและสำรองในส่วนของดอกเบี้ยที่น้อยกว่า 100% ให้รับรู้ผลต่างนั้นในงบกำไรขาดทุนด้วย ซึ่งมีผลให้กำไรทางบัญชีเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ด้วยจำนวนของสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เคทีซีมีอยู่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เมื่อได้คำนวณตาม ECL Model แล้ว มีส่วนที่เกินอยู่จำนวนหนึ่ง ฝ่ายจัดการของบริษัทฯ จึงพิจารณา Management Overlay จำนวนหนึ่งเพิ่มเติมตามกำหนดในมาตรฐาน TFRS9 จึงทำให้เมื่อเข้าสู่ TFRS9 จะไม่มีสำรองส่วนเกิน”

เคทีซีมีผลประกอบการ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ดังนี้ กำไรสุทธิ 5,524 ล้านบาท พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 85,834 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี แบ่งเป็นธุรกิจบัตรเครดิต 2,510,914 บัตร พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 56,653 ล้านบาท NPL รวม 1.06% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 0.93% ธุรกิจสินเชื่อบุคคลมีจำนวนทั้งสิ้น 888,342 บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 28,933 ล้านบาท NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.92%

X

Right Click

No right click