December 23, 2024

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้ เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ (ฉบับใหม่) เน้นการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า

April 12, 2021 1338

ภายใต้แนวคิด ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ พร้อมเดินสายจัดเวทีสัญจรทั่วประเทศสร้างการรับรู้ประชาชนต่อกฎหมายใหม่ ล่าสุดลงพื้นที่สุพรรณฯ ชาวบ้านตอบรับให้ความสนใจร่วมรับฟังเพียบ

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมสัญจร ภายใต้โครงการการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมาย ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยมี นายทศพร  รักจันทร์  ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมคณะผู้บริหาร และตัวแทนประชาชนในพื้นที่ร่วมเสวนา ณ โรงเรียนบ้านห้วยหินดำ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

 

นายทศพร  รักจันทร์  ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ภายหลัง พ.ร.บ.กรมอุทยานแห่งชาติ (ฉบับใหม่) และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับใหม่) ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้กับเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และได้ประกาศบังคับใช้ไปเมื่อปลายปี พ.ศ.2562 ดังนั้น เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อสาระสำคัญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติกฎหมาย ฉบับใหม่ให้กับประชาชนทั่วไป รวมไปถึงชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้จัดเวทีเสวนาสัญจร ภายใต้โครงการ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายของกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เลย และ พังงา

ผอ.ส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ฯ  กล่าวอีกว่า ในการเสวนาครั้งนี้ยังคงเน้นสาระสำคัญของพระราชบัญญัติกฎหมายใหม่เช่นเดิม โดยเฉพาะมาตรา 64 ซึ่งกำหนดให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ก่อนพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยชุมชนที่อาศัยในพื้นที่อุทยานฯ จะไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น หากแต่สามารถอยู่อาศัยทำกินได้ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการบุกรุกครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าแต่เดิมนั้น จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การอยู่อาศัยหรือทำกิน รวมถึงการสิ้นสุดการอนุญาต ซึ่งจะอยู่ภายใต้มาตรการในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลว่าต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นการให้สิทธิ์ในที่ทำกินไม่ใช่การให้เอกสารสิทธิ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกกฎหมายลำดับรอง ในการกำหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไข การอยู่อาศัยและทำกิน รวมถึงกรณีของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่แล้วในอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ และวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ชาวเล ชาวกะเหรี่ยง เป็นต้น

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ (มาตรา 65) ยังเปิดให้ชาวบ้านสามารถเก็บหาของป่าหรือหากินในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ โดยอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนด เช่น เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาต เก็บตามชนิด ตามประเภทที่ให้เก็บ เก็บในบริเวณที่ให้เก็บ เก็บในระยะเวลาที่ให้เก็บ เก็บเพื่อดำรงชีพอย่างปกติ  ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นข้อผ่อนปรนที่ทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล ขณะ เดียวกัน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้เพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น เพื่อที่ประชาชนจะไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย อาทิ ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 -2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

ในส่วน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับใหม่) มีการเพิ่มบทลงโทษที่แรงขึ้นเช่นกัน โดยบทลงโทษที่รุนแรงนี้จะช่วยควบคุมป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้ดียิ่งขึ้น อาทิ บทบัญญัติ มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวน หรือ สัตว์ป่าคุ้มครอง หากสัตว์ชนิดนั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากสัตว์ชนิดนั้นเป็นสัตว์ป่าสงวน จะมีโทษปรับขึ้นไปอีก คือ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึง
หนึ่งล้านห้าแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

นายทศพร  กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งเรื่องที่ได้เพิ่มเติมเข้ามาในกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ คือ การจัดสรรรายได้ของอุทยานแห่งชาติส่วนหนึ่งจะใช้เพื่อการส่งเสริมการปฏิบัติงานและการพัฒนาพื้นที่ชุมชนรอบอุทยานแห่งชาตินั้นๆ โดยรายได้ที่จัดเก็บก็เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพความปลอดภัย ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย การให้บริการ และการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน  สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ นอกจากนี้ ข้อบัญญัติใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ (ฉบับใหม่) จะช่วยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรืออาสาสมัคร ได้รับสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน เช่น การเยียวยา หากเกิดการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้แต่การสนับสนุนเงินเพื่อการสู้คดี หากมีการฟ้องร้องจากคู่กรณี ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีขวัญและกำลังใจที่ดีในการทำงานอนุรักษ์ผืนป่าของเมืองไทยต่อไป

“กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญของการปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ คือ การที่คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ว่า ป่านั้นสำคัญกับทุกคนมากแค่ไหน เมื่อเข้าใจเราก็จะรู้คุณค่าของป่าและจะไม่ทำลายมัน รวมทั้งจะช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องแจ้งเบาะแสการกระทำผิดให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” นายทศพร  กล่าวในตอนท้าย

Related items

X

Right Click

No right click