ที่มีอัตราและสถิติของการติดเชื้อและแพร่ระบาดแสดงภาพเป็นกราฟพุ่งสูงตลอดไตรมาส แต่ เคทีซียังคงความสามารถในการทำกำไรปิดบัญชีสุทธิได้ที่ 1,634 ล้านบาท โดยขยายตัวเพิ่มถึง 23.6% เทียบจากไตรมาสของปี2563ที่ผ่านมา
ผลประกอบการธุรกิจ KTC ไตรมาส 1/64
ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)หรือ KTC แถลงผลประกอบการ ประจำไตรมาสแรกโดยเผยว่า “ภาพรวมของอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในช่วงต้นปี 2564 ยังคงเติบโตเล็กน้อย ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน และการลดเพดานอัตราดอกเบี้ย โดยเคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมสำหรับสองเดือนแรกของปี 2564 เท่ากับ 13.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ลูกหนี้บัตรเครดิตขยายตัวที่ 3.7% มากกว่าอุตสาหกรรมที่เติบโต 0.8% และมีสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 5.0%”
“สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงไตรมาสแรก สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 เคทีซีมีกำไรสุทธิ 1,634 ล้านบาท ขยายตัว 23.6% จากไตรมาส 4/2563 และใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2563 ที่ 1,641 ล้านบาท (ลดลง -0.4%) ยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 86,854 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL) 1.9% (ไตรมาส 4/2563 เท่ากับ 1.8%) ผลจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,544,635 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 57,393 ล้านบาท NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.4% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเท่ากับ 48,420 ล้านบาท พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซีเท่ากับ 809,981 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 29,461 ล้านบาท NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.9%”
“ไตรมาส 1/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 5,320 ล้านบาท ลดลง -6.2% (ไตรมาส 1/2563) จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการใช้จ่าย และมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยในการลดเพดานดอกเบี้ยทั้งธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ทำให้บริษัทฯ มีรายได้ดอกเบี้ยรวม (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) อยู่ที่ 3,357 ล้านบาท ลดลง -7.1% แบ่งเป็นรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจบัตรเครดิต 1,604 ล้านบาท และธุรกิจสินเชื่อบุคคล 1,753 ล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมรายได้ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) มีมูลค่า 1,082 ล้านบาท ลดลง -8.6% จากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมในการเบิกเงินสดล่วงหน้า รายได้ค่าธรรมเนียมในการติดตามหนี้ รายได้ค่าธรรมเนียม Interchange Fee และรายได้ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ลดลง ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมที่เคทีซีได้รับจากร้านค้าผู้รับชำระบัตรเพิ่มขึ้น 3.5%”
นโยบายบริหาร 64 เน้นย้ำควบคุม ค่าใช้จ่าย + บริหารพอร์ตลูกหนี้ และ NPL
ซีอีโอ KTC ยังเผยถึงนโยบายการบริหาร ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อสร้างเป้าหมายความสำเร็จที่มุ่งเน้นความสำคัญในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ และจัดการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทฯ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายรวมให้อยู่ที่ 3,281 ล้านบาท ลดลง -9.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการลดลงของ 3 ค่าใช้จ่ายหลักคือ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานรวม -11.2% ผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น -8.0% และต้นทุนทางการเงิน -7.6% อีกทั้งยังมีรายได้หนี้สูญรับคืนอยู่ที่ 834 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไตรมาสแรกนี้ บริษัทฯ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมลดลงเล็กน้อย เป็นผลให้กำไรสุทธิของบริษัทใกล้เคียงเดิม
เพิ่มอันดับเครดิตเป็น AA- จาก A+
นอกเหนือไปจากผลสำเร็จในด้านผลประกอบการอันเป็นที่พอใจ ซีอีโอของ KTC ยังเปิดเผยถึง ความสำเร็จของ KTC ที่ได้รับกาปรับเพิ่มอันดับเครดิตของเคทีซีเป็น AA- จาก A+ โดย บริษัท ทริส เรตติ้ง จำกัด เมื่อต้นเดือนเมษายน 2564 ซึ่งหมายถึงภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งในด้านการจัดหาเงินทุนให้บริษัทฯ สามารถรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ใหม่ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงได้อีก โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 บริษัทฯ มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) เท่ากับ 23,260 ล้านบาท มีต้นทุนการเงินอยู่ที่ 2.64% อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของ ผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.43 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า
“สำหรับทิศทางการทำธุรกิจของเคทีซีในปี 2564 บริษัทฯ จะมุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้พอร์ตลูกหนี้หลัก เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อเบ็ดเสร็จครบวงจร ภายหลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท กรุงไทย ลีสซิ่ง จำกัด โดยจะเน้นการพัฒนาองค์กรและธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วย 2 องค์ประกอบสำคัญคือ 1) ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการและระบบการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ที่ตอบทุกโจทย์ความต้องการ เน้น Digital Transformation บน 3 แกนหลัก คือ Digital Product, Digital Service และ Digital Channel 2) สร้างการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม อีกทั้งมีส่วนร่วมกับสังคมในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจทางการเงิน สร้างวินัยในการใช้จ่าย เน้นการนำไปต่อยอดการใช้ชีวิตและเสริมสร้างพอร์ตลูกหนี้ที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน”
“ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ดำเนินกิจการภายใต้การสนับสนุนภาครัฐในการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เรื่อยมา และจะขยายเวลาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยปัจจุบันลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือมียอดหนี้คงเหลือเท่ากับ 1,169 ล้านบาท (16,066 บัญชี)” ระเฑียร ศรีมงคล กล่าว