December 23, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

อีคอมเมิร์ซไทยพลิกโฉมโลจิสติกส์ 4.0 ไปรษณีย์ไทยยังครองแชมป์ส่วนแบ่งตลาด

October 02, 2017 2760

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ยืนยัน ครองแชมป์ตลาดไปรษณีย์ภัณฑ์และรับส่งสินค้า ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 55% จากมูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 27,200 ล้านบาท โดยในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนแบ่งตลาดของไปรษณีย์ไทยถือครองมากกว่า 70 % ในขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 40 % อย่างไรก็ตาม ไปรษณีย์ไทย ยังคงเร่งพัฒนาการบริการ และประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดกำลังเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม "ดิจิทัลชุมชน" เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชน และสินค้าโอทอป ให้มีพื้นที่ในการกระจายตลาดสู่โลกออนไลน์ ประกอบกับให้คนไทยสามารถเข้าถึงสินค้าชุมชนที่มีคุณภาพ ซึ่งระบบแพลตฟอร์มดังกล่าวสำเร็จไปแล้วกว่า 70% ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 นี้

พิษณุ วานิชผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เผยผลประกอบการตลาดขนส่งสินค้า e-Commerce ของ ปณท ครึ่งปีแรก 2560 พบว่ารายได้อยู่ที่ 10,687 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 ที่ 18% เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย มั่นใจครึ่งปีหลังรายได้เติบโตเกินเป้าหมาย 26,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ด้วยเทรนด์พฤติกรรมการส่งสินค้าของลูกค้าที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว ไปรษณีย์ไทยได้จัดทัพบริการต่างๆ รองรับทุกความต้องการของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซและนำระบบไอทีเข้ามาช่วยพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ ตอบทุกโจทย์การส่งของธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งกลุ่ม C2C และ B2C อาทิ ระบบ Prompt Post ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า C2C สามารถทำการจ่าหน้าและสร้างบาร์โค้ดการฝากส่งจากระบบอัตโนมัติได้ด้วยตัวเอง

รวมทั้งบริการพร้อมส่ง (กล่องสีฟ้า) ในราคาเหมาจ่ายทั่วประเทศที่ช่วยประหยัดเวลา ส่งได้ไม่ต้องรอคิว ด้วยช่องบริการพิเศษ (Fast Track) ณ ที่ทำการไปรษณีย์ 47 แห่งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ลูกค้า B2C สามารถเลือกใช้บริการ D-Packet ซึ่งมีบริการเสริมหลายรูปแบบที่เหมาะกับธุรกิจ อาทิ Drop Off จุดรับฝากส่งสินค้า Pick Up Service บริการรับสินค้าถึงที่อยู่ผู้ส่ง รวมถึงบริการเก็บเงินปลายทาง COD สามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าธุรกิจ 0 2982 8222

ด้าน ดร.รัฐศาสตาร์ กรสูตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเลขภาพรวมของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท โดยพฤติกรรมผู้บริโภคของคนไทยปัจจุบัน มีอัตราการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์อยู่ที่ประมาณ 3 % เมื่อเทียบกับการซื้อของออฟไลน์ ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 8.2 % และจากการคาดการณ์ อัตราการเลือกซื้อของออนไลน์กับอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.2 % เทียบเท่าระดับสากลภายในปี 2565

ในขณะเดียวกันทางภาครัฐ และเอกชนต้องพิจารณาถึงแนวทางในการส่งเสริมและผลักดันให้คนไทยหันมาซื้อของออนไลน์กับระบบอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยจากการสำรวจพบว่า สินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องสำอาง เป็นสินค้า 2 อันดับแรกที่มีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์มากที่สุด

          

Related items

X

Right Click

No right click