ตั้งเป้าเดินหน้าเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) การมีส่วนร่วม (Inclusiveness) และความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น (Trust and Confidence)
ภายใต้การแถลงข่าว ผ่านรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมต.ว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมนาและแถลงยุทธศาสตร์ ของ ก.ล.ต. ในหัวข้อ “นโยบายพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อเป็นกลไกในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19” “เพื่อช่วยให้ประเทศไทยเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน ครอบคลุมทุกภาคส่วน กระทรวงการคลังได้วางทิศทางนโยบายในการพัฒนาตลาดทุนไทยไว้ทั้งหมด 5 ด้านพร้อมมอบหมายให้ ก.ล.ต.เป็นเจ้าภาพร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำนโยบายดังกล่าวมาจัดทำเป็นแผน
เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยสำหรับปี 2565 – 2570 โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้พิจารณาผนวกแผนฟินเทค (Fintech) ในแผนพัฒนาตลาดทุนดังกล่าวสำหรับนโยบาย เพื่อการพัฒนาตลาดทุนทั้ง 5 ด้าน ประกอบ้ด้วย
1) การส่งเสริมการเข้าถึงการระดมทุนและการลงทุนผ่านกลไกตลาดทุน (accessibility) โดยเฉพาะกลุ่มภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2) การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย (competitiveness) 3) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับตลาดทุน (digital for capital market) 4) การพัฒนาตลาดทุนที่ยั่งยืน (sustainable capital market) 5) การสนับสนุนสุขภาพทางการเงินที่ดีของประชาชนในระยะยาว และการมีความรู้ความเข้าใจทางการเงิน (financial well-being)”
สำหรับ นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. ได้กล่าวถึงบทบาทของตลาดทุนไทยต่อเศรษฐกิจของประเทศและบทบาทของ ก.ล.ต. ในการวางนโยบายและทิศทางเพื่อพัฒนาสู่อนาคต ในงานนี้ว่า
“แม้การเปลี่ยนแปลงจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะรุนแรงและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม แต่ด้วยบทบาท หน้าที่ สรรพกำลังและทรัพยากรของตลาดทุนไทยที่ยังคงเข้มแข็ง จึงทำให้ตลาดทุนไทยยังคงมีศักยภาพและบทบาทสำคัญที่สามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน ได้แก่ บทบาทในการสร้างการมีส่วนร่วม บทบาทการพัฒนากลไกและสภาพแวดล้อมที่จะสร้างประโยชน์ไปถึงกลุ่มธุรกิจในเศรษฐกิจยุคใหม่และ บทบาทการส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศผ่านการสนับสนุนเทคโนโลยีและดิจิทัล ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ได้ดำเนินหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ”
สำหรับ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้แถลงถึงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.
ปี 2565 – 2567 พร้อมคณะผู้บริหาร ในงานนี้ว่า “แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2565 – 2567 มีความเชื่อมโยงและสอดรับกับทิศทางของประเทศตั้งแต่ระดับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับรองต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ตลอดจนทิศทางแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับใหม่ โดยในกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้มีการติดตาม วิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ พร้อมทั้งรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ อย่างแท้จริง อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และนำมาซึ่งความร่วมมือในการขับเคลื่อน และผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป”
ตามแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2565 – 2567 มุ่งบรรลุวัตถุประสงค์ 3 ด้าน ได้แก่ การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน การสร้างการมีส่วนร่วม และการสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น โดยมีเป้าหมายหลัก (key result)
5 ด้าน คือ
- ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง
- การเป็นตลาดทุนดิจิทัล เพื่อส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ
- การยกระดับศักยภาพตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (sustainable capital market)
- ตลาดทุนมีระบบนิเวศที่เหมาะสม ยืดหยุ่น ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเอื้ออำนวยต่อการพัฒนา
และกำกับดูแลให้สอดรับกับฉากทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมเชื่อมโยงและเป็นที่ยอมรับในสากล - ผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดให้มีแผนองค์กรนวัตกรรมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ (enabler) ที่จะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนและผลักดันภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้