ไทยยูเนี่ยนรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแรก รายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์

May 10, 2022 1138

 

ยอดขายเพิ่มขึ้น 16.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ 36,272 ล้านบาท  กำไรขั้นต้น เพิ่มขึ้น 15.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ 6,355 ล้านบาท  

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแรกของปี โดยมียอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 36,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ความต้องการสินค้าทั่วโลกที่สูงขึ้นเนื่องจากหลายประเทศได้กลับสู่สภาวะปกติ และผ่อนคลายมาตรการป้องการการแพร่ระบาดต่างๆ

 ด้วยการบริหารจัดการต้นทุน ประกอบกับผู้บริโภคเชื่อมั่นและต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ส่งผลให้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 15.4 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 6,355 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ด้วยแรงกดดันจากสถานการณ์เงินเฟ้อและอุปสรรคในห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งทั่วโลก ทำให้กำไรสุทธิของไทยยูเนี่ยนในไตรมาสแรกของปีลดลง 3.2 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 1,746 ล้านบาท 

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “แม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับความท้าทายทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไทยยูเนี่ยนยังสามารถทำผลงานได้ดี รวมถึงยอดขายจากหน่วยธุรกิจหลักทั้ง 3 ส่วน โดยไทยยูเนี่ยนยังคงให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความเป็นอยู่ และความปลอดภัยของพนักงาน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด เรามีมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทำให้บริษัทสามารถจัดการฐานการผลิตทั่วโลกของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถผลิตสินค้าคุณภาพให้กับผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง” 

ความต้องการสินค้าทั่วโลกส่งผลดีต่อยอดขายของบริษัท ซึ่งธุรกิจหลักทั้ง 3 ส่วนของบริษัทมียอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องมียอดขายเพิ่มขึ้น 14.3 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 15,527 ล้านบาทในไตรมาสแรก มีปัจจัยบวกจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ส่งผลบวกต่อธุรกิจ และราคาขายของสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 

ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นมียอดขายเพิ่มขึ้น 14.2 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 13,790 ล้านบาท สืบเนื่องจากความต้องการที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย ที่มีความต้องการสินค้าประเภทกุ้งสูงขึ้น อีกทั้งธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มทยอยฟื้นตัว และเช่นเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ส่งผลบวกต่อยอดขาย นอกจากนี้บริษัทยังได้นำระบบเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาใช้ในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริหารจัดการต้นทุนต่อหน่วย 

ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้าเพิ่มมูลค่า ยังคงมีส่วนสำคัญในการเติบโตทางธุรกิจของไทยยูเนี่ยนอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี ด้วยยอดขายที่พุ่งสูงขึ้น 27.2 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 6,955 ล้านบาท จากการที่ผู้คนใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้นและบริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต่างๆ นอกจากนี้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังมียอดขายที่สูงขึ้นด้วย 

ในไตรมาสแรกของปีนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้ขยายธุรกิจไปยังตลาดอื่นๆ และมีการตั้งบริษัทร่วมทุน ร่วมกับ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท Srinivasa Cystine Private Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออะแวนติ กรุ๊ป โดยใช้ชื่อ บริษัท อาร์บีเอฟ-ทียู ฟู้ด อินกรีเดียนท์ ไพรเวท จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายส่วนผสมในอาหารคุณภาพสูงในประเทศอินเดีย 

ในไตรมาสแรกเช่นเดียวกัน ไทยยูเนี่ยนยังเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่นี้กับ บริษัทแปซิฟิค ห้องเย็น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ในนาม บริษัท แปซิฟิค ทียูเอ็ม โคลด์ สโตเรจ จำกัด บริษัทร่วมทุนใหม่นี้จะดำเนินการก่อสร้างคลังสินค้าห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรองรับการจัดเก็บวัตถุดิบและสินค้าที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น 

“ท่ามกลางวิกฤตนั้นมีโอกาส และในขณะเดียวกันในวิกฤตก็มีความท้าทายอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากโอไมครอน รวมถึงสถานการณ์ห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งทั่วโลก และแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงยึดกลยุทธ์หลักในเรื่องความหลากหลายของธุรกิจ โดยได้ลงทุนและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรสูง ซึ่งเราจะสามารถใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าและใช้วัตถุดิบในโรงงานได้อย่างคุ้มค่า และให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ผ่านผลิตภัณฑ์และธุรกิจต่างๆ ของเรา เพื่อให้ธุรกิจหลักเติบโตและทำกำไร รวมถึงขยายตัวไปยังธุรกิจที่น่าสนใจเพื่อสร้างสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนและได้ดูแลสิ่งแวดล้อมและท้องทะเลไปพร้อมกัน” นายธีรพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

X

Right Click

No right click