November 07, 2024

135 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ความร่วมมือทางการค้าสู่มิติใหม่เพื่อความยั่งยืน

October 20, 2022 1158

ไทยและญี่ปุ่น เป็นประเทศพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นมากว่า 600 ปี

ตลอดระยะเวลาการเป็นพันธมิตรกับดินแดนอาทิตย์อุทัยนี้ ได้มีความผูกพันใกล้ชิดและเกิดความร่วมมือในทุกระดับ นับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2430 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และโอกาสทางเศรษฐกิจที่มีร่วมกันก็ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ เป็นเวลากว่า 135 ปีแล้วที่ประเทศไทยและญี่ปุ่นได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ทั้งสองประเทศถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญระหว่างกัน โดยประเทศญี่ปุ่นคือผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของไทยมาอย่างต่อเนื่อง มีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยเกือบ 6,000 บริษัท คิดเป็น 1 ใน 3 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในประเทศไทย

SCGC หนึ่งในความร่วมมือ จับมือพัฒนานวัตกรรมเคมีภัณฑ์ตอบโจทย์เมกะเทรนด์

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC  องค์กรที่มุ่งสู่ “ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืนในระดับภูมิภาค” เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทญี่ปุ่นมาตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจยุคแรก ๆ ใน ปี 2539 โดยมีการร่วมลงทุนกับบริษัทเคมีภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนานวัตกรรมเคมีภัณฑ์ออกสู่ตลาด สร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ ด้วยอัตราการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตด้านเศรษฐกิจและจำนวนประชากร

การร่วมทุนระหว่าง SCGC และบริษัทในประเทศญี่ปุ่น เช่น การร่วมทุนกับบริษัทมิตซุย เคมิคอลส์ จำกัด ก่อตั้งบริษัทแกรนด์ สยาม คอมโพสิต จำกัด เพื่อผลิตพีพีคอมพาวนด์ และก่อตั้งบริษัทสยาม โทเซลโล จำกัด ผลิตฟิล์มพลาสติก LLDPE ชนิดพิเศษสำหรับบรรจุภัณฑ์ การร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล จำกัด ก่อตั้งบริษัท ไทย เอ็มเอ็มเอ จำกัด เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เมธิลเมตาคริเลต (MMA) และผลิตภัณฑ์แผ่นอะคริลิกภายใต้แบรนด์ Shinkolite

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง SCGC กับพันธมิตรในประเทศญี่ปุ่น ในงานสัมมนาเชิงนโยบาย "ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามิติใหม่ ไทย - ญี่ปุ่น” ที่จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า

“SCGC ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน และพร้อมผนึกกำลังเพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เติบโตอย่างยั่งยืน โดย SCGC มีธุรกิจหลักด้านการผลิตเคมีภัณฑ์ที่เป็นพอลิเมอร์หรือเม็ดพลาสติกหลักทั้ง 3 ประเภท คือ พอลิเอทิลีน (Polyethylene) พอลิโพรพิลีน (Polypropylene) และพอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride) รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพื่อตอบสนองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่สำคัญ เช่น การขยายตัวของเมือง ความยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน การดูแลสุขภาพ เป็นต้น โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง หรือ HVA (High Value Added Product & Service) ทั้งนี้ SCGC มีมาตรฐานการจัดการแบบ World Class พร้อมทั้งนำ AI และดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิตตลอดทั้ง supply chain  นอกจากนี้ยังมีแนวทางที่จะขับเคลื่อนด้าน Energy Transition ซึ่งพร้อมที่จะหาจุดร่วมเพื่อความร่วมมือใหม่ ๆ

นอกจากนี้ SCGC ยังมุ่งเน้นนวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพอลิเมอร์ที่ลดการใช้วัตถุดิบ ประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลได้ง่าย ประกอบกับเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกที่ใช้แล้วที่เราประสานความร่วมมือกับพันธมิตรในญี่ปุ่น และเรากำลังศึกษาเรื่อง Bio-Polymer ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดญี่ปุ่น และตลาดโลก”

ความร่วมมือทางการค้ามิติใหม่ของไทย-ญี่ปุ่น

จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ทำให้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปสู่มิติใหม่ที่พร้อมก้าวไปกับโลกในวันนี้และอนาคต อย่างเช่น โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ของไทยที่สอดประสานกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล สุขภาพและการแพทย์ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีแผนริเริ่มการลงทุนในเอเชีย ซึ่งเป็นนโยบายการลงทุนใหม่ของญี่ปุ่น โดยจัดให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ เพื่อจับมือกันก้าวสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนระหว่างญี่ปุ่น-ไทย และภูมิภาคเอเชียโดยรวม

สะท้อนความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ผ่านความร่วมมือทางการค้า

สำหรับความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่ผ่านมา ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของไทย ในช่วง 5 ปีมานี้ มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ย 56,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดในปี 2564 แม้ว่าไทยและญี่ปุ่นจะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 มูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศก็ยังเติบโตกว่าร้อยละ 20 ทั้งนี้เป็นเพราะไทยและญี่ปุ่นได้มีข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกัน ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น หรือ JTEPA และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียนญี่ปุ่น หรือ AJCEP โดยในปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลง JTEPA และ AJCEP ร่วมกันกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออก นอกจากนี้ยังมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2565 ครอบคลุมทั้งเรื่องสินค้า บริการ และการลงทุน ในกลุ่มอาเซียน และญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ถือเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยและญี่ปุ่น โดยในช่วง 3 เดือนแรกของการบังคับใช้ความตกลง RCEP ผู้ส่งออกไทยเริ่มขอใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP ไปยังญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่ากว่า 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แน่นอนว่านับจากนี้ ด้วยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น จะทำให้ทั้งสองประเทศพัฒนาความร่วมมือในมิติที่หลากหลายยิ่งขึ้น พร้อมสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตไกลในระดับภูมิภาค ซึ่ง SCGC พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

X

Right Click

No right click