สมาคมส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ SCP Association (Thailand) ร่วมกับ Asia Pacific Roundtable for Sustainable Consumption and Production (APRSCP) จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “16th Asia Pacific Roundtable on Sustainable Consumption and Production: Bridging Net Zero Transition by SCP and Circular Economy” ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ บทเรียน การศึกษาวิจัย และการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินงานด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเสริมสร้างศักยภาพ การเข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม และแหล่งเงินทุน เพื่อยกระดับความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero GHG Emission ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังเปิดงานว่า การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 เพราะภาคอุตสาหกรรมและการผลิตจะปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภาครัฐจึงได้ออกมาตรการเข้มงวด โดยกำหนดให้ภายในปี ค.ศ.2025 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะหยุดการนำเข้าเศษพลาสติก แต่จะมีการอนุญาตเฉพาะในส่วนของเศษพลาสติกที่ไม่สามารถหาได้จากภายในประเทศซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณีๆไป
มร.สันเจย์ กุมาร์ ประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APRSCP) กล่าวว่า "ในโลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤตของการมีชีวิตอยู่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอยู่บนทางแยกระหว่างโอกาสกับความท้าทายที่จะมีผลกระทบระยะยาวต่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นว่า ภูมิภาคนี้จะฟื้นตัวดีขึ้นและกลับมาแข็งแกร่งมากขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องกำหนดเส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่คำนึงถึงความเท่าเทียมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากยังต้องส่งเสริมการแบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองด้วย"
ขณะที่ ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ประธานคณะกรรมการการจัดงานและนายกสมาคมและประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thai SCP Network) กล่าวว่า “การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SCP) ร่วมกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) เป็นทั้งแนวทางระดับสากล และการดำเนินการเปลี่ยนแปลงอันนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งสังคมคาร์บอนต่ำและการเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น ด้วยความตระหนักและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงถึงเวลาแล้ว ที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่คุกคามความยั่งยืนของระบบนิเวศทางธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต ด้วยมาตรการต่าง ๆ อาทิ การทบทวนการผลิตและการบริโภค ผ่านนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม”
ดร.วิจารย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากในการขับเคลื่อนโดยการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชน สิ่งที่คาดหวังจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ การถอดบทเรียนจากในหลาย ๆ พื้นที่ โดยเครือข่ายของเรามีการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน อาทิ อุตสาหกรรม การเกษตร ท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างหลายหน่วยงานโดยเฉพาะภาครัฐซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งการให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (BIO-Circular-Green Economy) model โดยเรามีเป้าหมายลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 ขณะเดียวกันก็ให้ได้ผลผลิตที่ใช้ได้นานขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดของเสีย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยรวม คือ การใช้ทรัพยากรน้อยแต่ได้ผลลัพธ์มากนั่นเอง หรือทำน้อยได้มาก โดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ
โดยภายในงานครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องจาก องค์กรระหว่างประเทศ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์มากกว่า 300 คนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ทั้งในห้องประชุม และผ่านระบบออนไลน์) การประชุม APRSCP ซึ่งจัดต่อเนื่องมา โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 16 และเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี ที่เริ่มก่อตั้งครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 1997 ด้วย จึงเป็นการประชุมที่สำคัญที่จะตอบสนองต่อความท้าทายของโลกในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
การประชุมวิชาการ 16th APRSCP ครั้งนี้ ทางคณะกรรมการจัดงาน จะได้ทำการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้ถือได้ว่างานนี้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ “คาร์บอนนิวทรัลอีเว้นท์” โดยใช้คาร์บอนเครดิต ภายใต้ “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (หรือ T-VER) เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมทั้งของประเทศและของโลกได้