นางวรางคณา วงศ์ข้าหลวง รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นำคณะผู้บริหาร EXIM BANK จัดโครงการอบรมหัวข้อ “การสนับสนุนโครงการเงินกู้ระหว่างประเทศและการปล่อยกู้ร่วม (International Financing and Syndication)” ให้แก่บุคลากรของธนาคารแห่ง สปป.ลาว (Bank of The Lao P.D.R : BOL) และธนาคารพาณิชย์ใน สปป.ลาว โดยพบปะ ดร.บุนเหลือ สินไซวอระวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว และนายเพ็ดสะถาพอน แก้ววงวิจิด หัวหน้ากรมคุ้มครองเงินตราต่างประเทศ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 2-3 ตุลาคม 2566
คณะ EXIM BANK ได้เข้าพบผู้บริหารหน่วยงานใน สปป.ลาว ประกอบด้วยนางสายสะหมอน จันทะจัก ผู้อำนวยการใหญ่ ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public : BCEL) นายฟองสะมุด ดวงใจ ผู้อำนวยการธนาคารพัฒนาลาว (Lao Development Bank : LDB) และนายกวิน วิริยะพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ เพื่อรับฟังข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานต่าง ๆ ในฐานะ Stakeholders ของธนาคาร และหารือแนวทางขยายความร่วมมือด้านการเงินการธนาคารเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 2-5 ตุลาคม 2566
ขณะเดียวกัน คณะ EXIM BANK ได้เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการและพบปะหารือกับลูกค้าธนาคารในเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อรับฟังข้อมูลการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ในปัจจุบัน ประกอบด้วยนายบวร เอื้อเชาว์ธนรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเคแอล จำกัด ผู้ผลิตรองเท้าแบรนด์ดังระดับโลก ในกลุ่มซีเค ชูส์ (ประเทศไทย) จำกัด นายเสธนาวี สุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท เซเปียน-เซน้ำน้อยพาวเวอร์ จำกัด และนายชัยยุทธ รุจนาพร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิว จิบ เซ้ง จำกัด ศูนย์จำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ Honda ใน สปป.ลาว
รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ปัจจุบันบริบทการค้าและการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ภาคการเงินการธนาคารมีความซับซ้อนมากขึ้น EXIM BANK จึงเร่งสานพลัง Stakeholders ทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง สปป.ลาว พัฒนาบุคลากรและเครื่องมือทางการเงินให้พร้อมสนับสนุนธุรกิจของผู้ประกอบการไทยและคู่ค้าให้เติมเต็มการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องกับเป้าหมายของ EXIM BANK สู่การเป็น Green Development Bank ตลอดจนนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธนาคาร เพื่อเพิ่มสัดส่วนการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนและธุรกิจการค้าการลงทุนที่ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างยั่งยืน