September 10, 2024

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้ชายสูงวัยและมีแนวโน้มว่าจะพบมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาโรคเกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมากมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากทำให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำมากขึ้นแล้ว ยังทำให้การรักษามีความปลอดภัย ลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการรักษา

ปัจจุบัน มีทางเลือกการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากหลายหลายวิธี ซึ่งเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยที่แตกต่างกันไป ได้แก่

  1. การเฝ้าระวังเชิงรุก (Active Surveillance) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งเติบโตช้าและยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น แต่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
  2. การผ่าตัด (Radical Prostatectomy) มี 3 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิด (Open Radical Prostatectomy), การผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้อง (Laparoscopic Radical Prostatectomy) และการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-Assisted Da Vinci Surgery)
  3. การใช้รังสีรักษา (Radiation Therapy) มี 2 รูปแบบ คือ การฉายรังสีและการฝังแร่ มักใช้ในมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ยังไม่ลุกลามออกนอกต่อมลูกหมาก (Localized Prostate Cancer) ซึ่งในขณะฉายรังสีอาจทำให้แสงไปโดนอวัยวะที่อยู่รอบต่อมลูกหมาก เช่น ลำไส้ตรง (Rectum) ซึ่งกว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยจะเกิดอาการแทรกซ้อนค่อนข้างมาก คือท้องเสียหรือปวดหน่วงทวารจนต้องใช้ยา และอาจพบลำไส้ทะลุหรือมีเลือดออก ทำให้ต้องผ่าตัดแก้ไขหรือให้เลือด

ไฮโดรเจล (Hydrogel) เป็นนวัตกรรมที่ผลิตจากสารโพลีเอธิลีน ไกลคอล (Polyethylene Glycol: PEG) ช่วยลดผลแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยการฉายรังสีและการฝังแร่ ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วว่ามีความปลอดภัย ร่างกายสามารถดูดซึมและย่อยสลายได้ โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้นำนวัตกรรมไฮโดรเจลเข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2566

ทั้งนี้ ไฮโดรเจลจะทำหน้าที่เหมือนเป็นหมอนคั่นระหว่างต่อมลูกหมากและลำไส้ตรง ด้วยการเพิ่มช่องว่างระหว่างอวัยวะทั้งสอง ซึ่งปกติอยู่ห่างกันประมาณ 2-3 มม. ให้มีระยะห่างเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ซม. ทำให้ลำไส้ตรงไม่ได้รับรังสีหรือได้รับรังสีน้อยมาก

โดยก่อนการทำหัตถการ แพทย์จะฉีดยาชาหรือยานอนหลับให้กับผู้ป่วย แล้วจึงใช้น้ำเกลือฉีดเข้าไปในช่องว่างระหว่างต่อมลูกหมากกับลำไส้ตรงเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของตำแหน่ง จากนั้นแพทย์จะฉีดสารไฮโดรเจลซึ่งอยู่ในรูปแบบน้ำเข้าไปที่ช่องว่างนั้น เมื่อไฮโดรเจลเข้าสู่ร่างกาย จะเปลี่ยนสภาพเป็นเจลและช่วยขยายช่องว่างระหว่างต่อมลูกหมากกับลำไส้ตรงให้มีขนาดกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาเพียง 10-20 นาที ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากทำหัตถการ โดยร่างกายจะดูดซึมไฮโดรเจลไปตามธรรมชาติจนหมดภายในเวลา 6 เดือน

นพ. ธีระพล อมรเวชสุกิจ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่มีทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์สูง ซึ่งปัจจุบัน ได้ให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะไปแล้วกว่า 1,500 รายต่อปี และประมาณ 300 รายในนั้น คือผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่รักษาด้วยการใช้รังสีรักษา เรามุ่งมั่นและไม่หยุดพัฒนาที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการดูแลรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างครอบคลุม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ป่วย

ในปัจจุบัน การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) หรือ เวชศาสตร์จีโนม นับเป็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มาพลิกโฉมวงการแพทย์ทั่วโลก โดยใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมมนุษย์มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางคลินิกและข้อมูลแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการพยากรณ์โรคที่แม่นยำ การเลือกรูปแบบการรักษาและการใช้ยาแบบมุ่งเป้าเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ตรงจุด รวมไปถึงการทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรค และการสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้ข้อมูลในเชิงป้องกัน

ดร. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า เรามุ่งมั่นพัฒนาการรักษาในระดับจตุตถภูมิ (Quaternary Care) และเป็นสถาบันด้านวิชาการทางการแพทย์ (Academic Hospital) มีฝ่ายวิจัยและศึกษา ที่มีบุคลากรระดับปริญญาเอก เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการดำเนินความร่วมมือกับสถาบันทางวิชาการและมหาวิทยาลัยในระดับประเทศ รวมถึงบริษัทเอกชนต่างประเทศ เพื่อส่งมอบการดูแลรักษาตามมาตรฐานสากลและความปลอดภัยสูงสุด โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยและผู้ที่มารับบริการของเราทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ

ผศ.นพ. พลกฤต ทีฆคีรีกุล Chief Scientific Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ยกระดับจาก คลินิกพันธุศาสตร์เชิงป้องกัน (Preventive Genomic Clinic) เป็น “ศูนย์เวชศาสตร์จีโนม บำรุงราษฎร์ (Bumrungrad Genomic Medicine Center)” ซึ่งเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีและความรู้ด้านพันธุกรรมมาใช้ในเชิงป้องกันให้แก่ผู้ป่วยอย่างครบวงจรเป็นที่เดียวในประเทศไทย โดยส่งมอบการดูแลรักษาสุขภาพในระยะยาว ที่มุ่งเน้นมาตรฐานคุณภาพในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมในเชิงป้องกันเพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเกิดโรค ภายใต้ห้องปฏิบัติการของตนเองที่ได้การรับรองมาตรฐานในระดับสากล จากวิทยาลัยพยาธิแพทย์อเมริกัน College of American Pathologists (CAP) โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง ผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการ และผู้ชำนาญคุณวุฒิระดับปริญญาเอก ที่ร่วมกันกำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่ดีและเหมาะสมที่สุด ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง จนทำให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ได้รับการรับรองเป็น ผู้ให้บริการด้านเวชศาสตร์จีโนม จากกระทรวงสาธารณสุข

นพ. ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตระหนักถึงความสำคัญของการบริบาลทางการแพทย์ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งสามารถตรวจวิเคราะห์ถอดรหัสยีนได้อย่างแม่นยำ เพื่อบ่งบอกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉพาะการรักษาโรคซับซ้อน และเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคบางชนิดที่สามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่มีสาเหตุจากพันธุกรรมและถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในปัจจุบันมีการตรวจรหัสพันธุกรรมเชิงลึก โดยการถอดรหัสพันธุกรรมของยีนทั้งหมดในมนุษย์ (Whole Exome Sequencing) ที่ช่วยค้นหายีนในโรคทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหายาก

นอกจากนี้ การตรวจยีนของคู่สมรสที่วางแผนการตั้งครรภ์ จะช่วยคัดกรองและป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่อาจส่งผลกระทบต่อบุตรได้ โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีการตรวจยีนแฝงที่สามารถช่วยเรื่องการวางแผนการมีบุตร ไม่ว่าจะเป็น การตรวจหาความผิดปกติของยีนคู่สมรสที่สามารถส่งต่อโรคไปยังบุตร การตรวจหาความผิดปกติของยีนก่อเกิดโรคในทารก การตรวจหาโรคทางพันธุกรรมในทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา รวมถึงการตรวจหาความผิดปกติของยีนในตัวอ่อนก่อนฝังเข้าสู่โพรงมดลูก ในกรณีที่ผสมตัวอ่อนด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว

ศ.ดร.ภก. ชลภัทร สุขเกษม ที่ปรึกษาด้านเภสัชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีการนำนวัตกรรม “การตรวจยีนเพื่อเลือกใช้ยาเฉพาะบุคคล” หรือที่เรียกว่า “เภสัชพันธุศาสตร์และการแพทย์แม่นยำ (Pharmacogenomics and Precision Medicine)” มาใช้เพื่อการดูแลผู้ป่วยและผู้มารับบริการ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพ้ยา รวมถึงเพื่อให้แพทย์สามารถจ่ายยาได้ในปริมาณที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้นำนวัตกรรมการตรวจยีนเพื่อการปรับขนาดยาเฉพาะบุคคลมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มโรคต่าง ๆ ด้วยการดำเนินงานภายในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลในระดับสากล ที่มีจุดเด่นในการตรวจวิเคราะห์ยีนที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร ในกลุ่มผู้ป่วยทุกเชื้อชาติ และสามารถแปลผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ตามมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยและมอบความมั่นใจอย่างสูงสุดให้กับผู้ป่วย

นอกจากนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ยังเป็นแหล่งฝึกอบรมเภสัชกรเฉพาะทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์และการแพทย์แม่นยำ รวมถึงเป็นสถาบันร่วมในการเสริมสร้างและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเวชพันธุศาสตร์ที่หลากหลาย เช่น แพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ และผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุกรรม (Genetic Counselor) ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์เวชศาสตร์จีโนมของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการด้านเภสัชพันธุศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถต่อยอดไปใช้ในการแพทย์เชิงป้องกันในผู้มารับบริการที่มีสุขภาพดี เพื่อให้ผู้มารับบริการมีข้อมูลพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อยาติดไว้กับตัว และสามารถเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพแบบองค์รวมได้ นอกจากนี้ยังดำเนินการขยายการเข้าถึงการตรวจโดยระบบ Home Healthcare และร้านยาใกล้บ้าน ให้ได้รับการรักษาด้วยยาที่มีความปลอดภัยสูงสุดและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย

ผศ.นพ. พลกฤต ทีฆคีรีกุล กล่าวปิดท้ายว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีและความรู้ด้านพันธุกรรมมาใช้ในการวินิจฉัย ร่วมกับการรักษา ป้องกันโรค และดูแลสุขภาพองค์รวม นอกเหนือจากเรื่องเวชศาสตร์จีโนมแล้ว เรายังนำความรู้เรื่องมัลติโอมิกส์ (Multi-omics) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย มาใช้ในการตรวจรักษา โดยช่วยให้ทราบถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก AI ในการแปรผลยีนเพื่อให้มีความแม่นยำมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการต่อยอดความรู้ด้านจีโนมิกส์ สู่การพัฒนาด้านเวชศาสตร์เชิงป้องกัน เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีอย่างยืนยาวและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนอย่างยั่งยืน

นับเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ไม่เคยหยุดยั้งในการพัฒนาองค์ความรู้ และการแสวงหาการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อส่งมอบการบริบาลด้วยความเอื้ออาทรและเพื่อผลลัพธ์การรักษาในเชิงบวก โดยคำนึงถึงคุณภาพการรักษาที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลและความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาได้ที่ศูนย์เวชศาสตร์จีโนม บำรุงราษฎร์ (Bumrungrad Genomic Medicine Center) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชั้น 3 อาคาร B (โรงพยาบาล) โทร. 02 011 4890 หรือ 02 011 4891 (เวลาทำการ 8:00-18:00 น.)

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ขอแสดงความยินดีกับ รศ.คลินิก นพ. ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์, FASGE แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในโอกาสที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการการประชุม Digestive Disease Week (DDW) ระหว่างปี 2563-2567 โดยเป็นแพทย์ไทยคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานการประชุมเสวนาทางวิชาการด้านการตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องติดอัลตราซาวด์ หรือ Endoscopic Ultrasound (EUS) ของสมาคม American Society for Gastrointestinal Endoscopy (ASGE)

รศ.คลินิก นพ. ทศพล มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกและทบทวนงานวิจัยจากทั่วโลกสำหรับนำเสนอในการประชุมดังกล่าว โดยได้ดำเนินงานร่วมกับคณะผู้บริหารสมาคม ASGE อย่างใกล้ชิด ในการนำเสนอหัวข้อในเวทีสำคัญ ได้แก่

  1. Pancreatic EUS: Navigating Genomic Frontiers
  2. Pioneering Therapeutic EUS Techniques in Pancreatic and Small Bowel
  3. Effective Biliary Drainage - EUS is the New Kid in Town

ยิ่งไปกว่านั้น รศ.คลินิก นพ. ทศพล ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานประกาศรางวัล Crystal Awards Night ซึ่งเป็นงานสำหรับผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารเท่านั้น โดยได้ร่วมแสดงความยินดีกับ ศ. นพ. มาร์ติน แอล. ฟรีแมน ผู้รับรางวัล ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา (mentor) ของ รศ.คลินิก นพ. ทศพล ขณะศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ รศ.คลินิก นพ. ทศพล ได้รับการตอบรับเข้าฝึกอบรมการส่องกล้องขั้นสูงที่ Johns Hopkins University

นอกจากนี้ รศ.คลินิก นพ. ทศพล ยังได้ร่วมแสดงความยินดีกับลูกศิษย์ ในฐานะที่ปรึกษาที่สามารถผลักดันลูกศิษย์ให้ได้รับการตอบรับเข้าฝึกอบรมการส่องกล้องขั้นสูงที่ Johns Hopkins University ได้ โดยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเพียงคนเดียวที่อาศัยอยู่นอกสหรัฐอเมริกาของสมาคม ASGE และสมาคม American College of Gastroenterology (ACG)

การได้รับเกียรติในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมและความทุ่มเทของ รศ.คลินิก นพ. ทศพล ในการพัฒนาองค์ความรู้และการปฏิบัติทางการแพทย์ในระดับโลก 

ปัจจุบัน ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้วงการสาธารณสุขทั่วโลกมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะในผู้สูงวัย หนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุดในชายสูงวัย คือ โรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งพบมากในผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 50% และในผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป กว่า 80% ทั้งนี้ โรคต่อมลูกหมากโต ถึงแม้จะเป็นโรคที่ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก

ดร. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เราได้ตระหนักถึงปัญหาและมุ่งหวังที่จะทำให้ผู้ป่วยหายจากภาวะเจ็บป่วยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีศูนย์ทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่มีทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูง รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพเข้ามาใช้ ซึ่งสามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตและโรคที่เกี่ยวกับต่อมลูกหมากอื่น ๆ ได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นเคสยากหรือซับซ้อน งานแถลงข่าวในครั้งนี้ จึงนับเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบำรุงราษฎร์ในการพัฒนาการรักษาอย่างต่อเนื่องและนำเอาเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้อย่างเหมาะสม เพื่อส่งมอบทางเลือกของการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน

นพ. วิโรจน์ ชดช้อย หัวหน้าศูนย์ทางเดินปัสสาวะ และแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า โรคต่อมลูกหมากโต คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากที่อยู่ล้อมรอบท่อปัสสาวะมีขนาดใหญ่ผิดปกติจนไปเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการปัสสาวะ อาการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก จะมีอาการปัสสาวะบ่อยร่วมกับอาการแสบขัด ส่วนกลุ่มที่ 2 จะมีอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือต้องใช้เวลาในการเบ่ง

ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เรามุ่งมั่นที่จะคืนคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยการให้การดูแลรักษาแบบเฉพาะบุคคล แนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์ของเรามีความชำนาญการและมีประสบการณ์สูง ซึ่งให้การดูแลรักษาผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตกว่า 5,000 รายในแต่ละปี โดยในจำนวนนั้นมีผู้ป่วยกว่า 4,000 รายที่รับการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด และกว่า 500 รายเข้ารับการผ่าตัดหลากหลายวิธี เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง (TURP), การผ่าตัดต่อมลูกหมากโตด้วยเลเซอร์ HoLEP หรือเลเซอร์ PVP เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อส่วนเกิน, การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำโดยใช้เทคโนโลยี Rezum โดยฉีดไอน้ำเข้าไปเพื่อกำจัดเซลล์ที่อุดตัน และการรักษาด้วยเทคนิค UROLIFT โดยใช้อุปกรณ์ขนาดจิ๋วยึดติดกับต่อมลูกหมากถาวร เพื่อดึงเนื้อเยื่อให้ถ่างออกจากท่อปัสสาวะ เป็นต้น

นพ. ธีระพล อมรเวชสุกิจ แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการข้างเคียงจากยามาก หรือยังมีอาการแทรกซ้อนที่ทางเดินปัสสาวะซ้ำ ๆ เช่น การอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะมากหลังจากปัสสาวะสุดไปแล้ว นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ การทำงานของไตแย่ลง หรือมีเลือดออกปนในปัสสาวะ แพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดรักษาที่เหมาะสม โดยวิธีที่นิยม คือ การส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ และใช้พลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้าหรือความร้อน เพื่อเอาเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออกจนปัสสาวะสามารถไหลผ่านได้สะดวก

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยเลเซอร์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ที่นำเอาการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมาปรับใช้ โดยในปัจจุบันมีการนำเอา Holminum laser หรือ HoLEP (Holmium laser enucleation of the prostate) เข้ามาประยุกต์ใช้ในการผ่าตัดต่อมลูกหมากได้ทุกขนาดอย่างแพร่หลาย ซึ่งได้มีการพัฒนาเทคนิคมาอย่างต่อเนื่องจนมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย โดยใช้พลังงานเลเซอร์ในการเลาะเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่ขวางท่อทางเดินปัสสาวะออกทั้งหมด หลังจากที่เนื้อเยื่อต่อมลูกหมากหลุดออกและถูกดันเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแล้ว แพทย์จะใช้เครื่องมือเข้าไปปั่นเอาเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออก ซึ่งจะสามารถนำเนื้อเยื่อดังกล่าวไปส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ด้วย ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ ช่วยลดโอกาสในการสูญเสียเลือดในขณะผ่าตัดได้ดี ให้ผลลัพธ์การรักษาที่น่าพึงพอใจอย่างมาก และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำภายในช่วงระยะเวลา 10 ปีเพียง 0.7% เทคนิคดังกล่าวเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีความกังวลในเรื่องปริมาณน้ำอสุจิภายหลังการผ่าตัด

นพ. จักร์กฤษณ์ อิศญาณุวัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้นำเทคโนโลยีในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ (Water Vapor Therapy) เข้ามาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในปี 2564 ซึ่งเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะลำบาก ที่เกิดจากโรคต่อมลูกหมากโตที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยเทคโนโลยีการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ มีผลงานวิจัยรองรับว่ามีประสิทธิภาพและได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2558 และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย ในช่วงต้นปี 2564 โดยที่ผ่านมา ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ทำการรักษาผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตด้วยเทคโนโลยีไอน้ำสำเร็จแล้ว 276 ราย ซึ่งคิดเป็น 30% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งประเทศที่รักษาด้วยวิธีนี้ และศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังได้รับการรับรองจาก Boston Scientific ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้เป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศ” ด้านการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำแห่งแรกในเอเชีย นับเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในเรื่องของการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูง

การรักษาด้วยวิธีนี้ใช้เวลารักษาเพียง 10-15 นาที โดยใช้การส่องกล้องเข้าไปในท่อปัสสาวะและฉีดไอน้ำเข้าไปในต่อมลูกหมาก ทำให้เซลล์ต่อมลูกหมากที่อุดตันท่อทางเดินปัสสาวะตาย หลังจากนั้นร่างกายจะกำจัดเซลล์ที่ตายออกไปตามธรรมชาติ ทำให้ท่อปัสสาวะกว้างขึ้น ปัสสาวะได้คล่องขึ้น เป็นวิธีที่สะดวก ไม่ส่งผลต่อสุขภาพทางเพศหรือส่งผลน้อยมาก และภาวะแทรกซ้อนน้อย ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

นพ. อธิป ฉัตรสุทธิพงษ์ แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ล่าสุดศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้นำเทคโนโลยียูโรลิฟต์ (UROLIFT) เข้ามาใช้กับผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดย UROLIFT เป็นหนึ่งในวิธีการในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) มาตั้งแต่ปี 2556 และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2567 

เทคโนโลยี UROLIFT เป็นการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตแบบรุกล้ำน้อยเพื่อขยายท่อปัสสาวะที่ต่อมลูกหมากกดทับให้กว้างขึ้น โดยก่อนการทำหัตถการ แพทย์จะให้ยาสงบประสาทแบบอ่อน ๆ หลังจากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องมือและส่องกล้องเพื่อนำอุปกรณ์ขนาดจิ๋วที่ทำจากสแตนเลสสตีลเกรดการแพทย์ และโลหะพิเศษนิทินอลที่มีความยืดหยุ่นสูง ผ่านทางท่อปัสสาวะเข้าไปยังต่อมลูกหมาก หลังจากนั้นแพทย์จะใส่อุปกรณ์ขนาดจิ๋วประมาณ 4-6 ตัว ขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของโรค เข้าไปยังต่อมลูกหมากเพื่อดึงเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากให้ถ่างออกจากท่อปัสสาวะ เป็นหัตถการที่ไม่มีการตัดหรือเจาะที่อวัยวะใด ๆ ทั้งสิ้น และใช้เวลาเพียง 30 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง

ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการและให้คำแนะนำเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยปัจจัยของผู้ที่เหมาะกับการรักษาด้วยเทคโนโลยี UROLIFT นั้น ควรจะเป็นผู้ที่ต่อมลูกหมากโตปานกลางถึงใหญ่ แต่มีขนาดไม่เกิน 100 กรัม, ผู้ที่ยังปัสสาวะได้หรือปัสสาวะแล้ว ยังมีปัสสาวะเหลือค้างไม่เกิน 350 ซีซี, ผู้ที่อายุมากหรือมีสุขภาพไม่แข็งแรง ที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดใหญ่ หรือผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพทางเพศ เป็นต้น

โรคต่อมลูกหมากโตถึงแม้จะป้องกันไม่ได้ แต่สามารถรักษาได้หลากหลายวิธี ดังนั้น คุณผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี และหากมีอาการปัสสาวะผิดปกติ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ เพื่อหาแนวทางรักษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อผลลัพธ์การรักษาสูงสุดและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงและมีความชำนาญเฉพาะทางครอบคลุมทุกสาขา พร้อมส่งมอบการดูแลและผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในฐานะผู้นำด้านการบริบาลสุขภาพและนวัตกรรมทางการแพทย์ ได้รับเกียรติจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร The Federation of Neurogastroenterology and Motility Meeting (FNM) 2024

ดร.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 43 ปี โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์และนวัตกรรม โดยได้พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฯ ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วยทั่วโลก

การสนับสนุนการจัดงาน FNM 2024 นับเป็นการตอกย้ำถึงความทุ่มเทในการพัฒนาการแพทย์ด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นการยกระดับด้านสาธารณสุขและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดงานประชุม และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางการแพทย์ระดับโลก

ศ.นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ ประธานจัดงาน FNM 2024 หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า FNM 2024 เป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรชั้นนำทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ the American Neurogastroenterology and Motility Society (ANMS), the European Society of Neurogastroenterology and Motility (ESNM), the Asian Neurogastroenterology and Motility Association (ANMA), Australasian Neurogastroenterology & Motility Association (ANGMA) และ Sociedad Latinoamericana de Neurogastroenterología (SLNG)

การประชุม FNM เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2014 และจัดขึ้นทุกสองปี เพื่อเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่าย โดยการนำนักวิจัยและแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารทำงานผิดปกติกว่า 1,000 คน จากทั่วโลกมารวมตัวกัน โดยมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงที่ซับซ้อนระหว่างระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร เพื่อพัฒนานวัตกรรมสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาโรคที่เกิดจากทางเดินอาหารทำงานผิดปกติที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ได้แก่ โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร ภาวะกระเพาะอาหารเคลื่อนไหวช้า โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะท้องผูกเรื้อรัง เป็นต้น ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยมากในคนไทยและคนทั่วโลก ซึ่งมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การประชุม FNM ครั้งที่ 5 จึงถูกเลื่อนจากปี 2022 เป็น 2024

การประชุม FNM 2024 ในปีนี้ จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ในวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน ร่วมกับทาง the Asian Neurogastroenterology and Motility Association ในฐานะที่ทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับในด้านวิชาการระดับนานาชาติ รวมถึงต่างชาติให้ความสนใจและไว้วางใจประเทศไทย ทั้งในด้านชื่อเสียงด้านการแพทย์ รวมถึงวัฒนธรรมและอาหาร ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศไทย

โดยในงานจะมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่า 100 ท่าน มานำเสนอการค้นพบและผลงานวิจัยล่าสุด ตั้งแต่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานไปจนถึงการปฏิบัติทางคลินิก มีการประชุมสัมมนาเจาะลึกในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น หัวข้อ ‘การรับประทานอาหารและจุลินทรีย์ในลำไส้มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคและการจัดการโรคที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของสมองและลำไส้อย่างไร’ และ หัวข้อ ‘Asian focus’ ที่รวมประเด็นสำคัญเกี่ยวกับปัญหาด้านการทำงานของระบบทางเดินอาหารในเอเชียและตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ผ่านมุมมองใหม่ที่สร้างสรรค์ สามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อ และสร้างเครือข่ายที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

ผศ.นพ. ยุทธนา ศตวรรษธำรง หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรคระบบทางเดินอาหารและตับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เนื่องจากพฤติกรรมการทานอาหาร สภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในปัจจุบัน ทำให้พบผู้ที่มีอาการผิดปกติหรือเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารและตับมากขึ้นทุกปี เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง โรคลำไส้แปรปรวน โรคตับ โรคตับอ่อน เป็นต้น

ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เราตระหนักถึงปัญหา และมุ่งหวังที่จะช่วยรักษาผู้ที่มีอาการหรือมีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารและตับอย่างครอบคลุม ทั้งโรคทั่วไปและโรคที่มีความซับซ้อน ที่ผ่านมา เรามุ่งมั่นพัฒนาตัวเราให้เป็นหนึ่งในใจของคนไทยและคนทั่วโลก โดยได้พัฒนาการรักษาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมมือกับ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์ที่ให้บริการตรวจและรักษาความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหารอันดับหนึ่งของประเทศไทยและมีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาให้ดียิ่งขึ้น

และต่อมาในปี 2566 ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ได้ต่อยอดขยายคลินิกเฉพาะทาง เพื่อพัฒนาการรักษาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และทัดเทียมมาตรฐานโลก โดยมีคลินิกเฉพาะทางต่าง ๆ ประกอบไปด้วย คลินิกโรคทางเดินอาหารทั่วไป (General GI Center), ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร (Motility Center), ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร (Endoscopy Center), โปรแกรมตับอ่อน (Pancreas program), คลินิกพันธุกรรมโรคระบบทางเดินอาหาร, คลินิกโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD Center), คลินิกโรคตับ (Liver Center) และคลินิกไมโครไบโอมแบบบูรณาการ (Integrative Microbiome Clinic)

ปัจจุบันเรามีวิวัฒนาการใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการวินิจฉัยรักษาได้ดีขึ้น เช่น การให้บริการตรวจคัดกรองโรคในทางเดินอาหารด้วยการส่องกล้องพร้อมระบบ AI detection ซึ่งช่วยให้สามารถเจอติ่งเนื้อได้มากขึ้นถึง 54% เมื่อเจอติ่งเนื้อในลำไส้หรือกระเพาะอาหาร แพทย์จะสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุได้ในทันที โดยการส่องกล้องไม่ต้องผ่าเปิดหน้าท้อง สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยของเรามาโดยตลอด

ในปีนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้รับเกียรติให้เป็นผู้สนับสนุนหลักของงาน FNM 2024 นับเป็นความภาคภูมิใจในฐานะคนไทยที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้ที่ประเทศไทยเราเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะทำให้แพทย์ไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีทางวิชาการระดับนานาชาติ และแสดงถึงศักยภาพของไทยในฐานะประเทศที่เป็นผู้นำการประชุมวิชาการระดับโลกที่สำคัญ การประชุมนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ แต่ยังเป็นเวทีสำหรับนวัตกรรมทางการแพทย์และความร่วมมือในอนาคตของประเทศไทย ปัจจัยเหล่านี้จะเอื้อประโยชน์ต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพ สร้างแรงบันดาลใจให้กับวงการแพทย์ในประเทศ และท้ายที่สุดจะยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยทั่วทั้งภูมิภาค

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน FNM 2024 หรือศึกษารายละเอียดและหัวข้อเสวนาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fnm2024.com/

Page 1 of 8
X

Right Click

No right click