January 22, 2025

วิจัยเภสัชฯ จุฬาฯ ชี้ พืชกระท่อม ลดปวด-แก้อักเสบ ถอนยาเสพติดร้ายแรงได้

April 18, 2024 4905

การปลดล็อกพืชกระท่อมเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรตัวนี้มาแต่โบราณ อ.เภสัชฯ จุฬาฯ เผยปัจจุบันมีการวิจัยใช้สารในใบกระท่อมทำยาแก้ปวด ลดการอักเสบ และอาจใช้ในการถอนยาเสพติดร้ายแรงอื่น ๆ แทนยาเคมี

“ใบกระท่อม” พืชสมุนไพรท้องถิ่นกลับมาเป็นที่รู้จักในสังคมไทยอีกครั้ง หลังจากถูกควบคุมและขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 มานานกว่าครึ่งศตวรรษ 

เวลานี้ ตามริมถนน บนฟุทบาท ตลาดสด เราจะเห็นรถเร่ แผงลอย วางจำหน่ายใบกระท่อมเขียวสดกันอย่างเปิดเผย พ่อค้าแม่ขายบางรายก็ทำน้ำต้มใบกระท่อมแบบพร้อมดื่ม บ้างก็ขายกล้าพืชกระท่อมเพื่อให้ผู้สนใจนำไปปลูกที่บ้านหรือในแปลงเกษตร

ใบกระท่อมได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ใช้ใบสดเป็นของเคี้ยวชูกำลัง บางคนก็ใช้ใบกระท่อมโดยอ้างสรรพคุณทางยาเพื่อลดน้ำตาลในเลือด แต่หลายคนก็ยังกังขาใช้กระท่อมแล้วจะติดไหม มีอาการอย่างไร” “หากมีสรรพคุณทางยา มีประโยชน์อย่างไร แล้วจะใช้อย่างไร มีโทษไหม”

ในบทความนี้ รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.ธงชัย สุขเศวต อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยเรื่อง กระท่อม” จะมาไขข้อสงสัยดังกล่าว

กระท่อมเป็นยาที่คนในสมัยโบราณใช้กันมานานมาก เรียกได้ว่าเป็นยาสามัญที่มีอยู่แทบทุกบ้านเลยก็ว่าได้ ใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนบ้าน ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าสังคมในงานสำคัญ ๆ ต่าง และใช้เป็นยาชูกำลังในการทำงานที่ต้องใช้แรง”

อาจารย์ธงชัยกล่าวว่าที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยพืชกระท่อมทางการแพทย์และเภสัชกรรมทำได้ยาก จนเมื่อมีการปลดล็อกพืชกระท่อม ก็เปิดโอกาสให้เกิดการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และยามากมาย เช่นที่อาจารย์ธงชัยศึกษาวิจัยพืชกระท่อมเพื่อทำสารสกัดยาสมุนไพรมาตรฐานเป็นยาแก้ปวดที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงเป็นยาช่วยเลิกสารเสพติดประเภทยาบ้าและยามอร์ฟีน 

พืชกระท่อมมีศักยภาพที่จะพัฒนามาใช้เป็นยาทั้งทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน จึงควรมีการส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป” 

พืชกระท่อม จากยาสามัญประจำถิ่นสู่ยาเสพติด

กระท่อมเป็นพืชพื้นถิ่นที่พบกระจายทั่วประเทศไทย พบหนาแน่นในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ด้วยความที่เป็นพืชพื้นถิ่นเช่นนี้ คนไทยนับตั้งแต่อดีตจึงรู้จักและสั่งสมภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ ทั้งในแง่การรักษาโรค ลด-คลายอาการปวดเมื่อย เพิ่มกำลังในการทำงาน เป็นต้น 

จนเมื่อปี 2486 เริ่มมีการออกกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมภายใต้พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 อาจารย์ธงชัยเล่ามูลเหตุที่นำไปสู่การควบคุมพืชกระท่อมในเวลานั้นว่า “รัฐผูกขาดภาษีฝิ่น เมื่อฝิ่นราคาแพง ผู้คนก็หันมาสูบใบกระท่อมแทน ทำให้รัฐเสียรายได้จากภาษีฝิ่น จึงออกกฎหมายเพื่อควบคุมการปลูกและการใช้พืชกระท่อม” 

มาในปี 2522 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ขึ้นบัญชีพืชพื้นถิ่นหลายชนิด เช่น กระท่อม กัญชา เห็ดขี้ควาย และฝิ่น ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยรัฐให้เหตุผลว่าพืชกระท่อมอาจทำให้เกิดการเสพติดและเกิดอาการถอนยาได้เมื่อหยุดเสพ ตั้งแต่นั้นมา ใบกระท่อมก็หายไปจากพื้นที่ชีวิตของผู้คน การศึกษาวิจัยพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือการศึกษาวิจัยในมนุษย์ก็ไม่สามารถทำได้

จนปี 2562 เริ่มมีการทบทวน แก้ไขและออกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ปลดล็อกพืชกระท่อมและกัญชาให้สามารถใช้ในการศึกษาวิจัยในมนุษย์หรือนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ ต่อมา พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 ก็ได้ให้พืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยสมบูรณ์ และล่าสุด พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 เปิดเสรีให้ปลูก ครอบครอง และขายพืชกระท่อมได้ ทั้งนี้ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง ให้ขออนุญาตตามกฎหมายเฉพาะของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ส่วนการนำเข้าและส่งออกใบกระท่อมต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)

กระท่อมในวิถีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น

ในอดีต พืชกระท่อมมีบทบาทในวิถีชีวิตผู้คน ทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรมและการแพทย์ ดังนี้ 

  • กระท่อมในพื้นที่ทางสังคม งานประเพณี วัฒนธรรม งานบวช งานแต่งงาน งานศพ จะมีการใช้ใบกระท่อมสด ร่วมกับหมาก พลู น้ำชา ยาเส้น เพื่อเป็นการต้อนรับแขกผู้มาเยือนบ้าน หรือเคี้ยวใบกระท่อมสด ร่วมกับน้ำชา กาแฟ ในร้านน้ำชา ร้านกาแฟ เพื่อเป็นการสังสรรค์และเข้าสังคม 

นำใบกระท่อมสด ร่วมกับ หมาก พลู น้ำชา กาแฟ ยาเส้น มาใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนบ้าน

นอกจากนี้ ในงานของกลุ่มคนที่เล่นวัวชน ไก่ชน หรือกลุ่มนักแสดงพื้นบ้านในภาคใต้ เช่น หนังตะลุง ก็นิยมเคี้ยวใบกระท่อมเพื่อไม่ให้ง่วงนอน และเกิดอารมณ์ร่วมในการบรรเลงเพลงและการแสดงต่าง ๆ 

  • กระท่อมในฐานะยาชูกำลัง กลุ่มผู้ใช้แรงงาน อาทิ เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนยาง ชาวประมง กรรมกร คนขับรถขนส่ง รถโดยสาร นิยมเคี้ยวใบกระท่อมสดก่อนจะออกไปทำงาน โดยเชื่อว่าจะทำให้มีกำลังและความอดทนต่อการทำงานยิ่งขึ้น
  • กระท่อมเป็นยา ในทางการแพทย์พื้นบ้าน หมอพื้นบ้านนิยมใช้กระท่อมทำยาสมุนไพร ทั้งในรูปยาเดี่ยว หรือเป็นตำรับยาพื้นบ้าน เพื่อรักษาโรคและอาการต่าง ๆ อาทิ ไข้หวัด ท้องเสีย บิด ปวดเมื่อย แก้ไอ ลดความดันโลหิต รักษาโรคเบาหวาน โรคกระเพาะอาหาร เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ช่วยให้นอนหลับง่าย และใช้ทดแทนหรือบำบัดอาการถอนยาจากการเสพติด เช่น ฝิ่น เฮโรอีน 
  • ในส่วนของแพทย์แผนไทย พบตำรับยาแผนไทยที่มีพืชกระท่อมเป็นส่วนประกอบในคัมภีร์แพทย์แผนโบราณของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เล่ม 1-3 ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ตำราเวชศึกษาของพระยาพิศณุประสาทเวช และจารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร ซึ่งได้แก่ ตำรับยาประสะใบกระท่อม ยาหนุมานจองถนนปิดมหาสมุทร ยาแก้บิดลงเป็นเลือด ยาแก้บิดหัวลูก ยาประสะกานแดง เป็นต้น โดยมีสรรพคุณสำคัญในการรักษาโรคบิด ท้องร่วง ท้องเสีย แก้ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง ท้องเฟ้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น

จารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

“ไมทราไจนีน” สารแก้ปวดและลดอักเสบในใบกระท่อม

 ใบของพืชกระท่อมเป็นส่วนที่มักใช้เป็นยาสมุนไพร ทั้งในรูปยาเดี่ยว หรือเป็นตำรับยาพื้นบ้าน เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งสรรพคุณทางยามาจากสารไมทราไจนีน ซึ่งสารตัวนี้พบแค่ในพืชกระท่อมเท่านั้น ไม่พบที่ต้นไม้ชนิดอื่นแม้จะอยู่ในตระกูลเดียวกัน 

ในการศึกษาวิจัยพบว่าสารไมทราไจนีน มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและแก้ปวดในระดับปานกลางถึงค่อนข้างรุนแรงได้ เราจึงอาจนำกระท่อมมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาแก้ปวด ที่มีสรรพคุณทางยาเทียบเท่ากับ “ทรามาดอล” ที่เป็นเคมี”

อาจด้วยฤทธิ์คลายปวดและลดการอักเสบของไมทราไจนีนในใบกระท่อม ที่ทำให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานนิยมใช้พืชกระท่อมเป็นเสมือนยาชูกำลัง คลายปวด ลดเมื่อย  

“คนกลุ่มนี้นิยมเคี้ยวใบกระท่อมสดก่อนออกไปทำงาน โดยเชื่อว่าจะทำให้รู้สึกแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า ทำงานได้นาน ไม่เหนื่อยล้า ไม่ปวดเมื่อย ไม่ง่วงนอน ทนต่อความร้อน สามารถทำงานกลางแดดได้นานยิ่งขึ้น” 

อาจารย์ธงชัย กล่าวเสริมว่าจากผลการศึกษาการใช้ใบกระท่อมเป็นประจำในภาคใต้ของไทย ยังไม่พบการเพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพอย่างชัดเจน 

กระท่อม ศักยภาพเป็นยารักษาอีกหลายโรค

นอกจากฤทธิ์ในการลดปวด แก้อาการอักเสบแล้ว อาจารย์ธงชัยกล่าวถึงการศึกษาวิจัยที่พบว่าพืชกระท่อมอาจมีฤทธิ์ในการรักษาโรคอื่น ๆ อีกด้วย ได้แก่ ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ลดอาการท้องเสีย ลดความอยากอาหาร ฤทธิ์ต้านปรสิตและเชื้อจุลชีพ ฤทธิ์ต้านอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า และโรคจิต 

กระท่อม บำบัดและถอนยาเสพติดร้ายแรง

หนึ่งในศักยภาพสำคัญของกระท่อมคือใช้ทดแทนหรือบำบัดอาการถอนยาจากการเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ ฝิ่น เฮโรอีน หรือยาเสพติดชนิดอื่น ๆ 

พืชกระท่อมมีฤทธิ์แก้ปวดคล้ายมอร์ฟีน แต่อันตรายน้อยกว่า โอกาสติดน้อยกว่า ดังนั้น คนในบางประเทศจึงมีการนำกระท่อมมาใช้เป็นยาสำหรับการถอนยาเสพติดชนิดแรง ๆ ตัวอื่น ๆ แทนการใช้ยาถอนยาเสพติดที่ทำมาจากเคมีในปัจจุบัน” 

ด้วยความที่ใบกระท่อมมีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน หลายคนกังวลว่าจะมีการใช้พืชกระท่อมเป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตยา 

“เรื่องนี้เป็นไปได้ยาก ด้วยตัวกระท่อมเอง ไม่สามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นการผลิตยาเสพติดได้ และการจะนำสารสำคัญในใบกระท่อมไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดตัวอื่นก็ไม่ง่ายเช่นกัน การสกัดเอาไมทราไจนีนออกมาให้บริสุทธิ์นั้นไม่ง่าย มีขั้นตอนที่ซับซ้อนพอสมควร อีกประการต้นทุนในการผลิตก็สูง” อาจารย์ธงชัยกล่าว

ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม

แม้พืชกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติดในทางกฎหมาย แต่การนำพืชกระท่อมไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็ต้องศึกษาให้ดี เพราะการทำผลิตภัณฑ์จากกระท่อมบางอย่างอาจเข้าข่ายการผลิตยาเสพติด อาจารย์ธงชัยกล่าวเตือน

“ถ้าทำน้ำกระท่อม ชากระท่อมในครัวเรือนของตนเอง ไม่มีการซื้อขาย ก็สามารถทำและใช้ได้เลย ไม่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยา อาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอาง เพื่อขาย จำเป็นต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดังนั้น ใครที่คิดจะทำธุรกิจเกี่ยวกับพืชกระท่อม ขอให้ปรึกษา อย. หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก่อนดำเนินการทำผลิตภัณฑ์นั้น ๆ” อาจารย์ธงชัยให้คำแนะนำ

ข้อควรระวังในการใช้พืชกระท่อม

แม้พืชกระท่อมจะมีสรรพคุณทางยา มีประโยชน์ โทษน้อย แต่อาจารย์ธงชัยแนะนำว่า ให้ใช้เฉพาะที่จำเป็น จะดีที่สุด”

“สำหรับผู้ใหญ่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้ ให้ใช้วิธีดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ทานอาหารให้ครบถ้วนอย่างถูกต้อง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ และไม่เครียด หรือลดความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม แต่ถ้ามีความต้องการหรือมีความจำเป็นต้องใช้ใบกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อม ก็ควรใช้อย่างถูกต้อง ปรึกษาผู้รู้ และระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น” ทั้งนี้ อาจารย์ธงชัยให้ข้อควรระวังในการใช้ใบกระท่อม ดังนี้

  • ห้ามเด็กใช้ เพราะมีความเสี่ยงที่เด็กจะเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ง่ายกว่า เช่น ลมชัก อาการทางจิตและประสาท และเมื่อเริ่มใช้แล้ว อาจชักนำไปสู่การใช้ยาเสพติดให้โทษที่รุนแรงมากขึ้นได้
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ห้ามใช้โดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดความเสี่ยงที่เด็กในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้ว เด็กอาจมีอาการติดยาได้ 
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต ห้ามใช้ 
  • อย่าใช้ในปริมาณที่มากเกินไป ให้ใช้ตามที่กำหนดไว้ในผลิตภัณฑ์ใบกระท่อมแต่ละชนิด
  • ถ้าพบว่าเมื่อใช้แล้ว มีอาการข้างเคียง เช่น ใจสั่น กระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน ก็ให้หยุดใช้ และอย่าใช้อีก เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้
  • ถ้ามีการใช้ยารักษาโรคเป็นประจำ และอยากใช้ใบกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อม ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หรือ ถ้าใช้ใบกระท่อมอยู่เป็นประจำ เมื่อไม่สบาย ต้องไปพบแพทย์และเภสัชกร ให้แจ้งด้วยว่า มีการใช้ใบกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อมอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการตีกันของยาและเกิดพิษจากยาขึ้นได้ อาจารย์ธงชัยกล่าวเพิ่มเติมถึงข้อห้ามในการใช้ใบกระท่อมร่วมกับยาแผนปัจจุบันหรือยาอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ 
  • ผู้ที่ใช้กัญชา (ยา) ห้ามใช้กระท่อมควบคู่กัน เพราะกระท่อมจะทำให้ฤทธิ์ของกัญชาแรงขึ้น 
  • สำหรับคนเป็นเบาหวานให้ระวัง จากการวิจัยพบว่า กระท่อมมีสารที่ไปช่วยการลดน้ำตาลในกระแสเลือด ถ้าใช้ควบคู่กับผู้ที่ต้องทานยาเบาหวาน หรือที่ต้องฉีดอินซูลินใต้ผิวหนังเป็นประจำ อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ไฮโปไกลซีเมีย) ได้

ท้ายที่สุด กระท่อมมีประโยชน์มาก แต่ก็มีโทษเช่นกัน หากใช้ในทางที่ผิด และปราศจากการควบคุมที่เหมาะสม “มีผู้เอาใบกระท่อมไปเสพเพื่อสันทนาการ โดยผสมกับสารอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายมากขึ้น เช่น ยาน้ำแก้ไอ ยากันยุง น้ำอัดลม ผงในหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น เป็นสูตรที่เรียกว่า 4X100 เพื่อให้มีฤทธิ์มึนเมารุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้เสพมาก” อาจารย์ธงชัยกล่าว “การใช้พืชกระท่อมหรือกัญชาควรเป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะด้านการแพทย์เท่านั้น ไม่ควรใช้เพื่อการสันทนาการ และจำเป็นต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดการใช้ไปในทางที่ผิด”

X

Right Click

No right click