ทิพยประกันภัย หรือ TIP โชว์กำไรสุทธิไตรมาส 4/2565 ที่ 432.04 ล้านบาท เติบโตถึง 107.84% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ดันเบี้ยประกันภัยปี 2565 ทำนิวไฮใหม่ที่  32,575.09 ล้านบาท เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในทุกประเภทผลิตภัณฑ์ ขณะที่ TIPH พร้อมลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และธุรกิจเทคโนโลยีที่จะมาสนับสนุนทิพยประกันภัย เพื่อขยายขีดความสามารถในการเติบโต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างยั่งยืน

ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP เปิดเผยผลการดำเนินงานของ ทิพยประกันภัยในไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิ 432.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 224.17 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 107.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน TIP มีเบี้ยประกันภัยรับรวมในไตรมาส 4/2565 ถึง 10,784.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.72 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับรวมของ TIP สำหรับปี 2565 เท่ากับ 32,575.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,165.00 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.76 เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งถือเป็นเบี้ยประกันภัยรับต่อปีที่สูงที่สุดของทิพยประกันภัย โดยมีการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับในทุกผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยเบี้ยประกันอัคคีภัย เติบโตร้อยละ 36.65 เบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง เติบโตร้อยละ 18.10 เบี้ยประกันภัยรถยนต์ เติบโตร้อยละ 20.78 และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด เติบโตร้อยละ 5.23 ขณะที่กำไรสุทธิของ TIP สำหรับปี 2565 อยู่ที่ 1,238.29 ล้านบาท ชะลอตัวจากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในรอบปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ จากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ช่วงต้นปีถึงกลางปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน อย่างไรก็ตาม TIP ยังมีความสามารถในการทำกำไรได้อย่างมั่นคงเมื่อเทียบกับภาพรวมของอุตสาหกรรม

ในส่วนของงบการเงินรวมของบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH มีกำไรสุทธิสำหรับปี 2565 จำนวน 1,165.92 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นจำนวน 1.96 บาท โดย TIPH ได้เริ่มเก็บเกี่ยวรายได้และผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยภายใต้กลุ่มธุรกิจสนับสนุนประกันภัย ที่ขยายการลงทุนไปแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา อาทิ บริษัท อะมิตี้ อินชัวร์รันซ์ โบรคเกอร์ จำกัด หรือ Amity มีกำไรสุทธิสำหรับปี 2565 อยู่ที่ 14.7 ล้านบาท บริษัท ดีพี เซอร์เวย์ แอนด์ลอว์ จำกัด หรือ DP Survey มีกำไรสุทธิสำหรับปี 2565 อยู่ที่ 24.1 ล้านบาท และบริษัท ศูนย์ฝึกอบรมทิพย จำกัด หรือ TIP Academy มีกำไรสุทธิสำหรับปี 2565 อยู่ที่ 4.9 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากรายได้จากการดำเนินงานจากความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่ในการขยายฐานลูกค้า และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในส่วนของบริษัท อินชัวร์เวิร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ InsurVerse ซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัยดิจิทัล 100% แห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้กลุ่ม TIPH นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 100% ได้ภายในไตรมาส 2/2566 และเพิ่มผลิตภัณฑ์ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันภัยการเดินทาง รวมถึงประกันภัยส่วนบุคคลอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ดร.สมพร เชื่อมั่นว่า ด้วยจุดแข็งของ TIP คือ การมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ผลิตภัณฑ์การรับประกันภัยที่มีความหลากหลาย การรับประกันภัยอย่างระมัดระวัง และการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็ง ครบวงจร ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ผ่านความร่วมมือกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประกอบกับทิศทางการลงทุนต่อยอดในอนาคตที่ชัดเจน ของ TIPH ที่มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจประกันภัย ในตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต และธุรกิจอื่นๆ ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง รวมถึงธุรกิจเทคโนโลยีที่จะมาสนับสนุนธุรกิจประกันภัยเป็นหลัก เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ตลอดจนพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ของกลุ่มธุรกิจอย่างครบวงจร ด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมจากการมีเครดิตเรทติ้งองค์กรที่ “AA” ที่ประเมินและจัดอันดับโดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เพื่อก้าวไปสู่การเป็นกลุ่มบริษัทประกันภัยอันดับหนึ่งในภูมิภาค และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนในอนาคตได้

บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH โดย ดร. สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วย นายวิบูลย์ เฟื่องพานิชเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน (CFO) ร่วมนำเสนอข้อมูลผลประกอบการปี 2565 รวมทั้งเปิดเผยทิศทางการลงทุนของ TIPH และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ TIP และบริษัทในกลุ่ม เพื่อมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันวินาศภัยในภูมิภาค ในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity day) กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านทางช่องทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยสามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่านทาง YouTube Channel 

ดร. สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย  คุณวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่  พร้อมผู้บริหาร บมจ.ทิพยประกันภัย  และหน่วยหนุมานทิพยจิตอาสา จัดพิธีทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล "พลังบุญทิพยร่วมสร้าง ครั้งที่ 206" เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ณ วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่ 1) 

โดยจัดพิธี “กงฮุก” ซึ่งถือเป็นพิธีที่มีความสำคัญ คือการถวายบูชาแด่พระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยการถวายบูชาด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา การถวายอามิสทั้ง 6 (หลักก่ง) ได้แก่ ธูปหอม ดอกไม้ ประธีป น้ำ ผลไม้และดนตรี เป็นต้น ส่วนการปฏิบัติบูชาได้แก่ การตั้งจิตระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ ทั่วสิบทิศ และการสวดหรือการฟังพระพุทธมนต์ ตลอดจนการร่วมอนุโมทนาบุญกุศลและแผ่บุญกุศลให้สรรพสัตว์ทุกภพภูมิอย่างอัปปมัญญา คือ ไม่มีจำกัดไม่มีประมาณ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด

โดยได้รับความเมตตา จากพระอาจารย์จีนคณาณัติจีนพรต (เย็นงี้) ปลัดขวาจีนนิกาย เลขานุการเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ รักษาการเจ้าอาวาสวัดทิพยวารี มาเป็นประธานสงฆ์  ทั้งนี้คณะผู้บริหารและพนักงานยังได้ร่วมกันถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ปัจจัยบำรุงศาสนสถาน  และถวายภัตตาหารเพลเจแด่พระภิกษุสามเณรภายในวัดทุกรูปอีกด้วย

ทิพยประกันภัย ตอกย้ำความแข็งแกร่งทางการเงิน ทริสเรทติ้ง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับสากล

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านธุรกิจประกันวินาศภัยและดิจิทัลอินชัวรันส์ บริษัท ดีพี เซอร์เวย์แอนด์ลอว์ จำกัด ผู้นำให้บริการสำรวจภัย ผนึกกำลังร่วมกับ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) ผู้นำให้บริการแพลตฟอร์ม โครงสร้างพื้นฐานและเครือข่าย Battery Swapping หรือการสลับแบตเตอรี่แก่ผู้ใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและเปิดตัวโครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับนักสำรวจภัยยุคใหม่ (EV Surveyor) โดยทดลองนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ระบบสลับแบตเตอรี่มาใช้ในงานสำรวจภัยสินไหมรถยนต์และภัยอื่นๆ เพื่อต่อยอดและยกระดับการให้บริการลูกค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมถึงสร้างต้นแบบนวัตกรรมพลังงานแห่งอนาคตให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าแบบยั่งยืน

ดร.พลรัตน์ เอกโยคยะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากสถานการณ์ปัจจุบัน แนวคิดเรื่อง ESG และกระแสการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนรวมถึงการให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทิพยประกันภัย ในฐานะผู้นำด้านธุรกิจประกันภัยนั้นมีพันธกิจหลักในการมุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด ESG ที่พร้อมสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งทิพยประกันภัยได้ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง

โดยการนำเอาแนวคิด ESG มาเป็นทิศทางหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัย อีกทั้งร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจในการสร้างสรรค์สังคมที่น่าอยู่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยทิพยประกันภัย ร่วมมือกับ ดีพี เซอร์เวย์ และ สวอพ แอนด์ โก พัฒนานวัตกรรมทางโครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับนักสำรวจภัยยุคใหม่ (EV Surveyor) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาโครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับนักสำรวจภัยยุคใหม่ผ่านการทดลองนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ระบบสลับแบตเตอรี่มาใช้ในงานสำรวจภัยสินไหมรถยนต์และภัยอื่นๆในการให้บริการลูกค้าที่ช่วยลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ทำให้สามารถลดการปลดปล่อยของมลพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ สอดคล้องกับแนวคิด ESG ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ได้เป็นอย่างดี”

X

Right Click

No right click