รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี พร้อมคณะผู้บริหาร ดีป้า ลงพื้นที่ตรวจติดตามกิจกรรมภายใต้โครงการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง เผยเตรียมหารือแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย และการจัดตั้งเขตส่งเสริมดิจิทัลในพื้นที่เป้าหมายเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดดิจิทัลสตาร์ทอัพรายใหม่ พร้อมช่วยให้สตาร์ทอัพรายเดิมดำเนินธุรกิจต่อไปได้ คาดเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนดิจิทัลสตาร์ทอัพในแต่ละพื้นที่ของประเทศ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อตรวจติดตามกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการต่าง ๆ ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand ใน 3 ด้านที่ดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ พร้อมด้วยดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดร.วาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ดร.สักกเวท ยอแสง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล นายจุลนภ ศานติพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ ดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล และ นายประชา อัศวธีระ อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงผู้แทนพนักงาน ดีป้า ให้การต้อนรับ

โดย นายประเสริฐ พร้อมคณะได้ร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่และดิจิทัลสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Travel Tech & Smart City) ในกิจกรรม ‘Ignite Andaman Digital Hub’ กิจกรรมภายใต้โครงการ DIGINEXT by SEED THAILAND โครงการสำคัญที่มุ่งเพาะเมล็ดพันธุ์คนดิจิทัลรุ่นใหม่ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ YOUTH, FUTURE CAREER และ DIGI-PRENEUR สู่การเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในอนาคต พร้อมรับฟังแนวคิด แลกเปลี่ยนมุมมอง รับทราบปัญหา อุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาในภาคการท่องเที่ยวและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่

จากนี้ กระทรวงดีอี และ ดีป้า จะร่วมหารือแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย และการจัดตั้งเขตส่งเสริมดิจิทัลในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดดิจิทัลสตาร์ทอัพรายใหม่ พร้อมช่วยให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพรายเดิมสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเบื้องต้นจะต้องมีการกำหนดแนวทางการจัดตั้งเขตส่งเสริมดิจิทัลในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่ง กระทรวงดีอี และ ดีป้า มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กองทุนเพื่อการส่งเสริมดิจิทัลจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนดิจิทัลสตาร์ทอัพแต่ละพื้นที่ของประเทศ ซึ่ง กระทรวงดีอี และ ดีป้า รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะเร่งหารือในรายละเอียดเพื่อขับเคลื่อนให้กลไกส่งเสริมดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว

จากนั้น นายประเสริฐ ได้เยี่ยมชมและให้กำลังใจน้อง ๆ นักเรียนและครูที่เข้าร่วมกิจกรรม ‘Coding Bootcamp & Roadshow’ และกิจกรรม ‘Coding War’ พื้นที่ภาคใต้ตอนบน กิจกรรมภายใต้โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ดำเนินการ 8 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวมุ่งส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่พร้อมรองรับการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งผ่านการยกระดับห้องเรียนโค้ดดิ้ง 1,500 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยพื้นที่ภาคใต้ตอนบนมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 49 โรงเรียน นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำหลักสูตรโค้ดดิ้ง พร้อมเสริมทักษะการสอนแก่ครูที่จะเป็นโค้ดดิ้งโค้ช 3,000 คนให้มีเทคนิคพร้อมถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียน 300,000 คนต่อปี การเสริมทักษะโค้ดดิ้งเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ครูผู้สอนและนักเรียนผ่านกิจกรรม Coding Bootcamp และ Coding War และการสร้างความตระหนักด้านโค้ดดิ้งและการประยุกต์ใช้จริงแก่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปผ่านกิจกรรม Coding Roadshow รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนโค้ดดิ้งที่เผยแพร่ผ่านระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

ผศ.ดร.ณัฐพล รายงานว่า ปัจจุบันมีการส่งมอบอุปกรณ์การเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 800 โรงเรียน และคาดว่าจะส่งมอบครบ 1,500 โรงเรียนภายในเดือนสิงหาคม พร้อมกันนี้มีครูและนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม Coding Bootcamp มากกว่า 2,400 คน ขณะที่ Coding Roadshow มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 10,000 คน ซึ่งจังหวัดภูเก็ตนับเป็นพื้นที่ที่ 6 สำหรับการดำเนินกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในโครงการ Thailand Digital Valley อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และโรงแรม Arize Hotel Sri Racha ระหว่างวันที่ 15 - 16 สิงหาคม ขณะที่ Coding War จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 สิงหาคม ส่วนกิจกรรมครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ นายประเสริฐ ยังได้พบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการท้องถิ่นที่และอินฟลูเอนเซอร์ในกิจกรรม ‘Digital Content-Driven E-Commerce Workshop: การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มยอดขายด้วยดิจิทัล คอนเทนต์’ ภายใต้โครงการ CONNEXION โครงการส่งเสริมการยกระดับองค์ความรู้และชุดทักษะใหม่ด้านดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนที่จำหน่ายสินค้าและให้บริการภายในจังหวัดและพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน เพื่อสร้างยอดขายบนแพลตฟอร์มE-Commerce อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ เทคนิคการถ่ายภาพสินค้า การสร้าง Storytelling การ Live ขายสินค้า การเปิดร้านค้าใน Social Commerce อย่าง TikTok และ Facebook รวมถึงการนำข้อมูลการค้าออนไลน์จาก e-Marketplace ชั้นนำของไทยจากแพลตฟอร์ม eTailligence มาประยุกต์ใช้วางแผนและประกอบการตัดสินใจด้านการตลาด ทั้งหมดเพื่อผลักดันสินค้าและบริการท้องถิ่นสู่โลกออนไลน์ สร้าง Digital Content Creator และ Micro Influencer หน้าใหม่ให้กับท้องถิ่น และรองรับภาคการท่องเที่ยวในอนาคต

สุดท้าย นายประเสริฐ พร้อมคณะได้ร่วมพูดคุยกับพ่อค้าแม่ขาย ผู้บริหารตลาด และดิจิทัลสตาร์ทอัพ ณ ตลาดชิลล์วา 2 ในกิจกรรม ‘ตลาดต้นแบบต่อยอดสู่ความยั่งยืน’ ภายใต้โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ (ขยายผล) ซึ่งได้ดำเนินการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการตลาด ผู้ประกอบรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ดำเนินการใน 75 ตลาดทั่วประเทศ รวมกว่า 100,000 แผงค้า โดยตลาดชิลล์วา 2 เลือกใช้เทคโนโลยีเดลิเวอรีจาก บริษัท พราวด์ เทคโนโลยี คอร์ป จำกัด ผู้พัฒนาระบบเดลิเวอรีในชื่อ Proud ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย โดยฝั่งผู้ซื้อสามารถกดสั่งสินค้าจากทุกร้านในตลาดได้ครบจบในบิลเดียว ขณะที่ผู้ขายหรือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสามารถยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และสร้างช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

การลงพื้นที่ติดตามโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดย ดีป้า ในครั้งนี้ล้วนเป็นการทำงานตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมถึงการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล รองรับการทำธุรกิจของ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า ส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ พร้อมพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ดึงดูดกลุ่ม Digital Nomad ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวในจังหวัด รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน พร้อมกันนี้ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาความรู้และทักษะโค้ดดิ้ง ทักษะดิจิทัลที่สำคัญแห่งอนาคตแก่นักเรียนและครูผู้สอนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในระยะต่อไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว

ดีป้า จัดกิจกรรมออนไลน์ UNSEEN I SEE The Show Reel ประกวดแข่งขันทำดิจิทัลคอนเทนต์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศและรีวิวของดี ของเด่น หรือของกินที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 100,000 บาท

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของ 2 โครงการที่ ดีป้า ดำเนินการ ได้แก่ โครงการ CONNEXION ส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์กับดิจิทัลอินฟลูเอนเซอร์ อาชีพใหม่ในยุคดิจิทัลที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทย และโครงการ Digital Tourism เปิดเมือง เปิดท่องเที่ยวไทยด้วยดิจิทัล จึงเป็นที่มาของกิจกรรมออนไลน์ใหม่อย่าง UNSEEN I SEE The Show Reel ต่อยอดการส่งเสริมการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมยกระดับแหล่งท่องเที่ยวและสินค้าไทยสู่สายตาคนทั่วโลก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระตุ้นเศรษฐกิจไทยในอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

UNSEEN I SEE The Show Reel กิจกรรมออนไลน์ประกวดแข่งขันสร้างดิจิทัลคอนเทนต์ในรูปแบบ VDO และ Photo Album นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวประเทศไทยในมุมมองใหม่ และรีวิวของดีหรือของกินในชุมชนให้ประชาชนไทยและชาวต่างชาติได้รับชม เกิดความรู้สึกอยากเดินทางไปยังสถานที่นั้น ๆ พร้อมชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 100,000 บาท ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยเปลี่ยนชุมชนของคุณให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวสุดฮิต อีกทั้งเป็นสื่อกลางในการช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน เช่น อาหารการกิน วัฒนธรรม สินค้าขึ้นชื่อ และแหล่งชอปปิงในชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือสื่อโซเชียลมีเดียในการสร้างการรับรู้และกระจายรายได้สู่ชุมชนผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

สำหรับผู้สนใจอยากเป็นดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ สายท่องเที่ยว สามารถร่วมแข่งขันในกิจกรรมออนไลน์ UNSEEN I SEE The Show Reel ได้ตั้งแต่วันนี้ – 10 สิงหาคม 2567 และสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://short.depa.or.th/RlMRj

กระทรวงดีอี โดย ดีป้า จัดกิจกรรม Coding Bootcamp & Roadshow ภายใต้โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย กำหนดจัดใน 8 ภูมิภาคทั่วประเทศ เปิดพื้นที่แรก จังหวัดขอนแก่นประสบความสำเร็จเกินคาด ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไปตบเท้าเข้าร่วมงานล้นหลาม ตั้งเป้าภายหลังจบโครงการมีผู้เข้าร่วมงานรวมกว่า 2 หมื่นคน

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างกำลังคนดิจิทัลที่มีศักยภาพรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างเมล็ดพันธุ์ดิจิทัลที่มีความพร้อมต่อการสร้างรากฐานอนาคตของประเทศ สอดรับเป้าหมายการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล (Human Capital) ตามเครื่องยนต์ที่สามของนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของ กระทรวงดีอี หรือ The Growth Engine of Thailand”

ทั้งนี้ ภายใต้โครงการดังกล่าว ดีป้ากำหนดจัดกิจกรรม Coding Bootcamp & Roadshow ใน 8 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเริ่มพื้นที่แรกจังหวัดขอนแก่น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติไคซ์ (KICE) มีครู นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานจำนวน กว่า 2,600 คน และผู้ชมผ่าน FB Live รวมจำนวน 23,000 คน

สำหรับกิจกรรม Coding Bootcamp มีครูและนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่อีสานตอนกลาง  ร่วมเรียนรู้ทักษะโค้ดดิ้งเข้มข้น ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลแถวหน้าของประเทศไทยในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ โค้ดดิ้งในชีวิตประจำวัน โค้ดดิ้งเพื่องานเกษตรอัจฉริยะ โค้ดดิ้งวิถีชุมชน และโค้ดดิ้งสำหรับอนาคต มีการนำเสนอผลงาน และได้คัดเลือกสุดยอดผลงานที่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริง 10 ผลงานในการแข่งขัน Coding War ระดับภูมิภาค เพื่อก้าวสู่การเป็น 1 ใน 100 ทีมเข้าร่วมการแข่งขันรอบ Final ที่ MCC Hall เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ก่อนเฟ้นหา 10 สุดยอดผลงานโค้ดดิ้งที่ได้รับการสร้างสรรค์และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท และได้รับสิทธิ์ร่วมการแข่งขันโค้ดดิ้งในเวทีระดับนานาชาติอย่าง Seoul International Invention Fair 2024 (SIIF 2024) ณ สาธารณรัฐเกาหลี 

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปจำนวนมากที่สนใจเข้าร่วมอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ภายใต้ กิจกรรม  Coding Roadshow โดยเฉพาะเสวนาและรายการทอล์กจากกูรูแถวหน้าในหลากหลายหัวข้อ  อาทิ

  • เปลี่ยนเกรด F สู่ A++ ด้วย AI & Coding
  • แนวทางการสนับสนุนและผลักดันบุคลากรด้าน Coding และ AI
  • โอกาสของคนรู้ AI ทำกำไรได้มากกว่าเดิม
  • Coding สร้างรายได้หลักแสน ทำงานจากที่ไหนก็ได้
  • AI ทำคนไทยตกงานจริงหรือ?
  • สร้างคอนเทนต์ด้วยเทคโนโลยีโลกเสมือน
  • แนะทางให้ครู Teach แบบบูรณาการเรื่อง AI & Coding
  • AI Talk Session by แบรนด์ซุปไก่สกัด หัวข้อ “AI กับคลื่นลูกใหม่! ใช้แล้ว ใช้อยู่ ใช้ต่อ”

สำหรับกิจกรรม Coding Bootcamp & Roadshow ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 8 - 9 กรกฎาคมนี้ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรม Coding Roadshow ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือติดตามรายละเอียดและข่าวสารต่าง ๆ ของโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ได้ทาง www.depa.or.th และเฟซบุ๊กเพจ depa Thailand และ CodingThailand by depa

ดีป้า ชวนผู้ประกอบการดิจิทัลไทยร่วมส่งผลงานสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมประกวดในโครงการ ASEAN DIGITAL AWARDS 2025 ที่ประเทศไทยรับบทเป็นเจ้าภาพ พร้อมเปิดโอกาสการนำเสนอผลงานสู่สายตาชาวโลก และสร้างแรงบันดาลใจแก่นวัตกรด้านดิจิทัล สมัครได้แล้ววันนี้ - 26 กรกฎาคมนี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและส่งใบสมัครได้ที่ https://www.depa.or.th/th/asean-digital-awards 

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดีป้า มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อต่อยอดไปสู่ผลงานที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เศรษฐกิจ สังคม และประเทศ พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังเป็นหน่วยงานหลักในการคัดเลือกผลงานของดิจิทัล สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการดิจิทัลสัญชาติไทยเข้าประกวดในโครงการ ASEAN ICT Awards (ASEAN DIGITAL AWARDS ในปัจจุบัน) ที่จัดโดย สำนักงานเลขาธิการอาเซียน มาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและมีผู้ประกอบการไทยได้รับรางวัลจากโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

โดยในปีนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) ยังคงมอบหมายให้ ดีป้า เป็นหน่วยงานคัดเลือกผลงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลฝีมือคนไทย เพื่อเป็นตัวแทนประเทศเข้าประกวดในโครงการ ASEAN DIGITAL AWARDS 2025 ที่ประเทศไทยรับบทเป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจะได้นำเสนอผลงานสู่สายตานานาชาติ อีกทั้งเป็นประตูบานใหม่ที่จะเปิดเข้าสู่ตลาดสากล พร้อมกันนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลจะเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจในการวิจัยและพัฒนาให้กับนวัตกรรุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์/บริการดิจิทัล และเป็นส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในอนาคตผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

โครการ ASEAN DIGITAL AWARDS 2025 แบ่งการประกวดออกเป็น 6 ประเภท ประกอบด้วย

  1. Public Sector ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโปรแกรมดิจิทัลที่มีความเกี่ยวข้องกับการภาครัฐหรือบริการสาธารณะ อาทิ e-government
  2. Private Sector ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโปรแกรมดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อาทิ แอปพลิเคชันอุตสาหกรรม (Industrial application) การบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน (e-Logistics and Supply Chain Management) แอปพลิเคชันสำหรับอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร (Finance Industry Application) การติดต่อสื่อสาร (Communication) ระบบบริการสุขภาพ (e-Health) การท่องเที่ยวและการบริการ (Tourism and Hospitality) เป็นต้น
  3. Digital Inclusivity ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโปรแกรมดิจิทัลที่ช่วยให้ประชาชน/ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยการสร้างทักษะ แรงจูงใจ และโอกาสในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบออนไลน์อย่างปลอดภัย
  4. Digital Content ผลิตภัณฑ์และ/หรือบริการดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรวมข้อความ เสียง รูปภาพ และวิดีโอเพื่อสร้างความสนใจ (ความบันเทิง) ในรูปแบบของมัลติมีเดีย สาระบันเทิง ความสมจริง และปฏิสัมพันธ์
  5. Digital Start-up ผู้ประกอบการดิจิทัลที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้ง เช่น ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์หรือผลิตภัณฑ์ตั้งต้น ซึ่งรวมความก้าวหน้าทางดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงรูปแบบธุรกิจ และยกระดับมาตรฐานการครองชีพ/ผู้บริโภคเพื่อทำให้สังคมและเศรษฐกิจดีขึ้น
  6. Digital Innovation ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโปรแกรมดิจิทัลที่มาจากสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย ซึ่งส่งเสริมนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองต่อวิธีการดำเนินธุรกิจ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้บริการ

สำหรับ ASEAN DIGITAL AWARDS 2024 ตัวแทนประเทศไทยสามารถคว้า 2 เหรียญเงินมาได้จาก ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน Decentralized Health Care โดย บริษัท เฮลธ์แท็ก จำกัด และ ระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับตรวจคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดี BiTNet โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทั้งนี้ ดีป้า และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาจะร่วมคัดเลือกและพิจารณาผู้สมัครจากการนำเสนอผลงานดิจิทัลต่อคณะกรรมการภายในประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานที่เหมาะสมในแต่ละด้าน และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมในโครงการ ASEAN DIGITAL AWARDS 2025 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและส่งใบสมัครได้ที่ https://www.depa.or.th/th/asean-digital-awards ตั้งแต่วันนี้ – 26 กรกฎาคมนี้

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ขอชวนน้อง ๆ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พร้อมคุณครูผู้สอนจากสถาบันการศึกษาทั่วไทยร่วมประชันไอเดีย พร้อมสร้างสรรค์ผลงานด้านโค้ดดิ้งใน “Coding War” รายการแข่งขันทักษะด้านโค้ดดิ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ อีกหนึ่งกิจกรรมที่ห้ามพลาดเป็นอย่างยิ่งของโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย

Page 1 of 9
X

Right Click

No right click