December 22, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6855

จ๊อบส์ ดีบี ฉายภาพทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤตชี้ผ่านจุดต่ำสุด พบกลุ่มสายงานและกลุ่มธุรกิจส่งสัญญาณบวก พร้อมโชว์ตัวเลขความต้องการตำแหน่งงานของไทย

March 30, 2021 2588

กรุงเทพฯ 29 มีนาคม 2564 – จ๊อบส์ ดีบี เปิดข้อมูลการประเมินแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤต (Wake-up Talk : Job Market Projection after Crisis) พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 จำนวนความต้องการแรงงานในประเทศไทยทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ฟื้นขึ้นจากจุดต่ำสุดถึง 24.65% โดยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากเดือนเมษายน 2563 และเดือนธันวาคม 2563 จากการระบาดระลอกที่ 2 โดยกลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 16.0% 2) สายงานไอที คิดเป็น 14.7% 3) สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 9.8% ในด้านมุมมองกลุ่มธุรกิจพบว่า ธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจประกันภัย 2) กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 3) กลุ่มธุรกิจการผลิต นอกจากนี้ยังพบว่า อัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทยมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร โดยกระจุกตัวอยู่เพียงในเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท ในด้านของสถานการณ์การจ้างงานของกลุ่มประเทศในอาเซียน 4 ประเทศเศรษฐกิจหลัก พบว่า ประเทศที่เริ่มกลับมามีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ล่าสุด จ๊อบส์ ดีบี ได้เปิดตัวแคมเปญ “หางานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่เลือก” (Jobs That Matter) พร้อมเปิดตัวโซลูชันใหม่ให้ภาคธุรกิจและคนหางาน อาทิ การปรับอินเตอร์เฟซโฉมใหม่ การปรับฟีเจอร์ใหม่ ระบบเอไอใหม่ เพื่อรองรับการหางานของคนไทยทุกกลุ่มทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน จ๊อบส์ ดีบี มีจำนวนประกาศงานใหม่ต่อเดือนทั้งหมดกว่า 10,000 งาน

นางสาวพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จ๊อบส์ ดีบี ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤต พบว่า ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 จำนวนความต้องการแรงงานในประเทศไทยทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ฟื้นขึ้นจากจุดต่ำสุดถึง 24.65% สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยผ่านจำนวนความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการว่า ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากช่วงเดือนเมษายน 2563 และเดือนธันวาคม 2563 จากการระบาดระลอกที่ 2 และคาดการณ์ว่าจำนวนประกาศงานทั้งประเทศจะกลับมาเป็นบวก 5% ในกลางปี 2564 (เมื่อเทียบกับกลางปี 2563) และจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤตการณ์โควิด–19 ในต้นปี 2565 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่

ในส่วนของความต้องการเมื่อแบ่งตามสายงาน จากจำนวนประกาศงานบน จ๊อบส์ ดีบี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 พบว่า กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 16.0% 2) สายงานไอที คิดเป็น 14.7% 3) สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 9.8% และในส่วนของการฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มสายงาน พบว่า กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 29.7% 2) สายงานขนส่ง คิดเป็น 24.7% 3) สายงานการผลิต คิดเป็น 20.8% นอกจากนี้ ยังพบว่า มีสายงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 อาทิ นักพัฒนาเอไอ ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญ Business Transformation รวมถึง Growth Officer

 

ในด้านมุมมองกลุ่มธุรกิจพบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น 12.9% 2) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 8.1% 3) กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็น 6.6% และในส่วนของธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจประกันภัย คิดเป็น 42.9% 2) กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 41.9% 3) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 37.7% นอกจากนี้ยังพบว่า อัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 20% ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 และมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร โดยการแข่งขันมีการกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มคนทำงานที่เงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท

ในด้านของสถานการณ์การจ้างงานของกลุ่มประเทศในอาเซียน พบว่า ประเทศที่มีจำนวนประกาศงานออนไลน์ลดลงมากที่สุดจากช่วงก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ 1) อินโดนีเซีย ลดลง 55.7% 2) ฟิลิปปินส์ ลดลง 46.6% 3) มาเลเซีย ลดลง 39.0% 4) ไทย ลดลง 35.6% ในขณะเดียวกัน จากจำนวนประกาศงานออนไลน์ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 พบว่า ประเทศที่เริ่มกลับมามีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1) มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 14.8% 2) อินโดนีเซีย ติดลบดีขึ้นเหลือ -16.4% 3) ไทย ติดลบดีขึ้นเหลือ -20.5% 4) ฟิลิปปินส์ ติดลบดีขึ้นเหลือ -37.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2563

จ๊อบส์ ดีบี ได้ร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) ในการจัดทำแบบสำรวจระดับโลก “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทำงานยุคใหม่” (Global Talent Survey) ฉบับที่ 1 จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศ ภายใต้หัวข้อ “Where – ประเทศที่คนอยากทำงาน และการทำงานแบบเวอร์ชวล” เพื่อศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนไปในแต่ละปีของแรงงานทั่วโลก โดยเฉพาะปีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ จากผลสำรวจ พบว่า เกิดสองปรากฏการณ์สำคัญในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งปรากกฏการณ์แรกคือ คนทำงานหันมาให้ความสนใจการทำงานแบบเวอร์ชวล โดยกว่า 57% ของคนทำงานทั่วโลกยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัทที่อยู่ต่างพื้นที่ และ 50% ของคนไทยยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัทที่อยู่ต่างพื้นที่ ซึ่ง 3 อันดับประเทศที่คนไทยอยากไปทำงานด้วยมากที่สุด ได้แก่ 1) ออสเตรเลีย 2) ญี่ปุ่น 3) สิงคโปร์ และ 5 อันดับแรงงานต่างชาติที่สนใจอยากมาทำงานให้กับบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ 1) สิงคโปร์ 2) มาเลเซีย 3) จีน 4) อินโดนีเซีย 5) รัสเซีย ซึ่งในปี 2020 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 35 จากประเทศทั่วโลกที่คนทำงานต่างชาติสนใจอยากเข้ามาทำงาน ขยับขึ้นมาจากอันดับ 43 และ 39 ในปี 2014 และ 2018 ตามลำดับ

และปรากฏการณ์ที่สอง จากผลสำรวจของ จ๊อบส์ ดีบี คือ คนทำงานในประเทศไทยหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 มีพฤติกรรมหันมาทำงานแบบเวอร์ชวลมากขึ้นในทุกสายงาน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้งสองปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มคนทำงานแบบเวอร์ชวล (Virtual Talent Pool) ที่จะมาเป็นกุญแจสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับภาครัฐ นายจ้าง รวมถึงคนทำงานในยุคหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการหางานในต่างประเทศโดยไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน หรือโอกาสในการหาคนทำงานที่ตรงตามความต้องการจากต่างประเทศ

ล่าสุด จ๊อบส์ ดีบี ได้ปรับรูปลักษณ์ตลอดจนทิศทางการดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ผ่านการเปิดตัวแคมเปญ “หางานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่เลือก” (Jobs That Matter) และเปิดตัวโซลูชันใหม่ให้ภาคธุรกิจและคนหางาน อาทิ การปรับอินเตอร์เฟซโฉมใหม่ การปรับฟีเจอร์ใหม่ที่จะเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์แบบเพอร์เซอนัลไลเซชัน (Personalization) ให้กับผู้หางาน ไม่ว่าจะเป็นระบบค้นหาด้วยข้อมูลอัลกอริทึม ทางลัดเข้าสู่โปรไฟล์ส่วนตัว และระบบเอไอแนะนำตำแหน่งงาน  รวมถึงการพัฒนาโครงการ “ยกระดับความรู้ ก้าวสู่งานที่ใช่” (#levelupyourcareer) กิจกรรมยกระดับทักษะคนหางานผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ “อัพสกิล รีสกิล”  รวมกว่า 80 คอร์ส อาทิ ฟินเทคและอีคอมเมิร์ซ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ทักษะทางด้านภาษา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน จ๊อบส์ ดีบี มีจำนวนประกาศงานใหม่ต่อเดือนทั้งหมดกว่า 10,000 งาน นางสาวพรลัดดา กล่าวทิ้งท้าย

Last modified on Wednesday, 31 March 2021 01:20
X

Right Click

No right click