พวกเราส่วนใหญ่คิดว่าปี 2020 กำลังจะเป็น "ปีทอง" แต่ทุกอย่างกลับดูผิดคาดอย่างที่ทุกคนคิดไม่ถึง เมื่อเกิดการระบาดของ โควิด 19 ปี 2020 กลายเป็นปีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนไปจากเดิม และเมื่อเริ่มปี 2021 ก็ยังคงมีการระบาดรอบสอง รอบสาม ไปทั่วโลก ความต้องการวัคซีนและความหวาดกลัวกลุ่มผู้คนที่ต่างถิ่นเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นข้อกังวลของภาคธุรกิจในการฟื้นตัวและการเตรียมความพร้อมเพื่อการอยู่รอด
หลายบริษัททั่วโลกต่างปิดสำนักงาน พร้อมกับแนวคิด WFH ได้ถูกนำมาใช้ หลายคนที่ทำงานอยู่ต่างประเทศก็ติดอยู่ที่ประเทศอื่น ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านเกิดได้ ความวิตกและความเครียดเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ทำงาน ถือเป็น ปรากฏการณ์ใหม่ที่ปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของคน วิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal การปรับเปลี่ยน วิถีการใช้ชีวิต เปลี่ยนวิธีที่เราสัมพันธ์ สื่อสาร การใช้ชีวิต และทำงานร่วมกันกับคนอื่น ๆ รอบตัว จากเดิม ที่คุ้นชินกับการทำงานในสำนักงานก็ต้องปรับตนเองมาทำงานที่บ้าน โดยยังคงถูกคาดหวังให้ส่งผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าเดิมหรือ มากกว่าเดิม ที่แย่มากกว่านั้นคือหลายๆธุรกิจถึงกับปิดตัวลง ส่งผลต่อผู้ทำงานกลายเป็นคนตกงาน และดูเหมือนว่า สถานการณ์ ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ทำให้หลายๆองค์กรต่างก็ต้องการแนวทางในการแก้ไขและดำรงอยู่ให้ได้ในสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างตลอดเวลา
ทุนนิยม ไม่สามารถตอบโจทย์ของความสำเร็จได้อีกต่อไป ณ ขณะนี้ เราทุกคนต่างมองหาทางออก เพียงเพื่อให้อยู่รอดได้ ในขณะที่ องค์การสหประชาชาติ ได้พุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs Sustainability Development Goals : SDGs ใน อีก 15 ปีข้างหน้าที่จะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาของประชาคมโลก ที่จะขจัดความยากจนให้หมดไปพร้อมๆ กับดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ด้วยแผนพัฒนา 17 ข้อ ที่จะพาโลก พาทุกคนให้ยั่งยืนไปด้วยกัน ซึ่งแต่ละประเทศ แต่ละองค์กร ต้องวางแผนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นภายในปี 2030 ธุรกิจจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หากสังคมนั้นๆ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ทุกองค์กรต่างต้องหาเส้นทางเดินสู่เป้าหมาย “เพื่อความยั่งยืน” เพราะมันคือเป้าหมายเดียวกัน
เรื่องของการบริหารจัดการ คน และองค์กร ให้ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถการันตีได้ว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมันจะสำเร็จได้ตลอดไป เพราะด้วยปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามากระทบทำให้เกิดความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ซึ่งเรื่องนี้ กัลยา แก้วประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท มิส คอนซัลท์ ผู้ให้บริการด้านการพัฒนาศักยภาพบุคคลและตัวแทนของ Wiley จากสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ สำหรับการสร้างความพร้อมขององค์กรในการรรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยังคงสามารถสร้างการแข่งขันได้ จากการบริหารด้วยความยั่งยืน
จากผลสำรวจของ ไวลีย์ (Wiley ในเดือนกันยายน 2020 ) กับภาคธุรกิจรอบโลกมากกว่า 2500 แห่ง เกี่ยวกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พบว่า การเกิดสภาวะโรคระบาดของ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการสร้างการแข่งขันได้ขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ
โดยทั่วไป เราต้องยอมรับว่า สภาพสังคมการทำงานโดยปกติ ก็เป็นสิ่งที่เปราะบางง่ายอยู่แล้ว การทำงานของคนที่อยู่ร่วมกัน สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เหตุการณ์ “ความขัดแย้ง” และ “ความเข้าใจผิด” ที่ส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจกัน
ถ้าเรายอมรับว่ามนุษย์ทุกคนไม่สมบูรณ์ ดังนั้นในสภาพทำงานโดยทั่วไป คือ “คนที่ไม่สมบูรณ์” ปฏิสัมพันธ์กับ “คนอื่นที่ไม่สมบูรณ์” ซึ่งการที่เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคนอื่น จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกันและช่วยกัน เติมเต็มความสมบูรณ์ให้แก่กันและกัน ดังนั้น การได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยการเจอผู้คน ตัวเป็นๆ ทำให้เรามีโอกาสเติบโตมากยิ่งขึ้น
เมื่อการทำงานเปลี่ยนแปลงจากการเจอตัวจริงไปทำผ่านระบบออนไลน์ หลายคนชอบ แต่หลายคนก็ไม่ชอบ ซึ่งจากผลการสำรวจ เรากลับพบว่า ผู้คนมีระดับความเครียดเพิ่มมากขึ้น และ แน่นอนว่าประสิทธิภาพผลงานต่ำกว่าเดิมมาก ดังนั้น ความท้าทายขององค์กรไม่เพียงแต่ ต้องคิดหาทางให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้ แต่ยังคงต้องทำให้ทีมงานของตนกระตือรือร้นและมีความเชื่อมั่นต่อองค์กร บริการ และ สังคม เพื่อส่งต่อผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และเมื่อทำการสำรวจต่อเนื่องเพื่อหาคำตอบว่า องค์กรควรเตรียมความพร้อมอย่างไรเพื่อรับมือกับสถาณการณ์ดังกล่าวได้อย่างดีที่สุด คำตอบคือ “การสร้างวัฒนธรรมองค์กร” ที่แข็งแรงจะสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาได้ โดยผลสำรวจ ผู้บริหารระดับมืออาชีพจากทั่วโลก ให้คำตอบที่ตรงกันว่า วัฒนธรรมองค์กรมีผลกระทบต่อความสำเร็จขององค์กรถึง 98% และ เชื่อว่าองค์กรสามารถพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรให้ดีขึ้นได้ถึง 99% ซึ่งเป็นผลสำรวจที่ส่งผลให้เห็นว่า ผู้นำมืออาชีพทั่วโลกต่างก็รับรู้ว่า การสร้างวัฒนธรรมองค์กรถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความสำเร็จขององค์กร
แน่นอนว่า องค์กรจะต้องเตรียมวัฒนธรรมองค์กรให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ตอบสนองจะสามารถสนับสนุนการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ปีเตอร์ เฟอร์ดินานด์ ดรักเกอร์ เคยกล่าวไว้ว่า “วัฒนธรรมกลืนกินกลยุทธ์” เพราะถ้าองค์กรมีวัฒนธรรมที่ไม่ตอบสนอง ไม่ว่ากลยุทธ์จะดีเพียงใด สุดท้ายก็จะถูกวัฒนธรรมทำให้ไม่เกิดผลนั่นเอง
และนี่คือคำตอบ ของการใช้เครื่องมือ “ด้วยความยั่งยืน” ที่ทุกองค์กรสามารถทำได้ นับว่าเป็นโอกาสดีสำหรับองค์กร ที่ถึงคราวปรับเปลี่ยน และพัฒนาด้วยการสร้างวัฒนธรรมที่ต้องการเพื่อวางรากฐานองค์กร และมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ได้ต่อไป
เรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะจะมีหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เราจะคุยเรื่องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรกันต่อในครั้งหน้าค่ะ
โดย กัลยา แก้วประเสริฐ
บริษัท มิส คอนซัลท์ จำกัด