ในขณะที่ธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ความคาดหวังของพนักงานก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน ในโลกหลังวิกฤตโควิด-19 ที่แต่ละองค์กรได้รับผลกระทบจากการลาออกครั้งใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทยไม่เพียงแต่ปรับตัว แต่ยังได้เปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลพนักงาน เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมธนาคารอีกด้วย
ตั้งแต่ปี 2564 อุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตการลาออกครั้งใหญ่หรือที่เรียกว่า Big Quit ที่เกิดจากพนักงานพร้อมใจกันตบเท้ากันลาออกจากงานโดยสมัครใจในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การแข่งขันในการเฟ้นหาผู้ที่มีความสามารถในโลกของการทำงานกลายเป็นเรื่องดุเดือดในช่วงหลังการแพร่ระบาด หลายองค์กรต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านบุคลากร เนื่องจากพนักงานต่างคาดหวังที่จะได้รับประสบการณ์การทำงานที่ตรงกับความต้องการในแต่ละช่วงชีวิตของตน
นางสาวศศิวิมล อารยวัฒนาพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรัพยากรบุคคล ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ที่ธนาคาร ยูโอบี พนักงานของเราคือส่วนสำคัญของความสำเร็จของธนาคาร เราให้ความสำคัญเรื่องการสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ และยังมุ่งมั่นที่จะเติมเต็มประสบการณ์การทำงานที่ดีให้กับพนักงาน เป้าหมายของเราคือการตั้งบรรทัดฐานใหม่สำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน สนับสนุนการเติบโตให้หน้าที่การงาน และสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงานทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว”
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้นำข้อมูลจากการศึกษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียน (ACSS) ประจำปี 2566 ของธนาคาร ยูโอบี มาใช้ในการคิดค้นกลยุทธ์ด้านบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นองค์กรในใจพนักงาน ผลการศึกษาตอกย้ำว่าร้อยละ 52 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยคิดว่าชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นเป็นสิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากองค์กรมากที่สุด ธนาคารยูโอบีให้ความสำคัญกับความคาดหวังนี้ ผ่านปรัชญาในการดูแลพนักงานของธนาคาร และนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น และแนวทางด้านความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
โดยมีเป้าหมายในการปรับให้เข้ากับความต้องการที่หลากหลายของพนักงานของเรา และรองรับความต้องการในอนาคต นอกจากนี้ พนักงานของธนาคารยังได้รับโอกาสมากมายในการฝึกฝนและพัฒนาทักษะเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะพร้อมรับมือกับความท้าทายในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคต ทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว
การที่ธนาคารยูโอบี ประเทศไทยให้ความสำคัญกับบุคลากรสะท้อนอยู่ในหลากหลายสิทธิประโยชน์สำหรับพนักงาน อาทิ
1. การทบทวนอัตราเงินเดือนของพนักงานให้แข่งขันกับตลาดได้: เราได้เริ่มการทบทวนโครงสร้างค่าตอบแทนพนักงานของธนาคาร ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ทั้งในระยะยาวและระยะสั้นของธนาคาร เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนจะรู้สึกมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน และทำให้พนักงานมั่นใจถึงผลตอบแทนที่เป็นธรรมสำหรับการแข่งขันอย่างดุเดือดในการดึงดูดผู้มีความสามารถในตลาดแรงงาน
2. มีการปรับปรุงนโยบายด้านบุคลากรทั้งการดูแล การเติบโต และความไว้วางใจ: ความมุ่งมั่นของเราที่มีต่อการดูแลบุคลากรนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ธนาคารยังมอบสิทธิประโยชน์มากมายที่ได้รังสรรค์มาเพื่อสนับสนุนพนักงานทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของพนักงาน ตั้งแต่เริ่มต้นการทำงาน จนถึงพนักงานเกษียณอายุ นโยบายของเรายังมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีต่อสุขภาพ การทำงานที่ยืดหยุ่น และสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยวงเงินสูงสุดถึง 50 ล้านบาทตามเงื่อนไขของธนาคาร
3. ความยืดหยุ่นในการทำงาน: ด้วยการตระหนักถึงความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของพนักงาน เราจึงนำเสนอแนวทางการทำงานที่ยืดหยุ่น หลังจากการผ่อนคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด-19 ธนาคารได้มีการปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบไฮบริด ให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยให้พนักงานยังคงความรู้สึกผูกพันกับเพื่อนร่วมงานและต่อองค์กร ในขณะเดียวกันก็สามารถบริหารจัดการงานของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนโยบายการทำงานแบบไฮบริดนี้ ธนาคารยูโอบีให้ความยืดหยุ่นและอิสระแก่พนักงาน ด้วยแผนทางเลือก Flexi-2 ซึ่งอนุญาตให้พนักงานทุกคนสามารถลางานได้ 2 ชั่วโมงต่อเดือน ระหว่างวันทำงานเพื่อไปจัดการกับเรื่องส่วนตัวได้ นอกจากนี้ พนักงานยังสามารถเลือกเวลาเริ่มทำงาน เพื่อให้อิสระในการจัดการตารางการทำงานของตนเอง และการใช้ชีวิตได้ลงตัวด้วย
4. การมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน: เราได้เริ่มดำเนินนโยบายสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวม เพื่อสุขภาพที่ดีของพนักงาน ประกอบด้วยสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ เช่น การตรวจสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจประจำปี ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต และประกันอุบัติเหตุ ความมุ่งมั่นของเราต่อสุขภาพที่ดียังขยายไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำนักงานของยูโอบี อาทิ ห้องพยาบาล ฟิตเนส ห้องนวด และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ
นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพจิตที่ดี ธนาคารยูโอบีมีบริการ 'ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา' ที่ให้พนักงานสามารถติดต่อและปรึกษากับนักจิตวิทยามืออาชีพ เพื่อปรึกษาปัญหาต่างๆ เช่น ความเครียด การบริหารเวลา และการนอนหลับ ได้มากถึง 12 ครั้งต่อปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เราได้ขยายบริการเหล่านี้ให้กับสมาชิกในครอบครัวของพนักงาน พร้อมส่วนลดพิเศษให้กับครอบครัว
ฟูมฟักความเป็นผู้นำและฝึกฝนทักษะสำหรับอนาคต
5. การฟูมฟักบุคคลากรของเราด้วยโครงการพัฒนาบุคลากร: เราตระหนักถึงคุณค่าของบุคลากรที่มีความสามารถภายในองค์กร เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์การเติบโตในระยะยาวของธนาคาร เราได้พัฒนาผู้นำที่มีค่านิยมตามแบบฉบับของยูโอบี มีความสามารถ และศักยภาพในการเป็นผู้นำผ่านโครงการ Leadership Acceleration โปรแกรมนี้ประกอบด้วยการพัฒนาความเป็นผู้นำ การฝึกสอนผู้บริหาร การหมุนเวียนการทำงานไปยังแผนกต่างๆ รวมถึงมอบหมายให้รับผิดชอบโปรเจ็คสำคัญ และโอกาสในการก้าวไปสู่บทบาทผู้นำภายในองค์กรอย่างรวดเร็ว
6. การยกระดับทักษะเพื่อให้รับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน: การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาบุคคลากร เราได้สร้างโปรแกรมการฝึกอบรม การเพิ่มพูนทักษะตลอดทั้งปี โดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อให้พนักงานของเรามีเครื่องมือในการปรับตัวและทำงานด้วยความเป็นเลิศ โครงการ "Better U" ได้รับการออกแบบมาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานทุกเพศ ทุกวัย สำหรับยุคดิจิทัล รวมถึงทักษะเพิ่มเติมในด้านต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูล และทักษะในการจัดการโครงการต่างๆ นอกจากนี้ พนักงานยังสามารถเลือกคอร์สที่พนักงานสนใจฝึกฝนเพิ่มเติมผ่านพอร์ทัลการเรียนรู้ของธนาคาร
สร้างความไว้วางใจผ่านการปลุกพลังและการชื่นชม
7. ความเชื่อมั่นและการชื่นชม: ความไว้วางใจคือหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรของยูโอบี เราสนับสนุนให้หัวหน้างานเชื่อมั่นในทีมงาน ให้มีอิสระในการตัดสินใจและแม้แต่การเรียนรู้จากความผิดพลาด การที่ผู้บริหารระดับสูงปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างถือเป็นรากฐานที่สำคัญของความสำเร็จของเรา การแสดงความขอบคุณเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ทุกคนสามารถไว้วางใจกันได้ ธนาคารยูโอบีกำหนดให้ทุกเดือนสิงหาคมของทุกปีเป็น "เดือนแห่งการขอบคุณ" ซึ่งสนับสนุนให้ทุกคนแสดงความชื่นชมและขอบคุณเพื่อนร่วมงานได้
ด้วยการดำเนินการตามกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นศูนย์กลาง จึงทำให้คะแนนการมีส่วนร่วมของพนักงานของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 88 ในปี 2566 ซึ่งนอกจากจะมากกว่าคู่แข่งในระดับภูมิภาคแล้ว ยังมากกว่าคะแนนความผูกพันโดยเฉลี่ยขององค์กรทั่วโลกอีกด้วย ในอุตสาหกรรมธนาคารที่มีอัตราการลาออกอยู่ที่ร้อยละ 20 อัตราการลาออกจากงานของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 13 ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของแนวคิดที่เน้นพนักงานเป็นศูนย์กลาง