January 15, 2025

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ประกาศความร่วมมือกับบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ชั้นนำในประเทศไทย ในโครงการผลิตภัณฑ์เงินฝากสีเขียวของยูโอบี ความร่วมมือครั้งนี้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนระยะยาวของบริษัทฯ

นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Deputy CEO และ Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์เงินฝากสีเขียวของยูโอบี ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนสอดคล้องกับทางธนาคาร เรามีความยินดีที่ได้ต้อนรับบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ เป็นพันธมิตรในโครงการนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมมือกันในเส้นทางเพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น”

ในการเข้าร่วมโครงการผลิตภัณฑ์เงินฝากสีเขียวนี้ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ได้ฝากเงินจำนวนมากกับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ซึ่งจะถูกจัดสรรไปยังโครงการที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตามกรอบการให้บริการทางการเงินอย่างยั่งยืนของธนาคาร เงินทุนเหล่านี้จะสนับสนุนโครงการยั่งยืนต่างๆ ได้แก่ พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การก่อสร้างอาคารเขียว และโครงการอื่นๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs)

นายอภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมือกับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ในโครงการผลิตภัณฑ์เงินฝากสีเขียวนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ ความร่วมมือนี้ทำให้บริษัทฯ มั่นใจว่าสินทรัพย์ทางการเงินของเราจะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการดูแลโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมเบเกอรี่ บริษัทฯ มุ่งมั่นยกระดับโภชนาการและคุณภาพชีวิตของคนไทย ตลอดจนดำเนินงานให้มีผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกับยูโอบีนี้จึงสะท้อนถึงกลยุทธ์ ESG ที่ครอบคลุมของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดขยะ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชน และการพัฒนาพนักงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รวมรายละเอียดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ผลิตภัณฑ์เงินฝากของบริษัทฯ ได้ให้การสนับสนุนผ่านโครงการการให้บริการทางการเงินอย่างยั่งยืนของยูโอบีไว้ในรายงานประจำปี

คุณวีระอนงค์กล่าวเสริมว่า “ข้อมูลนี้ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณค่าสำหรับบริษัทฯ ในการนำไปรวมในรายงานความยั่งยืน และยกระดับความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในเรื่องความโปร่งใสและการรับผิดชอบในความพยายามด้าน ESG พร้อมรับผลตอบแทนที่มั่นคง”

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ผู้นำองค์กรจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตที่ดีกว่าสำหรับคนรุ่นต่อไป สำหรับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย บทบาทของเรามีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่เพียงแค่สนับสนุนลูกค้าให้เดินหน้าสู่การลดคาร์บอน (decarbonisation) แต่ยังต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภายในเพื่อให้องค์กรและพนักงานเดินหน้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วย

นางสาววาสินี ศิวะเกื้อ Country Function Head of Finance & Corporate Real Estate Services

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานโดยตรงส่วนใหญ่เกิดจากการซื้อไฟฟ้าในอาคารสำนักงาน เราจึงวางกลยุทธ์การลดคาร์บอนโดยเน้นการจัดการอาคารอย่างยั่งยืนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยสำหรับอาคารที่เราเป็นเจ้าของ อย่างอาคารยูโอบี พลาซา กรุงเทพ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคาร และอาคารยูโอบี เพชรเกษม เราได้ติดตั้งระบบอาคารอัจฉริยะ รวมถึงระบบไฟฟ้าอัจฉริยะและเครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้ค่าความเข้มข้นการใช้พลังงาน (EUI) ในปีที่ผ่านมาลดลงมาอยู่ที่ 139.4 kWh/m2 และ 142.1 kWh/m2 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาคารพาณิชย์ทั่วโลกที่ประมาณ 160-170 kWh/m2 ต่อปี และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 219 kWh/m2 ต่อปี

ประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีขึ้นนี้สอดคล้องกับข้อกำหนดสำหรับการรับรอง Green Mark Platinum ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมโดยหน่วยงานการก่อสร้างและอาคารของสิงคโปร์ และแน่นอนรวมถึงอาคารยูโอบี สาทร (ซึ่งเดิมชื่ออาคารสาทรและกูดวูด) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงด้วย

นอกจากนี้ เรานำแนวคิดความยั่งยืนมาผสมผสานในการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สาขาต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น สาขาแห่งใหม่ในระยองที่ออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีผิวภายนอกอาคารที่มีค่าการแผ่รังสีต่ำ (low emissivity) ซึ่งช่วยจัดการคุณภาพอากาศภายในสาขา ระบบปรับอากาศและระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้อากาศสะอาด เย็นสบาย และประหยัดพลังงาน และขณะนี้ เราเริ่มติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ณ อาคารยูโอบี เพชรเกษม และอาคารยูโอบี สาทร เมื่อโครงการติดตั้งในอาคารสำนักงานและสาขาที่เข้าร่วมโครงการเสร็จสมบูรณ์ เราจะสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าประมาณ 200 ตัน

เป้าหมายของเราคือให้อาคารสำนักงานและสาขาของยูโอบี รวมถึงการปรับปรุงอาคารต่างๆ ในประเทศไทย กลายเป็นต้นแบบสำหรับอาคารอื่นๆ ในอนาคต เพื่อเราจะได้มีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนของประเทศ”

เปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมในการจัดการขยะ

ควบคู่กับการลดคาร์บอนในอาคารสำนักงานและสาขา เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของขยะที่มีในชีวิตประจำวันและความสำคัญของขยะต่อคุณภาพชีวิตในกรุงเทพฯ เราจึงเชิญชวนพนักงานระดมความคิดในการรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการขยะที่สามารถปรับใช้ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ทำงานหรือที่บ้าน

โดยนับตั้งแต่ปี 2564 เราได้เปิดตัวโครงการ Waste to Wonder เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะให้พนักงาน นับตั้งแต่การลดการใช้ การซ้ำ รวมไปถึง การคัดแยกขยะและการรีไซเคิล ในปีที่ผ่านมา พนักงานได้ร่วมกันรีไซเคิลขยะกว่า 78,000 กิโลกรัม ซึ่งประกอบด้วยกระดาษ พลาสติก อลูมิเนียม แก้ว และขยะอาหาร   

นอกจากนี้ เราติดตั้งเครื่องหมักปุ๋ยที่สามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้ถึง 20 กิโลกรัมต่อวันที่อาคารยูโอบี พลาซา กรุงเทพ และอาคารยูโอบี เพชรเกษม โดยปุ๋ยที่ได้จะนำไปใช้ในการจัดภูมิทัศน์ของธนาคารและมอบให้พนักงานที่ชอบทำสวน

ปีนี้ เราได้ยกระดับโครงการ Waste to Wonder ด้วยกิจกรรม Race to Zero Waste ให้พนักงานแต่ละชั้นร่วมแยกขยะอย่างถูกต้องและลดปริมาณขยะทั่วไปที่ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ ความพยายามของเราเริ่มเห็นผล ตั้งแต่เริ่มการแข่งขัน ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นต่อชั้นต่อเดือนลดลงและอัตราการรีไซเคิลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ผลลัพธ์ที่ได้จากการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ยูโอบี ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นองค์กรต้นแบบในการจัดการขยะในหมวดธนาคารโดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้เราเป็นเพียงธนาคารแห่งเดียวที่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ของกรุงเทพมหานครในการเป็น "องค์กรปลอดขยะ"

เราภูมิใจที่เห็นพนักงานมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งให้ความร่วมมือในกิจกรรมด้านความยั่งยืนต่างๆ ขององค์กร พนักงานหลายคนเล่าว่าพวกเขารู้สึกได้ว่าตนเองสามารถจัดการขยะส่วนตัวและมีส่วนร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ซึ่งเราเชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะถูกนำไปปรับใช้ในครอบครัวของพนักงานด้วย

 

เปลี่ยนยานพาหนะขององค์กรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ยานพาหนะถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กร เราตั้งเป้าแทนที่ยานพาหนะทั้งหมดด้วยยานพาหนะไฟฟ้า (EVs) ภายในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากยานพาหนะของธนาคารเกือบร้อยละ 70 แม้ว่าการเปลี่ยนยานพาหนะจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขต 1 และเพิ่มขึ้นในขอบเขต 2 จากการซื้อไฟฟ้า แต่เราคาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานโดยตรงโดยรวมได้ถึงร้อยละ 9

การตัดสินใจนี้ไม่ได้มีเพียงเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการพร้อมเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดและการสนับสนุนจากภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทย

แม้ว่าเราจะมีความก้าวหน้าบนเส้นทางสู่ความยั่งยืน แต่เราตระหนักดีว่าการลดคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องใช้เวลา ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นความจำเป็นทางธุรกิจด้วย เราขอเชิญชวนทุกบริษัทในประเทศไทยมาร่วมเดินไปกับเรา การเปิดรับแนวคิดลดคาร์บอนจะช่วยสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัท สังคม และโลกของเรา

กลุ่มธนาคารยูโอบีรายงานผลกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2567 ที่ทุบสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากรายได้จากค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการค้าและการลงทุน ที่ทำสถิติสูงสุดใหม่

ผลการดำเนินการในไตรมาส 3 ปี 2567 ของกลุ่มธนาคารยูโอบีเป็นผลจาก แฟรนไชส์หลักที่หลากหลาย ครอบคลุมธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ (Wholesale) โกลบอล มาร์เก็ตส์  (Global markets) และธุรกิจลูกค้ารายย่อย (Retail businesses)

รายได้จากค่าธรรมเนียมสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 630 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการความมั่งคั่ง รายได้จากดอกเบี้ยรับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 2.5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ จากการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งที่ร้อยละ 5 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยดีดตัวขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 744 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยได้รับแรงหนุนจากรายได้จากการค้าและการลงทุนที่สูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่รายได้จากการบริหารตลาดเงินที่เกี่ยวกับลูกค้าก็เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ต้นทุนความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 34 จุด เนื่องจากพอร์ตโฟลิโอลูกค้ารายย่อยในประเทศไทยภายหลังการควบรวมกิจการซิตี้ในไตรมาสที่แล้ว ต้นทุนความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อสำหรับทั้งปีจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 25 ถึง 30 จุด คุณภาพสินทรัพย์ยังคงมีความยืดหยุ่น โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คงที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 งบดุลของกลุ่มธนาคารยูโอบียังคงแข็งแกร่งด้วยสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่หนึ่งที่เป็นส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.5

นายวี อี เชียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ของกลุ่มธนาคารเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตในทุกส่วนธุรกิจและตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียน ธนาคารมีความพร้อมที่จะรักษาโมเมนตัมของการเติบโตของรายได้ ด้วยงบดุลที่แข็งแกร่งและแฟรนไชส์หลักที่มั่นคง

ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับโดดเด่นในฐานะภูมิภาคที่มีศักยภาพ เราเชื่อมั่นในศักยภาพในระยะยาวของอาเซียน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวนมาก พร้อมกับการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน ความแข็งแกร่งด้านการเชื่อมโยงของธนาคารร่วมกับปัจจัยหนุนที่เหมาะสม ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจลูกค้ารายใหญ่

ความสำเร็จจากการผนวกรวมพอร์ตโฟลิโอของซิตี้กรุ๊ปในมาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ถือเป็นก้าวสำคัญของธนาคาร การผสานโอกาสในการขายข้ามผลิตภัณฑ์จากพอร์ตโฟลิโอที่ขยายตัวนี้ให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ และเรามุ่งมั่นที่จะยกระดับขีดความสามารถในตลาดสำคัญๆ ในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนพร้อมที่จะคว้าโอกาสใหม่ๆ และขับเคลื่อนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางธุรกิจกับ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องการลงทุนซื้อสถานประกอบการ ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ทางธุรกิจ

การลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังตัดสินใจลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ทางธุรกิจ เช่น โรงงาน โกดัง อาคารพาณิชย์ ฯลฯ จาก SAM ผ่านการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจเพื่อลงทุนในสถานประกอบการของธนาคารยูโอบี พร้อมกับอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อนชำระ และเงื่อนไขพิเศษจากธนาคาร

นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Head of Business Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ธนาคารเล็งเห็นถึงความต้องการของธุรกิจเอสเอ็มอี ในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ สำหรับต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ ความร่วมมือกับ SAM ครั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ทางธุรกิจกับทาง SAM สามารถขอรับพิจารณาสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 30 ปี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น”

นายสุรงค์ สุวรรณวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่าง SAM และธนาคารยูโอบี ในโครงการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทางธุรกิจ ในครั้งนี้ นอกจากช่วยสนับสนุนและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการซื้อทรัพย์สินรอการขายหรือ NPA ของ SAM ที่มีอยู่จำนวนมากและหลากหลายในทำเลดีทั่วประเทศ ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน และมีทางเลือกในการยื่นขอสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมแล้ว ยังเป็นการช่วยทำให้เกิดการนำทรัพย์ NPA ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์กลับสู่ระบบเศรษฐกิจและถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ อันจะนำมาซึ่งความเข้มแข็งและความเติบโตของประเทศโดยรวม” 

ในช่วงที่เหลือของปี 2567 และต่อเนื่องไปถึงปี 2568 มีความเสี่ยงสำคัญ 3 ประการที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ 1. ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และดันราคาพลังงานให้สูงขึ้น 2. ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนว่าจะเพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่ และ 3. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบมากที่สุด

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ผลกระทบดังกล่าวอาจส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วเศรษฐกิจโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ผลสำรวจความคิดเห็นชี้ว่านางกมลา แฮร์ริส ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนำเหนือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบคณะผู้เลือกตั้งของสหรัฐฯ ผลการลงคะแนนเสียงในรัฐที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคใดจะเป็นตัวกำหนดผลการเลือกครั้งนี้ ซึ่งผู้สมัครทั้งสองมีคะแนนสูสีมากในหลายรัฐดังกล่าว จึงยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าใครจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

นโยบายของทรัมป์อาจดันเงินเฟ้อสูงขึ้น  นักวิเคราะห์หลายท่านระบุถึงความเสี่ยงที่นโยบายของทรัมป์อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ระหว่างการหาเสียง ทรัมป์ประกาศสนับสนุนให้มีการเพิ่มภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าหลายรายการ โดยเสนอให้เพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนอย่างมีนัยสำคัญสูงสุดถึงร้อยละ 60 หรือภาษีนำเข้ารถยนต์จากเม็กซิโกในอัตราร้อยละ 200 นอกเหนือจากการเสนอให้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทในอัตราร้อยละ 10  ทรัมป์ยังเสนอว่ารายได้จากการเก็บภาษีนำเข้าสามารถนำมาทดแทนการลดภาษีได้ โดยให้ลดภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ผลิตสินค้าภายในสหรัฐฯ จากร้อยละ 21 เหลือร้อยละ 15

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อ เนื่องจากภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ทรัมป์ยังต้องการส่งตัวผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายกลับประเทศ ซึ่งอาจทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวและผลักดันค่าแรงสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง

แม้จะดูเหมือนว่านโยบายของทรัมป์จะช่วยยืดอายุวงจรการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่การดำเนินการนโยบายเหล่านี้แม้เพียงบางส่วนอาจส่งผลให้เกิดเงินเฟ้ออีกครั้งในสหรัฐฯ สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สันเตือนว่า ข้อเสนอภาษีนำเข้าของทรัมป์อาจทำให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของชาวอเมริกันทั่วไปเพิ่มขึ้นกว่า 2,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

เงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้อาจส่งผลทำให้แผนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดไม่ลงลึกเท่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะลดลงจากร้อยละ 5 ในปัจจุบัน ลงเหลือร้อยละ 3.5 ภายในสิ้นปีหน้า แต่หากทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เราก็ไม่อาจคาดเดาการดำเนินการอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดได้

แฮร์ริสเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายชัดเจนและไม่สุดโต่งเท่า ในขณะเดียวกัน นางกมลา แฮร์ริส ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ได้นำเสนอนโยบายในภาพรวมกว้างๆ โดยเฉพาะในด้านการค้า แฮร์ริสน่าจะยังคงดำเนินนโยบาย “สนามเล็ก รั้วสูง” ตามแนวทางของรัฐบาลไบเดน โดยจัดเก็บภาษีนำเข้าเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่สุดโต่งเท่านโยบายที่ทรัมป์เสนอ ในด้านนโยบายภาษี แฮร์ริสเสนอให้เพิ่มภาษีรายได้สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด รวมถึงภาษีสำหรับกลุ่มการเก็งกำไรสูงสุด และภาษีนิติบุคคล โดยสงวนการลดภาษีให้กับอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และอุตสาหกรรมสะอาด

ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตมีเป้าหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยรับมือกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยรวมแล้ว นโยบายเศรษฐกิจของแฮร์ริสมีเป้าหมายชัดเจนและไม่สุดโต่งเท่านโยบายของทรัมป์ และน่าจะมีผลกระทบด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นอกจากนี้ แฮร์ริสยังสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงมีอิสระในการดำเนินนโยบาย ซึ่งแตกต่างจากข้อเสนอของทรัมป์ที่ต้องการให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินมากขึ้น แฮร์ริสยังไม่ได้เสนอมาตรการให้ลดค่าเงินดอลลาร์เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทรัมป์กล่าวถึงบ่อยครั้ง  ทั้งสองฝ่ายต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้

ที่น่าผิดหวังคือ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองฝ่ายไม่ได้ให้ความสำคัญนักกับแนวโน้มการคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมาก ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2563 หนี้สาธารณะคงค้างของสหรัฐฯ อยู่ที่ต่ำกว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันกลับเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานงบประมาณรัฐสภา ซึ่งไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองข้างใด คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะคงค้างอาจพุ่งขึ้นอีก และอาจแตะระดับ 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 120 ของจีดีพีสหรัฐฯ ภายในปี 2577 ซึ่งหนี้ที่เพิ่มขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หนี้สินที่สูงขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากรายได้ที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จัดเก็บได้จะถูกนำไปใช้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้น แทนที่จะใช้เพื่อความต้องการทางโครงสร้างในระยะยาวของเศรษฐกิจ

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลายแห่งระบุว่าอาจมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในระยะกลาง หากหนี้สาธารณะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไร้การควบคุม  ไม่ว่าชัยชนะจะตกเป็นของฝ่ายใด ประธานาธิบดีคนถัดไปจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการจัดการหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น

นโยบายของผู้สมัครทั้งสองฝ่ายส่งผลต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร ?

สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาค นโยบายของทรัมป์อาจส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง นโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านการค้าแบบเผชิญหน้าของทรัมป์ต่อจีนอาจเพิ่มความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่แม้จะมีความเป็นไปได้น้อย แต่ทรัมป์อาจทำให้การฟื้นตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการไหลของการค้าในจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชะลอตัวลง สิ่งนี้อาจทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางในภูมิภาคจำต้องปรับทิศทางนโยบายการคลังและนโยบายการเงินในปี 2568

ในปัจจุบัน แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงสดใส เนื่องจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในภาคการค้าปลีก และการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค คาดว่าจีดีพีของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะปรับตัวสูงขึ้นและค่าเงินจะแข็งค่าขึ้นในปี 2568 ในระยะยาว ปัจจัยเชิงบวก อาทิ ประชากรวัยหนุ่มสาวในภูมิภาค การขยายตัวของชนชั้นกลาง การประสานการค้าข้ามพรมแดน และการบูรณาการอุตสาหกรรมในภูมิภาคในเชิงลึก จะเป็นรากฐานเพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

เราคาดว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 38 อยู่ที่ 3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570 และเพิ่มขึ้นเป็น 3.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่กำลังจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศอันเป็นผลมาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สิ่งสำคัญที่เราต้องพิจารณาคือ ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งและการสนับสนุนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญระหว่างประเทศในอาเซียนกับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เราคาดว่าอาเซียนจะปรับปรุงข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีมายาวนานกับจีนอีกด้วย

ประเทศไทย: ความต้องการจากต่างประเทศที่พุ่งสูงจะช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นชัดเจนมาก คาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้นและการใช้จ่ายภาครัฐหลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ค่อนข้างราบรื่น

ในการประชุมเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย สวนการคาดการณ์ของตลาดด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน และคาดว่าในอนาคตยังมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 เพื่อกดให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปีในไตรมาสแรกของปี 2568 โดยรวมแล้ว เราคาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 2.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับร้อยละ 1.9 ในปี 2566  แม้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังคงเป็นโอเอซิสแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและโอกาสทางการค้าที่แข็งแกร่ง

 

บทความ : เฮง คุน เฮา  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ยูโอบี

 

 

Page 1 of 12
X

Right Click

No right click