January 11, 2025

รายงานใหม่จากดีลอยท์Rebalancing your portfolio to fuel growth ชี้ชัด บริษัทต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำเป็นต้องเร่งพิจารณาพอร์ตการลงทุนอย่างละเอียด เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสการเติบโต และจำหน่ายเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ที่ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจออกไป 

รายงานนี้เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กรที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนการทบทวนพอร์ตการลงทุน โดยได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง 250 คน จากบริษัทเอกชนและบริษัทมหาชน ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

ปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนภายนอก 5 ประการสำคัญ ที่ผลักดันให้เกิดความจำเป็นในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน ได้แก่ 

  • ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบต่อการยุติติดต่อหรือทำธุรกรรมกับตลาด ห่วงโซ่อุปทาน และพันธมิตรทางการค้าที่เกี่ยวข้อง  
  • กฎระเบียบด้านประสิทธิภาพของเงินทุน (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมไปทั่วทั้งเอเชีย) ที่กำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยผลตอบแทนจากเงินทุนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 
  • การเคลื่อนไหวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย สร้างแรงกดดันให้บริษัทต้องแก้ไขสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาตรฐานและขายธุรกิจที่ไม่ได้เป็นธุรกิจหลัก 
  • ESG (Environmental, Social, and Governance (สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล)) และเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กระตุ้นให้คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารดำเนินการซื้อขายสินทรัพย์เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ "พอร์ตโฟลิโอสีเขียว" 
  • บทบาทที่เพิ่มขึ้นของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (กองทุน Private Equity) ในฐานะนักลงทุนและพันธมิตรทางธุรกิจ ในการตัดสินใจปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ของบริษัท 

 ผลการสำรวจพบว่า การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก กำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท เพื่อปรับให้เข้ากับแรงขับเคลื่อนภายนอก 5 ประการสำคัญข้างต้น รายงานผลการสำรวจดังกล่าวสนับสนุนแนวคิดการบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างความยืดหยุ่นและการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยโอกาสการเติบโตและการผนึกกำลังเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม 

เจียก ซี อึ้ง ลีดเดอร์ ฝ่ายกลยุทธ์ ความเสี่ยง และธุรกรรมรายการ (Strategy, Risk and Transactions)  ดีลอยท์ เอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นต่อรายงานดังกล่าวว่า "แรงขับเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยด้านความยั่งยืน หรือแรงกดดันจากนักลงทุน ซึ่งบริษัทต่างๆ ควรต้องดำเนินการเชิงรุกในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเตรียมพร้อมสำหรับการจำหน่ายสินทรัพย์หรือธุรกิจ รายงานของดีลอยท์เน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับกระบวนการทบทวนพอร์ตการลงทุนให้มีพลวัตมากขึ้นและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของธุรกิจเพื่อการเติบโตและสร้างมูลค่าในระยะยาว"  

ESG เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าธุรกิจ  

จากผลการวิจัย ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 52 มีความเห็นว่า ประเด็นด้าน ESG  มีการนำมาพูดคุยกันบ่อยครั้งขึ้นในระหว่างการเจรจาซื้อขายกิจการในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบัน ปัจจัยด้าน ESG มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของบริษัท รวมถึงการกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินพอร์ตการลงทุนและกิจกรรมในการปรับสมดุลการลงทุน 

ผลกระทบของ ESG ต่อบริษัทแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและสถานะของบริษัทในตลาด บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องตระหนักถึงทั้งความเสี่ยง (แรงหน่วง) และโอกาสด้านการเติบโตและการสร้างมูลค่า (แรงหนุน) ที่มาจากการให้ความสำคัญกับ ESG ที่เพิ่มมากขึ้น โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า บริษัทที่สามารถเชื่อมโยงแผนธุรกิจและปัจจัยด้าน ESG ได้อย่างชัดเจน มีโอกาสสร้างมูลค่าธุรกิจได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงหกเท่า 

การหาทางออกนอกเหนือจากการขายกิจการแบบเดิมได้รับความนิยมมากขึ้น   เกือบทุกบริษัทที่ตอบแบบสอบกล่าวว่าบริษัทกำลังพิจารณาใช้กลยุทธ์การหาทางออกนอกเหนือจากการขายกิจการแบบเดิม ควบคู่ไปกับการขายให้กับกองทุนเอกชน กองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (กองทุน Private Equity) ซึ่งมีรายงานว่ายังมีเงินทุนมหาศาลที่ยังไม่ได้ลงทุน ที่มีความต้องการสูงในการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ต้องการขายธุรกิจหรือสินทรัพย์จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ โดยการติดต่อกับผู้ซื้อที่มีศักยภาพตั้งแต่เนิ่นๆ และเปิดกว้างต่อโครงสร้างข้อตกลงที่หลากหลายมากขึ้น 

5 แนวทางสำคัญที่ธุรกิจควรนำไปปฏิบัติ 

จากการสำรวจกลุ่มผู้นำธุรกิจ พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 79 คาดการณ์ว่าจะมีการจำหน่ายเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยในช่วงภายใน 18 เดือนข้างหน้า ที่น่าสนใจคือร้อยละ 95 เคยยกเลิกการเจรจาขายกิจการในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่า บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการขายกิจการมากขึ้น 

 “ในยุคของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและการให้ความสำคัญกับ ESG ที่เพิ่มมากขึ้น การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุกจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กร เราจะเห็นการควบรวมกิจการและการขายกิจการที่เกิดขึ้นจากความต้องการเร่งการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิ และ/หรือ การเข้าซื้อกิจการเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ทำให้การควบรวมกิจการกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยทั้งในเรื่องของวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านผลกำไร” เดวิด ฮิลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีลอยท์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริม 

จากการวิเคราะห์ผลการวิจัย บริษัทต่างๆ ควรดำเนินการดังต่อไปนี้: 

  1. ปรับใช้แนวคิดการทบทวนพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ โดยจัดให้มีหน่วยงานดูแลโดยเฉพาะ รวมถึงมีการกำกับดูแลจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้สินทรัพย์สอดคล้องกับทิศทางเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ 
  1. ประเมินพอร์ตการลงทุนตามความเหมาะสมกับกลยุทธ์ ศักยภาพในการสร้างมูลค่า และความยืดหยุ่น บริษัทควรประเมินการลงทุนโดยนำสามปัจจัยดังกล่าวมาทบทวนอย่างสม่ำเสมอและครอบคลุมทุกด้าน 
  1. เพิ่มมูลค่าจากสินทรัพย์ที่ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท ด้วยการสื่อสารแผนธุรกิจที่น่าสนใจและผลการดำเนินงานในอดีตของสินทรัพย์นั้น 
  1. บูรณาการให้ ESG เป็นหัวใจสำคัญในการประเมินและปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน 
  1. พิจารณาผลกระทบด้านภาษีและโอกาสทางภาษีอย่างรอบคอบ ในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

  มูราลีดาร์ เอ็ม เอส เค กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์ ความเสี่ยง และธุรกรรมรายการ (Strategy, Risk and Transactions) ของ ดีลอยท์ เซาท์อีสต์เอเชีย  กล่าวว่า “นอกเหนือจากการเป็นแนวปฏิบัติที่ดีขององค์กรแล้ว การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก ยังเป็นกลยุทธ์ที่มีค่าสำหรับบริษัทต่างๆ ในการรับมือกับแรงกดดันด้านกฎระเบียบใหม่ๆและ แรงกดดันจากนักลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ บริษัทจดทะเบียนที่ได้ปรับสมดุลโครงสร้างทุนในช่วงปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานดีกว่าบริษัททั่วไปในตลาด ดังนั้น บริษัทต่างๆ ควรมีการปรับตัวเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินทรัพย์ของตนมีความสอดคล้องกับทิศทางเชิงกลยุทธ์โดยรวมขององค์กร หากไม่เป็นเช่นนั้น บริษัทอาจจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อขายกิจการหรือร่วมมือกับพันธมิตรที่สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนให้กับผู้ถือหุ้นและบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ” 

ดีลอยท์ ประเทศไทย ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME D Bank) และตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) โดย นายวัลลภ วิไลวรวิทย์ และนางสาวลสิตา มากัต พาร์ทเนอร์ บริการด้านการสอบบัญชี ดีลอยท์ ประเทศไทย (ที่สี่และห้าจากซ้าย) นางสาวกัลยา เฉลิมโชคชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้รับผิดชอบสายงานบริหารเงินและบัญชี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ที่หกจากซ้าย) และ นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ,ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์, กรรมการผู้จัดการบริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด (ที่ห้าจากขวา) ร่วมเป็นประธาน ในพิธีเปิดงานและงานปฐมนิเทศ Acceleration Program - Road to LiVE รุ่นที่ 2 โครงการเสริมความพร้อมที่สำคัญของผู้ประกอบการในการเข้าตลาดทุน ณ ห้อง สุรศักดิ์ บอลรูม โรงแรม อีสติน แกรนด์ สาทร เมื่อเร็วๆนี้

โดยภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อ “โอกาสของผู้ประกอบการบนเส้นทางตลาดทุน (SET/mai/LiVEx)” โดยนายประพันธ์ เจริญประวัติ และทีมผู้บริหารจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “IPO Journey เส้นทางการเป็นบริษัทจดทะเบียน” โดย นายวัลลภ วิไลวรวิทย์ และ “How to become the smart IPO?” โดย รศ.(พิเศษ) ดร.กฤษฎา เสกตระกูล กรรมการอิสระ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมี นางสาวลสิตา มากัต พาร์ทเนอร์ ดีลอยท์ ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการบรรยาย ในช่วงเย็นยังมีกิจกรรมเน็ตเวิร์คกิ้งเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ร่วมรับประทานอาหารเย็น และ สานสัมพันธ์ต่อยอดธุรกิจ โดยมีนายพิชิต มิทราวงศ์ (กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) เป็นประธานเปิดงาน

ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Deloitte Global 2024 Gen Z and Millennial Survey – Thailand Perspective ซึ่งเป็นผลการศึกษาสะท้อนมุมมองของเจนซี และมิลเลนเนียลชาวไทย ที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม

ผลสำรวจ Global 2024 Gen Z and Millennial Survey จัดทำขึ้นโดยดีลอยท์ ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 13 ทำการสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจนซี และมิลเลนเนียล จำนวน 22,841 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ ของกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล ที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก โดยมีคนไทยที่เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามทั้งหมด 301 คน แบ่งเป็น เจนซี 201 คน และ มิลเลนเนียลชาวไทย จำนวน 100 คน ผลการสำรวจสะท้อนมุมมองเชิงลึกของคนไทยในทั้งสองเจเนอเรชั่นดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในปีเดียวกันของคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก ดังต่อไปนี้

 

ด้านสุขภาพจิต และ ความกังวลหลัก

จากผลการสำรวจในปีนี้พบว่า เรื่องที่เจนซีมีกังวลมากที่สุดคือ ค่าครองชีพ (ร้อยละ 37) การว่างงาน (ร้อยละ 36) และ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง (ร้อยละ 21) สำหรับปัจจัยที่มิลเลนเนียลมีความกังวล 3 อันดับแรกได้แก่ ค่าครองชีพ (ร้อยละ 37) การความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง (ร้อยละ 26) และ ความไม่มั่นคงทางการเมือง/ความขัดแย้งระดับโลก (ร้อยละ 24) นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเจนซีในประเทศไทย ร้อยละ 42 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 60 รู้สึกดีถึงดีมากกับสภาพจิตใจโดยรวมของตนเองในปัจจุบัน เทียบกับปี 2566 โดยคนทั้งสองกลุ่ม ระบุว่ามีความเครียดน้อยลง ผู้ตอบแบบสอบถามเจนซีที่บอกว่ารู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา ลดลงจากร้อยละ 51 เหลือร้อยละ 40 และ มิลเลนเนียล ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 39 เหลือร้อยละ 38 เหตุผลที่สร้างความเครียดได้แก่ การเงินในอนาคต การเงินในชีวิตประจำวัน และ งาน

ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลกับสุขภาพจิตของคนไทย

ความคาดหวังของเจนซีและมิลเลนเนียลไทยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินว่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลง เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยความคาดหวังต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 27 เหลือร้อยละ 15 และ มิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 26 เหลือร้อยละ 22 ความคาดหวังต่อสถานการณ์การเงินของตัวเอง ของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 37 เหลือ ร้อยละ 19 และ มิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 38 เหลือร้อยละ 33 และ ความคาดหวังต่อสถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจ/การเมืองของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 27 เหลือร้อยละ 15 และมิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 24 เหลือร้อยละ 23

ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 42 ของ เจนซี และ ร้อยละ 45 ของมิลเลนเนียล เชื่อว่าองค์กรภาคธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 49 และ 47 ตามลำดับ คนไทยรุ่นใหม่มีความคาดหวังว่าภาคธุรกิจควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมองภาคธุรกิจควรสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของพนักงาน ให้ผลตอบแทนที่เท่าเทียมและโปร่งใส สนับสนุนด้านทุนการศึกษา และ สร้างความมั่นใจว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะไม่มาซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย ร้อยละ 81 และ 92 ตามลำดับ ตอบว่ามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนกลุ่มเดียวกันทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ ที่ร้อยละ 62 และ 59 ตามลำดับ เจนซี ร้อยละ 90 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 91 มองว่าภาครัฐและภาคธุรกิจควรมีบทบาทในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ทั้งนี้ ร้อยละ 92 ของเจนซี และ ร้อยละ 93 ของมิลเลนเนียล ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแนวปฏิบัติยอดนิยม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าแฟชั่นด่วน (Fast Fashion) ลดการเดินทาง ศึกษาข้อมูลด้านการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทก่อนการอุดหนุนสินค้าของบริษัทนั้นๆ ทานมังสะวิรัติ หรือ วีแกน (Vegan) และ เลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจัยด้านการทำงาน

คนรุ่นใหม่ไทยมีเป้าหมายในการทำงานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกพนักงาน โดยร้อยละ 96 ของ เจนซีในประเทศไทย และ ร้อยละ 99 ของมิลเลนเนียล ตอบว่าการมีเป้าหมายในการทำงานค่อนข้างสำคัญหรือสำคัญมากต่อความพึงพอใจในงานและ ความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเจนซีและมิลเลนเนียลทั่วโลกที่ร้อยละ 86 และ ร้อยละ 89 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ร้อยละ 91 ของ เจนซีในประเทศไทย และ ร้อยละ 93 ของ มิลเลนเนียลในประเทศไทย บอกว่างานปัจจุบันทำให้ตนเองรู้สึกถึงความมุ่งหมาย (Purpose) ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ร้อยละ 55 ของ เจนซี และ ร้อยละ 60 ของ มิลเลนเนียลในประเทศไทย ปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง ร้อยละ 55 ของเจนซี และ ร้อยละ 57 ของมิลเลนเนียล ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับองค์กรที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง โดยจะเลือกทำงานกับองค์กรที่ตอบโจทย์ในการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) มีโอกาสในการเรียนรู้ และ เป็นงานที่มีความหมาย

 ในภาพรวม เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทยเห็นว่านายจ้างมีความใส่ใจต่อพนักงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยเจนซี ร้อยละ 70 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 74 ตอบว่านายจ้างให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน เจนซี ร้อยละ 77 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 76 ตอบว่ารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับผู้จัดการอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ และ เจนซี ร้อยละ 73 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 68 บอกว่าหัวหน้างานรู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีการพูดคุยสื่อสารเมื่อเกิดความเครียด ซึ่งคำตอบของเจนซีและมิลเลนเนียลคนไทยทั้งสองกลุ่ม สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ ร้อยละ 52 และร้อยละ 59 ตามลำดับ

ดีลอยท์ติดตามความเคลื่อนไหวของคนทั้งสองเจนเนอเรชั่นทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเราอยากทราบพัฒนาการทางความคิดและมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ และ ความเข้าใจกันระหว่างคนในวัยต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น” อริยะ ฝึกฝน กรรมการบริหาร ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าว

มานิตา ลิ่มสกุล ผู้จัดการอาวุโส ฝ่าย Human Capital ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “อยากจะขอเน้นย้ำว่าเรื่องการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี หรือ Mental Well-being เป็นเรื่องสำคัญมาก กลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล คือ แรงงานหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในวันนี้ องค์กรที่มีความเข้าใจ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และ สามารถปรับเปลี่ยนวิธีในการดูแลคนรุ่นใหม่ได้อย่างถูกต้อง จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ”

ดร. โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการฝ่าย Clients & Market ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ผลการสำรวจมีความน่าสนใจและสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะของคนไทยที่มีความแตกต่างจากค่าเฉลี่ยโลกในในหลายแง่มุม ถ้ามองให้ละเอียดกว่านั้น จะเห็นถึงความแตกต่างกันของคนในแต่ละเจนอีกด้วย”

 

ดีลอยท์ ประเทศไทย

การที่ยักษ์ใหญ่ในวงการยานยนต์มุ่งนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) และเครื่องยนต์สันดาปภายในเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (HICEV) อาจดูเป็นศึกครั้งสำคัญในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่การแข่งขันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในสนามที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เรากำลังพูดถึงปัญหาที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิม และรถยนต์ไฟฟ้า BEV และ HICEV อาจเป็นทางออกที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตการคมนาคมที่ยั่งยืน

ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกได้ให้พันธสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 90% ภายในปี 2593 เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซที่ปล่อยในปี 2563 โดยมีเป้าหมายไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emissions) แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้นั้น การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่ช่วยลดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)

จากรายงานของดีลอยท์เรื่อง "Pathway to net-zero: Mastering the twofold goal of Decarbonization and Profitability" เน้นย้ำถึงประเด็นข้างต้นเช่นกัน โดยกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตยานยนต์ที่มีเทคโนโลยีที่สะอาดยิ่งขึ้น จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนอย่างมากในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการสร้างศักยภาพการผลิตที่แข็งแกร่งสำหรับแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว

สำหรับทิศทางของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) การสร้างความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด สถาบันเฟราน์โฮเฟอร์ ด้านระบบและวิจัยนวัตกรรม (Fraunhofer Institute for Systems and Innovation Research ISI) รายงานว่า ประเทศจีนเกือบจะผูกขาดกำลังการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ฟอสเฟต (LFP) โดยครองส่วนแบ่งตลาดถึง 99% ทั่วโลกในปี 2565 แม้จะมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนที่จีนครองตลาดจะ

ลดลงเหลือ 69% ในปี 2573 แต่จีนก็ยังคงเป็นผู้นำในตลาดเช่นเดิม ประเด็นการผูกขาดตลาดนี้ทำให้เกิดความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแบตเตอรี่ คิดเป็นประมาณ 40% ของต้นทุนรวมรถยนต์ไฟฟ้า BEV

ทั้งนี้จากการศึกษาของดีลอยท์ พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดจนอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืนในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตแบตเตอรี่ ตั้งแต่การสกัด การแปรรูป การผลิต การรีไซเคิล จนถึงการกำจัดแบตเตอรี่

ในทางตรงกันข้าม การส่งเสริมรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (HICEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถานีเติมไฮโดรเจน แต่ประเด็นนี้กลับเต็มไปด้วยความท้าทาย เนื่องจากการสร้างสถานีไฮโดรเจนแต่ละแห่งล้วนมีต้นทุนที่สูงกว่าสถานีบริการน้ำมันแบบดั้งเดิมอย่างมาก

นอกจากนี้ กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) จะต้องอาศัยไฟฟ้าในกระบวนการผลิตที่เรียกว่า กระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) ผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง(FCV) ยังมีความท้าทายในการเข้าถึงเครือข่ายการจำหน่ายและสถานีบริการสำหรับเติมก๊าซไฮโดรเจนที่ไม่สามารถให้บริการได้อย่างแพร่หลาย

นอกเหนือจากเทคโนโลยีเฉพาะทางแล้ว อีกปัจจัยหลักที่สำคัญคือ การบูรณาการแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนในทุกด้านของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งการลดการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต ส่งเสริมการรีไซเคิลวัสดุอย่างมีความรับผิดชอบ และการใช้วิธีการแยกชิ้นส่วนรถยนต์เมื่อหมดอายุการใช้งานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การเปิดรับเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนมีความท้าทาย เช่น ข้อกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรระยะสั้นจากการลงทุนล่วงหน้าในเทคโนโลยีที่สะอาดและโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์ในระยะยาวมีความสำคัญมกว่าอุปสรรคในช่วงเริ่มต้น เมื่อองค์กรในอุตสาหกรรมกำหนดความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ก็จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่สะอาดขึ้น คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น และรวมไปถึงการประหยัดต้นทุนผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่ความยั่งยืนล้วนมีแนวทางอื่นนอกเหนือจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การลงทุนเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานก็มีความสำคัญเช่นกัน การยกระดับและเสริมทักษะให้กับพนักงานเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพนักงานมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง การส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในกลุ่มพนักงานจะนำมาซึ่งมุมมองและประสบการณ์ที่กว้างขึ้น และเปิดทางไปสู่นวัตกรรมที่ยั่งยืนมากขึ้นในที่สุด

สำหรับประเทศไทย มีการออกมาตรการอุดหนุนผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ที่ให้การสนับสนุนด้านราคาเพื่อเร่งให้นำรถไฟฟ้ามาใช้งาน และดึงดูดการลงุทนจากต่างชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็น

ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับภูมิภาค ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังทำการศึกษาการใช้ไฮโดรเจนเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการคมนาคม

ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ไฮโดรเจนถือเป็นส่วนหนึ่งของ“เชื้อเพลิงทางเลือก” โดยมีเป้าหมายในการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานเทียบเท่ากับน้ำมัน (KTOE) 10 กิโลตัน ภายในปี 2579 เป้าหมายดังกล่าวได้รับการส่งเสริมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นจากการโครงการนำร่อง ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแห่งแรกของประเทศไทยด้วย โครงการต่างๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีแนวทางที่หลากหลายเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการคมนาคมในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงนี้จำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ การสร้างความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนผ่านจะราบรื่นสำหรับทุกภาคส่วน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินการตามเป้าหมายสู่อนาคตที่ยั่งยืนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

ท้ายที่สุด อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมดต้องปรับเปลี่ยนกุลยุทธ์นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะ และดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางแบบองค์รวม โดยบูรณาการส่งเสริมจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในกิจการทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แม้จะเผชิญกับความท้าทาย แต่จะสร้างคุณค่ามหาศาลในอนาคต ทั้งสภาพแวดล้อมที่สะอาดขึ้น คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น และการประหยัดต้นทุนในระยะยาว ด้วยเลือกแนวทางปฏิบัติที่ส่งเสริมความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน อุตสาหกรรมสามารถมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับพวกเราทุกคน

 

บทความ :  มงคล  สมผล  Aotomotive Sector Leader

                ดร  โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการ  clients& Market

Generative AI เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และการพัฒนาชิป จากรายงาน Deloitte 2024 global semiconductor industry outlook ดีลอยท์คาดการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่ายอดขายชิป Gen AI จะสูงถึงห้าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2567 และคาดว่าจะคิดเป็นประมาณ 8.5% ของยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด ซึ่งการเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชิปที่สำคัญหลายประการ รวมถึง logic processor ที่สร้างขึ้นบนโหนดที่ทันสมัย หน่วยความจำแบนด์วิดท์สูง (HBM3) บรรจุภัณฑ์2.5D ขั้นสูง และความสามารถในการเชื่อมต่อขั้นสูงของชิป

แม้จะมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ยอดขายชิป Gen AI จะอยู่ในระดับสูง การคำนึงถึงเชิงปริมาณก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ในปี 2565 จะมียอดขายชิปรวมกันกว่าล้านล้านชิ้นในราคาเฉลี่ยต่อชิ้นเพียงราวๆ ครึ่งดอลลาร์สหรัฐ แต่สำหรับชิป Gen AI กลับไม่เป็นเช่นกัน ชิป Gen AI อาจมีราคาสูงถึงชิ้นละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงกว่า 7 หมื่นเท่าของราคาเฉลี่ยของชิปทั้งหมด ดังนั้นยอดขายชิป Gen AI ห้าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.25 ล้านหน่วย อาจเป็นเพียงสัดส่วนเล็กน้อย อยู่ที่ประมาณ 0.1% ของปริมาณชิปทั้งหมด ประเด็นดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความพิเศษของเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความสามารถเฉพาะทางกลุ่มนี้ เมื่อเทียบกับชิปราคาที่ต่ำกว่าจำนวนมากที่นำมาใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวัน

ชิป Gen AI คือบรรจุภัณฑ์ Graphics processing units (GPUs) แบบพิเศษ Central processing units (CPUs) แบบพิเศษหรือ หน่วยความจำแบนด์วิดท์สูง (HBM3) ในบรรจุภัณฑ์ 2.5D ขั้นสูง รวมถึงชิปแบบพิเศษอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อในศูนย์ข้อมูล บริษัทซอฟต์แวร์ระดับองค์กรมีส่วนทำให้ชิป Gen AI เป็นที่ต้องการ ทั้งสำหรับการใช้งานในองค์กร และการใช้ผ่านผู้ให้บริการระบบคลาวด์ที่ให้บริการการประมวลผลโดยใช้ Gen AI ซึ่งบริษัทเหล่านี้อาจรวมคุณสมบัติของ Gen AI เข้ากับบริการซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อเป็นโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

 

Gen AI กับการผลิตชิป

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ใช้ประโยชน์จาก Gen AI นอกเหนือจากความสามารถในการประมวลผล เครื่องมือเหล่านี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่คุณค่าของเซมิคอนดักเตอร์ อาทิ

· การกำหนดเวลาและคาดการณ์ที่ดีขึ้น Gen AI สามารถสร้างตารางการผลิต และคาดการณ์ห่วงโซ่อุปทานได้แม่นยำขึ้น

· การวิจัยและพัฒนาที่ดีขึ้น การส่งเสริมของงานวิจัยที่ขับเคลื่อนโดย Gen AI มีส่วนช่วยในการเร่งการสร้างนวัตกรรมได้

· การตรวจจับข้อบกพร่องขั้นสูง ข้อมูลสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นโดย Gen AI สามารถเร่งการตรวจจับความผิดปกติและข้อบกพร่องในการผลิตชิปได้

· การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจำลองกระบวนการผลิตและ digital twins สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการทรัพยากรได้

· การตลาดแบบกำหนดเป้าหมาย Gen AI สามารถปรับแต่งเนื้อหาทางการตลาดให้ได้การเข้าถึง (reach) และการมีส่วนร่วม (engagement) ที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ราคาของต้นทุนยังคงเป็นความท้าทายอยู่ เช่น การสร้างและกำหนดโมเดล Gen AI เองมักมีราคาแพงเมื่อเทียบกับรูปแบบดั้งเดิม รวมทั้งโมเดลขนาดใหญ่อาจมีต้นทุนการดำเนินการที่สูงกว่าการได้ประโยชน์จากความเร็วของระบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังอาจต้องใช้การตรวจสอบโดยมนุษย์เพื่อรับรองความถูกต้องและหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่มีอคติ

 

ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์มีการใช้ Gen AI อย่างไร

โรงงานเซมิคอนดักเตอร์ต่างๆ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบอัตโนมัติและประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เครื่องมือ Gen AI นำความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนาโรงงานการผลิตอัจฉริยะ อาทิ

· ช่วยจัดเตรียมข้อมูลเชิงลึกขั้นสูง Gen AI สามารถวิเคราะห์ชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการต่างๆ เช่น เชื่อมต่ออุปกรณ์ในโรงงาน สร้างกระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติ ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และการคาดการณ์ในส่วนการบำรุงรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงจากการหยุดงาน

· การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน การผลิตที่โหนดขั้นสูงมีการใช้พลังงานมาก เครื่องมือการผลิตแบบอัจฉริยะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการต่างๆ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตชิปได้

การประกอบและทดสอบชิปในภูมิรัฐศาสตร์ใหม่

แม้ว่าจะมีการผลิตชิปในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก การประกอบและการทดสอบชิปมักจะพบในเขตพื้นที่เอเชีย ซึ่งความไม่สมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์นี้สร้างความท้าทายให้กับสหรัฐอเมริกาและยุโรปในการเพิ่มกำลังการผลิตชิปภายในประเทศ และต้องมีการลงทุนทั้งด้านการประกอบและทดสอบควบคู่ไปกับการผลิตเพื่อลดความซับซ้อนต่อ

ห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ชิปประสิทธิภาพสูงยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ขั้นสูงมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งที่ช่วยจัดการความท้าทายเหล่านี้ เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการทดสอบใหม่อย่างรวดเร็ว การสร้างทีมงานผู้เชี่ยวชาญในการประกอบและทดสอบชิป การเสนอทางเลือกบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีสำหรับการบูรณาการ AI/ML และใช้ความสามารถในการทดสอบขั้นสูงเพื่อการออกแบบชิปที่มีความซับซ้อน

ข้อกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เผชิญกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่แตกต่าง นอกเหนือจากการโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware attack) แล้ว ผู้ผลิตชิปยังมีทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่าสูง ทำให้ตกเป็นเป้าหมายหลักสำหรับผู้ไม่ประสงค์ดี โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ชิปมีความสำคัญมากขึ้นท่ามกลางความขัดแข้งระหว่างประเทศ การโจมตีขั้นสูงโดยแอบอ้างว่าเป็นการโจมตีแบบมัลแวร์เรียกค่าไถ่ทำให้อุตสาหกรรมชิปและผู้บริหารพบกับภัยคุกคามที่ซับซ้อนมากขึ้น

ในอนาคตผู้บริหารในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ควรคำนึงถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ เช่น การจัดการสินค้าคงคลังจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างความต้องการที่มีมาแต่เดิมที่ลดลง กับความต้องการชิปเฉพาะทางที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงโอกาสในการควบรวมกิจการเชิงกลยุทธ์อีกมากมายในด้านการออกแบบ วัสดุ และบรรจุภัณฑ์ ในส่วนความขัดแย้งระหว่างประเทศส่งผลให้มีการประเมินความร่วมมือด้านช่องทางการขาย และแหล่งที่มาของทรัพยากร เนื่องด้วยข้อตกลงระหว่างประเทศอาจเกี่ยวข้องกับภาษีและกฎระเบียบที่ซับซ้อน นอกจากนี้ ต้องอาศัยความรอบคอบทางการเงินในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงขึ้น สำหรับด้านทรัพยากรบุคคลจำเป็นต้องเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลายกลุ่มและเสริมสร้างทักษะให้กับพนักงาน การใช้ Gen AI อาจทำให้เกิดความต้องการด้านทรัพยากรบุคคลแบบใหม่ๆ อีกด้วยด้วย

 สถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าระบุว่า การค้าเซมิคอนดักเตอร์ของไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า (IC) และกลุ่มอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด (O-S-D) สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของไทยปรับตัวสูงขึ้นจากการนำเข้ากลุ่ม IC เพิ่มขึ้นจาก 6.7 แสนล้านบาทในปี 2565 เป็น 6.8 แสนล้านบาท ล้านบาทในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน การนำเข้าในปี 2566 มาจากไต้หวันเป็นหลักที่ 2.5 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นญี่ปุ่น ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท และจีนที่ 6.9 หมื่นล้านบาท โดยการนำเข้าทั้งหมดในเดือนมกราคม 2567 นี้คิดเป็นมูลค่า 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน

สำหรับกลุ่มอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด การนำเข้าเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 แสนล้านบาทในปี 2565 เป็นมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ซึ่งการนำเข้าในปี 2566 มาจากจีนมากที่สุดที่ 6.4 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นญี่ปุ่นที่ 1.6 หมื่นล้านบาท และสหรัฐอเมริกาที่ 1.1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ การนำเข้าทั้งหมดในเดือนมกราคม 2567 นี้มีมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังเร่งเจรจากับสหรัฐอเมริกาเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทย เพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอความพร้อมของประเทศไทย ในการเป็นฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้แก่ผู้นำรัฐบาลและภาคเอกชนหลากหลายพื้นที่ ซึ่งการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสองประเทศ เพื่อเจรจาเรื่องการลงทุนดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญในการสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และเสริมสร้างแรงงานทักษะสูงในไทย นอกจากนี้ข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า จะมีการลงทุนโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำในไทยเพื่อผลิตแผ่นเวเฟอร์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของชิปต้นน้ำในเร็วๆ นี้อีกด้วย

บทความ   ปาริชาติ จิรวัชรา Partner Risk Advisory และ

              ทัศดา แสงมานะเจริญ Senior Consultant-Clients & Markets

              ดีลอยท์ ประเทศไทย

Page 1 of 3
X

Right Click

No right click