September 07, 2024

รายงานใหม่จากดีลอยท์ชี้ชัด บริษัทในเอเชียแปซิฟิก ต้องเร่งพิจารณาปรับทิศทางการลงทุน

July 22, 2024 582

รายงานใหม่จากดีลอยท์Rebalancing your portfolio to fuel growth ชี้ชัด บริษัทต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำเป็นต้องเร่งพิจารณาพอร์ตการลงทุนอย่างละเอียด เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสการเติบโต และจำหน่ายเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ที่ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจออกไป 

รายงานนี้เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กรที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนการทบทวนพอร์ตการลงทุน โดยได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง 250 คน จากบริษัทเอกชนและบริษัทมหาชน ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

ปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนภายนอก 5 ประการสำคัญ ที่ผลักดันให้เกิดความจำเป็นในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน ได้แก่ 

  • ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบต่อการยุติติดต่อหรือทำธุรกรรมกับตลาด ห่วงโซ่อุปทาน และพันธมิตรทางการค้าที่เกี่ยวข้อง  
  • กฎระเบียบด้านประสิทธิภาพของเงินทุน (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมไปทั่วทั้งเอเชีย) ที่กำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยผลตอบแทนจากเงินทุนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 
  • การเคลื่อนไหวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย สร้างแรงกดดันให้บริษัทต้องแก้ไขสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาตรฐานและขายธุรกิจที่ไม่ได้เป็นธุรกิจหลัก 
  • ESG (Environmental, Social, and Governance (สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล)) และเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กระตุ้นให้คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารดำเนินการซื้อขายสินทรัพย์เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ "พอร์ตโฟลิโอสีเขียว" 
  • บทบาทที่เพิ่มขึ้นของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (กองทุน Private Equity) ในฐานะนักลงทุนและพันธมิตรทางธุรกิจ ในการตัดสินใจปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ของบริษัท 

 ผลการสำรวจพบว่า การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก กำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท เพื่อปรับให้เข้ากับแรงขับเคลื่อนภายนอก 5 ประการสำคัญข้างต้น รายงานผลการสำรวจดังกล่าวสนับสนุนแนวคิดการบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างความยืดหยุ่นและการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยโอกาสการเติบโตและการผนึกกำลังเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม 

เจียก ซี อึ้ง ลีดเดอร์ ฝ่ายกลยุทธ์ ความเสี่ยง และธุรกรรมรายการ (Strategy, Risk and Transactions)  ดีลอยท์ เอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นต่อรายงานดังกล่าวว่า "แรงขับเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยด้านความยั่งยืน หรือแรงกดดันจากนักลงทุน ซึ่งบริษัทต่างๆ ควรต้องดำเนินการเชิงรุกในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเตรียมพร้อมสำหรับการจำหน่ายสินทรัพย์หรือธุรกิจ รายงานของดีลอยท์เน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับกระบวนการทบทวนพอร์ตการลงทุนให้มีพลวัตมากขึ้นและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของธุรกิจเพื่อการเติบโตและสร้างมูลค่าในระยะยาว"  

ESG เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าธุรกิจ  

จากผลการวิจัย ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 52 มีความเห็นว่า ประเด็นด้าน ESG  มีการนำมาพูดคุยกันบ่อยครั้งขึ้นในระหว่างการเจรจาซื้อขายกิจการในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบัน ปัจจัยด้าน ESG มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของบริษัท รวมถึงการกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินพอร์ตการลงทุนและกิจกรรมในการปรับสมดุลการลงทุน 

ผลกระทบของ ESG ต่อบริษัทแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและสถานะของบริษัทในตลาด บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องตระหนักถึงทั้งความเสี่ยง (แรงหน่วง) และโอกาสด้านการเติบโตและการสร้างมูลค่า (แรงหนุน) ที่มาจากการให้ความสำคัญกับ ESG ที่เพิ่มมากขึ้น โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า บริษัทที่สามารถเชื่อมโยงแผนธุรกิจและปัจจัยด้าน ESG ได้อย่างชัดเจน มีโอกาสสร้างมูลค่าธุรกิจได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงหกเท่า 

การหาทางออกนอกเหนือจากการขายกิจการแบบเดิมได้รับความนิยมมากขึ้น   เกือบทุกบริษัทที่ตอบแบบสอบกล่าวว่าบริษัทกำลังพิจารณาใช้กลยุทธ์การหาทางออกนอกเหนือจากการขายกิจการแบบเดิม ควบคู่ไปกับการขายให้กับกองทุนเอกชน กองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (กองทุน Private Equity) ซึ่งมีรายงานว่ายังมีเงินทุนมหาศาลที่ยังไม่ได้ลงทุน ที่มีความต้องการสูงในการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ต้องการขายธุรกิจหรือสินทรัพย์จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ โดยการติดต่อกับผู้ซื้อที่มีศักยภาพตั้งแต่เนิ่นๆ และเปิดกว้างต่อโครงสร้างข้อตกลงที่หลากหลายมากขึ้น 

5 แนวทางสำคัญที่ธุรกิจควรนำไปปฏิบัติ 

จากการสำรวจกลุ่มผู้นำธุรกิจ พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 79 คาดการณ์ว่าจะมีการจำหน่ายเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยในช่วงภายใน 18 เดือนข้างหน้า ที่น่าสนใจคือร้อยละ 95 เคยยกเลิกการเจรจาขายกิจการในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่า บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการขายกิจการมากขึ้น 

 “ในยุคของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและการให้ความสำคัญกับ ESG ที่เพิ่มมากขึ้น การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุกจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กร เราจะเห็นการควบรวมกิจการและการขายกิจการที่เกิดขึ้นจากความต้องการเร่งการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิ และ/หรือ การเข้าซื้อกิจการเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ทำให้การควบรวมกิจการกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยทั้งในเรื่องของวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านผลกำไร” เดวิด ฮิลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีลอยท์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริม 

จากการวิเคราะห์ผลการวิจัย บริษัทต่างๆ ควรดำเนินการดังต่อไปนี้: 

  1. ปรับใช้แนวคิดการทบทวนพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ โดยจัดให้มีหน่วยงานดูแลโดยเฉพาะ รวมถึงมีการกำกับดูแลจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้สินทรัพย์สอดคล้องกับทิศทางเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ 
  1. ประเมินพอร์ตการลงทุนตามความเหมาะสมกับกลยุทธ์ ศักยภาพในการสร้างมูลค่า และความยืดหยุ่น บริษัทควรประเมินการลงทุนโดยนำสามปัจจัยดังกล่าวมาทบทวนอย่างสม่ำเสมอและครอบคลุมทุกด้าน 
  1. เพิ่มมูลค่าจากสินทรัพย์ที่ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท ด้วยการสื่อสารแผนธุรกิจที่น่าสนใจและผลการดำเนินงานในอดีตของสินทรัพย์นั้น 
  1. บูรณาการให้ ESG เป็นหัวใจสำคัญในการประเมินและปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน 
  1. พิจารณาผลกระทบด้านภาษีและโอกาสทางภาษีอย่างรอบคอบ ในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

  มูราลีดาร์ เอ็ม เอส เค กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์ ความเสี่ยง และธุรกรรมรายการ (Strategy, Risk and Transactions) ของ ดีลอยท์ เซาท์อีสต์เอเชีย  กล่าวว่า “นอกเหนือจากการเป็นแนวปฏิบัติที่ดีขององค์กรแล้ว การบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก ยังเป็นกลยุทธ์ที่มีค่าสำหรับบริษัทต่างๆ ในการรับมือกับแรงกดดันด้านกฎระเบียบใหม่ๆและ แรงกดดันจากนักลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ บริษัทจดทะเบียนที่ได้ปรับสมดุลโครงสร้างทุนในช่วงปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานดีกว่าบริษัททั่วไปในตลาด ดังนั้น บริษัทต่างๆ ควรมีการปรับตัวเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินทรัพย์ของตนมีความสอดคล้องกับทิศทางเชิงกลยุทธ์โดยรวมขององค์กร หากไม่เป็นเช่นนั้น บริษัทอาจจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อขายกิจการหรือร่วมมือกับพันธมิตรที่สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนให้กับผู้ถือหุ้นและบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ” 

X

Right Click

No right click