หากมองว่าเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการในยุคนี้ อาทิเช่น AI หรือ ArtificialIntelligent จะเข้ามาแทนที่ หรือ Disrupt แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมกระทั่งถึงงานด้านการบัญชีแล้ว แล้วเรามองว่านั่นคืออุปสรรคและเรากำลังจะถูกแทนที่ คงไม่จำเป็นต้องเปิดสอนหลักสูตรการบัญชีกันอีกต่อไป แต่ในข้อเท็จจริงคือปรากฏการณ์กำลังจะส่งผลต่อทุกๆ อาชีพและหากพลิกมุมมองจะพบว่าความเปลี่ยนแปลงนี้นอกจากความท้าทายยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘โอกาส’ รวมอยู่ด้วย หากว่าเราสามารถดึงเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยยกระดับประสิทธิภาพงานด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่มีทั้งความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว แล้วตัวเราเองก็หันมาพัฒนาทักษะและปรับบทบาท ตลอดจนการเรียนรู้เพื่อเป็นนักบัญชียุคใหม่ คือความเห็นของ รศ.ดร.นฤนาถ ศราภัยวานิช หัวหน้าภาควิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ AccBA CMU
ด้วยการเล็งเห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง ภาควิชาการบัญชีของ AccBA จึงเริ่มกระบวนการปรับพัฒนาหลักสูตรซึ่งจะ Implement ในปี พ.ศ. 2563 โดยหลักสูตรระดับปริญญาตรีจะมีวิชา Minor เกี่ยวกับไอทีเพิ่มเข้ามาและกำหนดเป็นวิชาบังคับ ซึ่งหลักสูตรบัญชีปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้นักศึกษาต้องเรียน Minor แต่หากนักศึกษาสนใจจะเรียน Minor ก็จะเปิดกว้างให้สามารถเลือกเรียน Minor สาขาอะไรก็ได้ เช่น Major บัญชี แต่ Minor อาจจะเป็นภาษาอังกฤษ เยอรมัน วิทยาศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ เป็นต้น แต่หลักสูตรใหม่จะเป็นภาคบังคับเลยว่า Major บัญชี ต้อง Minor ไอที ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 5 วิชา โดยทางภาควิชาได้เข้าไปสร้างความร่วมมือกับคณะวิศวฯ เพื่อร่วมศึกษาและกำหนดแนววิชาด้านไอทีที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องและจำเป็นกับวิชาชีพบัญชี หรือ AI มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานในวิชาชีพตรงไหน อย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ รศ.ดร.นฤนาถ ยังกล่าวถึงกระบวนการปรับพัฒนาหลักสูตรของภาควิชาบัญชีว่า “อันดับแรกทางสาขาการบัญชีเราเริ่มจากการทำความเข้าใจ AI ด้วยวิชา Minor ที่จะสอนให้นักศึกษาได้รู้ว่า AI ทำงานอย่างไรและสามารถนำมาสนับสนุนและต่อยอดในวิชาชีพได้อย่างไร โดยเทรนด์ปัจจุบันจะเห็นว่ามีเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาช่วยการจัดการด้านบัญชีได้มาก ถึงขั้นที่สามารถสแกนเอกสารแล้วเข้าสู่ระบบงานบัญชีเพื่อทำการบันทึกและรวบรวมข้อมูลได้เลย ซึ่งช่วยลดงานด้านการบันทึกรายการหรือ Record Transaction เบื้องต้นได้มาก เท่ากับว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ เข้ามาช่วยลดทอนงานในลักษณะที่เป็น Routine ออกไปได้มาก นั่นคือความหมายของการถูกแทนที่หรือถูกดิสรัป แต่อย่างไรก็ตามงานที่เป็นเรื่องของการคิดวิเคราะห์ งานวางแผน การตัดสินใจหรือหน้าที่ในการ Approve ข้อมูล วิเคราะห์ Transaction เชิงลึกนั้นยังคงต้องเป็นหน้าที่ของมนุษย์อยู่นั่นเอง ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจึงต้องมีทักษะและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ยุคสมัย นอกจากนี้ทางหลักสูตรยังมีการส่งเสริม Soft Skill เพื่อเป็นทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและมีจิตสำนึกต่อสังคมอีกด้วย”
บ่มเพาะจิตสำนึกเพื่อสังคม
ทั้งนี้ รศ.ดร.นฤนาถ ยังขยายความถึง Vision ด้านการเรียนการสอนของคณะที่นอกจากเรื่องทักษะทางวิชาชีพแล้ว ทางคณะฯ ยังมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการผลิตบัณฑิตที่มีจิตสำนึกต่อสังคมหรือ Social Conscious ว่า
“ความรู้ที่เราจัดในหลักสูตร 4 ปีนี้น่าจะก่อประโยชน์อะไรให้สังคมได้บ้าง มีการปรับหลักสูตรให้นักศึกษาปี 4 เข้าไปศึกษาหาข้อมูลว่ามีชุมชนใดที่ต้องการความช่วยเหลือและนักศึกษาเห็นว่าตนเองสามารถนำองค์ความรู้ในสาขาบัญชีที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชนเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืนบ้าง แล้วพัฒนาเป็นข้อเสนอโครงการที่ระบุวัตถุประสงค์ แนวคิด วิธีการในการแก้ปัญหา ตัวชี้วัด หลังจากที่โครงการได้รับแนะนำและอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ นักศึกษาจะเข้าไปทำการช่วยเหลือชุมชนตามแนวทางและวิธีการที่ได้ออกแบบไว้ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง 2 ภาคการศึกษา ทำให้นักศึกษามีเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เป็นการผสมผสานความรู้และทักษะทางวิชาชีพบัญชีกับศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไอที Soft Skill ในด้านความสามารถในการสื่อสาร การทำงานเป็นทีมและการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยมีเหล่าคณาจารย์ช่วยกันทำหน้าที่เป็น Advisor คอยให้คำปรึกษา แนะนำและกลั่นกรองไอเดียต่างๆ ให้แก่นักศึกษา”
นอกจากบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงโครงการเพื่อสังคมของนักศึกษาแล้ว คณาจารย์ของภาควิชาฯ ยังมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลประสานการนิเทศและการฝึกงานของนักศึกษา กับผู้ประกอบการตลอดจนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่อยู่ในตลาดงาน โดยทางคณะฯ จะเน้นการเป็น Partner กับสำนักงานบัญชีบริษัทต่างๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์เพื่อส่งนักศึกษาไปฝึกงาน
รศ.ดร.นฤนาถ กล่าวถึงจุดเด่นของหลักสูตรบัญชีของ AccBA ว่าคือ เรื่องของการนำเอาไอทีมาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกงานและ Social Conscious ที่จะทำให้เด็กเรียนรู้การเป็นผู้ให้ ฝึกฝนการทำงานเป็นทีมและทักษะการสื่อสาร นำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้จริง เรามีการกำหนดให้นักศึกษาเรียนซอฟต์แวร์ก่อนที่เด็กจะออกไปฝึกงาน ทั้งตัวเล็ก อย่าง Express หรือ BC Account แล้วแต่ว่าช่วงนั้นอะไรที่กำลังมาแรง ตัวกลางก็จะเป็น SAP B1 และตัวใหญ่ ที่ Listed Company ใช้เช่น SAP ซอฟต์แวร์ทั้ง 3 ระดับนี้จะถูกบรรจุในหลักสูตรให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษาสามารถปรับใช้ได้กับซอฟต์แวร์อื่นๆ ทำให้เราได้รับ Feedback จากบริษัทต่างๆ ว่าเด็กเราต่างจากที่อื่นเพราะรู้จักโปรแกรมเหล่านี้ สร้างความพึงพอใจและบัณฑิตก็มีโอกาสที่จะได้รับ Offer งานค่อนข้างสูง
ปัจจุบันหลายสิ่งหลายอย่างปรับเปลี่ยนไปอย่างมากทั้งเรื่องของการลดลงของจำนวนประชากรทั้งของเราเองและในหลายๆ ประเทศ โอกาสการศึกษามีมากขึ้น รูปแบบการศึกษา และคุณสมบัติของพนักงานที่นายจ้างต้องการในอนาคตอาจไม่ได้ยึดติดอยู่เพียงปริญญา แต่อยู่ที่ทักษะที่จะทำงานได้ จุดนี้จึงถือเป็นความท้าทายสำหรับเรา ทำให้ระยะเวลาของการปรับหลักสูตรจากเดิมทุกๆ 4 ปี ต้องเร่งเร็วขึ้นเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างไรก็ตามสาขาการบัญชียังคงได้รับความสนใจเป็นจำนวนมากจากผู้เรียนและผู้ปกครอง เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและมีตำแหน่งงานรองรับจำนวนมากทั้งในภาครัฐและเอกชน
สำหรับเทรนด์ทางด้านการบัญชีจะยังคงก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ทางภาควิชาบัญชี AccBA พยายามที่จะทำงานให้รองรับและตอบสนองในสิ่งที่เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าน่าจะส่งผลกระทบและเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนให้มากที่สุด โดยเฉพาะหลักสูตรปี พ.ศ 2563 จะเห็นการปรับเปลี่ยนของหลักสูตรมากพอสมควร แต่ในระหว่างนั้นหากมีอะไรที่เปลี่ยนใหม่ ทางภาควิชาบัญชีและคณะฯ ก็มีความพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสำหรับศิษย์เก่าของคณะฯ หรือนักบัญชีทั่วไปที่จำเป็นต้องปรับความรู้เพื่อให้ก้าวทันมาตรฐานรายงานทางการเงินและสภาพงานที่เปลี่ยนไป ทางภาควิชาก็ยังมีโครงการ Refresh ให้กับศิษย์เก่าและบุคคลทั่วไปเพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาวิชาชีพด้านการบัญชี
เรื่อง : ณัฐพัชธ์ สุมา
SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง โดย อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ ให้มุมมองการรับมือกับบริหารจัดการองค์กรในยุค Disruptive ที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรุนแรงว่า สามารถนำ Leadership (ภาวะผู้นำ) มาใช้เพื่อช่วยสร้างองค์กรที่ยั่งยืนขึ้นมาได้
เธอบอกว่าจากประสบการณ์ทำงานมากว่า 27 ปี ทำให้เห็นว่าองค์กรไทยโดยมาก มักจะเน้นการพัฒนาตัวผู้นำ (Leader) เพื่อให้มีภาวะผู้นำ สามารถปรับตัว มีความรู้เท่าทันสถานการณ์ และสามารถมองเห็นทิศทางและโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงสามารถตัดสินใจและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
แต่สำหรับช่วงเวลาปัจจุบันการพัฒนาแต่ตัวผู้นำไม่เพียงพอแล้ว ยังต้องพัฒนาคนในองค์กรให้มีภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นด้วย เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทางด้าน ฮาเวิร์ด ฟาร์เฟล ประธานสถาบัน เคน บลานชาร์ด บริษัทพัฒนาผู้นำและบุคลากรจากสหรัฐอเมริกา บอกว่า ยังมีอีกหลายองค์กร ที่ผู้นำและบุคลากรในองค์กรยังติดกับดักของตัวเอง เป็นผลให้ประสิทธิภาพไม่เกิดและประสิทธิผลไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ อีกทั้งยังทำให้หมดความมุ่งมั่นในการนำองค์กรสู่จุดมุ่งหมายลงกลางทางเสียดื้อๆ ดังนั้นการเติมเต็ม “ภาวะผู้นำ – Leadership” จึงเป็นเรื่องที่หลายๆ องค์กรไม่ควรมองข้าม
โดยล่าสุด SEAC นำเอาหลักสูตรจากสถาบันเคน บลานซาร์ด มาให้บริการในประเทศไทย 4 หลักสูตรประกอบด้วย 1. Self Leadership 2. Situational Leadership® II Experience 3. Management Essentials และ 4. Coaching Essentials®
อริญญา กล่าวว่า หัวใจสำคัญของหลักสูตรนี้ คือการนำประสบการณ์จริงในโลกธุรกิจ งานวิจัย ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถปฏิบัติได้จริง มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับผู้นำองค์กรที่เข้าร่วมอบรม ตลอดจนนำเสนอมุมมองและแนวความคิด สำหรับการมีภาวะผู้นำที่ดีอย่าง “Mindset – มายด์เซ็ต” และ “Skillset – สกิลเซ็ต” เข้าไว้ด้วยกัน โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้นำองค์กรและบุคลากรทุกระดับเกิดความมุ่งมั่นและตระหนักรู้ในการพัฒนา “ภาวะผู้นำ ของตนเอง กระตุ้นให้ผู้นำสามารถดึงศักยภาพของตนด้วยการฝึกฝนโดยนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ไปประยุกต์ใช้กับองค์กรของตน เพื่อให้สามารถก้าวทันสถานการณ์สู่การสร้างและเป็นผู้นำในวงการธุรกิจในยุค Disruptive เช่นนี้
ฮาเวิร์ด บอกว่า สถาบันฯ ได้นำทฤษฎีภาวะผู้นำมาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มุ่งสอนเรื่องการเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นผู้นำที่เท่าทันโลกได้อย่างครอบคลุม จนเกิดเป็นหลักสูตรทั้ง 4 หลักสูตร
โดยหัวใจของหลักสูตรคือการทำให้เข้าใจว่าภาวะผู้นำเท่ากับความเป็นหุ้นส่วน Partnership โดยทำให้เข้าใจสไตล์ของการนำในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถปรับใช้ได้อย่างเหมาะกับสถานการณ์ การพัฒนาให้คนในองค์กรใช้ภาษาเดียวกันในการสื่อสารตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงพนักงานทุกระดับ เพื่อให้ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไข การพัฒนาผู้บริหารรุ่นใหม่และการพัฒนาหัวหน้างานให้สามารถสอนงานพนักงานได้
ปัจจุบันมีหลายบริษัทระดับโลกที่เลือกโปรแกรมเหล่านี้ไปใช้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางธุรกิจดีขึ้น มีการลาออกลดลง สามารถรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ได้ โดยสำหรับหลักสูตรในไทยจะประยุกต์เนื้อหาให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมของประเทศไทยและประเทศอาเซียน
SEACเริ่มต้นอบรมหลักสูตรเหล่านี้ให้กับองค์กรมากกว่า 20 องค์กร อาทิ เครือบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เครือข่าย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้านครหลวง สำนักงาน ก.พ. และคาดว่าภายในปีนี้จะมี 30 บริษัทที่ได้รับการอบรม และปี 2562 จะมีประมาณ 100 บริษัทที่สนใจหลักสูตรนี้