January 22, 2025
CSR

“รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” พลังความร่วมมือ ชุมชน ภาครัฐ และเอสซีจี ฝายชะลอน้ำ ต้นแบบการฟื้นฟูต้นน้ำให้ป่าอยู่รอด

October 10, 2018 1834

“ต้นทางป่าไม้ ปลายทางประมง ระหว่างทางเกษตรกรรม” เป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงวางแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ดินและน้ำของประเทศไทยให้อุดมสมบูรณ์ รวมถึงส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำ ตลอดจนพื้นที่ปลายน้ำที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติให้ดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ นับเป็นแนวคิดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถสร้างความความยั่งยืนให้กับผืนป่าและชุมชนได้อย่างแท้จริง ... พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต้นน้ำ และเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชไร่ที่สำคัญของประเทศ แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี จะประสบปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ทั้งจากภัยธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ แต่ด้วยแนวคิดการสร้าง “ฝายชะลอน้ำ” ตามแนวพระราชดำริ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูผืนป่าได้อีกครั้ง และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีป่า ชุมชนก็มีรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งภายในชุมชน

เมื่อป่าอยู่รอด ชุมชนจึงอยู่ได้

ชุมชนบ้านยางโทน อำเภอไทรโยค เป็นอีกหนึ่งชุมชนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาพื้นที่แห้งแล้งจากการแผ้วถางป่าสำหรับขยายพื้นที่ทำกิน ชุมชนจึงได้ร่วมกับกรมป่าไม้ และเอสซีจี สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อแก้ปัญหา และหวังคืนความชุ่มชื่นให้ผืนดิน จนปัจจุบัน เห็นผลแล้วว่า นอกจากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่กลับคืนมา ฝายยังช่วยฟื้นสภาพพื้นที่ให้เป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลิตผลทั้งหน่อไม้ ไผ่รวก เห็ดโคน และผักหวาน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ชุมชน

“ชุมชนได้เข้าไปร่วมกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเอสซีจี ตั้งแต่ปี 2552 เพียงไม่กี่ปีก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่ ฝายช่วยคืนความสมดุลให้กับป่า และป่ายังเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตที่ชุมชนสามารถเข้าไปหาของป่าสำหรับนำมาใช้ทำอาหารให้ครอบครัว และแบ่งขายสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น แค่คนในชุมชน 1 คน เดินเข้าป่าไปเก็บหน่อไม้เพียง 2 กระสอบปุ๋ย สามารถสร้างรายได้ให้ถึง 300 บาทต่อวัน หรือประมาณ 5,000 – 6,000 บาทต่อเดือน ส่วนรายได้ของชุมชนที่มาจากการขายหน่อไม้ เห็ดโคน พืชสมุนไพร ไม้ใช้สอยในครัวเรือน มากถึง 4,000,000 บาทต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าเพราะการที่ชุมชนช่วยกันลงแรง ร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำ จะทำให้ชุมชนบ้านยางโทนของเรามีโอกาสพูดคุยกัน เข้าใจกัน และรักสามัคคีกันมากขึ้นผู้ใหญ่ครุฑ นายเต้นยิ้ว วชิรพันธ์วิชาญ ประธานป่าชุมชนบ้านบ้านยางโทน กล่าว

ไม่หยุดแค่งานชุมชน มุ่งมั่นยกระดับความรู้สู่งานวิชาการ

นอกจากชุมชนแล้ว พื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อำเภอไทรโยค ยังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อยู่ในเขตมหาวิทยาลัย เมื่อฝนตกหนักหน้าดินจะถูกชะล้างลงไปยังพื้นที่ด้านล่าง สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน มหาวิทยาลัยฯ จึงเริ่มสร้างฝายชะลอน้ำร่วมกับเอสซีจีตั้งแต่ปี 2553 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จากจุดเริ่มต้นเพียง 10 ฝาย ได้ขยายเพิ่มเป็น 100 ฝาย จนปัจจุบันนักศึกษาและจิตอาสาได้ร่วมกันสร้างไปแล้ว 354 ฝาย

“ระหว่างการสร้างฝาย มหาวิทยาลัยฯ และเอสซีจี ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นในพื้นที่ จึงได้ร่วมมือกันทำงานวิจัยเชิงวิชาการ ภายใต้โครงการ การติดตามตรวจสอบทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการจัดการฝายอย่างยั่งยืน เพื่อศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และความหลากหลายของสัตว์ รวมถึงประโยชน์จากฝายที่เกิดขึ้นกับชุมชน ผลจากงานวิจัยได้พบ ชาฤาษีไทรโยค ที่เป็นดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทางระบบนิเวศ ซึ่งพบแหล่งเดียวในโลก พืชชนิดนี้จะขึ้นในป่าที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์เท่านั้น อีกทั้ง ยังพบการกลับมาของเสือลายเมฆซึ่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างฝายมีส่วนสำคัญที่ช่วยฟื้นให้ระบบนิเวศของป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง รวมถึงฝายยังทำหน้าที่ช่วยดักตะกอนดินไม่ให้ไหลลงไปสร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนเช่นที่ผ่านมาได้อีกด้วย ต่อจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ และเอสซีจี ได้ร่วมกันจัดตั้ง “สถานีเรียนรู้ฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ” เพื่อรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการทำฝายและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้แก่ชุมชน และผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป และมีเป้าหมายจะสร้างฝายให้ครบ 500 ฝายในปี 2561 นี้” ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยให้เห็นผลประจักษ์เชิงวิชาการที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นจากฝายชะลอน้ำ

เครือข่ายพลังคนรุ่นใหม่ หัวใจรักษ์สื่งแวดล้อม

ด้วยความเชื่อที่ว่า การรักษาและดูแลน้ำเป็นหน้าที่ของคนทุกคน ไม่เฉพาะแค่ชุมชนต้นน้ำเท่านั้น น้องแนน นางสาวช่อผกา พจนาสุคนธ์ กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปี 4 หนึ่งในเยาวชนจิตอาสาคนรุ่นใหม่ ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook SCG โดยหวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้กับเพื่อนๆ และพี่ๆ ชุมชน รวมถึงหวังว่าการร่วมกิจกรรมจะช่วยปลุกพลังที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรม กล่าวว่า

“ปกติชอบธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสและลองลงมือทำงานร่วมกับพี่ๆ ชุมชนแบบนี้มาก่อน ครั้งแรกสำหรับการสร้างฝายไม่เหนื่อยอย่างที่คิด เพราะได้แรงจากพี่ๆ ชุมชน และพี่ๆ พนักงานเอสซีจีช่วยกัน เมื่อก่อนเคยได้ยินแต่คนพูดถึงฝาย แต่การมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้มีโอกาสมาเรียนรู้วิธีการสร้างฝายที่ถูกต้อง ทำให้เห็นว่า ฝายช่วยชะลอน้ำสามารถช่วย
แผ่กระจายความชุ่มชื้นไปสู่พื้นที่โดยรอบได้มากกว่าแค่เก็บน้ำตามที่เราเคยคิดไว้ และไม่น่าเชื่อว่า การเริ่มต้นทำฝายจากจุดเล็กๆ ด้วยหัวใจของพี่ๆ ชุมชน และแรงของเพื่อนๆ นักศึกษาจิตอาสาของมหาวิทยาลัยมหิดลฯ กลับส่งผลให้ป่าทั้งป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง นึกภาพไม่ออกเลยว่าสภาพพื้นที่ที่เคยแห้งแล้งและมีปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างไร ถ้าครั้งหน้ามีกิจกรรมประเภทนี้อีก จะขอเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะลงมือช่วยเพื่อประเทศไทยของเรา”

สืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ต่อยอดและขยายผลให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

เอสซีจีให้ความสำคัญเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกันในทุกพื้นที่ที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยได้น้อมนำและสืบสานพระราชดำริ “จากภูผา สู่มหานที” มาเป็นแนวทางในการรักษาดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

“เอสซีจีมีเครือข่ายชุมชนในโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำ มากกว่า 170 ชุมชน เครือข่ายเยาวชน Young รักษ์น้ำ กว่า 80 คน และมีจิตอาสาเข้าร่วมโครงการมากกว่า 89,400 คน ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำสำเร็จไปแล้วกว่า 79,300 ฝาย ความสำเร็จจากการดูแลพื้นที่ต้นน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำของทั้งชุมชนบ้านเขามุสิ และชุมชนบ้านยางโทน จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงผลงานวิจัยทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลฯ วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นบทเรียนและต้นแบบความร่วมมือที่แสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ได้นำแนวคิดไปปรับใช้แก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วยตนเองให้ประสบผลสำเร็จ และขยายผลต่อไป จนเกิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต จากนี้ไป เอสซีจีมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ชุมชนสามารถต่อยอดพัฒนา และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตจากฝาย เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ได้ตลอดทั้งปี” นายแสงชัย วิริยะอำไพวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี กล่าว

 เอสซีจี จะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันสร้างต้นน้ำที่ยั่งยืน สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ พร้อมถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่ต่อไป

X

Right Click

No right click