January 22, 2025
CSR

เทคโนโลยีพิชิตโลกร้อน…สู่ป่า GrabForGood

September 19, 2024 240

ผลิตผลของโครงการ “ชดเชยคาร์บอน” จากการมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการแกร็บ

หลายคนอาจเคยตั้งคำถามว่า เหตุใดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างออกมาแสดงจุดยืนและประกาศนโยบายในด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มข้น ซึ่งรวมถึงเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) กันอย่างจริงจัง นั่นเป็นเพราะเราทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลต่อภาวะโลกรวน (Global Warming) รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ อย่างปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า กิจกรรมต่างๆ ในเชิงธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราทุกคนทั้งทางตรงและทางอ้อม ล้วนมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

แกร็บ (Grab) ในฐานะผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันให้กับคนไทย รวมถึงผู้คนนับล้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นหนึ่งในองค์กรภาคเอกชนที่มีความตื่นตัวและขับเคลื่อนนโยบายในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม แม้ดูผิวเผินธุรกิจหลักของ Grab อาจไม่ได้สร้างผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มตัวกลางที่คอยเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้บริการ (ไม่ว่าจะเป็น ผู้โดยสาร ผู้สั่งอาหารหรือสินค้า) กับร้านค้าและคนขับ แต่ต้องยอมรับว่าบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันและบริการเดลิเวอรีต่างมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากยานยนต์ในท้องถนนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น ในปี 2565 แกร็บจึงได้มีการประกาศเป้าหมายในด้านความยั่งยืนขององค์กร (Grab’s ESG Goals) ซึ่งรวมถึงประเด็นในด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินต่างๆ ในวงจรธุรกิจ พร้อมตั้งเป้าที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ทั่วทั้งภูมิภาคให้ได้ภายในปี 2583 ผ่าน 4 แนวทางสำคัญ คือ 1) การส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำอย่างรถ EV 2) การใช้พลังงานทดแทนในสำนักงานต่างๆ ในทุกประเทศ 3) การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและลดผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือ 4) การดำเนินโครงการที่มุ่งลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอน พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในวงจรธุรกิจ

เงินบริจาคเพียง 1-2 บาท สู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยต้นไม้กว่า 200,000 ต้น

หนึ่งในโครงการเรือธงที่แกร็บริเริ่มและดำเนินการมากว่า 3 ปี คือ โครงการชดเชยคาร์บอน ผ่านการพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset Feature) ที่เปิดให้ผู้ใช้บริการร่วมบริจาคเงินเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิต และนำไปปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยแกร็บได้ร่วมมือกับพันธมิตรรายสำคัญอย่าง EcoMatcher แพลตฟอร์มตัวกลางที่ทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการปลูกต้นไม้ในท้องถิ่น โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าไปดูข้อมูลและเยี่ยมชมต้นไม้ที่งอกเงยจากเงินบริจาคของผู้ใช้บริการ ซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ป่า “GrabForGood” 

 

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เล่าว่า “แกร็บได้เริ่มเปิดตัวฟีเจอร์ชดเชยคาร์บอนบนแอปพลิเคชัน Grab มาตั้งแต่ในปี 2564 พร้อมเชิญชวนให้ผู้ใช้บริการร่วมบริจาคเงินจำนวน 2 บาทสำหรับบริการเดินทางด้วยรถยนต์ หรือจำนวน 1 บาทสำหรับบริการเดลิเวอรีหรือบริการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ โดยเงินบริจาคเหล่านี้ได้ถูกนำไปสนับสนุนโครงการคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยคาร์บอนที่เกิดจากการใช้บริการบนแพลตฟอร์มของ Grab และโครงการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว”

“หลังเปิดตัวมาเกือบ 3 ปี ฟีเจอร์ชดเชยคาร์บอนได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่องจากผู้ใช้บริการในประเทศไทย โดยในปีที่ผ่านมา (2566) มีการร่วมบริจาคเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีก่อนหน้า โดยมีการบริจาคผ่านการใช้บริการเรียกรถและสั่งอาหารรวมกันมากกว่า 24 ล้านครั้ง โดยเงินบริจาคเหล่านี้จะถูกนำไปซื้อคาร์บอนเครดิต พร้อมใช้ในโครงการปลูกป่า GrabForGood ที่เราได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอย่าง EcoMatcher และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อ Conserve Natural Forests (CNF) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ท้องถิ่น ทั้งยังได้นำเทคโนโลยีมาช่วยระบุตำแหน่งและข้อมูลของต้นไม้ ทำให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งปัจจุบันเราได้ปลูกต้นไม้ในประเทศไทยไปแล้วกว่า 200,000 ต้นในจังหวัดกระบี่และแม่ฮ่องสอน”วรฉัตร กล่าวเสริม

พลิกมุมมองการปลูกต้นไม้ให้สนุก โปร่งใส และเข้าถึงง่ายด้วยเทคโนโลยี

หลายคนอาจไม่คุ้นหูกับชื่อนี้ แต่อันที่จริงแล้ว EcoMatcher ถือกำเนิดมาแล้วกว่า 8 ปีในฐานะแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแบรนด์และองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการปลูกต้นไม้ โดยปัจจุบันได้ดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ใน 14 ประเทศ ครอบคลุมทั้งทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ ตะวันออกกลางและเอเชีย พร้อมส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีส่วนในการปลูกและดูแลต้นไม้เหล่านั้น ที่สำคัญคือคือมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการช่วยเก็บข้อมูลของการปลูกต้นไม้ โดยบนแพลตฟอร์มของ EcoMatcher จะมีข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่พิกัดของต้นไม้ ภาพของต้นกล้าที่ปลูก สายพันธุ์ต้นไม้ ประวัติของคนปลูก รวมไปถึงการฟังเสียงป่า และการพูดคุยกับต้นไม้ผ่านเทคโนโลยี Chatbot

บาส ฟรานเซน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EcoMatcher กล่าวว่า “EcoMatcher เกิดมาจากแนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้ของขวัญขององค์กรที่มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก มาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางใจและเป็นประโยชน์ต่อโลก เราจึงได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ที่มีความเชี่ยวชาญในการปลูกต้นไม้ พัฒนาแอปพลิเคชันติดตามต้นไม้ที่ชื่อว่า TreeCorder’ เพื่อให้องค์กรเหล่านี้สามารถเก็บข้อมูลต้นไม้ที่ปลูกทุกต้นได้ ทำให้การสนับสนุนการปลูกต้นไม้มีความโปร่งใสและเข้าถึงง่าย และเป็นประโยชน์ต่อแบรนด์ต่างๆ ในการใช้การปลูกต้นไม้เป็นของขวัญให้กับลูกค้า หรือเชิญชวนให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ เช่นเดียวกับ Grab ที่เชิญชวนให้ผู้ใช้บริการร่วมบริจาคเงินเพียงเล็กน้อยเพื่อปลูกต้นไม้ชดเชยคาร์บอกน โดยทุกคนสามารถเข้าไปเยี่ยมชมต้นไม้ผ่านแพลตฟอร์มของ EcoMatcher ได้ง่ายๆ”

“เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันปลอดมลพิษโลก (Zero Emissions Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี เมื่อเร็วๆ นี้ แกร็บ ประเทศไทย จึงได้ร่วมกับ EcoMatcher และ Conserve Natural Forests (CNF) จัดกิจกรรมพาพนักงานและพี่ๆ คนขับไปร่วมปลูกต้นไม้ในพื้นที่เขาพนมเบญจาในจังหวัดกระบี่ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้และชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งภารกิจนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชุมชนท้องถิ่น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในวงจรธุรกิจของแกร็บให้ร่วมกันทำสิ่งเล็กๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนต่อโลกได้” วรฉัตร ปิดท้าย

ผู้ใช้บริการแกร็บสามารถมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ผ่านฟีเจอร์ชดเชยคาร์บอน และเข้าไปเยี่ยมชมป่า GrabForGood ได้ที่ EcoMatcher.com/GrabTH

X

Right Click

No right click