December 22, 2024
CSR

พัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม

December 18, 2018 3402

บรรยากาศเช้าวันเวิร์คช้อป The Ozonor Hackathon จัดขึ้นที่ NAP LAB จุฬาลงกรณ์ ซอย 6 หนึ่งในกิจกรรมน่าสนใจภายใต้โครงการ “เรื่องโอโซน เรื่องของเรา” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานอย่างธนาคารโลกเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและซุ้มเสียงของผู้เข้าร่วมงานรุ่นใหม่ ที่ต่างก็พกเอาไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใส่กระเป๋ามาจากบ้าน พร้อมสำหรับการระดมความคิดนำเสนอให้ได้ผลิตผลตลอดสองวันหนึ่งคืนเพื่อจะเอาไปต่อยอดพัฒนานโยบายในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

ดร. วิรัช วิฑูรย์เธียร ผู้แทนธนาคารโลก หนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้อธิบายถึงจุดยืนและบทบาทของธนาคารโลกต่อเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทยไว้ว่า “เราถือเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพราะฉะนั้นเราจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่อาจจะยังไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงในการผลิตออกสู่ตลาด โดยคำนึงถึงและให้ความสำคัญในการกระจายความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน ใครที่สนใจมีสิทธิเข้าร่วมทุกคนหากผ่านเงื่อนไขต่างๆ เพราะฉะนั้น ทีมของเราจึงมีทั้งนักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักสิ่งแวดล้อมและวิศวกรร่วมมือกันเพื่อการพัฒนา ซึ่งคนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างในจุดนี้ และสำหรับองค์กรเอกชนที่ต้องการเพิ่มปริมาณหรือพัฒนาธุรกิจที่สามารถทำการค้าได้แล้วในระดับหนึ่ง ทางธนาคารโลกก็มีหน่วยงานที่เรียกว่า บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ซึ่งจะมีบทบาทเข้าไปร่วมลงทุนในภาคเอกชนได้โดยตรง”

อดีตที่ผ่านมาจากการที่ประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ทำให้เรามีนโยบายในการลดละ เลิก การใช้สารทำความเย็นกลุ่ม CFCs (Chlorofluorocarbon) ในการผลิตตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์และกระป๋องสเปรย์ และพยายามผลักดันทุกภาคส่วนให้หันไปใช้สารอื่นทดแทน นั่นก็คือ HFC (Hydro chlorofluorocarbon) ซึ่งไม่ค่อยมีอันตราย ไม่ติดไฟ เมื่อผู้ผลิตเริ่มเปลี่ยนไปหมด ตลาดก็ไม่มีตัวเลือกมาก เหตุการณ์นี้คือการเปลี่ยนแปลงตลาดในฝ่ายผู้ผลิต จึงจะเห็นว่าในอดีตเราใช้กลยุทธ์นี้ในการเข้าถึงผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกกฎหมาย เพียงเท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตลาดได้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันเราก็พบว่า HFC เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนค่อนข้างสูง ก็เริ่มมีการคิดค้นสารตัวต่อไปคือ HC (hydrocarbon) ที่จะเข้ามาทดแทน แต่ติดปัญหาตรงที่มีคุณสมบัติค่อนข้างอันตรายคือติดไฟได้หรือมีความเป็นพิษสูง อาจมีอัตรายต่อทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งาน เพราะฉะนั้นผู้ใช้จึงจำเป็นต้องคอยดูแลและระมัดระวัง ต้องรู้จักการบำรุงรักษาเพื่อให้ประสิทธิภาพของการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้คงที่ ยกตัวอย่าง สมัยนี้ที่เรามักได้ยินว่าเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ช่วยประหยัดพลังงานได้ดี แต่พอซื้อมาเรากลับไม่ค่อยได้ดูแลรักษาเท่าไหร่ จนกระทั่งเครื่องปรับอากาศเสียเราก็จะเรียกช่างมาซ่อม ซึ่งถ้าลองไปเปิดดูจะพบว่ามีฝุ่นเกาะจำนวนมากทำให้การถ่ายเทความร้อนไม่ดี แทนที่จะประหยัดพลังงานกลับทำให้เกิดการใช้พลังงานมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น ถ้ามีการส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีที่จะช่วยในการประหยัดพลังงาน ก็มีความจำเป็นที่ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทางธนาคารโลกจึงหันมาส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยและการประหยัดพลังงานโดยการสร้างการตระหนักรู้ต่อพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด

เป้าหมายและความคาดหวังต่อ โครงการ “เรื่องโอโซน เรื่องของเรา”

สำหรับโครงการนี้เป็นความร่วมมือหนึ่งที่ทางธนาคารโลกดำเนินการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย ในเรื่องของโอโซนนี้ ทางธนาคารโลกได้มีการทำงานร่วมกันกับทางรัฐบาลไทยโดยเฉพาะกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในช่วงแรกเรื่องของโอโซนอาจเป็นเรื่องที่เรายังไม่ค่อยได้ยินกันมากนัก เพราะว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ผลิต ทางภาคประชาชนจะไม่ค่อยได้เกี่ยวข้อง แต่ช่วงที่ผ่านมาเรื่องโอโซนได้ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนและมีเรื่องความปลอดภัยต่างๆ จากสารทดแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง ภาคประชาชนจึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมมากขึ้น จึงทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าน่าจะขยายงานและประยุกต์กิจกรรมต่างๆ ให้เข้ากับภาคประชาชนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ อยากให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันชั้นบรรยากาศว่าคืออะไร เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร และจะมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร นอกเหนือไปกว่านี้ยังคาดหวังถึงความคิดเห็น ข้อมูลต่างๆ และความคิดใหม่ๆ ของผู้ที่มาเข้าร่วม ในแง่ของประชาชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีบริบทการใช้ชีวิตต่างจากอดีตว่า ควรใช้สื่อประเภทไหนที่จะสามารถเข้าถึงและดึงดูดความสนใจของประชาชนได้มากกว่า เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำมาทำแผนในการลด หรือ เลิก ใช้สารที่กำลังถูกควบคุมในอนาคตเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานในอนาคต

ทิศทางและแนวโน้มต่อมุมมองเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ทั้งในเรื่องดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งหมายรวมถึงเรื่องโอโซนด้วย

ดร.วิรัช เปิดเผยเรื่องนี้กับทาง MBA ว่า เรื่องของการรณรงค์เพื่อเป้าหมายในการลดภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่เราทุกคนต่างมีส่วนร่วมและการกระทำของเราก็ส่งผลต่อคนอื่นๆ จึงอาจเกิดปัญหาการว่าใครควรเริ่มก่อน แม้แต่เรื่องของการป้องกันชั้นบรรยากาศหรือโอโซนที่เริ่มกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ก็ไม่มีใครคิดว่าจะประสบความสำเร็จ แต่การที่ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะเราสามารถทำปัญหานี้ให้กลายเป็นเรื่องที่ชัดเจนสามารถแก้ไขได้ อย่างเรื่องน้ำยาที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศก็มีการหาทางปิดโรงงานที่ผลิตสารเหล่านี้ แล้วเอาสารทดแทนตัวอื่นไปให้ผู้ใช้หรือโรงงานที่นำสารนี้ไปใช้ต่อ ปัญหาเลยถูกแก้ไขได้ง่าย เราสามารถใส่ทรัพยากรต่างๆ ลงไปทดแทนเพื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จ แต่ในแง่ของสภาพภูมิอากาศมีปัจจัยมากมาย เพราะฉะนั้น ในตอนนี้เราทุกฝ่ายต้องมีการจับมือร่วมกัน สิ่งไหนที่ทำได้เร็วทำได้ก่อนก็ต้องเริ่มทันที อย่างเรื่องสาร HFCs ที่ประเทศไทยนำเข้ามา หากเราไม่ลงมือทำอะไรเลย ภายในปี พ.ศ.2565 หรือ พ.ศ.2566 อาจจะมีปริมาณสูงถึง 120 ล้านตัน ถ้าเราสามารถลดการนำเข้าลงเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดการรั่วไหลน้อยลง เราก็สามารถลดปริมาณสารไปได้มากกว่า 30 ล้านตัน ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายว่าจากปี 2563 ถึง 2566 เราจะลดอัตราการปล่อยก๊าซที่ทำลายชั้นบรรยากาศ 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 110 – 130 ล้านตัน ถ้าประชาชนเราสามารถบำรุงรักษาใช้เครื่องไฟฟ้าเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพและเกิดการรั่วไหลน้อยที่สุด แค่เรื่องของการใช้เครื่องปรับอากาศถ้านับจากการใช้ทั่วประเทศเราอาจลดการนำเข้าสารนี้ไปได้ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ก็คือเป้าหมายที่จะไปจัดการในส่วนของการลดอัตราการปลดปล่อยสารเหล่านี้ออกสู่บรรยากาศ เพราะฉะนั้นเรื่องไหนที่เราทำได้ก่อนเราก็ทำเลย เรื่องไหนที่ยังทำไม่ได้เราก็พยายามพัฒนาต่อ ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ภายในปี พ.ศ.2573 อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสแน่นอน”

สำหรับการทำการเกษตรและปศุสัตว์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์) ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศ ก็ต้องมีการเข้าไปสำรวจและพูดคุยกันจากหลายๆ ฝ่าย ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะกระบวนการผลิตนั้นใช้คาร์บอนไดร์ออกไซด์ในอัตราที่สูง ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการส่งเสริมให้มีการประยุกต์และปรับเปลี่ยน และอีกด้านก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบขนส่ง อย่างอาหารทะเล บ้านเราถือเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลอันดับต้นๆ ของโลก ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ว่าจับได้มากขึ้นแต่เป็นการเพิ่มอัตราการส่งอาหารหรือทรัพยากรเหล่านี้ไปให้ถึงมือผู้บริโภคให้มากขึ้น จากเดิมเราจับมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ไปถึงผู้บริโภคเพียง 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าเราสามารถเพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ได้ก็อาจช่วยลดอัตราการจับสัตว์น้ำให้น้อยลงได้ ธนาคารโลกเองมีบทบาทในการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบทำความเย็นทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี โดยมีการกำหนดกลยุทธ์และแผนการในการขนส่งที่มีการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและประหยัดพลังงาน อาจไม่ต้องเป็นเทคโนโลยีใหม่ก็ได้ แต่ต้องมีการมองอย่างเป็นระบบ วิธีการนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ราคาสินค้าก็ถูกลง เพราะเราไม่ต้องจ่ายให้กับส่วนต่างของมูลค่าสินค้าที่สูญเสียไประหว่างทาง ซึ่งสินค้าเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่สูงที่สุด

และสำหรับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทางธนาคารโลกก็มีกระบวนการทำงานที่ต่างจากอดีต คือการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย (Strategic Country Diagnostic : SCD) แล้วจึงมากำหนดว่าอะไรที่ควรให้ความสำคัญก่อน โดยทางรัฐบาลจะมีการกำหนดขึ้นมาว่าต้องการให้ทางธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง มีการสร้างขอบเขตความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกกับประเทศไทยขึ้นมาภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปี อย่างเร็วๆ นี้ก็จะเป็นประเด็นการลดขยะพลาสติก ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลกที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั้งในอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีนและไทย ต่างก็ต้องเผชิญกับวิกฤตในครั้งนี้

การดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมสามารถทำควบคู่การแก้ไขหรือป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ในเรื่องการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่กับความพยายามป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ท่าน ดร.วิรัช ได้อธิบายแง่มุมใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้เราฟังว่า “ในอดีตเราอาจมองว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมกับการพัฒนาเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไป ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอาจไม่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมเสมอไป อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้เทคโนโลยีใดมาช่วยรักษาสมดุลเพื่อจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด อย่างในตอนนี้ที่เราเปลี่ยนการใช้น้ำยาในเครื่องปรับอากาศจาก CFCs มาเป็น HFC ที่แยกออกมาอีกหลายประเภททั้ง R22 และ R410A ซึ่งก็ยังมีผลที่ทำให้โลกร้อนขึ้นได้ประมาณ 1,810 – 2,090 เท่าของคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ล่าสุดภาคอุตสาหกรรมจึงหันมาเลือกใช้สารที่มีประสิทธิภาพกลางๆ คือ HFC R32 มีค่าที่ทำให้โลกร้อนเพียง 675 เท่าของคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ไซต์ แม้จะยังเป็นค่าที่สูงแต่ก็มีการออกแบบให้มีการรั่วไหลของสารในปริมาณที่น้อยที่สุดด้วยการลงทุนทำระบบข้อต่อต่างๆ ให้ดีขึ้น ผลปรากฏว่าระบบนี้กลับมีปริมาณการรั่วน้อยและเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน ทำให้สามารถผลิตเครื่องปรับอากาศให้มีขนาดเล็กลงได้ด้วย เพราะการทำความเย็นที่ดีกว่า ขนาดของเครื่องปรับอากาศจึงสามารถลดลงส่งผลต่อการลดต้นทุนในการผลิตและท้ายที่สุดทำให้เกิดขยะน้อยลง ฉะนั้น การปฏิบัติตามแนวทางนี้นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีที่เรามีค่อนข้างพร้อมอยู่ที่ว่าเราจะหยิบเอามาใช้ให้ได้ประโยชน์ต่อหลายๆ ฝ่าย”

ทั้งนี้ เทคโนโลยีในปัจจุบันอาจจะยังไม่เดินไปถึงขั้นที่เราสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด นอกจากนี้เทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้นั้นยังต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ ถ้าประเทศไทยมีช่างที่มีคุณภาพและประชาชนรู้ว่าการซ่อมบำรุงที่ถูกต้องคืออะไร เราสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ เราก็สามารถเดินไปหน้าต่อไปในแนวทางนั้นได้ ปัจจุบันมีความพยายามที่จะพัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถของช่างซ่อมบำรุงให้มากขึ้น ดึงเอาส่วนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการดูแลรักษาของใช้ เมื่อเราพร้อมและมีความรู้ความเข้าใจในการรับมือเป็นอย่างดีเมื่อไหร่ เราจึงสามารถเดินหน้าใช้สารที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ (แต่อาจมีอันตรายมากกว่าด้วย) เราไม่ควรให้ความสมบูรณ์กลายมาเป็นสิ่งที่ทำลายเราในภายหลังจะดีกว่า กรณีที่การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาคือ การทำความร่วมมือระหว่างทางธนาคารโลกกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในการเจรจาขอนำเทคโนโลยี R32ซึ่งขณะนั้นมีบริษัทญี่ปุ่นเจ้าเดียวที่ถือครองสิทธิบัตรอยู่เข้ามาให้กับผู้ผลิตในประเทศไทย โดยสุดท้ายแล้วเราก็สามารถผลิต จัดจำหน่ายได้โดยไม่ต้องเสียค่าสิทธิบัตร และถือเป็นการเปิดโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ให้โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันได้ในวงกว้าง ทั้งนี้ เพราะเราสามารถสร้างเงื่อนไขที่ทั้งประเทศไทยและเจ้าของสิทธิบัตรสามารถมีประโยชน์ร่วมกันได้ นอกจากนี้ ในส่วนของเทคโนโลยีภาคการผลิตในอนาคต ธนาคารโลกเองก็กำลังร่วมมือกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการทำ Business Matching โดยส่งเสริมให้บริษัทที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์แต่ยังไม่สามารถเปิดตลาดและบริษัทที่มีความต้องการเทคโนโลยีตัวนี้มาทำการค้าร่วมกันทั้งในตลาดประเทศไทยเอง รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามหรือฟิลิปปินส์เพื่อขยายตลาด เมื่อผู้ผลิตหันมาสั่งซื้อสินค้าที่เดียวกัน ปริมาณการซื้อขายก็มากขึ้น ราคาก็จะลดลง คนที่ให้เทคโนโลยีก็สามารถทำยอดขายได้เพิ่ม เป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม

ดร.วิรัช แสดงความเห็นทิ้งท้ายต่อปัญหาที่เป็นกังวลมากที่สุดในระดับสากลตอนนี้คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้มีการประชุมและทำข้อตกลงร่วมกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีส คือ จะพยายามควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส หากเราไม่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อาจทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นไปจนถึงจุดหนึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทั้งหมดทำให้เปลี่ยนกลับมาไม่ได้อีก เราในส่วนของประชาชนผู้มีส่วนร่วมควรตระหนักและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แน่นอนว่าเรื่องความอยู่รอดและปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากเรามุทะลุตั้งหน้าตั้งตากอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเพียงอย่างเดียว สักวันหนึ่งการกระทำเหล่านี้อาจย้อนกลับมาเป็นปัญหาลูกโซ่ทำร้ายลูกหลานของเราในอนาคตได้


เรื่อง : ณัฐพัชฐ์ สุมา

X

Right Click

No right click