January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

CSR

จับตา “กิจการเพื่อสังคม”ในเมืองไทย ความตื่นตัวเพื่อพัฒนาชาติจากฐานราก

September 28, 2017 3458

ประเทศไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2504 ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศฉบับแรก โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ซึ่งยังคงเป็นจุดมุ่งหมายหลักของแผนพัฒนาฯ ทุกฉบับนับตั้งแต่นั้นมา

แม้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมีผลเป็นไปตามที่แผนพัฒนาฯ มุ่งหมายไว้ โดยข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุว่าสัดส่วนประชาชนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ของประเทศไทยลดลงจาก 57 % ของประชากรทั้งประเทศในปี 2503 เหลือประมาณ 7.2 % ในปี 2558

แต่การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจกลับมีผลให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษ ปัญหาผู้ด้อยโอกาส ปัญหาชุมชนละทิ้งถิ่นฐาน ปัญหายาเสพติด ปัญหาสุขภาวะอนามัย เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแนวคิดขององค์กรพัฒนาที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือ NGOs ซึ่งมีบทบาทในการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือปัญหาสังคมด้านต่างๆ ที่ภาครัฐเข้าไม่ถึง

อย่างไรก็ตาม NGOs ก็มีข้อจำกัดในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงจากข้อจำกัดด้านเงินทุน เนื่องจากแหล่งรายได้หลักของ NGOs มาจากการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ข้อจำกัดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแนวคิดในการสร้างธุรกิจที่สร้างสินค้าหรือให้บริการในการแก้ไขปัญหาสังคมโดยตรง เช่น ธุรกิจให้คำแนะนำผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในราคาไม่แพง หรือธุรกิจที่สร้างรายได้ แล้วจัดสรรกำไรส่วนหนึ่งมาช่วยแก้ปัญหาสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็คือการเกิดขึ้นของแนวคิด กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE) นั่นเอง

กิจการเพื่อสังคมที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง และเป็นต้นแบบของกิจการเพื่อสังคมทั่วโลก คือ ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ที่ก่อตั้งโดย นายโมฮัมเหม็ด ยูนุส (Mr. Muhammad Yunus) ในปี 2519 ซึ่งมีเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อให้แก่คนยากจนในบังคลาเทศ ที่ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินเนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้มีโอกาสได้รับเงินทุนเบื้องต้น เพื่อให้สามารถตั้งตัวได้

ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ระดับรากหญ้าในประเทศอีกด้วย จากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธนาคารกรามีนส่งผลให้นายโมฮัมเหม็ด ยูนุส ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2549

ทั้งนี้  เมื่อปัญหาสังคมมีหลายด้าน หลากมิติ กิจการเพื่อสังคม จึงฝังตัวอยู่ในเกือบจะทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว อาหาร เกษตร สาธารณสุข คมนาคม หรือแม้แต่ แฟชั่น ขนาดของกิจการจึงมีทั้งขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดกลางไม่ต่างจากกิจการ SME ทั่วไป ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าประเทศที่มี SME จำนวนมากและเข้มแข็ง จะช่วยให้พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศนั้นดีและแข็งแกร่งตามไปด้วย เพราะจะเกิดการจ้างงาน และการบริโภคสินค้าภายในประเทศที่สูงขึ้น เรียกได้ว่ายิ่งมีมากเท่าไรก็ยิ่งดี

อย่างไรก็ตาม การมีกิจการเพื่อสังคม เข้ามาต่อยอดเป็นส่วนหนึ่งของ SME ในประเทศ จะยิ่งทำให้ประเทศได้รับประโยชน์เป็น 2 เท่า เพราะนอกจากกิจการเพื่อสังคมจะเป็น SME ซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศแล้ว ยังมีข้อดีเพิ่มเติมจาก SME ทั่วไป คือ การมีพันธกิจในการช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาสังคม ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศจึงเกิดความตื่นตัว และให้การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมอย่างจริงจัง เช่น ในประเทศอังกฤษ มีการจัดตั้ง Office of the Third Sector เป็นหน่วยงานสนับสนุนและผลักดันกิจการเพื่อสังคม และจัดตั้งกองทุนฟีนิกซ์ (Phoenix) เป็นเงินสนับสนุนชุมชนที่ลงทุนในกิจการเพื่อสังคม ในแคนาดา มีการออกกฎหมายเพื่อดูแลกิจการเพื่อสังคมอย่างเป็นระบบ พร้อมจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือทางการเงิน และในประเทศสิงคโปร์ มีการตั้งกองทุน SEF สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมโดยตรง เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย เริ่มมีความตื่นตัวต่อกิจการเพื่อสังคมเป็นอย่างมาก เกิดการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ จากทั้งภาครัฐ และเอกชน เช่น ในวันที่ 21 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยยกเว้นภาษีให้แก่กิจการเพื่อสังคม รวมถึงยกเว้นภาษีให้แก่กิจการ ห้างร้านที่ลงทุน หรือบริจาคให้แก่กิจการเพื่อสังคมอีกด้วย

ขณะที่ ในฝั่งภาคเอกชน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดให้มีรางวัลการลงทุนในกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise Investment Awards) ให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่ให้การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมอย่างโดดเด่น รวมถึงจัด Social Impact Platform เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมโยงบริษัทจดทะเบียนซึ่งมีกำลังคน เงินทุน และความเชี่ยวชาญ กับกิจการเพื่อสังคม เพื่อร่วมสร้างผลลัพธ์ที่เข้มแข็งและขยายผลที่ดีให้แก่สังคมในวงกว้าง

นอกจากนี้ ยังมีภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญ และสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมอย่างจริงจัง ยาวนาน และต่อเนื่อง นั่นคือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมมานานถึง 7 ปีติดต่อกัน ผ่านการดำเนินงาน “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change (BC4C)” ร่วมกับสถาบัน Change Fusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ผลักดันการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อสังคมในไทยมานับสิบปี ซึ่งโครงการดังกล่าวดำเนินตามแนวคิดการดำเนินงานโครงการซีเอสอาร์ของบริษัทฯ ที่ว่า “พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”  ควบคู่ไปกับแนวคิดด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของบ้านปูฯ ที่สนับสนุนคนดีและคนเก่ง ให้มีโอกาสในการร่วมกันสร้างสังคมที่ยั่งยืน

ที่ผ่านมาโครงการ Banpu Champions for Change ได้บ่มเพาะกิจการเพื่อสังคมที่มาเข้าร่วมโครงการฯ ไปแล้วกว่า 60 กิจการ โดยในจำนวนนี้มี 36 กิจการที่ยังคงดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นอัตราการอยู่รอดเท่ากับร้อยละ 60 มากกว่ากิจการ start-up ที่ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่ามีอัตราการอยู่รอดเพียง 10% เท่านั้น

ตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ และสามารถออกไปต่อยอดธุรกิจจนประสบคามสำเร็จในปัจจุบัน ได้แก่  Local Alike ที่เน้นการสร้างความพร้อมของชุมชน ให้สามารถจัดการท่องเที่ยวที่ดำเนินการโดยชุมชนเอง ซึ่งสำคัญมากในการสร้างรายได้และความยั่งยืนของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว ทั้งยังเชื่อมโยงตลาดทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมาให้ชุมชนเหล่านี้ ปัจจุบัน Local Alike ดำเนินการอยู่กับชุมชนกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ เช่น แม่สลองโฮมสเตย์ จ. เชียงราย และชุมชนเกาะยาวน้อย จ. พังงา นอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแล้ว Local Alike ยังสร้างรายได้เข้าสู่กิจการหลักล้านบาทต่อปี

ธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเพื่อชุมชนโดย Local Alike ยังได้รับการยอมรับจากเวทีทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ โดยมีเครื่องยืนยัน คือ การคว้ารางวัล AIS the Start Up 2014 ในหมวด Social Business  และยังก้าวไปคว้ารางวัลในโครงการ Booking.com Booster จาก Booking.com ผู้ให้บริการจองห้องพักออนไลน์ระดับโลก และได้รับเงินสนับสนุนไป 300,000 ยูโร หรือมากกว่า 11 ล้านบาท

อีกกิจการเพื่อสังคมที่น่าสนใจ คือ Toolmorrow ซึ่งสร้างคลิปเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับคนรุ่นใหม่ ในประเด็นความเชื่อผิดๆ ในหมู่เยาวชนไทย เช่น เรื่องการไม่กล้าปรึกษาเรื่องเพศกับผู้ปกครอง หรือ ปัญหาวัยรุ่นที่มีความรู้สึกว่าจะไม่มีใครสนใจตนเองเมื่อผิดหวังในความรักจนต้องหันไปพึ่งพายาเสพติด เป็นต้น  ซึ่งเมื่อทำวิดีโอคลิปเหล่านี้มาในรูปแบบที่น่าสนใจ ทำให้มีเยาวชนเข้าชม (View) นับล้านคนต่อคลิป จนได้รับการสนับสนุนต่อยอดจาก สถานีโทรทัศน์ Thai PBS และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อต่อยอดวามสำเร็จของงานเหล่านี้ไปสู่กลุ่มผู้ชมอีกหลายล้านคนทั่วประเทศได้

สาเหตุที่ช่วยให้กิจการที่ผ่านการสนับสนุนจากโครงการฯ  ยังคงอยู่รอด มีความเติบโตทางธุรกิจ และช่วยเหลือสังคมต่อไปได้ นั้นก็คือ โครงการฯ ไม่ได้ให้แค่เงินทุนในการตั้งต้นเพียงอย่างเดียว แต่ให้การสนับสนุนด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย  คือ การจัดอบรมความรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการสนับสนุนเครือข่ายผู้ประกอบการ และที่ปรึกษา ตลอดระยะโครงการฯ ที่ดำเนินงานรุ่นละเกือบ 1 ปี ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่ากิจการเหล่านี้มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะอยู่รอดเลี้ยงตัวเองได้ และออกไปช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการฯ ยังคงเปิดกว้าง และพร้อมสนับสนุนผู้ที่มีความตั้งใจดี  มีพลังอยากทำธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม และสานฝันของคนดีและคนเก่งเหล่านี้ให้เป็นจริง

X

Right Click

No right click