CSR

"สวนป่าชุมชน" CPF หนุนชุมชนบริหารจัดการพื้นที่ป่า ยึดหลักเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

October 27, 2021 1474

"ป่าชุมชน" พื้นที่ป่าไม้ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และต้นไม้ บนหลักการสร้างความเท่าเทียม  ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดประโยชน์สูงสุด  เพื่อรักษาพื้นที่ป่าและความสมบูรณ์ของนิเวศป่าไม้  สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ด้วยการวางแผน พัฒนา การบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์จากป่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ  คือ  การสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน  ด้านสังคม เกิดการพัฒนาอาชีพตามศักยภาพของชุมชน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ และด้านสิ่งแวดล้อม  รักษาระบบนิเวศ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจโดยบูรณาการแนวคิดการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ริเริ่ม "โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ"  เพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการของบริษัทมาตั้งแต่ปี  2557  ทั้งในรูปแบบของการปลูกต้นไม้  สร้างสวนป่าเชิงนิเวศ ขยายผลสู่การสร้างเครือข่ายป่าชุมชน     

“ศูนย์เรียนรู้สวนป่ารักษ์นิเวศ โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร” ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เป็นสวนป่านิเวศในฟาร์มสุกรแห่งแรกของไทย ที่มาจากแนวคิดพลิกพื้นที่ว่างเปล่าในฟาร์มเลี้ยงสุกรเป็นป่านิเวศในชุมชน เมื่อปี  2557 จากความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ ที่จะสร้างธุรกิจฟาร์มสุกรรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  บนพื้นที่กว่า 30 ไร่  ที่เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และชุมชน  ร่วมพัฒนาพื้นที่ของโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ด้วยการสร้างป่านิเวศที่สมบูรณ์  เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์  มีการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากในท้องถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับชุมชน สถานศึกษาและผู้ที่สนใจ    

ศูนย์เรียนรู้สวนป่ารักษ์นิเวศ ที่นี่ เป็นแหล่งรวบรวมป่า 6 ประเภท  ได้แก่  ป่าพันธุ์ไม้หายาก ป่าชายน้ำ ป่านิเวศแนวป้องกัน ป่าเต็งรัง ป่าเศรษฐกิจ และป่าเบญจพรรณ   มีต้นไม้มากกว่า 24,000 ต้น เป็นพันธุ์พืชกว่า 200 ชนิด พันธุ์ไม้หายากกว่า 140 ชนิด  สามารถเก็บต้นกล้าที่งอกจากเมล็ดตามธรรมชาตินำมาอนุบาลเพื่อขยายพันธุ์ อาทิ ต้นกระทิง หว้า ชัยพฤกษ์ และภู่นายพล  นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์สัตว์ที่อาศัยในผืนป่าอีกกว่า 70 ชนิด  ซึ่งปัจจุบัน มีฐานการเรียนรู้ 3 ฐาน  คือ ศาลาชากังราว ศาลากล้วยไข่ และศาลาวนเกษตร  เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้มาเยี่ยมชม  โดยมีวิทยากรประจำศูนย์เรียนรู้ฯ ที่เป็นเยาวชน เกษตรกรในโครงการฯ และตัวแทนของซีพีเอฟ ทำหน้าที่ให้ข้อมูลในแต่ละฐาน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมสวนป่าฯ โดยนำ  QR Code มาใชเพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และพัฒนาโปรแกรมการศึกษาดูงาน (Integrated Learning Center) ที่เหมาะสมกับกลุ่มที่เข้าเยี่ยมชม      

พิเชษฐ์ ใหญ่แก่นทราย ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร  กล่าวว่า สวนป่ารักษ์นิเวศฯ สร้างประโยชน์ให้กับชาวชุมชนอย่างมาก ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศพืชและสัตว์  เป็นที่อยู่และขยายพันธุ์ของสัตว์ท้องถิ่น  เป็นแหล่งเรียนรู้วิธีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ช่วยสร้างจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติและสามารถนำไปต่อยอดปลูกในพื้นที่อื่นๆได้   ป่าที่สมบูรณ์กลายเป็นแหล่งอาหาร เปรียบเหมือนตลาดสดของชุมชน เพราะในป่ามีทั้งพืช ผัก สมุนไพร เห็ด และปลา  เป็นแหล่งเพาะกล้าไม้ป่าเพื่อจำหน่ายหรือแจกให้กับผู้ที่สนใจ พื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นแหล่งพักผ่อน ออกกำลังกาย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน 

ปี 2559 ซีพีเอฟต่อยอดส่งเสริมป่าชุมชนแห่งที่ 2  ใน “โครงการปลูกป่านิเวศ หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 14 ไร่ ส่งเสริมชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า  เรียนรู้เทคโนโลยีการเลี้ยงสุกรที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม    โดยรวบรวมพันธุ์ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ ไม้หายาก และพืชสมุนไพรกว่า 109 ชนิด รวมพันธุ์ไม้มากกว่า 50,000 ต้น ประยุกต์หลัก “การปลูกป่านิเวศ” ตามทฤษฎีการปลูกป่าของ ‘ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ’ ด้วยการปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่เหมาะกับสภาะแวดล้อมในพื้นที่ ใช้เทคนิคการปลูกต้นไม้แบบถี่ 3 ต้นต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร แบบสุ่มคละชนิดพันธุ์ไม้ ให้เหมือนป่าธรรมชาติ ซึ่งช่วยร่นระยะเวลาการเจริญเติบโตของป่าธรรมชาติ จาก 100 ปี เหลือ 10 ปี ก่อเกิดเป็นรูปแบบป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง  สร้างระบบนิเวศที่ดี  ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการในพื้นที่  ซีพีเอฟ เกษตรกร ชุมชนใกล้เคียง  รวมทั้งปลูกจิตสำนึกคนรุ่นใหม่นักเรียนของสถานศึกษาในพื้นที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมปลูกต้นไม้     

สมชาย พงษ์พันธ์ เกษตรกรในหมู่บ้านฯ กล่าวว่า จากผืนดินว่างเปล่าเมื่อ  5 ปีก่อน วันนี้ต้นไม้เติบใหญ่กลายเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต สร้างแหล่งอาหารของชุมชน  ชาวชุมชนได้รับประโยชน์จากป่านิเวศฯ ที่ทุกคนร่วมกันสร้าง  เพราะให้ทั้งพื้นที่สีเขียว  ความร่มรื่น เป็นคลังอาหารของคนในชุมชน ซึ่งในพื้นที่ป่ามีทั้งไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร เห็ด ซึ่งคนในชุมชนสามารถเข้าไปเก็บมาปรุงอาหาร  เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบของชุมชน สำหรับผู้ที่สนใจ      

 ต้นกล้าเล็กๆที่ค่อยๆเติบโตสู่ต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงในพื้นที่โครงการสวนป่าชุมชน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการกักเก็บคาร์บอน สนับสนุนเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ มุ่งสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี   2573 และสนันสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable  Development Goals :  SDGs) รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change )  ภายใต้แผนกลยุทธ์  CPF 2030  Sustainability in Action ที่มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทย  20,000 ไร่ ภายในปี 2573  โดยส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการทั่วประเทศ 5,000 ไร่ ซีพีเอฟ เดินหน้าส่งเสริมให้ฟาร์มและโรงงานของบริษัทปลูกต้นไม้ ที่สำคัญ คือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือโดยชุมชน สนับสนุนการดำเนินโครงการป่าชุมชนให้อำนวยประโยชน์อย่างทั่วถึง เพื่อให้ชุมชนพร้อมทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน 

X

Right Click

No right click