เพิ่มอีก 111 แห่งทั่วประเทศตลอดปีการศึกษา 2564 - 2565 สนับสนุนงบประมาณ-องค์ความรู้-อุปกรณ์การศึกษา-วัสดุอุปกรณ์-School Partner (ผู้นำรุ่นใหม่) เต็มกำลัง หวังช่วยโรงเรียนสร้างสรรค์โครงการด้านวิชาชีพ-เกษตรกรรม-วิชาการ-ศิลปวัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม เกิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อสร้าง Lifelong Learning พร้อมเพิ่มจำนวนโรงเรียน Best Practice, School Model ต่อเนื่อง ชูหลากโครงการเด่น อาทิ Smart Farmer หูหิ้วถ้วยกาแฟจากเส้นกก และภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง เล็งปั้นภาคีเครือข่ายไผ่พอเพียงเพิ่มเติมปีละ 50 โรงเรียน มอบโอกาสสร้างความรู้ สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนสู่ชุมชน
นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ร่วมขับเคลื่อนแผนงาน 5 เฟส หรือประมาณ 5 ปีการศึกษา ซีพี ออลล์ ยังคงมุ่งมั่นดูแลและยกระดับการศึกษาของโรงเรียนและชุมชนต่างๆ เพื่อร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้เยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ในเฟสที่ 4 ปีการศึกษา 2564 ต่อเนื่องจนถึง 2565 แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 บริษัทยังคงเดินหน้าร่วมพัฒนาโรงเรียนเพิ่มเติมอีก 111 โรงเรียน โดยจะสนับสนุนทั้งงบประมาณ องค์ความรู้ อุปกรณ์การศึกษา วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น พร้อมทั้งส่งบุคลากรในเครือที่ผ่านการพัฒนาทักษะและมีจิตสาธารณะ เข้าไปเป็นผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) เพื่อเป็นคู่คิดช่วยเหลือโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทร่วมสนับสนุนงบประมาณพัฒนาโรงเรียน CONNEXT ED สะสมจนถึงเฟส 4 กว่า 500 โรงเรียน
“จากการพัฒนาโรงเรียนใน 3 เฟสแรก วันนี้เราเห็นผลสำเร็จหลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งหลักสูตรท้องถิ่นและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ที่ไม่เพียงแต่สร้างองค์ความรู้ให้แก่ครูและนักเรียนในโรงเรียน แต่ต่อยอดไปเป็นองค์ความรู้ของชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life long Learning การเกิดขึ้นของโรงเรียนที่ดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Best Practice จำนวน 25 โรงเรียน โรงเรียนต้นแบบ หรือ School Model จำนวน 16 โรงเรียน โรงเรียนในโครงการร่วมพัฒนา หรือ Partnership School อีก 9 โรงเรียน ในเฟส 4 นี้ นอกจากเราจะร่วมพัฒนาโรงเรียนและโครงการใหม่ๆ ทั้งโครงการด้านวิชาชีพ ด้านเกษตรกรรม ด้านวิชาการ ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เราจะยกโมเดลความสำเร็จของบางโรงเรียนมาขยายผลสู่โรงเรียนอื่นต่อไปด้วย เพื่อมอบโอกาสดีๆ ให้แก่โรงเรียนที่ต้องการโอกาสได้อย่างรวดเร็ว” นายธานินทร์ กล่าว
สำหรับช่วงปลายปีการศึกษา 2564 ถึงต้นปีการศึกษา 2565 มีโครงการของโรงเรียน Best Practice, School Model และ Partnership School ที่ซีพี ออลล์เข้าไปช่วยพัฒนาและโดดเด่นหลายโครงการ อาทิ โครงการ Smart Farmer ของโรงเรียนบ้านโคกมะเมียน จ.สุรินทร์ บูรณาการองค์ความรู้ของชุมชนเข้ากับหลักสูตรการศึกษา ให้นักเรียนและคนในชุมชนมีความเข้าใจภาคเกษตรกรรมในทุกมิติ ทั้งด้านการบริหารจัดการ ด้านธุรกิจ และด้านเทคโนโลยี และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ภาคเกษตรกรรมของไทยในอนาคต พร้อมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลินิล ช่วยให้โรงเรียนและชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน โครงการ “หูหิ้วถ้วยกาแฟ เส้นกกสายใยรักษ์โลก” ของ โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) อ.ควนขนุน จ.พัทลุง พลิกโฉมภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่หลักสูตรการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน โครงการ “ท่องโลกกล้วย” ของโรงเรียนวัดชมพูประดิษฐ์ จ.นครศรีธรรมราช นำการแปรรูปปาล์มกล้วย มาบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน และคนในชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างอาชีพ สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน รวมถึงการสร้างภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ที่มีกว่า 152 โรงเรียน ด้วยโมเดลจากโรงเรียนอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่บูรณาการเรื่องการจัดการขยะเข้ากับหลักสูตรการศึกษา ลดขยะในโรงเรียนจาก 15 ตันเหลือเพียง 2 กิโลกรัมต่อเดือน
ด้านนายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป สำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บมจ.ซีพี ออลล์ ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการ CONNEXT ED ของซีพี ออลล์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้านแล้ว โครงการ CONNEXT ED ของซีพี ออลล์ ยังเดินหน้าตามกรอบยั่งยืน 3 มิติด้วย ได้แก่ 1.การสร้างโรงเรียนที่พึ่งพาตนเองได้ ปลูกฝังให้โรงเรียนและชุมชนมีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) แม้หลังเสร็จสิ้นโครงการ CONNEXT ED แล้ว ก็ยังสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ให้โรงเรียนและโครงการของโรงเรียนเดินหน้าต่อไปได้ 2.การบูรณาการความรู้สู่หลักสูตรสถานศึกษาหรือหลักสูตรท้องถิ่น บูรณาการจุดเด่นของแต่ละโครงการเข้ากับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลาง สร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้ทั้งแบบลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) และแบบปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) ที่มีความสอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการได้อีกด้วย 3.การพัฒนาสู่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เป็นพื้นที่เปิดให้คนในชุมชนสามารถเข้ามาเรียนรู้ในรูปแบบคอร์สระยะสั้น สร้างการเรียนรู้แบบ Life long Learning และพิจารณาขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ
“เรามองว่าโครงการที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จของบางโรงเรียน สามารถนำไปขยายผลสร้างประโยชน์ให้โรงเรียนอื่นๆ ต่อได้ทันที เช่น โครงการต้นกล้าไร้ถัง ที่ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายเป็นของตัวเองแล้ว และจะเพิ่มจำนวนโรงเรียนในภาคีอย่างต่อเนื่อง โดยปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมาเราต่อยอดสร้างภาคีเครือข่ายไผ่พอเพียงขึ้นอีก 1 ภาคี นำโครงการของโรงเรียนบ้านน้ำย้อย จ.ลำพูน ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการแปรรูปพืชเศรษฐกิจอย่างไผ่ มาเป็นเฟอร์นิเจอร์ ถ่านไม้ไผ่ ชาใบไผ่ โดยตั้งเป้าว่าจะมีโรงเรียนเข้าร่วมภาคีเพิ่มเติมปีละประมาณ 50 โรงเรียน เริ่มต้นจากโรงเรียนในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก” นายตรีเทพ กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทตั้งเป้าจะส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนต้นแบบ หรือ School Model เพิ่มเติมจาก 16 แห่งในปัจจุบัน สู่ 26 แห่งภายในปีการศึกษา 2565 อีกด้วย เพื่อให้เกิดต้นแบบที่โรงเรียนต่างๆ ทั้งในและนอกโครงการ CONNEXT ED สามารถยึดเป็นต้นแบบในการพัฒนาผู้เรียน โรงเรียน และชุมชนได้ต่อไป
สำหรับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) และเป็น 1 ใน 44 องค์กรเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญและตอบรับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยซีพี ออลล์ วางเป้าดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED 5 เฟส จำนวนกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถดำเนินโครงการด้านต่างๆ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โครงการพัฒนาคุณภาพคน โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากในองค์กรร่วมลงพื้นที่และคอยให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการของโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิด