โครงการนี้ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มูลนิธิธรรมดี สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ร่วมจัดโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 17 ” สำหรับครู อาจารย์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศ ซึ่งจัดมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสนองตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โลกหลังโควิด 19 ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว เพื่อฟื้นฟู ตนเอง และสังคมให้มีความแข็งแรงมั่นคงกลับสู่สมดุลและช่วยกันสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตเหมือนเดิม นับเป็นความโชคดีของคนไทย ที่เรามี “พลัง บ-ว-ร” บ้าน วัด โรงเรียน บทบาทหน้าที่ของ 3 สถาบันหลัก ที่เป็นกลไกการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาโดยภูมิปัญญาของคนไทย ที่มีความสอดคล้องเกี่ยวโยงกันทั้งด้านชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา สิ่งแวดล้อม ซึ่งทิพยประกันภัย ห่วงใยทุกชีวิตในสังคม กับโครงการ ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด ได้ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ จะช่วยสร้างพื้นฐานการดำรงชีวิตให้เกิดความมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืนได้”
ครู อาจารย์ ที่เข้าร่วม กิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 17 จะได้ร่วมทำกิจกรรมการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม ที่ให้ความสำคัญในความเชื่อมโยงของ ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา และสิ่งแวดล้อม อาทิ การทำกิจกรรม ณ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร สร้างโดยสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ เป็นการสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและราชวงศ์จักรี และพระพุทธปฏิมาประธานประจำอุโบสถ ได้รับการถวายพระนามว่า "สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์" สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แสดงถึงความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันพระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สืบเนื่องยาวนานนับพันปี วัดนี้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระกรุณานานัปการจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ได้ทรงอุปถัมภ์ในการก่อสร้างตลอดมา และทรงรับเป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นวัดในพระองค์อีกด้วย
นอกจากนี้ มีการทำกิจกรรม ณ โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การปั้นและโยน EM Ball เพื่อบำบัดรักษาแหล่งน้ำให้มีความสมบูรณ์ต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์น้ำ การสร้างฝายชะลอและเก็บกักน้ำ เพื่อประโยชน์ในการทำการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนรอบๆโครงการและใกล้เคียง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นพลังที่แข็งแรง เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของประเทศ “พลังบวร” จึงเป็นหลักที่สอนให้คนรักษาความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดการพึ่งพาตนเองช่วยสังคมและกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ช่วยให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่า และมีความภาคภูมิใจในความเป็นไท มีความมั่นคงในวัฒนธรรมที่มีวิวัฒนาการต่อเนื่องยาวนาน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจการสืบสานความเป็นไท
ทั้งนี้ รศ. น.พ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี เป็นหนึ่งในโครงการ ที่ได้ถูกคัดเลือกอยู่ในหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา ที่ศูนย์คุณธรรม ร่วมกับองค์กรภาคี ได้จัดทำขึ้น เป็นการสรุป 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา สำหรับเด็กเยาวชนและผู้ที่สนใจได้นำไปศึกษาให้เกิดประโยชน์จากการเรียนรู้ พร้อมทั้งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ดังที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้กล่าวไว้ว่า “หากเยาวชนได้เรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา พระองค์จะทรงอยู่ในหัวใจของพวกเราตลอดไป”
ด้าน ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “ความไม่เหมือนเดิมของโลกใบนี้ ได้ช่วยตอกย้ำให้เราทุกคนได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระราชกรณีกิจนานับปการ เพื่อให้ราษฎรได้มีความเป็นอยู่อย่างผาสุก ดังนั้น การได้มาศึกษาลงพื้นที่เพื่อสร้างประสบการณ์ การปลูกป่าในใจคน และน้อมนำเอาศาสตร์พระราชา ไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เราทุกคนสามารถอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์วิกฤติ และเติบโตได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการสนองตามพระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
พร้อมทิ้งท้ายว่า เราหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า เราลืมไปแล้วว่า คนไทยโชคดีแค่ไหน ที่มีพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และทรงรักคนไทยมากที่สุด ดร.ดนัยสรุป
นอกจากการลงพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมตามฐานต่างๆ แล้ว คณะครู อาจารย์ ยังเข้าร่วมการถอดบทเรียน โดย อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFSประเทศไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากร จัดกิจกรรม Interactive Board Workshop ตามรอยนวัตกรรมศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล และ “The King's Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป