December 30, 2024
CSR

CPF เดินหน้ามอบอาหารคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย แก่กลุ่มเปราะบาง รับ "วันอาหารโลก"

October 19, 2022 609

วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี ตรงกับวันอาหารโลก (World Food Day)

เป็นวันสำคัญที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ขจัดความอดอยาก หิวโหย ซึ่งในปี 2022 (พ.ศ. 2565) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations :FAO) ตอกย้ำ แนวคิด “Leave NO ONE behind”หรือ“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ มีวิสัยทัศน์เป็นครัวของโลกที่ยั่งยืน และมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ความสำคัญต่อกระบวนการความยั่งยืนในธุรกิจอาหารทั้งด้านความปลอดภัยและคุณภาพในการผลิตอาหาร บนหลักการดำเนินธุรกิจด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และมุ่งสู่เป้าหมายลดปริมาณขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ภายใต้ความมุ่งมั่นด้านการสร้างคุณค่าปราศจากขยะ (Waste to Value) พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังได้ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารของผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเปราะบางในสังคม ซึ่งบริษัทได้ให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง

ซีพีเอฟ ร่วมมือกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และบริษัท เก็บสะอาด จำกัด หรือ GEPP ดำเนินโครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เป็นต้นแบบการจัดการอาหารส่วนเกินและรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ สู่การบริโภคอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยได้มอบอาหารเพื่อช่วยเหลือชุมชนเปราะบาง มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งมอบอาหารไปแล้วทั้งสิ้น 74,906 มื้อ แก่ 85 ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และตั้งแต่ปี 2564 ได้ร่วมกับทำงานกับบริษัท GEPP ได้เก็บกลับบรรจุภัณฑ์พลาสติกและกระดาษ (Take back system) เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจัดการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ ช่วยจัดการปัญหาขยะในชุมชนกว่า 6,000 ชิ้น ส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ นำเข้าสู่กระบวนการจัดการที่เหมาะสมเพื่อลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ หลังจากที่มอบอาหารให้แก่ชุมชนแล้ว ทาง GEPP จะติดตามเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสม

นอกจากนี้ เนื่องในวันอาหารโลกปีนี้ บริษัทฯ ร่วมกับ มูลนิธิ SOS และ ภาคีเครือข่าย มอบอาหารให้แก่กลุ่มเปราะบาง ตามแนวคิด “Leave NO ONE behind”หรือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยเปลี่ยนอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) เป็นเมนูอร่อย สะอาด ปลอดภัย มอบให้ชุมชนที่อาศัยในพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตลาดพร้าว เขตห้วยขวาง และเขตจตุจักร 2,500 มื้อ ประกอบด้วย ชุมชนซอยลาดพร้าววังหิน 10 และ 12 ชุมชนสันติสุข ชุมชนลาดพร้าว 45 และชุมชนหลังตลาดสุภาพงษ์ โดยใช้โรงครัววัดลาดพร้าว เป็นสถานที่ปรุงอาหารเพื่อบรรจุกล่องแจกในชุมชนกลุ่มเปราะบางอย่างทั่วถึง มีการลงเรือนำอาหารกล่องแจกครัวเรือนที่ขาดแคลนริมคลอง รวมทั้งทำอาหารปรุงสุกให้ประชาชนนำภาชนะส่วนตัวมาใส่เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์ โดยซีพีเอฟสนับสนุนอาหารที่มีโภชนาการและสารอาหารครบถ้วน มอบโปรตีน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ อาทิ ขาเป็ดพะโล้ หมูดำบด สะโพกหมูซีพีคูโรบูตะหั่นชิ้น ขาหมูเผาสไลซ์อนามัยซีพี กระดูกซุปหมูหั่นชิ้นอนามัยซีพี และหมูแดดเดียว

นายทวี อิ่มพูลทรัพย์ หัวหน้าโครงการด้านอาหารและความปลอดภัยทางอาหาร มูลนิธิ SOS กล่าวว่า มูลนิธิ ฯ จัดกิจกรรมครัวรักษ์อาหาร เนื่องในโอกาสวันอาหารโลก 16 ตุลาคม 2565 โดยได้ทำเมนูอาหารจากอาหารส่วนเกิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ ที่สนับสนุนเนื้อสัตว์และวัตถุดิบส่วนเกินในการปรุงอาหาร รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากจิตอาสาของชุมชน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย และสำนักเขตฯ มาช่วยกัน เพื่อทำอาหารแจกจ่ายให้ชุมชนประมาณ 2,500 มื้อ นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญในเรื่องของปัญหาขยะ โดยบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำมาทำอาหาร จะนำถุงมาล้างและเก็บกลับไปที่มูลนิธิ SOS จากนั้น บริษัท เก็บสะอาด จำกัด จะนำบรรจุภัณฑ์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อลดปริมาณขยะ โดยขอฝากถึงบริษัทเอกชน หากมีอาหารส่วนเกิน อาหารเหล่านี้ถือว่ายังเป็นอาหารที่มีประโยชน์ที่สามารถบริจาคผ่านทางมูลนิธิ SOS และทางมูลนิธิฯจะมีการบริหารจัดการ เพื่อส่งต่ออาหารที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคกลุ่มเปราะบาง

ด้านนางวิกานดา สังวรราชทรัพย์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายชุมชนเขตลาดพร้าว กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่เห็นทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันผลิตอาหารเพื่อแจกจ่ายให้ชุมชนเปราะบาง ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่จำนวนมาก ขอขอบคุณผู้สนับสนุนจากภาคเอกชน เช่น ซีพีเอฟ ที่ส่งมอบเนื้อสัตว์และวัตถุดิบของสดเพื่อนำมาผลิตอาหาร ในฐานะตัวแทนของชุมชน ขอบอกว่าหนึ่งมื้อของชุมชน เป็นหนึ่งมื้อที่ทำให้เราประหยัดและอิ่มท้องได้

โครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เป็นการส่งมอบอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนและด้อยโอกาส ลดการสูญเสียอาหารและจัดการอาหารส่วนเกิน พร้อมสร้างสรรค์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ตอกย้ำความมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน สอดรับกับแนวคิด “Leave NO ONE behind”หรือ“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งกำหนดโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เนื่องในวันอาหารโลก ปี 2022 เป็นหนึ่งในโครงการที่ซีพีเอฟดำเนินการ ภายใต้ความมุ่งมั่นด้าน Waste to Value มีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของบริษัทในอีก 9 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564-2573) และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs ) ในประเด็นการขจัดความหิวโหย และการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

X

Right Click

No right click