November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

CSR

สรุปสาระสำคัญงาน SD Symposium 2018 (ช่วงบ่าย)

July 12, 2018 2044

ห้อง 1: Global Sharing

จากงานวิจัยระบุว่า 97% บอกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนมีความสำคัญมากขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา และ 93% บอกว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเติบโตและความสำเร็จในอนาคต

สิ่งที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ลูกค้า กฎระเบียบ กฎหมาย และความเห็นประชาชน ส่วยปัจจัยภายใน คือ ผู้บริหาร การพัฒนาอย่างยั่งยืน และกลยุทธ์ขององค์กร

การขับเคลื่อนให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ขั้นแรก องค์กรต้องมองเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขั้นที่ 2 ผู้บริหารต้องมองเห็นความสำคัญ ขั้นที่ 3 ต้องมีการกำหนดทิศทางการนำไปปรับใช้ในองค์กรและขั้นที่ 4 แต่ละหน่วยงานต้องมีความเข้าใจและรับไปปฏิบัติ โดยการดำเนินการส่วนใหญ่จะเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วนำมาขยายผล จากนั้นเมื่อสำเร็จ กระบวนการทำงานจะขึ้นสู่ระดับสูงขึ้น เพื่อให้องค์กรนำไปต่อยอดธุรกิจและเป็นกระบวนการที่จะนำไปใช้ใน Business Unit แล้วบูรณาการเข้าไปในยุทธศาสตร์ขององค์กร

เราต้องคิดว่าจะนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการทำงานอย่างไร และต้องทำให้ธุรกิจเป็นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้ได้ โดยจากงานวิจัยระบุว่า หลายองค์กรเริ่มมองเรื่องนี้อย่างมีนัยยะสำคัญตั้งแต่ปี 2017 โดยเริ่มวิเคราะห์ตัวเองว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วนหนึ่งคือแต่ละองค์กรต้องการสร้างรายได้มากขึ้น ลดต้นทุน ทำให้เกิดความคุ้มค่าทางธุรกิจ และลดความเสี่ยงของธุรกิจได้ด้วย

 

  • Presentation
    • E. Mr. Kees Rade, Ambassador of the Kingdom of the Netherlands

ปัจจุบัน ผมยังไม่เห็นเศรษฐกิจหมุนเวียนถูกพูดถึงในประเทศไทยสักเท่าไหร่ ต้องขอแสดงความยินดีกับความคิดริเริ่มที่จะนำเรื่องนี้ขึ้นมาในประเทศไทย

หากมองจากมุมมองและประสบการณ์จากยุโรป ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่กระตุ้นให้เราต้องหันมาใส่ใจ จากการเห็นในแอนตาร์กติกาที่น้ำแข็งเริ่มละลาย ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งเมตร การวัดผลคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศวันนี้อยู่ที่ระดับ 411 ppm ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ถ้าเรายังคงใช้ทรัพยากรในการผลิตแบบนี้เราก็เสี่ยงที่ทรัพยากรจะหมดโลก

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ แม้ว่า GDP จะเติบโตซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่นั่นหมายถึง การใช้ทรัพยากรในการผลิตมากขึ้นด้วย และการใช้ทรัพยากรที่มากมายขึ้นนั้น เป็นการใช้แล้วหมดไป เมื่อทรัพยากรมีอยู่จำกัด เราจึงต้องกลับมาดูเรื่องการบริหารจัดการกันให้ดีขึ้น

ปัจจุบันเรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องสำคัญที่หลายประเทศจับตามอง จากสภาวะโลกร้อนที่เริ่มส่งผลกระทบโดยทั่วกัน ทำให้ในอนาคตเราต้องเริ่มโฟกัสที่เศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งแม้จะเป็นนิยามที่เข้าใจไม่ง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดขึ้น โดยการบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืนเพื่อส่งมอบไปสู่คนรุ่นหลัง สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำ คือเราต้องเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรงให้กลายเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ของเหลือใช้คือวัตถุตั้งต้นคุณภาพเยี่ยมที่เราไม่ควรมองข้าม

 

ภาครัฐมีการใช้โปรแกรมมากมายที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง เช่น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ที่เป็นตัวอย่างการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ทั้งหมดในปี 2050 และตั้งเป้าหมายระยะยาวลดปริมาณวัตถุดิบ virgin ให้ได้ 50% ในปี 2030 โดยปัจจัยหลักที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น คือ การออกแบบสินค้าต้องทำอย่างฉลาดด้วยการใช้วัสดุตั้งต้นที่น้อยลง (Smart design fewer resource) สินค้าต้องมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวเพื่อลดปริมาณขยะในโลก (extend product life) และสินค้าที่ใช้งานแล้วต้องนำกลับมาใช้ได้อีกและต้องสามารถรีไซเคิลได้ (more better reuse: waste as raw material)

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2023 เศรษฐกิจหมุนเวียนในเนเธอร์แลนด์จะสร้างตลาดที่มีมูลค่ามากกว่า 7.3 พันล้านดอลล่าร์ และสร้างงานกว่า 54,000 ตำแหน่ง คนจะเริ่มตั้งราคาสินค้าเป็น true price คือ สินค้าและบริการต้องคิดราคาต้นทุนที่แท้จริง และต้องคิด natural capital accounting  คือ ต้นทุนของการใช้อากาศ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ Circular Economy สามารถระบุต้นทุนแฝงเหล่านี้ได้

เรามีวิธีในการจัดเก็บขยะเหลือใช้ โดยมีแหล่งเงินทุนที่จะนำมาช่วยเหลือโครงการนี้มากมาย เพื่อนำกลับมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการนำมาทำเป็นพลังงานทางเลือกและอื่นๆ ทั้งนี้ บทบาทของภาครัฐเองก็สำคัญ โดยต้องบังคับใช้กฎกติกาให้จริงจัง และต้องมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับภาคเอกชนด้วยเพื่อจูงใจให้ทุกคนก้าวเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งส่งเสริมให้มีนวัตกรรมในการผลิต และท้ายที่สุดต้องมีความร่วมมือกันในระดับนานาชาติด้วย

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยบทบาทของทุกคน (polder model) คือ ต้องร่วมมือกันทำ แต่ต้องทำในทุกระดับ จริงจัง และต้องตรวจตราในสิ่งที่ทำด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด ทุกคนต้องมาร่วมพูดคุยและหาวิธีการว่าตัวเองจะเข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างไรและจะต้องทำอะไรบ้าง

ตัวอย่างการใช้ถุงพลาสติกในเนเธอร์แลนด์ เช่น รัฐบาลเริ่มคิดเงินค่าถุง อาจจะไม่มาก แต่ทำให้คนรู้สึกว่า มันมีต้นทุน ซึ่งทำให้เกิดผลในมุมกว้างทั่วประเทศ ร้านสะดวกซื้อเองก็ต้องหันมาทำแคมเปญงดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นนิสัยของประชาชนไปเอง หรือกระทั่งกระแสสินค้าออแกนิกส์ ผู้บริโภคก็ต้องตระหนักได้เองว่าเป็นสิ่งที่ดีและพวกเขายอมจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าที่ดี

 

  • Cort Isernhagen, Senior Vice President & Managing Director, Lux Research

วันนี้เราพยายามมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดที่กำลังเติบโต ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังพุ่งทะยาน และด้วยเทคโนโลยีทำให้ไอเดียเศรษฐกิจหมุนเวียนเริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้น จากข้อมูลต่างๆ ที่วิเคราะห์ออกมา ถึงประโยชน์ของการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นและใช้งานได้จริง

  • Wallmart โมเดล จะเริ่มตั้งแต่ดีไซน์สินค้า นำมาผลิต ส่งมอบไปยังร้านค้าและผู้บริโภค ผ่านการใช้งาน นำกลับมาใช้ และรีไซเคิลเมื่อทิ้งวัตถุดิบ จนกระทั่งถึงการเป็นสินค้าที่ผ่านการใช้งาน เราใส่นวัตกรรมเข้าไปได้ตลอดทาง
  • เริ่มออกแบบ ขั้นตอนนี้การใส่นวัตกรรมที่มีกลไกของความยั่งยืนเข้าไปจะช่วยให้สินค้าทำงานได้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เป็นสินค้าสีเขียว แต่สร้างมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้ ทำให้อยู่ได้นานขึ้น โอกาสของกระบวนการออกแบบที่จะใส่นวัตกรรมเข้าไปได้นั้น คือการมองหาวัสดุใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการออกแบบตั้งแต่ต้น เช่น วัสดุชีวภาพ อย่างแพคเกจจิ้งแบบนาโนหรือกระดาษนาโน หรือดูปองค์ ที่วิจัยเรื่องวัสดุสีเขียว นอกจากนั้น นวัตกรรมในกระบวนการผลิต ยังทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้า เช่น น้ำหนักเบา ขนส่งง่าย เกิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์​ อย่างการที่เราได้เห็นรถ OEM (Original equipment manufacturer) ในโตโยต้า หรือฮอนด้าที่ใช้วัสดุธรรมชาติ natural composite ในการผลิตรถรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน
  • นวัตกรรมที่เกิดประโยชน์กับทั้งผู้ใช้และผู้ขาย คือ ทำให้ผู้ค้าได้ประโยชน์จากการใช้งานในเรื่องต้นทุนพลังงาน และการบริหารจัดการกำไรปลายทาง เช่น การสร้างบ้านประหยัดพลังงาน หรือโครงการ Concord Blue ที่นำขยะจากครัวเรือนมาเป็นพลังงาน หรือโคคาโคลา กับขวด PET ใช้ biobase material
  • นวัตกรรมในการ Recycle Reuse Repair คือ การยืดอายุของสินค้าก่อนจะถูกทิ้ง และมองว่าเราสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้หรือไม่ บางคนมองว่าปลายทางของการใช้งานสินค้าต่างๆ อยู่ที่ผู้บริโภค แต่ในบางครั้งสินค้ายังทำหน้าที่ของมันได้ต่อหรือกลับกลายมาเป็นวัสดุตั้งต้นสำหรับผลิตได้ใหม่เมื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิล เช่น การผลิตชิ้นส่วนรีไซเคิลสำหรับเรือเอาไว้ซ่อมแซมส่วนสึกหรอเล็กๆ หรือ P&G และ TerraCycle ที่ร่วมมือกันช่วยลดการใช้พลาสติก โดยทำบรรจุภัณฑ์จาก 90% ของพลาสติกที่ถูกทิ้งโดยผู้บริโภค อีก 10% เป็นขยะพลาสติกจากทะเล
  • นวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และต้องขับเคลื่อนจากแรงกระตุ้นของสังคม รวมทั้งภาครัฐที่ต้องมีส่วนในการกำกับดูแล และทำให้นโยบายต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง สุดท้ายผู้บริโภคเองต้องให้ความสนใจด้วย

 

  • Tine Rorvik, Innovative & Technology Director – Europe, Chemical Business, SCG

เมื่อต้นปีนี้ภาพวาฬที่ตายในทะเลไทยทำให้เกิดกระแสตื่นตัวไปทั่วโลก มีรายงานว่าในอเมริกามีการทิ้งหลอดพลาสติกมากกว่า 500 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่าพลาสติกมีประโยชน์แต่ก็เป็นปัญหาด้วย

ล่าสุดดิฉันมีโอกาสได้คุยกับคนก่อตั้งโครงการ Tiny for the Ocean เพื่อช่วยกันกำจัดขยะพลาสติก เขาเข้าไปคุยกับ Adidas และ Adidas สนใจร่วมทำโครงการนี้ สะท้อนให้เห็นว่าทั้งภาครัฐ ประชาชน อุตสาหกรรม ต่างก็ส่งเสริมและผลักดันซึ่งกันและกัน

วันนี้เรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งสำคัญที่สุดคือคำมั่นสัญญาของผู้บริหารองค์กร เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบายและแนวทางในการทำงาน เช่นในธุรกิจปิโตรเคมีของเรามีเป้าหมายคือ พยายามลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตโพลิเมอร์ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อน นอกจากนั้น เราอาจมองไปที่งานด้านอื่นๆ อีก เช่น อาคารประหยัดพลังงาน หรือการก่อสร้างรูปแบบใหม่ที่จะทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

  • Jeff Wooster, Global Sustainability Director, The Dow Chemical Company

ในปี 2005 เริ่มมีกระแสที่พูดถึงว่าเราจะทำอะไรเพื่อโลกได้บ้าง ในวันนั้น Dow Chemical จึงเริ่มเขียนพิมพ์เขียวขึ้นมาว่าธุรกิจจะทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง เรารู้สึกว่าการบอกกล่าวเรื่องที่เราทำเพื่อโลกเป็นเรื่องที่ดี เพื่อช่วยช่วยกันสานต่อเพื่อพัฒนากลไกต่างๆ ร่วมกันในการสร้างนวัตกรรมและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง

ในฐานะผู้ผลิต เราเห็นโอกาสในธุรกิจอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงรีไซเคิล เพราะในแต่ละปีมูลค่าของอาหารเหลือทิ้งคิดเป็นเงินมากกว่า 750,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เราจึงใช้นวัตกรรมเข้ามาพัฒนาสินค้าเพื่อรักษาคุณภาพของอาหารไว้ให้ได้ยาวนาน เพื่อตอบโจทย์การเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า รวมทั้งเรายังมีการวิจัยร่วมกับ Chu course เพื่อคิดค้นว่าการใช้พลาสติกจะเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

เรามองว่าการผลิตสินค้าควรมีโซลูชั่นสำหรับแต่ละขั้นตอนให้สามารถทำงานด้วยกันได้ และมองเห็นประเด็นที่ขยะในประเทศถูกเก็บรวมกัน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องแยกขยะ เพื่อให้สามารถนำไปขายหรือใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น การทำถนนได้

เรายังมีการทำวิจัยว่าขยะพลาสติกมาจากไหนและจัดการได้อย่างไร โดยอนาคตเราจะลงทุน 2.8 ล้านดอลลาร์ในการแก้ปัญหาขยะทะเล โดยเข้าร่วมโครงการ Closed Loop Ocean

เมื่อมองคุณค่าของพลาสติกเปรียบเทียบกับวัสดุชนิดอื่นแล้ว สิ่งนี้มีข้อได้เปรียบอยู่หลายประการ เพราะพลาสติกใช้ค่าขนส่งถูกกว่าวัสดุชนิดอื่น ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยในกระบวนการผลิต และความท้าทายคือการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ให้ได้ในอนาคตซึ่งจะลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน แต่แม้จะมีประโยชน์ พลาสติกสร้างกระแสที่รุนแรงในโลกมากเช่นกัน เพราะมีการต่อต้าน Single use plastic ทำให้องค์กรมองการใช้งานของพลาสติกแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างการทำ Material recovery for the future ร่วมกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก เพื่อนำพลาสติกที่รีไซเคิลแล้วกลับมาทำเป็นวัสดุใหม่แล้วบริจาค เช่น ทำเป็นโต๊ะเก้าอี้

ในแง่ของการทำธุรกิจ เราต้องรู้ว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ถ้าเรามองว่าการทำให้เกิดกระบวนการหมุนเวียนสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจเราได้ เราต้องให้ความสำคัญเพราะมันไม่ได้แค่ให้ประโยชน์กับองค์กร แต่ยังสร้างประโยชน์โดยรวมให้กับสิ่งแวดล้อมและโลกด้วย

 

 

ห้อง 2 : Circular Community

  • Tadashi Uchida : President of International OVOP Exchange Committee

เทศบาลเมืองโออิตะ ตั้งอยู่ที่เกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เป็นเมืองในชนบทเล็กๆ มีการริเริ่ม OVOP ในปี 1969 จากแรงบันดาลใจที่ต้องการทำให้พ้นจากสภาพปัญหายากจนทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ในหลายชุมชน คือขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่บางชุมชนไม่สามารถก้าวตามได้ทัน ภาคเกษตรกรรมถูกทิ้งไว้ล้าหลัง ผลกระทบก็คือ เกิด urbanization พลเมืองไปรวมอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เกิดความเหลื่อมล้ำ ภูมิปัญญาต่างๆ ถูกทอดทิ้ง ตามชนบทเหลือเพียงแต่คนสูงวัยที่ทำงานภาคเกษตร 

ซึ่งโลกเรากำลังเผชิญกับสัดส่วนผู้สูงอายุ (เกินกว่า 65 ปีขึ้นไป) สำหรับประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2020  ส่วนญี่ปุ่นถือว่าเป็น super age society แล้ว เราจึงต้องกำหนดแนวทางในทางพัฒนาประเทศที่เหมาะสม ให้ชาวบ้านภูมิใจในชุมชนที่ตัวเองรักและเติบโตมา ไม่จำเป็นต้องออกไปเมืองใหญ่ ก็ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงได้

 

หลักของ OVOP คือ ใครก็ทำได้  ทำเมื่อไหร่ก็ได้  ทำที่ไหนก็ได้ (Anyone Anytime Anywhere)

เพราะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษ เป็นองค์ความรู้ของมนุษยชาติ    เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร จะมี 7 กรรมวิธีที่เหมือนกันทั่วโลก ได้แก่  1. การหมัก เช่น เหล้าสาเก  2. การตากแห้ง เช่น เห็ดอบแห้ง 3.การหมักดอง เช่น ผักดอง แช่น้ำส้มสายชู  4. การรมควัน เช่น ไส้กรอก แฮม  5. การนึ่ง 6.การทอด 7.การคั้น  ซึ่งทั้ง 7 กรรมวิธีนี้ เป็นเทคโนโลยีที่แทบจะไม่ต้องใช้เงินก็สามารถทำได้ หรืออาจจะเป็นกิจกรรมนอกเหนือภาคเกษตรกรรม เช่น Green Tourism หรือ Agritourism

นอกจากนี้  เป้าหมาย OVOP ต้องยืนหยัดด้วยตัวเอง ไม่พึ่งพาคนอื่น  (Self-Reliance) ใช้ชีวิตได้อย่างผาสุข  คุณลักษณะของ OVOP หรือ OTOP อยู่ระหว่าง Primary Manufacturing และ Secondary Industry และไม่ใช่ policy แต่เป็น movement ของการต่อยอด จุดเริ่มต้นที่เกิดจากคนในหมู่บ้านริเริ่มทำสินค้าเอง เช่น เกษตรกรแม่บ้าน Megumi-Kai ที่ Ogi Town รวมกลุ่มกัน 10 คน ปลูกมะเขือเทศสด และนำมาทำเป็นซอสมะเขือเทศ หากคิดว่าต้องต่อสู้กับตลาดใหญ่ๆ จะไม่สามารถทำได้ แต่ทุกคนก็ลองทำ ซอสมะเขือเทศทำด้วยมือ ไม่ผสมส่วนประกอบอื่นๆ สามารถขายได้ในราคา 800 เยน หรือ 8 ดอลล่าร์สหรัฐ  ขายได้ 50,000 ขวดต่อปี เป็นเงิน 20 ล้านเยน ถ้าคิดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องลองทำจริง และทุกคนมีความสุขกับการทำ ร่วมงานกับเพื่อน และยังคงทำมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับผลิตภัณฑ์ (Product) ต้องมีเงื่อนไข 3 อย่าง  คือ 1. คุณภาพต้องสม่ำเสมอ คงที่ 2. สามารถ supply ผลิตออกมาได้อย่างสม่ำเสมอ 3. ต้องผ่านกฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรฐาน และลองขายในตลาดชั่วคราวก่อน อย่างน้อย 2-3 ปี ต้องอาศัยการอดทนรอ และศึกษาการทำบัญชี / cashflow เมื่อมีการถามหาสินค้าเกิดขึ้น
ตลาด (Market) ก็จะตามมาเองจากปากต่อปาก ส่วนของภาคองค์กรท้องถิ่น ควรสนับสนุนการสร้างโอกาส เช่น การจัดงานประจำปี ออกร้าน หรือจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อการผลิต มีร้านค้าปลีก  ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณมาก  

 

ส่วนการท่องเที่ยว ในประเทศไทย ปัจจุบันมีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ การเยี่ยมชม Heritage การดูงานอีเวนท์ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ จะมีการท่องเที่ยวใน 2 รูปแบบแรกมากกว่า ซึ่งเราควรเน้น การสร้างความรู้ และ inspiration ให้อยากมาเมืองไทย และสัมผัสวิถีชีวิตวัฒนธรรม ท้องถิ่น เพื่อให้รายได้ลงไปถึงชุมชน

ประเทศไทยอยู่ใน level ของการพัฒนาสินค้าชุมชน ที่มีหลายภาคส่วนสนับสนุน ซึ่งน่าจะไปได้ดี คนไทยแนะนำกันเองจะดีที่สุด หวังว่าประเทศไทยจะพัฒนารวดเร็วยั่งยืน และจุดประกายให้อาเซียน เพื่อเป็นศูนย์กลางต่อไปOVOP / OTOP เป็นเรื่องเข้าใจง่าย ไม่ต้องคิดมาก ต้องเริ่มทำเลย นำพลังชุมชนมาขับเคลื่อนนำไปสู่ Circular Economy อย่างมั่นใจ สมบูรณ์แบบ

ชุมชนตัวอย่างในประเทศได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดย

  • ไม้หมอน ฟาร์ม จ.เชียงราย ชุมชนแบ่งสันปันส่วนทำเรื่องสมุนไพรร่วมกัน เชียงรายเป็นเมืองสมุนไพร ได้ไปเรียนโครงการพลังปัญญา สอนให้พอเพียง นำทุกอย่างมาใช้อย่างคุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม้หมอน ฟาร์ม มีเครื่องกลั่นสมุนไพรหอมระเหย จึงให้ชุมชนนำสมุนไพรมาทำเป็นน้ำมันหอมระเหย เมื่อมีเศษก็เอามาผสมกันหลายกลิ่น จัดทำที่ก้อนหอมปรับอากาศ ใช้ได้ทั้งในรถและห้องนอน เศษที่เหลือจากการต้ม ก็นำมาทำเป็นช้างดับกลิ่น ใช้ทุกอย่างจนหมด ไม่เหลือทิ้ง นอกจากนี้ ยังมีอีกตัวอย่างที่ทำเป็นดินเพาะกล้า เห็นต้นกระถินที่อยู่ริมรั้วต้องตัดทิ้งไปเฉยๆ เห็นแล้วเลยเอามาดัดแปลงทำเป็นดินสำหรับเพาะกล้าต้นไม้ แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองทำ
  • สวนยายดา เจ้บุญชื่น จ.ระยอง เป็นสวนที่เปิดเป็นบุฟเฟ่ต์ผลไม้ เหลือเปลือกทิ้งไว้เป็นตันๆ เดิมก็นำไปใช้ทำปุ๋ยหมัก แต่พอเห็นโครงการเลี้ยงไส้เดือนดิน คิดว่าน่าจะเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น เปลือกทุเรียนย่อยสลายง่าย เมื่อนำมาเลี้ยงไส้เดือนแล้วก็กลายเป็นดินเลย จึงนำเอาส่วนที่เหลือจากทำปุ๋ยหมัก มาเลี้ยงไส้เดือนดิน ได้ทั้งปุ๋ยที่มาใส่ในสวน และสามารถขายเพิ่มรายได้

Paper Band ถักทอสายใย สานใจชุมชน ชุมชนท่าตะคร้อ จ.กาญจนบุรี ชุมชนได้รู้จักเส้นเทปกระดาษ จากการไปดูงานที่โรงงานวังศาลา เห็นแล้วก็คิดว่าน่าจะนำไปทำประโยชน์อื่นได้อีก น่าจะพัฒนาให้เกิดคุณค่าได้มากกว่า ไม่ใช่แค่นำไป recycle เป็นเยื่อใหม่ จึงนำเอามาทำจักสาน เป็นตระกร้า หรือ ต้นไม้จากเส้นเทป ที่มีความสวยงาม นอกจากนี้ ยังพัฒนาต่อไปเป็นทุเรียนโคมไฟ  สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้

 

 

ห้อง 3 : Digital for Circular Economy

  • คุณจาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ AddVentures โดยเอสซีจี

            ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) คือระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ
การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่าน
การผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (re-material) และสนับสนุนการใช้ซ้ำ (reuse) ถือเป็นกุญแจสำคัญในการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กับประสิทธิภาพของธุรกิจ

            ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน มีโมเดลธุรกิจทั้งหมด 5 แบบหลัก ได้แก่ 1.Circular Supplies พลังงานทดแทนและการจัดหาทรัพยากรเข้ากระบวนการจากรีไซเคิล 2.Resource Recovery นำกลับพลังงานและวัตถุดิบจากขยะ สินค้าใช้แล้ว และของเสียจากกระบวนการผลิต 3.Product Life-extension การทำให้อายุการใช้งานของสินค้ายาวนานขึ้นโดยใช้นวัตกรรมและการออกแบบสินค้า 4.Sharing Platform เชื่อมต่อผู้ใช้จำนวนมากเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานและเข้าถึงสินค้าและบริการ 5.Product as a service เปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจไปสู่การให้บริการแทนการขายสินค้า

            ทั้ง 5 โมเดลธุรกิจนี้ สามารถเชื่อมโยงกับยุค Digital Transformation เพื่อสร้างให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนได้ ดังที่ระดับโลกเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว และสตาร์ทอัพคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนผ่านทั้ง 5 โมเดลธุรกิจ แม้สตาร์ทอัพแต่ละรายอาจยังสร้างผลกระทบได้ในวงจำกัด แต่หากทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพที่ช่วยตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น จากจำนวนน้อยก็จะกลายเป็นจำนวนมหาศาลและสร้างผลกระทบที่ดีในวงกว้างได้

            หากต้องการจะปรับธุรกิจของตัวเองให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ต้องคิดให้เหนือความคาดหมายของผู้บริโภค มีนวัตกรรมในการพัฒนาโมเดลธุรกิจ รวมถึงทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่อยู่ใน Ecosystem ของธุรกิจและอุตสาหกรรม

 

  • คุณสิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท จิซทิกซ์ จำกัด

            GIZTIX คือ สตาร์ทอัพด้านการบริการขนส่ง ผ่านระบบตลาดขนส่งออนไลน์ ปัจจุบันมีบริการด้าน
โลจิสติกส์หลายบริการ เช่น ระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ มาร์เก็ตเพลส บริการจองโลจิสติกส์ บริการติดตามรถบรรทุก ถือเป็นระบบที่มีโมเดลธุรกิจแบบ Sharing Platform ซึ่งถือเป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ
แบบหมุนเวียน

            ปัจจุบัน ในระดับโลกมีสตาร์ทอัพหลายรายที่เข้ามาสร้างโมเดลธุรกิจตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจ
แบบหมุนเวียน เช่น Claim Di ที่ใช้ดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงกระบวนการของธุรกิจประกัน Skootar ที่เป็น Sharing Platform สำหรับพนักงานส่งเอกสาร

            สำหรับสตาร์ทอัพที่จะเข้ามามีส่วนช่วยให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนได้ อาจไม่ใช่สตาร์ทอัพที่เพิ่งก่อตั้งมาในระยะเวลาไม่นาน แต่มักจะเป็นสตาร์ทอัพตั้งแต่ระดับ Series A ขึ้นไป เช่น ที่ทาง AddVentures ได้ให้ความสนใจในการลงทุน

 

  • คุณมหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง HG Robotics

            HG Robotics ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 เชี่ยวชาญในการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ ปัจจุบันกำลังพัฒนาหุ่นยนต์ที่ช่วยเหลือในหลากหลายธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงหุ่นยนต์เพื่อภาคธุรกิจเกษตรด้วย

            แม้ว่าหุ่นยนต์อาจจะเป็นสิ่งที่นำไปรีไซเคิลได้ยาก แต่หุ่นยนต์ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในกระบวนการต่างๆ เช่น การผลิต ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการ reuse ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การใช้ machine learning ทำให้ไม่ต้องมีกระบวนการใช้บางอย่างซ้ำ

            สตาร์ทอัพยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนในอนาคต โดยสตาร์ทอัพสามารถปรึกษาและรับคำแนะนำได้จากผู้นำในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เอสซีจี

 

 

ห้อง 4: Circular Waste Value Chain

  • คุณกิตติ สิงหาปัด

รัฐบาลประกาศให้การกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติ เพราะก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำ และอันตรายต่อสัตว์ทะเล อย่างไรก็ตาม ขยะสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จึงมีความท้าทายที่จะหมุนเวียนขยะให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่        

 

  • คุณธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

ขยะเป็นปัญหาที่มีมาช้านาน แม้ว่าจะมีหลายกระทรวงที่ออกกฏหมายเกี่ยวข้องกับการบริหาจัดการขยะ  เช่น กระทวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข แต่หน่วยงานเหล่านี้ ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการเก็บขยะ ซึ่งคือ องค์กรส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 7,851 แห่ง ไม่รวมกรุงเทพฯ ทั้งนี้ องค์กรส่งเสริมการปกครองส่วนท้องมีรายได้จากการเก็บขยะรวม 7 แสนล้านบาท ต่อปี ซึ่งหน่วยจัดการมีศักยภาพต่างกัน รายได้ในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน และบางพื้นที่ไม่มีรถเก็บขยะ จึงเป็นเหตุให้กระทรวงมหาดไทยวางแผนจัดการขยะแบบองค์รวม โดยพิจารณาจากการจัดการขยะ การจัดการขยะเก่า ระเบียบกฎหมาย และจิตสำนึกประชาชน

ปี 2560 องค์กรส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งเป้า ลดขยะทั่วประเทศลง 5% ตั้งชุมชนต้นแบบให้มีระบบการจัดการขยะมูลฝอยครอบคลุม 40% มีการจัดการขยะอันตรายในชุมชน ครอบคลุม 100% และจัดการขยะอุตสาหกรรม ลดลง 100%

แนวทางความร่วมมือเพื่อนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ คือ

  1. การให้ความสำคัญกับต้นทาง (ผู้บริโภค) ด้วยหลักการ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ ใช้ใหม่ (3Rs) แล้วให้ชุมชนเป็นตัวเชื่อมระหว่างต้นทาง (ผู้บริโภค) ให้คัดแยกขยะ และเกิดกลไก ไปจนถึงปลายทางในการรีไซเคิล
  2. จัดทำโครงการ From Bin to Bag และ fast track to zero waste โดยเชื่อมโยงการคัดแยก และกำหนดวันจัดเก็บขยะ ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันและแนวปฏิบัติ ผ่าน พระราชัญญัติรักษาความสะอาด 2560 ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย

ปัจจุบัน มีการจัดกลุ่มเพื่อการจัดการขยะ จำนวน 324 กลุ่ม โดยมีกลุ่มที่มีศักยภาพในการนำขยะไปทำพลังงานได้ประมาณ 60 กว่ากลุ่ม (RDF หรือพลังงานป้อนโรงไฟฟ้า) นอกจากนั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการจัดการขยะพลาสติก เพื่อเป็นกลไกผลักดันและขับเคลื่อนการปฏิบัติการระดับประเทศ

 

 

  • คุณสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัด กรุงเทพมหานคร

กลไกการจัดการของเสียเพื่อนำของเสียกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบ ได้แก่ การรักษาทุนด้านธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการรักษาประสิทธิภาพของระบบ โดยเน้นให้ทุกภาคส่วนมีบทบาท เริ่มจากผู้ผลิต ให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยสุด หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ด้วยหลักการ Eco-design ส่วนผู้บริโภค มีหน้าที่ในการเลือก ผ่านเครื่องมือ ต่างๆ เช่น Eco-label, Green Procurement

การดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เน้นการจัดการขยะ เช่น แก้ปัญหาการเทกอง ด้วยการฝังกลบ โดยข้อมูลขยะของ กทม. ปี 2560 เพิ่มขึ้น 3.9% จากปี 2558 ซึ่งคาดว่า ขยะในช่วง 10 หลังจากนี้ จะสามารถควบคุมให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1% ของปริมาณขยะในปัจจุบัน ซึ่งขยะประเภทเศษอาหารมีมากที่สุดถึง 47.62 กทม. ส่งเสริมการแยกขยะ ใน 14 กลุ่มเป้าหมาย แบ่งเป็นพื้นที่ 37,189 แห่ง ดำเนินการแล้ว 12,000 แห่ง คิดเป็น 32%

อุปสรรคในการจัดการขยะในพื้นที่ คือ ภาครัฐไม่สามารถสร้างระบบ หรือ สื่อสารไปยังชุมชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ รวมถึงมีจุดอ่อนของภาครัฐในการกำกับดูแลให้มีการบังคับใช้ตามกฎหมาย

กทม. มีความตั้งใจให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง Model ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการขยะที่มีความต่อเนื่องในระดับชาติ

 

  • คุณสินชัย เทียนศิริ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE)

การดำเนินงานของสถาบันฯ เน้นความร่วมมือของ 5 ภาคส่วน ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้แยกขยะ/รับซื้อของเก่า และโรงงานรีไซเคิล โดยมีกระบวนการ Education, Promotion และ Connection เพื่อเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเป็นวัตถุดิบ รวมถึง สร้างวงจรที่เรียกว่า Closed Loop Packaging (CLP) เพื่อให้การกำจัด ไม่ใช้แค่การทำลาย แต่คือการแก้ปัญหาขยะ โดยทำให้ได้ผลตอบแทน ที่ครบวงจร

ในการขยายแนวคิดเรื่อง CLP สู่วงกว้าง ต้องทำครบทุกมิติผ่าน กลไกทางเศรษฐศาสตร์  (Economy of Scale) เช่น การทำศูนย์รับของเก่าที่ไม่ใช้งานแล้ว โดยเสนอเป็น Business Model ใหม่ เริ่มจากการ Survey รวบรวมข้อมูลปริมาณขยะ และชักชวน Startup มาคิด Application โดยให้ผู้สูงอายุมาร่วมดำเนินการ ในลักษณะ Social Enterprise (SE)  ซึ่งได้เริ่มทำที่ จังหวัดลพบุรี และนนทบุรีแล้ว ประเด็นสำคัญ คือ ต้องเก็บข้อมูลทุกอย่างของขยะทุกประเภททั้งกระดาษ แก้ว เหล็ก พลาสติก ฯลฯ เพื่อความคุ้มทุนด้าน Logistic

 

  • คุณศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG Chemicals

ในขณะที่สินค้าพลาสติกยังมีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป บริษัทฯ ได้มีความพยายามค้นหาเทคโนโลยีในการนำ Single-Use Plastic กลับมาใช้หรือรีไซเคิลได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด อีกทั้ง ได้พัฒนาสินค้าพลาสติกประเภทที่มีความแข็งแรง คงทน มีความบาและเหนียว เพื่อทดแทนวัสดุธรรมชาติ

เศษพลาสติกที่ไม่ปนเปื้อนมีมูลค่ามากในการนำมารีไซเคิล ส่วนเศษพลาสติกปนเปื้อน หากมีกระบวนการในการจัดการที่ดี ก็มีคุณค่าเช่นกัน เช่น RDF

 

  • คุณเพชร มโนปวิตร องค์กรสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN)

แนวทางการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และการส่งเสริม Circular Waste ต้องเริ่มต้นจากการกลับไปมองที่ธรรมชาติ และนำมาเป็นปุ๋ย เช่น Organic ในดินที่สูญหายไปทำให้ดินดูดซับน้ำได้น้อยลง ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม

ปัญหาการเสียชีวิตของวาฬ ทำให้เกิดจิตสำนึกในสังคม แม้ว่าจะมีปริมาณของของพลาสติกในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 8 พันล้านตัน แต่สามารถรีไซเคิลกลับมาได้เพียงเล็กน้อย IUCN เน้นงานวิจัยเรื่อง Micro Plastic เช่น เสื้อผ้า ยางรถยนต์ และ กลุ่มของ Marine Plastics ที่มuผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ปะการัง และน้ำปะปา

แนวทางการแก้ไขเน้นการลดการใช้ Single-Use Plastic และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ปฏิรูปวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง เช่น การลดการใช้หลอดพลาสติก การเก็บค่าถุงพลาสติกการลดราคาเครื่องดื่มเมื่อนำแก้วมาเอง การมัดจำขวดพลาสติก ตลอดจนสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่รู้จักการแยกขยะ มีจิตสำนึกสาธารณะ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระดับครัวเรือน

 

  • ความคิดเห็นจากผู้เข้าฟังการเสวนา

การจัดเก็บขยะของภาครัฐ ควรให้เอกชนทำและพัฒนาเช่น ระบบเตาเผา ซึ่งการเพิ่มภาษีจากผู้ผลิต ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม เนื่องจากผู้ผลิตก็จะคิดต้นทุนเพิ่มและขายราคาแพง จึงขอแนะนำผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น VAT เพื่อนำเงินเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม

ในฐานะผู้บริโภค เรื่องสุขอนามัย เช่นเรื่องการใช้หลอดไม้ไผ่ หรือ หลอดซิลิโคนที่ต้องใช้ซ้ำ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ จึงเสนอให้มีมาตรการอื่นร่วมกัน นอกจากนั้น ควรเพิ่มเรื่องการให้ความรู้กับผู้บริโภค ตลอดจนต้องการให้กรุงเทพมหานครศึกษา และรวบรวมข้อมูลเป็น Data Base ด้านขยะประเภทต่างๆ ทั้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน เพื่อทำโครงการร่วมกับ SCG

อย่างไรก็ตาม เวทีเสวนายังมีความต้องการให้เกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการเชื่อมโยงหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดห่วงโซ่ การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

X

Right Click

No right click