December 21, 2024
CSR

47 ปี “หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จ.ฉะเชิงเทรา”

March 07, 2024 339

ก้าวสู่โอกาสใหม่หุ้นส่วนโรงชำแหละสุกร ปลายทางอาหารปลอดภัย

ที่ดินแห้งแล้งรกร้างว่างเปล่า 1,253 ไร่ ในตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการพลิกฟื้นจนมีความอุดมสมบูรณ์ สร้างชุมชนเกษตรกรที่เข้มแข็งภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” เปลี่ยนชาวบ้านยากไร้สู่กลุ่มเกษตรกรผู้มั่งคั่ง ด้วยการทำเกษตรกรรม มีการเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพหลัก ปลูกพืชไร่และไม้ผลเป็นอาชีพเสริม จนสามารถส่งต่อความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นชุมชนต้นแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน มานานกว่า 47 ปี นับตั้งแต่ปี 2520 พวกเขาทำได้อย่างไร?

ภักดี ไทยสยาม ประธานกรรมการ บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด มาให้คำตอบกับคำถามนี้ เขาบอกว่าที่นี่เมื่อ 47 ปีที่แล้ว ชาวบ้านต่างเผชิญปัญหาความยากจน ไร้โอกาส ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นโจทย์ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ต้องการเข้ามาแก้ไข ด้วยการรวบรวมผืนดินที่แห้งแล้ง รกร้างมาพัฒนาให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งให้ความรู้ที่ทันสมัยในการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กับการเพาะปลูก จัดหาแหล่งเงินทุน และหาตลาดในการจัดจำหน่าย ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง

ด้วยโมเดล “3 ประโยชน์ 4 ประสาน” ซึ่งเป็นรูปแบบความร่วมมือ 4 ฝ่าย คือ รัฐบาล เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร เพื่อรองรับการพัฒนาเกษตรกรรมทันสมัย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ประการ คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ต่อประชาชน และสุดท้ายเป็นประโยชน์ต่อองค์กร โครงการฯ นี้ ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิตเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ทำให้พวกเขาเข้าถึงที่ดิน เทคโนโลยีการเลี้ยงสุกร และแหล่งเงินทุน

โครงการฯ นี้ มีเครือซีพี โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ รับหน้าที่ดูแลและส่งเสริมเกษตรกรในการเลี้ยงสุกรที่มีคุณภาพ ในรูปแบบประกันราคา ด้วยเทคโนโลยีด้านสายพันธุ์สุกรพันธุ์ดี อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ พร้อมปัจจัยการผลิตที่จำเป็น รวมทั้งรับผิดชอบสนับสนุนทั้งการผลิตและการหาตลาดแทนเกษตรกร ด้วยการรับซื้อลูกสุกรที่โตได้ขนาดกลับคืนในราคาประกัน เกษตรกรจึงมีรายได้มั่นคง เพียงพอที่จะดูแลครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ สามารถจัดสรรรายได้ชำระคืนเงินกู้ครบในระยะเวลา 10 ปี ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน บ้านอยู่อาศัย และโรงเรือนเลี้ยงสุกร เปลี่ยนจากเกษตรกรยากไร้ สู่ครอบครัวที่มีฐานะพออยู่พอกินและมีที่ดินเป็นของตนเอง

หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าก้าวสู่มาตรฐานสากล ด้วยการนำนวัตกรรมการเลี้ยงสุกรที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เลี้ยงสุกรในโรงเรือนปิดแบบ EVAP ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งด้านการเจริญเติบโตและสุขภาพของสุกร เกษตรกรสามารถขยายการผลิตจากเดิมเลี้ยงรายละ 30 แม่ เป็น 150-500 แม่ ตามกำลังความสามารถของแต่ละราย มีการใช้ระบบไบโอแก๊ส เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้กับชุมชนและเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อน

ในทศวรรษที่ 4 หมู่บ้านแห่งนี้ไม่เคยหยุดพัฒนา มีการต่อยอดจากองค์ความรู้ด้านการจัดการและการใช้เทคโนโลยีทันสมัย สู่การสร้างสรรค์โครงการที่หลากหลายเพื่อสมาชิกหมู่บ้านและชุมชนโดยรอบ โดยมีเยาวชนลูกหลานร่วมขับเคลื่อนกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดรับอาชีพเสริมที่หลากหลายเพื่อเพิ่มพูนรายได้ จากอาชีพเลี้ยงสุกรปัจจุบันมี 22 ครอบครัว มีแม่สุกรเพิ่มจาก 30 แม่ เป็น 100- 700 แม่ มีรายได้ 300,000 – 2,000,000 บาท/เดือน ส่วนอาชีพเสริมเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ 6 ครอบครัว มีรายได้ 90 -150,000 บาท/เดือน ปลูกผักอินทรีย์ 2 ครอบครัว สร้างรายได้ 50,000-100,000 บาท/เดือน ปลูกยางพารา 2 ครอบครัว มีรายได้ 50,000-100,000 บาท/เดือน และเพาะเห็ดฟาง 2 ครอบครัว สร้างรายได้ 50,000-100,000 บาท/เดือน

“ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคง มั่งคั่ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญเรายังให้ความสำคัญกับระบบนิเวศชุมชน สมาชิกของหมู่บ้านทุกคนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนชุมชนสู่ความยั่งยืนผ่านหลากหลายโครงการ อาทิ ธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อให้การทำการเกษตรมีผลผลิตตลอดปี ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามจำเป็นได้อย่างเหมาะสมที่สุด สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำได้ถึง 1 ล้านบาท/ปี และกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ต้อนรับผู้ที่สนใจเช่นเดียวกับ ป่านิเวศเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ บนเนื้อที่ 14 ไร่ ของหมู่บ้าน มีพรรณไม้ถึง 109 ชนิด จำนวน 5 หมื่นต้น และเกษตรกรยังต่อยอดความสำเร็จป่านิเวศฯ สู่การพัฒนาการใช้สมุนไพรเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ยาปฏิชีวนะได้ 2.8 ล้านบาท/ปี” ภักดี กล่าว

นอกจากนี้ ชาวหนองหว้ายังได้ร่วมกันระดมทุนจัดตั้งโรงชำแหละสุกรร่วมกับซีพีเอฟ เป็นโรงชำแหละทันสมัย สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เพื่อให้เป็นปลายทางการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภค นับเป็นก้าวย่างสำคัญของชาวหนองหว้าที่ได้วางรากฐานที่เหนียวแน่นสู่ลูกหลาน ได้เข้าศึกษาเรียนรู้และต่อยอดอาชีพของตนเองได้ พร้อมสืบสานองค์ความรู้ของชุมชนสู่ลูกหลานรุ่นต่อไปอย่างเป็นระบบ

“หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้ง ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรสีเขียว เกษตรกรมีอาชีพเลี้ยงสัตว์และอาชีพเสริมที่มั่นคง สร้างอนาคตการศึกษาที่ดีให้กับลูกหลาน ที่สำคัญซีพีและซีพีเอฟ ได้มอบความรู้อันเป็นทรัพย์สินที่มีค่าให้กับเกษตรกร เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ชาวหนองหว้าพิสูจน์แล้วว่าโจทย์ที่ยากที่สุดแต่พวกเขาก็ทำได้ ด้วยความเข้มแข็งของชาวชุมชน วันนี้เกษตรกรชาวหนองหว้ายังคงช่วยกันคิดสร้างสรรค์ เปิดรับสิ่งใหม่ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืนต่อไป

คลิกชม Clip VDO

 

 

X

Right Click

No right click